22 เม.ย. 2021 เวลา 05:19 • กีฬา
วัฒนธรรมองค์กรสุดโหดของ "บาเยิร์น" ที่ทำโค้ชระดับโลกตกเก้าอี้เป็นว่าเล่น | MAIN STAND
บาเยิร์น มิวนิค คือสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการฟุตบอลเยอรมัน แชมป์ลีกสูงสุด 29 สมัย ภายในเวลา 53 ปี คือเครื่องรับประกันความเกรียงไกรของสโมสรแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
ด้วยความยิ่งใหญ่ระดับนี้ ย่อมต้องมีโค้ชสมองเพชรอยู่เบื้องหลัง เป็นแกนหลักของทีม เหมือนที่เกิดขึ้นในหลายทีม เช่น อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์แซน เวนเกอร์ กับ อาร์เซนอล, บิล แชงค์ลีย์ กับ ลิเวอร์พูล
โมเดลแบบนั้น ใช้ไม่ได้กับ บาเยิร์น มิวนิค นับตั้งแต่เข้าสู่ยุคใหม่ของฟุตบอลเยอรมันในปี 1963 โค้ชที่คุมทีมยาวนานที่สุดของบาเยิร์น คุมทีมติดต่อกันเป็นเวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น นั่นคือ ออตมาร์ ฮิทซ์เฟลด์ ในช่วงปี 1998 ถึง 2004
1
เท่านั้นยังไม่พอ มีโค้ชเพียง 6 คนเท่านั้น ที่มีโอกาสคุมทีมยาวนานเกิน 3 ปี ที่เหลือจอดไม่แจว ถูกบาเยิร์นปลดออกจากตำแหน่งกันอย่างถ้วนหน้า
เนื่องจากสโมสรแห่งนี้ มีวัฒนธรรมองค์กรที่สุดโหด เงื่อนไขมากมายที่พร้อมเชือดคอบุคลากรออกจากทีมได้ตลอดเวลา และเป็นแนวทางรักษาความสำเร็จ ในแบบฉบับเฉพาะของ บาเยิร์น มิวนิค
กล้าจะเปลี่ยนแปลง
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด ต้องย้อนไปในช่วงต้นยุค 70s ซึ่งทัพเสือใต้ เพิ่งเรืองอำนาจขึ้นมาหมาด ๆ ทั้งฟุตบอลในประเทศ และเวทียุโรป
ภายใต้การนำของ ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์, แกรนด์ มุลเลอร์, เซปป์ ไมเออร์ และยอดนักเตะดีกรีทีมชาติเยอรมัน (ตะวันตกในตอนนั้น) อีกหลายคน พวกเขาคว้าแชมป์บุนเดสลีกา 4 สมัยใน 6 ฤดูกาล ระหว่างปี 1969 ถึง 1974 รวมถึงการแชมป์ยูโรเปียน คัพ (ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ในปัจจุบัน) ถึง 3 สมัยซ้อน ในช่วงปี 1974 ถึง 1976
อย่างไรก็ตามในฤดูกาลถัดมา บาเยิร์น มิวนิค กลับไม่มีถ้วยติดมือ เมื่อผนวกกับการไม่ได้แชมป์บุนเดสลีกา นับตั้งแต่ปี 1974 เท่ากับว่าทัพเสือใต้ไม่ได้ถือครองถาดแชมป์ลีก มาเป็นเวลา 3 ฤดูกาลติดต่อกัน
Photo : T-Online
บาเยิร์น มิวนิค เริ่มรู้ตัวแล้วว่า ยุคสมัยของพวกเขากำลังจะจบลง ไม่ต่างจากกระแสฟุตบอลของทีมอื่นที่เคยโด่งดัง และจากไปเมื่อเวลาได้พ้นผ่าน
ทว่าทีมดังจากแคว้นบาวาเรีย ไม่อยากเป็นแบบนั้น พวกเขาต้องการครองความยิ่งใหญ่ต่อไป หากแต่ทัพเสือใต้ต้องหารหัสความสำเร็จให้เจอ ก่อนจะสายเกินไป
1
เพราะ ณ เวลานั้น โบรุสเซีย เมินเชนกลัดบัค ได้ก้าวขึ้นมา คว้าแชมป์บุนเดสลีกา 3 สมัยติดต่อกัน เรียกได้ว่ายึดความยิ่งใหญ่บนแผ่นดินเยอรมัน มาเป็นของตัวเอง ซึ่งบาเยิร์นต้องการทวงกลับคืนมา อย่างถึงที่สุด
บาเยิร์น มิวนิค จึงย้อนไปมองวิธีที่เคยทำให้พวกเขาครองความสำเร็จ ตั้งแต่ปลายยุค 60s มาถึงกลางยุค 70s ซึ่งการกระทำที่พวกเขาเห็นอย่างชัดเจน คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นตลอดเวลา
Photo : Bundesliga
ปี 1974 บาเยิร์น มิวนิค เฉลิมฉลองแชมป์ยุโรปอย่างชื่นมื่น แต่หลังจากฤดูกาลใหม่เริ่มต้นขึ้น และเกมการแข่งขันผ่านไปเพียง 2 เกม ... อูโด ลาเท็ค กุนซือผู้ดลบันดาลความสำเร็จให้กับทัพเสือใต้ ถูกเด้งออกจากตำแหน่งแบบสายฟ้าแลบ
"ตอนนั้นเราทำผลงานไม่ตามเป้าหมาย ผมเข้าไปคุยกับประธานสโมสรว่า เราต้องการความเปลี่ยนแปลง เขาเห็นด้วย และบอกว่า 'ผมไล่คุณออก' ผมโกรธมาก ๆ เลยล่ะ" อูโด ลาเท็ค รำลึกความหลัง
1
ถึงจะเป็นการกระทำที่ดูใจดำ และมีความอำมหิต แต่ผลที่ตามมาคือ บาเยิร์น มิวนิค ยังคงคว้าแชมป์ยูโรเปียน คัพ ต่อไปอีก 2 ฤดูกาล ภายใต้การนำของโค้ชคนใหม่ ดีตมาร์ คราเมอร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การตัดสินใจปลด อูโด ลาเท็ค คือสิ่งที่ถูกต้อง
Photo : RE:SLETT
บาเยิร์น จึงเลือกทำแบบนั้นอีกครั้ง หลังจบฤดูกาลปี 1977 ด้วยการปล่อย ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์ ออกจากทีม เพื่อเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า นี่คือการเริ่มต้นใหม่ของ บาเยิร์น มิวนิค
เมื่อฤดูกาล 1977-78 เริ่มต้นขึ้นได้ไม่กี่เดือน ทัพเสือใต้ได้ทำการดีด ดีตมาร์ คาร์เมอร์ ออกจากสโมสรไปอีกคน เท่ากับว่าภายในเวลาอันสั้น บาเยิร์นได้ทำการเขี่ยผู้ชายสองคน ที่มีอำนาจมากที่สุดในห้องแต่งตัวออกไปจากทีม
บาเยิร์นเริ่มสร้างทีมใหม่อย่างช้า ๆ ไม่ใช่แค่การปล่อยนักเตะตัวเก่าแก่ออกไป แต่รวมถึงการเปลี่ยนผู้บริหาร โดยการดึงตัวคนรุ่นใหม่ไฟแรง อย่าง อูลี เฮอเนส อดีตดาวเตะของทีมที่แขวนสตั๊ดไปด้วยอาการบาดเจ็บ ซึ่งมีอายุเพียง 27 ปีในตอนนั้น มาช่วยวางแผนระยะยาวให้กับสโมสร
Photo : Sportbuzzer
ภายในระยะเวลาอันสั้น บาเยิร์น เริ่มกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ ด้วยการคว้าแชมป์บุนเดสลีกา ฤดูกาล 1979-80 และ 1980-81
นับแต่นั้นเป็นต้นมา บาเยิร์น มิวนิค พบสูตรสำเร็จแล้วว่า หากทีมจะประสบความสำเร็จ ต้องใช้บุคลากรทำงานที่มีศักยภาพเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ชื่อเสียง, อิทธิพล หรือความสนิทชิดเชื้อ ไม่มีความหมายกับการทำงานที่สโมสรแห่งนี้
เก่งมาจากไหน ก็แพ้หัวใจเสือใต้
บาเยิร์น มิวนิค กลายเป็นทีมที่ตั้งมาตรฐานไว้สูง คือภาพที่เห็นได้อย่างชัดเจน ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ไม่ใช่ข้ออ้างกับสโมสรแห่งนี้ และสามารถเชือดนักเตะ หรือโค้ช ออกจากทีมได้อย่างง่ายดาย หากพวกเขาเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่า ดีไม่พอที่จะเล่นให้กับ บาเยิร์น มิวนิค
ตำแหน่งที่โดนหนักที่สุด คือหัวหน้าผู้ฝึกสอน เพราะทัพเสือใต้พร้อมปลดออกจากตำแหน่งแบบไม่ไว้หน้า โดยไม่เกรงใจดีกรี ชื่อเสียง ความสำเร็จ หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว
Photo : Der Spiegel
เริ่มต้นตั้งแต่ พอล เชอร์ไน กุนซือในช่วงปี 1979 ถึง 1983 ที่เป็นผู้เริ่มพาบาเยิร์น กลับมาคว้าแชมป์ลีกได้ 2 สมัยซ้อน แต่ทันทีที่พลาดถ้วยแชมป์ อูลี เฮอเนส ได้ทำการลงดาบปลดเขาออกจากตำแหน่งในทันที และแต่งตั้ง อูโด ลาเท็ค อดีตกุนซือจากยุค 70s กลับมารับตำแหน่งนี้อีกครั้ง
ภายใต้การนำของลาเท็คหนสอง ทีมดังจากแคว้นบาวาเรียคว้าแชมป์บุนเดสลีกา ติดต่อกัน 3 สมัย ในช่วงปี 1985 ถึง 1987 อยู่ในจุดที่เรียกว่า เป็นหนึ่งในทีมที่แข็งแกร่งของยุโรป ณ เวลานั้น สะท้อนให้เห็นว่าเป็นอีกครั้งที่บาเยิร์นตัดสินใจได้อย่างถูกต้องกับการเปลี่ยนแปลง
อย่างไก็ตาม ความพ่ายแพ้ในเกมนัดชิงชนะเลิศ ยูโรเปียน คัพ ปี 1987 ให้กับ เอฟซี ปอร์โต จากโปรตุเกส ถึงกับทำให้ลาเท็ค โดน บาเยิร์น มิวนิค ปลดออกจากตำแหน่ง อย่างสุดช็อค
Photo : Weltfussball
เหตุผลที่บาเยิร์น เลือกปลดยอดโค้ชรายนี้ มาจากเหตุผลที่ว่า ทีมเต็มไปด้วยนักเตะระดับโลกมากมาย ทั้ง คาร์ล ไฮนซ์ รุมมินิเก, โลธาร์ มัธเธอร์อุส, เคลาส์ เออเกนแทเลอร์, ดีเตอร์ เฮอเนส ดังนั้นความผิดพลาดกับการแพ้ให้กับปอร์โต ในรอบชิงฟุตบอลยุโรปถ้วยใหญ่ คือสิ่งที่รับไม่ได้ และไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นของบาเยิร์น มิวนิค
1
การทำงานกับองค์กรแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยความกดดัน เพราะบาเยิร์นต้องการสิ่งที่ที่สุดเสมอ เท่าที่ทีมจะไปถึง หากศักยภาพของทีมไปได้ถึงการคว้า 3 แชมป์ ทีมต้องได้ 3 แชมป์ ไม่มีการได้ 2 แชมป์ หรือแชมป์เดียว มาเป็นข้อแก้ตัว หรือรางวัลปลอบใจ
1
ซึ่งหลายคนที่ร่วมงานกับบาเยิร์น เข้าใจในมาตรฐานอันสูงส่งตรงนี้ดี เช่น พอล เชอร์ไน อดีตกุนซือของทีมที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า มาตรฐานของบาเยิร์น คือการเป็นแชมป์เท่านั้น หากไม่ได้แชมป์แค่ 2 ฤดูกาลติด ถือเป็นเรื่องน่าอับอายมาก ดังนั้นการปลดโค้ชออกจากตำแหน่ง ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
Photo : BR
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการปลดโค้ชของบาเยิร์น จะไร้ข้อกังขา เพราะ พอล เชอร์ไน เผยว่าตัวเขาเคยทะเลาะอย่างเอาเป็นเอาตาย กับ อูลี เฮอเนส เนื่องจากการปลด จุปป์ ไฮย์เกส ออกจากตำแหน่งเฮดโค้ช เมื่อปี 1991
1
ไฮย์เกส เข้ามารับช่วงต่อจาก อูโด ลาเท็ค เมื่อปี 1987 และทำทีมได้ตามาตรฐาน คว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้ 2 สมัย จาก 3 ปีแรก แต่เมื่อทัพเสือใต้พลาดแชมป์บุนเดสลีกา ฤดูกาล 1990-91 ยอดกุนซือรายนี้เป็นอันต้องหลุดออกจากตำแหน่งไปตามระเบียบ
"บางครั้งการเป็นโค้ช ไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ในทันที และไฮย์เกสต้องทำงานโดยที่เท้าเหยียบอยู่บนไฟตลอดเวลา เขาคือโค้ชที่สุดยอด ในฐานะโค้ชเหมือนกัน ผมเชื่อว่าทุกคนควรได้เวลาอย่างเต็มที่" พอล เชอร์ไน กล่าว
ไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร = ไล่ออก
ช่วงเวลาเดียวกันที่ประเทศอังกฤษ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้เวลาหลายปีในการสร้างทีมจนพา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ครองความยิ่งใหญ่ แต่นี่ไม่ใช่วิธีของทัพเสือใต้ การให้เวลาไม่ใช่สิ่งที่ได้เห็นบ่อยนัก กับสโมสรแห่งนี้
ไม่ใช่ปัจจัยด้านผลงานเพียงอย่างเดียว ที่สามารถทำให้โค้ชของถ้ำเสือหลุดออกจากตำแหน่ง แต่รวมถึงการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรด้วยเช่นกัน เพราะ บาเยิร์น มิวนิค มีแนวทางการทำงานที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน นั่นคือ การทำงานหนักอย่างมืออาชีพ แต่ขณะเดียวกันก็มีอีโก้ที่สูงจัด ไม่มีใครยอมใครง่าย ๆ
เรียกได้ว่าต้องมีทั้งความสามารถในการคุมทีมขั้นสูง จิตวิทยาที่ยอดเยี่ยมในการจัดการนักเตะ และการปรับตัวที่ดีให้เข้ากับผู้บริหาร หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ย่อมหมายความว่า อนาคตในฐานะเฮดโค้ชของบาเยิร์น อาจจบลงในอนาคตอันใกล้
Photo : Kicker
อ็อตโต เรฮาเกล ยอดกุนซือชาวเยอรมัน คือคนที่โดนบทเรียนนี้เข้าอย่างจัง เขาเคยได้เวลา 14 ปี กับ แวร์เดอร์ เบรเมน ในการสร้างทีมจนก้าวมาเป็นสโมสรชั้นนำของเมืองเบียร์ แต่เจ้าตัวกับได้โอกาสคุมบาเยิร์น ไม่ถึง 1 ปี ก่อนโดนตะเพิดออกจากตำแหน่ง
เรฮาเกล คือสุดยอดกุนซือมากฝีมือที่ใคร ๆ ก็ยอมรับ หากแต่วิธีการทำงานของเขาไม่เข้ากับ บาเยิร์น มิวนิค แม้แต่น้อย
เริ่มต้นตั้งแต่การที่เรฮาเกล ต้องการให้อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของเขา นักเตะ หรือผู้บริหาร ห้ามเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจ ในการปลุกปั้นสโมสร ซึ่งเป็นวิธีการที่โค้ชรายนี้ ใช้สร้าง แวร์เดอร์ เบรเมน จนโด่งดัง
หากแต่ที่ บาเยิร์น มิวนิค ต่างออกไป ไม่มีใครในทีมใหญ่ไปกว่าผู้บริหาร แม้แต่เฮดโค้ชก็ต้องฟังผู้มีอำนาจกลุ่มนี้ ... ขณะที่นักฟุตบอลของบาเยิร์น ไม่ใช่นักเตะโนเนมแบบเบรเมน แต่แข้งเหล่านี้มีดีกรีทีมชาติ ความสำเร็จติดตัว และต้องการอำนาจที่จะตัดสินใจในห้องแต่งตัว เช่นกัน
Photo : SPOX
สุดท้ายตลอดฤดูกาล 1995-96 จึงกลายเป็นการเกิดสงครามภายในสโมสร ระหว่าง โค้ช, นักเตะ และผู้บริหาร อันนำมาซึ่งการตัดสินใจสุดฉาวของ บาเยิร์น มิวนิค ที่ตัดสินใจปลดเรฮาเกลออกจากตำแหน่ง ก่อนเกมนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า คัพ (ยูโรปา ลีก ปัจจุบัน) เพียง 4 วันก่อนการแข่งขันเท่านั้น
1
"มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องจัดการเรื่องราวทั้งหมดเสียที เสียงความไม่พอใจในองค์กรดังขึ้นเรื่อย ๆ แต่เรฮาเกลไม่เคยสนใจกับสิ่งนั้น ความเป็นมืออาชีพของเราไม่เหมือนกัน (เรฮาเกล กับ บาเยิร์น) ถ้าเขาอยู่ในตำแหน่งต่อไป ทุกอย่างจะบานปลายมากกว่านี้" ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์ ประธานสโมสรบาเยิร์น ในเวลานั้น กล่าวถึง การปลดเรฮาเกล
แม้จะเป็นการกระทำที่เรียกเสียงด่า ได้จากทุกสารทิศ ถึงการปลดเรฮาเกลออกจากตำแหน่ง เพราะนอกจากจะโหดร้ายกับโค้ชรายนี้ ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ บาเยิร์น มิวนิค แพ้ 2 เกมติดในศึกบุนเดสลีกา พลาดการได้แชมป์ลีกในประเทศ ไปในที่สุด (โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ คว้าแชมป์ในปีนั้นไป) แม้จะคว้าแชมป์ ยูฟ่า คัพ ได้ก็ตาม
Photo : FC Bayern
ภาพตรงนี้ได้แสดงให้เห็นว่า บาเยิร์นพร้อมที่จะสละอนาคตระยะสั้น หากเห็นแล้วว่าโค้ชคนไหนไม่ตอบโจทย์กับการทำงานด้วยการในระยะยาว ทีมพร้อมจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทันที
ดังนั้น การทำงานในสโมสรแห่งนี้ จึงต้องรู้จักที่จะเรียนรู้ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร รักษาความสัมพันธ์ของแต่ละฝ่ายให้ราบรื่น ไม่เช่นนั้นแล้ว การใส่คอนเวิร์สทางใครทางมัน สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
ทีมเยอรมัน ทำงานแบบเยอรมัน
บาเยิร์น มิวนิค คือทีมที่มีความเป็นเยอรมันในตัวสูงมาก นั่นคือพวกเขานิยมการทำงานอย่างเข้มข้น สุดความสามารถ เต็มที่ทุกวินาที หากอยู่ในชั่วโมงการทำงาน แต่ขณะเดียวกัน ต้องมีการวางแผนที่ละเอียด ชัดเจน มีประสิทธิภาพ
1
สิ่งที่ บาเยิร์น มิวนิค ไม่ชอบ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่คนเยอรมันส่วนใหญ่ไม่ถูกใจ คือการทำงานแบบสบาย ๆ ไม่ต้องมีแบบแผนมากมาย หรือเน้นการแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าทีละเปลาะ ต่อให้ได้ผลเป็นอย่างดี พวกเขาก็ไม่นิยม
1
ดังนั้นแล้ว โค้ชต่างชาติที่เข้ามาทำงานกับบาเยิร์น จึงมักเจอปัญหาความแตกต่างด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะชาติที่มีลักษณะนิสัยตรงกันข้ามกับคนเยอรมัน นั่นคือ อิตาลี และเนเธอร์แลนด์
สำหรับอิตาลี นี่คือชาติที่ไม่มีระเบียบวินัยสักเท่าไหร่นัก ทำงานอย่างไร้แบบแผน เพราะเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ใช้จินตนาการ แต่ได้ผลดีมีประสิทธิภาพเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นี่คือสิ่งที่ตรงข้ามกับวิธีทางของเยอรมัน อย่างเห็นได้ชัด
Photo : Abendzeitung München
ตัวตนของแต่ละชาติ ถูกถ่ายทอดลงสู่ปรัชญาฟุตบอลอย่างชัดเจน รวมถึงสไตล์ในการทำทีมด้วย ยอดโค้ชชาวอิตาลีอย่าง โจวานนี ตราปัตโตนี ดึงเอกลักษณ์ของชนชาติบ้านเกิดมาใช้ในกีฬาฟุตบอล ด้วยการให้อิสระกับนักเตะ ค่อย ๆ ดึงจุดเด่นของผู้เล่นแต่ละคน มาสร้างเป็นแผนการเล่นของทีม แทนที่จะใช้ระบบที่คิดมาเป็นอย่างดี และให้ทุกคนปฏิบัติตามคำสั่ง
1
แนวทางของตราปัตโตนี ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จอย่างมาก กับ ยูเวนตุส และ อินเตอร์ มิลาน สองทีมดังจากแดนมักกะโรนี เพราะวิธีการของเขา เข้ากับวัฒนธรรม นิสัยใจคอของชาวอิตาลีได้เป็นอย่างดี
แต่เมื่อย้ายมาจับงานต่างประเทศครั้งแรกในชีวิต กับบาเยิร์น มิวนิค ทุกอย่างเปลี่ยนไปคนละเรื่อง นักเตะเยอรมันงงเป็นไก่ตาแตก เมื่อพบเจอการทำงานแบบสบาย ๆ ของตราปัตโตนี
Photo : FC Bayern
ในความเป็นจริงแล้ว โจวานนี ตราปัตโตนี เป็นชายที่ชอบความสมบูรณ์แบบ การทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ต่างจากคนเยอรมัน และมีความเป็น "บาเยิร์น มิวนิค" อยู่ในตัว ตรงที่ว่าเขาไม่มีทางรับได้ หากผลงานของทีมล้มเหลว หรือไม่เป็นไปตามเป้า แม้แต่นิดเดียว
หากแต่สุดท้ายแล้ว ความเป็นอิตาลีในตัวตราปัตโตนี ทั้งการมองฟุตบอลเป็นเรื่องของศิลปะ รวมถึงการเน้นใช้ไม้อ่อนในการควบคุมนักเตะ ซึ่งสวนทางกับวิถีทางแบบเยอรมัน ทำให้เขาไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น กับการคุมทัพบาเยิร์น มิวนิค โดยเฉพาะการคุมทีมครั้งแรกของตราปัตโตนี ในฤดูกาล 1994-95 ซึ่งเจ้าตัวถูกปลดทันที หลังผ่านไปเพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้น และไร้แชมป์ติดมืออีกด้วย
Photo : Bavarian Football Works
คาร์โล อันเชล็อตติ คืออีกคนที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับ บาเยิร์น มิวนิค เพราะนิสัยความเป็นอิตาลีของเขา เช่น การสูบบุหรี่ที่สนามซ้อม ซึ่งกลายเป็นภาพที่ขัดใจเหล่าผู้บริหารทัพเสือใต้ จนถึงกับต้องมีการออกกฎว่า ห้ามบุคลากรทุกคนสูบบุหรี่ที่สนาม เพียงเพราะไม่ต้องการให้โค้ชใหญ่ของทีมสูบบุหรี่ อันเป็นภาพลักษณ์การทำงานที่แย่ ในสายตาของคนเยอรมัน
นอกจากนี้ สไตล์การฝึกซ้อมแบบสุดชิลของอันเชล็อตติ ยังเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขาโดน บาเยิร์น มิวนิค เด้งออกจากตำแหน่ง ในฤดูกาล 2017-18 ทั้งที่ปีก่อนหน้ายังพาทีมคว้าแชมป์บุนเดสลีกา
เนื่องจากแข้งเสือใต้ ไม่ว่าจะเป็น ฟรองค์ รีเบรี, อาร์เยน ร็อบเบน, โธมัส มุลเลอร์ และ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี พากันรวมตัวกดดันผู้บริหารทีม ให้ไล่อันเชล็อตติออก เพราะไม่ชอบแนวทางการซ้อมแบบสบาย ๆ ซึ่งพวกเขามองว่าไม่ช่วยให้ฝีเท้าพัฒนาแม้แต่น้อย และอยากได้โค้ชที่ซ้อมแบบเข้มถึงใจ สไตล์เยอรมัน เข้ามาทำหน้าที่แทน
1
"โค้ชต่างชาติที่ไปทำงานในบาเยิร์น มิวนิค ต้องพิสูจน์ตัวเองเยอะมาก เพื่อให้ผู้เล่นยอมรับ กรณีของอันเชล็อตติ คือตัวอย่างที่ชัดเจนมากว่า การแยกทางไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตัวเขา มีปัญหากับผู้บริหาร" มิชาเอล บัลลัค อดีตแข้งของทัพเสือใต้ กล่าวให้เห็นถึงความยากลำบากของโค้ชต่างชาติ ที่มาทำงานกับสโมสรแห่งนี้
1
Photo : Carlo Ancelotti
อีกหนึ่งชาติที่ต้องเจอปัญหานี้ คือเนเธอร์แลนด์ อย่าง หลุยส์ ฟาน กัล ยอดโค้ชผู้มีจินตนาการเต็มเปี่ยมในการสร้างสรรค์เกมลูกหนัง ไม่ต่างอะไรกับชาวฮอลแลนด์ ซึ่งเป็นผู้รักในอิสระ ชื่นชอบในอิสระเสรี เต็มไปด้วยจินตนาการ เรียกได้ว่าเป็นด้านตรงข้ามของเยอรมัน ที่ยิ่งกว่าอิตาลีเสียด้วยซ้ำ
หลุยส์ ฟาน กัล เข้ามาสร้างผลงานในปีแรกของเขา กับทพเสือใต้ด้วยการคว้าแชมป์ถ้วยใหญ่ในประเทศ ทั้ง บุนเดสลีกา และ เดเอฟเบ โพคาล รวมถึงเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ในฤดูกาล 2009-10 แต่ฤดูกาลต่อมาทุกอย่างพลิกไปคนละด้าน
เอกลักษณ์ของฟาน กัล ตอนที่เขานำทัพบาเยิร์น คือเขาพร้อมที่จะทดลองทุกอย่างในสนามฟุตบอล ทั้งการสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งผู้เล่น หรือให้โอกาสผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีในปีแรก
Photo : FC Bayern
แต่เข้าสู่ปีที่สอง ฟาน กัล ยังคงใช้จินตนาการอันล้ำเลิศของเขา แก้แผนตัวเองไปเรื่อย ๆ หากแต่กลายเป็นยิ่งแก้ยิ่งเละ จนทีมหลุดจากวงโคจรลุ้นแชมป์ไปตั้งแต่ช่วงครึ่งฤดูกาล สุดท้ายบอร์ดของบาเยิร์น ไม่ยอมรอไปมากกว่านี้ ปลดกุนซือรายนี้ออกจากตำแหน่ง ก่อนที่ฤดูกาล 2010-11 จะจบลงเสียอีก
ดังนั้นแล้ว โค้ชต่างชาติที่เข้ามาทำงานกับบาเยิร์น ต่อให้มีผลงานชัดเจน หรือชื่อเสียงมากมาย แต่หากย้ายเข้ามาแล้วปรับตัวไม่ได้ กับวิธีการทำงานแบบคนเยอรมัน สิ่งเดียวที่พวกเขาจะได้รับคือซองขาว ไล่ออกในท้ายที่สุด
ไม่มีมิตรภาพในถ้ำเสือ
หลายสโมสรจะเห็นได้ว่าความผูกพัน ระหว่างโค้ชกับทีม มีผลต่อการตัดสินใจว่า จะเลือกให้กุนซือคนนั้นยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เรื่องของความผูกพัน ความรักที่มีให้กันระหว่างบุคคล ไม่มีส่วนเกี่ยวกับหน้าที่การงาน ในสโมสร บาเยิร์น มิวนิค เพราะที่นี่ต่อให้ชีวิตจริงสนิทกันมากแค่ไหน แต่ถ้าผลงานไม่เข้าตา หรือมีปัญหาเกิดขึ้น ต้องแยกทางกันสถานเดียว
Photo : UEFA
เยอร์เกน คลินส์มันน์ คือหนึ่งในอดีตนักเตะบาเยิร์น ที่ผันตัวมาคุมทีมเก่าในฤดูกาล 2008-09 ด้วยความคุ้นเคยกันดีกับทีมผู้บริหาร ทำให้บอร์ดของเสือใต้ไฟเขียวเต็มที่แก่โค้ชรายนี้ ปล่อยให้เขามีอำนาจในการตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว ในการสร้างทีมตามแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลงานของทีมไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แถมคลินส์มันน์ยังมีปัญหากับผู้เล่นภายในทีมหลายคน จากวิธีการทำงานที่ไม่เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน ส่งผลให้บาเยิร์นทำการปลดโค้ชรายนี้ออกจากตำแหน่ง ก่อนจบฤดูกาลด้วยซ้ำไป
Photo : beIN SPORTS
คนต่อมาคือ นิโก โควัช อีกหนึ่งเด็กเก่าของทีม ที่กลับมาสู่สโมสรอีกครั้ง ในฐานะเฮดโค้ช เมื่อฤดูกาล 2018-19 ซึ่งโควัชเข้าตำราเดียวกับคลินส์มันน์เป๊ะ ๆ นั่นคือมีความสนิทกับผู้บริหารของสโมสรเป็นอย่างดี ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่
อีกทั้งในเวลานั้น บาเยิร์นเพิ่งปวดหัวกับการเข้ามาของโค้ชต่างชาติ อย่าง คาร์โล อันเชล็อตติ ที่ไม่ได้รู้จักธรรมเนียมของสโมสร ทีมจึงเลือกเอาโควัชเข้ามา เพราะมองว่ารู้จักวัฒนธรรมของทีมเป็นอย่างดี แม้จะเป็นชาวโครแอตก็ตาม อีกทั้งดีกรีก็พอมี คือการพา ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต คว้าแชมป์เดเอฟเบ โพคาล ด้วยการชนะบาเยิร์นในรอบชิงชนะเลิศ
อย่างไรก็ตาม โควัชก็ไปลงเอยแบบเดียวกับคลินส์มันน์ นั่นคือ ผลงานไม่ตามเป้า และคุมนักเตะไม่ได้ แม้จะได้แชมป์บุนเดสลีกา ในปีแรกที่ทำงานร่วมกับทีม แต่หลังจากเปิดฤดูกาลใหม่ได้เพียง 2 เดือน โควัชก็ถูกบอร์ดเสือใต้ปลดออกจากตำแหน่งทันที โดยไม่ต้องรอให้เวลาพิสูจน์ฝีมือ
Photo : Squawka Football
ล่าสุดกับ ฮานชี ฟลิค ที่เพิ่งพาบาเยิร์นคว้าแชมป์ 6 รายการในปีเดียว และมีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างมากกับฝั่งนักเตะ หากแต่เขาดันมีปัญหากับ ฮาซาน ซาลิฮามิซิช ผู้อำนวยการกีฬาของทีม เรื่องแนวทางการทำทีมที่ไม่ลงตัว โดยเฉพาะการซื้อผู้เล่นที่ฝั่งบอร์ดบริหาร ไม่ยอมซื้อนักเตะตามที่โค้ชรายนี้ร้องขอ แม้แต่คนเดียว
1
นำมาซึ่งการประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างไม่เป็นทางการของ ฮานชี ฟลิค ที่แม้จะผูกพันกับทีมเสือใต้ชุดนี้มากเพียงใด แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เขารู้ตัวดีว่า จะไม่มีการประณีประนอมเกิดขึ้น ทำให้ยอดกุนซือรายนี้ขอเลือกเป็นฝ่ายที่จะเดินจากไป
มีโค้ชเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่ยุติช่วงเวลากับ บาเยิร์น มิวนิค อย่างสวยงามไร้ซี่งปัญหา เช่น อ็อตมาร์ ฮิทซ์เฟลด์, เป๊ป กวาร์ดิโอลา เพราะแม้แต่ จุปป์ ไฮย์เกส ผู้นำทีมคว้า 3 แชมป์ (บุนเดสลีกา, เดเอฟเบ โพคาล, ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก) ครั้งแรกของสโมสรในฤดูกาล 2012-13 ยังเคยผ่านประสบการณ์ถูกเด้งออกจากตำแหน่งแบบไม่ให้เวลา สมัยคุมทีมครั้งแรก
Photo : Kicker
เป็นเรื่องที่ยากมาก หากโค้ชสักคนจะอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนของ บาเยิร์น มิวนิค ให้ได้อย่างยาวนาน เพราะสุดท้ายมีเหตุผลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลงาน, วัฒนธรรมการทำงาน, ความสัมพันธ์ภายใน ที่ทัพเสือใต้สามารถใช้มาเป็นข้ออ้าง ไล่โค้ชออกจากตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม ถึงจะไม่มีโค้ชคนไหนอยู่ยืนหยัดยาวนานที่นี่ แต่ผลดีที่บาเยิร์นได้รับกลับมา คือสโมสรแห่งนี้ไม่เคยกลัวกับความเปลี่ยนแปลง ไม่เคยยึดติดกับอะไรเก่า ๆ พร้อมรับกับสิ่งใหม่ตลอดเวลา
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ ทำให้บาเยิร์นเดินก้าวไปข้างหน้า ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ และรักษาความเป็นเจ้าแห่งวงการฟุตบอลเยอรมัน มายาวนานกว่า 50 ปี
บทความโดย ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา