24 เม.ย. 2021 เวลา 16:23 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
คงเป็นเรื่องน่ายินดีไม่น้อยหากเราแปรเปลี่ยนภาพวาดคลาสสิคให้มีเลือดเนื้อ มีชีวิตและสีสันในรูปแบบภาพเคลื่อนไหวได้
ภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องในฐานะที่เป็นแขนงหนึ่งของผลงานศิลปะจึงมักไม่พลาดที่จะหยิบยกภาพนิ่งเหล่านั้น แล้วแต่งแต้มจินตนาการลงไปผ่านแผ่นฟิล์ม เป็นการให้เกียรติ (Tribute) อย่างสมบูรณ์แบบ
ช็อตที่ผู้เขียนเลือกมาจะมาจากภาพยนตร์เรื่องอะไรบ้าง และจะมีภาพวาดที่ผู้อ่านคุ้นตา คุ้นหูกันบ้างหรือไม่ เดี๋ยวเรามาลองดูไปพร้อม ๆ กัน
ช็อตที่ 1 : ภาพวาด La Mort de Marat (1793) by Jacques-Louis David ผ่านหนังเรื่อง About Schmidt (2002) by Alexander Payne
https://www.the-scientist.com/foundations/bathtub-bloodbath-1793-30230
http://www.tasteofcinema.com/2018/14-famous-movie-scenes-directly-influenced-by-paintings/2/
ภาพนี้ของ ฌาคส์-หลุยส์ เดวิด (1748-1825) จิตรกรชาวฝรั่งเศสเล่าถึงการฆาตกรรม ฌอง-ปอล มารา (Jean-Paul Marat, 1743-1793) นักทฤษฎีการเมืองฝั่งซ้ายชาวฝรั่งเศส ผู้มีชื่อเสียงจากการเขียนบทความการเมืองที่ดุเดือดในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส งานเขียนส่วนใหญ่ของเขามีลักษณะที่ปลูกฝังความเกลียดชังต่อชนชั้นนำจนนำพาไปสู่เหตุการณ์ลอบสังหาร
ขณะที่หนังปี 2002 ของเพย์นเลือกหยิบยกมาใช้เข้ากับสถานการณ์ซังกะตายของตัวละครเอกในวัยหลังเกษียณที่เมียชิงลาจากไป ลูกสาวก็กำลังแต่งงานกับผู้ชายที่ไม่ได้เรื่อง ชีวิตแต่ละวันถูกเติมเต็มไปด้วยความว่างเปล่า เป็นการทริบิวต์ (Tribute) ในอีกมุมมองนึงที่น่าสนใจทีเดียว
ระดับความเหมือน: 8/10 จะบอกว่าซีนนี้ตัวแจ็ค นิโคลสัน (Jack Nicholson) ไม่ได้ตั้งใจแสดงอิริยาบถให้เหมือนกับณอง- ปอล มาราก็ไม่ได้ ในเมื่อมันค่อนข้างจะชัดเจนขนาดนี้!
ช็อตที่ 2: ภาพวาด To Prince Edward Island (1965) by Alex Colville ผ่านหนังเรื่อง Moonrise Kingdom (2012) by Wes Anderson
http://www.tasteofcinema.com/2018/14-famous-movie-scenes-directly-influenced-by-paintings/2/
แฟนหนังของ เวส แอนเดอร์สัน ย่อมรู้ดีว่าสไตล์ภาพในหนังของเขานั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการนำเสนอและจัดวางองค์ประกอบที่โดดเด่นมากอยู่แล้ว
ทั้งในภาพวาดและช็อตนี้ในภาพยนตร์ ใบหน้าของคนจะถูกบดบังด้วยกล้องส่องทางไกล ทำให้เกิดเป็นความรู้สึกลึกลับ, น่าฉงน หรือหลบหนีบางอย่าง ซึ่งอันที่จริงก็ไปตรงกับธีมหลักของพล็อตเรื่อง Moonrise Kingdom พอดิบพอดี
ระดับความเหมือน: 7/10 แม้แบ็คกราวด์และอิริยาบถของคนจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่เนื่องจากมันไม่ใช่อิริยาบถที่ทำได้ยากเป็นพิเศษ บางทีอาจมีหนังเรื่องอื่นที่ตัวละครกำลังดูกล้องส่องทางไกลเช่นกัน แต่พอมาอยู่ในมือของ เจ้าพ่องานคราฟต์อย่าง เวส แอนเดอร์สัน เราจึงอาจพูดได้ไม่เต็มปากนักว่า เขาจงใจหยิบยืมภาพวาดนี้มาใช้หรือไม่
ช็อตที่ 3 : ภาพวาด New York Movie (1939) by Edward Hopper ผ่านหนังเรื่อง Shirley: Visions of Reality (2013) by Gustav Deutsch
http://www.tasteofcinema.com/2018/14-famous-movie-scenes-directly-influenced-by-paintings/
เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ (Edward Hopper) คือจิตรกรภาพวาดสีน้ำมันระดับตำนานชาวอเมริกัน ผู้ขึ้นชื่อเรื่องความโดดเด่นในการส่งผ่านอารมณ์หลายรูปแบบ แต่ที่เด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องความว้าเหว่ของผู้คนในเมืองใหญ่ เปรียบได้ราวกับอารมณ์ที่สื่อผ่านหนังของ หว่อง กาไว (Wong Kar-wai)
ซีนนี้จะมีตัวละครหลัก เชอร์ลีย์ เอนหลังพิงกำแพงเพื่อเลียนแบบภาพวาด New York Movie อย่างชัดเจน ซึ่งทั้งสองภาพแสดงความรู้สึกไม่ยี่หระสนใจต่อสภาพแวดล้อมรอบข้าง จมดิ่งอยู่กับห้วงความคิดของตัวเองและความเปล่าเปลี่ยว ท่ามกลางผู้คน
ระดับความเหมือน: 10/10 ทุกองค์ประกอบชัดเจน และเป็นไปเพื่อการทริบิวต์ (Tribute) อย่างชัดเจนโดยดุษณี
ช็อตที่ 4 : ภาพวาด Saturn Devouring His Son (c. 1819-1823) by Francisco Goya ผ่านหนังเรื่อง Pan’s Labyrinth (2006) by Guillermo del Toro
http://www.tasteofcinema.com/2018/14-famous-movie-scenes-directly-influenced-by-paintings/2/
ผลงานของโกยา นอกจากจะเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันรุนแรง ลึกลับ และชอบที่จะรังสรรค์ผลงานเกี่ยวกับด้านอัปลักษณ์ และวิปลาสของมนุษย์ผ่านสัตว์ประหลาด หรือเทพปรกณัมต่าง ๆ ซึ่งก็ดันเป็นสิ่งที่ กิลเลอร์โม เดล โตโร่ (Guillermo del Toro) เจ้าพ่อหนังสยองขวัญสไตล์กอธิคปิ๊งในไอเดียเข้าพอดี
จริง ๆ แล้วสำหรับภาพนี้อาจจะออกแนวเป็นการหยิบยืมในแง่ของใช้อ้างอิง (reference) มากกว่า ทริบิวต์ (tribute) เพราะเดล โตโร่ได้ออกแบบตัวสัตว์ประหลาดในหนังขึ้นมาเองได้อย่างสร้างสรรค์โดยอิงจากภาพวาดชิ้นนี้ของโกยา นั่นเอง
ระดับความเหมือน: 6/10 จริง ๆ แล้วสำหรับเรื่องนี้ ตัวผู้กำกับได้เปิดเผยตามความจริงว่า เขาใช้รูป Saturn Devouring His Son ของโกย่า เพื่อนำมาเป็นไอเดียสำหรับตัวละคร Pale Man ของเขาอย่างชัดเจน คอหนัง คอศิลปะจึงไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งตีความกันเองใดๆ ทั้งสิ้น
แล้วตัวคุณผู้อ่านล่ะ มีช็อตไหน ซีนไหนที่คลับคล้ายคลับคลาราวกับว่า เคยเห็นมาจากที่ไหนมาก่อนหรือไม่? ถ้านึกออกยังไงก็แชร์กันได้เลยที่คอมเมนต์นะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา