23 เม.ย. 2021 เวลา 10:11 • การศึกษา
[ตอนที่ 20] เเนะนำภาพรวมของภาษาละติน
An overview of Latin language
1
สำหรับเนื้อหาตอนเเรกของซีรีส์ "แนะนำภาษาละตินเเละกลุ่มภาษาโรมานซ์" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “ภาษาละติน” ภาษาเคยใช้กันเเพร่หลายในทวีปยุโรปในยุคโบราณ-ยุคกลาง เเละเป็นรากฐานของกลุ่มภาษาโรมานซ์ ให้คนอ่านได้เข้าใจและเห็นภาพว่าภาษานี้มีลักษณะเฉพาะ ความสำคัญ และประวัติความเป็นมาอย่างไร ซึ่งภาษาละตินนั้นเป็น "ภาษาตายเเล้ว" ที่ยังคงมีบทบาทต่อโลกตะวันตกในยุคปัจจุบัน ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
ข้อความภาษาละตินเเละตัวเลขโรมันที่ผนังอาสนวิหารเทรียร์ เมืองเทรียร์ ทางตะวันตกของประเทศเยอรมนี [Credit ภาพ : User "Elsemargriet" @ Pixabay]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลง "Fundamentum" เพลงภาษาละตินที่ออกมาใน ค.ศ.2000 โดย Lesiëm วงดนตรีเเบบนิวเอจในประเทศเยอรมนี
ภาษาละติน (Latin หรือชื่อในภาษาละตินว่า Lingua Latīna) เป็นภาษาโบราณที่ยังคงใช้งานด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การใช้สื่อสารในปัจจุบัน จนถือว่าเป็นภาษาที่ตายแล้ว (Dead language) ที่ไม่มีใครใช้เป็นภาษาแม่อีกต่อไป ภาษานี้อยู่ในกลุ่มภาษาอิตาลิก (Italic languages) ในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน และเป็นรากฐานให้กับภาษาอื่น ๆ รุ่นหลัง
ภาษาละตินมีตัวอักษรของตนเรียกว่า “อักษรละติน/อักษรโรมัน” (Latin/Roman alphabet) ที่เราคุ้นเคยกันดีในฐานะตัวอักษรที่ภาษาอังกฤษรับมาใช้นั้น พัฒนามาจากอักษร 3 แบบ ได้แก่
- อักษรอีทรัสคัน (Etruscan) อักษรอิตาลีโบราณแบบหนึ่งที่ใช้กันในช่วง ศตวรรษที่ 7 – 2 ก่อนคริสตกาล
- อักษรกรีก
- อักษรฟินิเชียน (Phoenician) อักษรที่ใช้ในภาษาฟินิเชียนตามชายฝั่งหลายแห่งแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในช่วงปี 1200-150 ปีก่อนคริสตกาล
เเผนที่ประเทศอิตาลีในปัจจุบัน เเสดงพื้นที่เเคว้นลัตซีโย (Lazio) หรือที่เรียกว่า Latium "ละติอุม" ในภาษาละติน [Credit เเผนที่ : User "TUBS" @ Wikipedia]
แต่เดิมนั้น ภาษาละตินใช้สื่อสารกันในพื้นที่ “Latium” ซึ่งอยู่ตรงชายฝั่งตะวันตกบริเวณกรุงโรมและภาคกลางของอิตาลีตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล โดยมีหลักฐานผ่านจารึกต่าง ๆ พื้นที่ Latium เป็นศูนย์กลางของสาธารณรัฐโรมัน รัฐที่จะพัฒนากลายเป็นจักรวรรดิโรมัน อดีตมหาอำนาจในทวีปยุโรปในเวลาถัดมา การขยายอิทธิพลของโรมันส่งผลให้ภาษาละตินกลายเป็นภาษาหลักในดินแดนต่าง ๆ ของจักรวรรดิโรมันในทวีปยุโรปและแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตามไปด้วย
เเผนที่เเสดงจักรวรรดิโรมันช่วงที่ขยายอิทธิพลเหนือดินเเดนออกไปได้ไกลที่สุด ในช่วงปี ค.ศ.117 [Credit เเผนที่ : User "Tataryn" @ wikipedia]
จนเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล ถึงจะเริ่มมีงานเขียนที่ใช้ภาษาละตินที่ระบุผู้แต่งหรือเรียบเรียง เมื่อตำรากรีกโบราณเริ่มเข้าสู่โรมัน จนส่งผลต่อศิลปะและวรรณกรรมของโรมัน อย่างการเรียบเรียงสุนทรพจน์ บทกวี บันทึกประวัติศาสตร์
ภาษาละตินได้วิวัฒนาการต่อมาจนแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
1) ภาษาละตินคลาสสิก (Classical Latin) มาจากภาษาละตินเก่าที่ปรับมาตรฐานจนเป็นภาษาละตินมาตรฐาน และใช้ตามงานวรรณกรรม ตั้งแต่ช่วงปีที่ 75 ก่อนคริสตกาล (สมัยสาธารณรัฐโรมันตอนปลาย)
เเผ่นหินจารึกข้อความภาษาละตินบนซุ้มประตูเเห่งติตุส (Arco di Tito) ในกรุงโรม ซึ่งซุ้มประตูเเห่งนี้สร้างในปี ค.ศ.81 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้ภาษาละตินคลาสสิกในโรมัน [Credit ภาพ : Kimberly Cassibry]
ตัวอย่างนักเขียนคนสำคัญที่มีผลงานและบทบาทสำคัญต่อภาษาละตินคลาสสิก ได้แก่
- กิแกโร (Cicero : ปีที่ 106 – 43 ก่อนคริสตกาล) กวี นักพูด นักกฎหมาย นักวิชาการและนักปรัชญาชาวโรมันผู้ได้รับความเคารพจากรัฐบุรุษผู้นำอย่างจูเลียส ซีซาร์และปอมปีย์ ภาษาละตินคลาสสิกในผลงานเชิงมนุษยนิยม ปรัชญา และการเมืองของกิแกโรได้กลายเป็นต้นแบบของภาษาละตินตามงานเขียนในยุโรปหลังจากนั้นจนถึงยุคกลาง
- เวอร์จิล (Virgil : ปีที่ 70 – 19 ก่อนคริสตกาล) กวีชาวโรมันผู้แต่งวรรณกรรมภาษาละตินคลาสสิกเกี่ยวกับอีเนียส (Aeneas) วีรบุรุษผู้พากลุ่มคนอพยพจากสงครามเมืองทรอยมาสู่ดินแดนอิตาลี
- ตากิตุส (Tacitus : ค.ศ.56 - 120) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันผู้เขียนบันทึกประวัติศาสตร์โรมันด้วยภาษาละตินคลาสสิก
ตำราเรียนวิชา “ภาษาละติน” ในปัจจุบันหากไม่บอกรายละเอียดว่าเป็นภาษาละตินแบบใด มักจะเป็นภาษาละตินคลาสสิก มีการเปิดสอนเป็นวิชาเลือกในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาในชาติตะวันตก เพื่อใช้แปลเอกสารทางประวัติศาสตร์เป็นภาษาที่ใช้ในปัจจุบัน และเรียนรู้เรื่องรากศัพท์จากภาษาละตินคลาสสิก ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อใช้สนทนาหรือสื่อสารในชีวิตประจำวัน
2) ภาษาละตินสามัญ (Vulgar Latin) เป็นภาษาพูดในระดับสามัญชนคนทั่วไปที่ใช้ในสมัยเดียวกันกับภาษาละตินคลาสสิก
นักวิชาการจะศึกษาภาษาละตินสามัญที่เป็นภาษาพูดได้ยากกว่าภาษาละตินคลาสสิกที่เป็นภาษาเขียน เนื่องจากหลักฐานของภาษาละตินสามัญที่หลงเหลือมีน้อยกว่า โดยต้องศึกษาผ่านวรรณกรรมในระดับสามัญชน บทละคร งานเขียนแบบอื่น ๆ ที่มีบทบรรยาย-บทพูด รวมไปถึงจดหมายที่ดูใช้ภาษาไม่ทางการเท่าสุนทรพจน์ ซึ่งภาษาละตินสามัญจะมีความเคร่งครัดของรูปแบบโครงสร้างประโยคที่น้อยกว่า การผันคำที่เพี้ยนไป การย่อประโยคให้สั้นกว่า และคำศัพท์ส่วนหนึ่งที่แตกต่างกัน
ภาษาละตินสามัญมีข้อจำกัดที่ตายตัวน้อยกว่าภาษาละตินคลาสสิก จึงแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วดินแดนต่าง ๆ ในโรมัน ก่อนที่จะผสมผสานกับท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ เกิดความเปลี่ยนแปลงเรื่องคำศัพท์ การออกเสียง และไวยากรณ์ จนวิวัฒนาการกลายเป็นกลุ่มภาษาโรมานซ์ (Romance languages) ได้แก่
- ภาษาอิตาลี
- ภาษาสเปน
- ภาษาฝรั่งเศส
- ภาษาโปรตุเกส
- ภาษาซาร์ดิเนียบนเกาะซาร์ดิเนียของอิตาลี
- ภาษาอุตซิตา (Occitan) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส
- ภาษากาตาลันทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน
- ภาษารูมันช์ (Romansh) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสวิตเซอร์แลนด์
เเผนที่เเสดงการกระจายตัวของภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษาโรมานซ์ โดยเฉพาะในประเทศโปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส อิตาลีเเละโรมาเนีย [Credit เเผนที่ : User "Servitje" @ Wikipedia]
เมื่อเวลาผ่านไป ภาษาละตินยังมีวิวัฒนาการต่อเนื่องตามยุคสมัย แต่ค่อย ๆ เหลือสถานะเป็นเพียงภาษาเขียนเท่านั้น เช่น
3) ภาษาละตินช่วงปลาย (Late Latin) เป็นภาษาละตินในช่วงปลายสมัยโบราณ (คริสต์ศตวรรษที่ 3 – 6) แม้ว่าจะเผชิญช่วงการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก (ค.ศ.376 - 476) แต่ภาษาละตินยังสืบทอดต่อไปถึงยุคกลาง
4) ภาษาละตินยุคกลาง (Medieval Latin) เป็นภาษาละตินที่ใช้ตามดินแดนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในแถบยุโรปตะวันตก ประมาณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 - 10 (ตรงกับช่วงยุคกลาง) โดยใช้เป็นภาษากลางในการศึกษาตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในยุโรป การแลกเปลี่ยนและสื่อสารทางวิชาการ ภาษาทางศาสนา ภาษาในวงการประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วรรณกรรม กฎหมาย และการบริหารปกครอง
ภาพถ่ายเเสดงหน้าในตำรา Book of Hours (Milan, Biblioteca Trivulziana, Cod. 470) เอกสารตัวเขียนสีวิจิตรที่พิมพ์ในฝรั่งเศสช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งมีข้อความบทสวดในภาษาละตินยุคกลาง
ดังนั้น คำในภาษาละตินยุคกลางจึงนำมาใช้เป็นรากศัพท์หลายคำในภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะในทางเทววิทยา วิทยาศาสตร์ การแพทย์ และกฎหมาย (นอกจากภาษาละตินแล้ว ยังมีภาษากรีกและภาษาฝรั่งเศสที่มีอิทธิพลต่อภาษาอังกฤษเช่นกัน)
นอกจากนี้ เมื่อเริ่มเข้าช่วงต้นคริสต์สหัสวรรษที่ 2 ภาษาพูดตามดินแดนต่าง ๆ ในยุโรปอย่างภาษาสเปน ฝรั่งเศส โปรตุเกส อิตาลีก็ได้เข้ามามีบทบาทในการติดต่อสื่อสารแถบยุโรป และใช้เป็นสื่อสำหรับภาษาเขียนมากขึ้น ส่งผลให้การใช้ภาษาละตินเริ่มเสื่อมถอย
5) ภาษาละตินยุคเรอแนซ็องส์ (Renaissance Latin) เป็นภาษาละตินในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 – 15 (ตรงกับยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ) โดยใช้ในวงการบริหารและมหาวิทยาลัยจากหลายดินแดนในยุโรป
ค่านิยมในยุคนี้จะหันกลับมาสนใจศิลปวัฒนธรรมในยุคคลาสสิก (กรีกโบราณและโรมัน) นักวิชาการช่วงนั้นพยายามพัฒนารูปแบบการใช้งานภาษาละตินด้วยการย้อนกลับไปใช้ภาษาละตินคลาสสิก ชำระภาษาละตินสามัญและภาษาละตินยุคกลางออกไป กลายเป็นการ “แช่แข็งภาษาละติน” ที่ไม่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย จนภาษาละตินมีความนิยมใช้งานให้อยู่รอดในอนาคตได้ลดลง
6) ภาษาละตินใหม่ (New Latin) เป็นภาษาละตินที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในวงการวิชาการ วิทยาศาสตร์ และการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 – 18 คำในวงการวิทยาศาสตร์นานาชาติหลายคำจึงนำมาจากภาษาละตินใหม่ และมีตำราทางวิทยาศาสตร์หลายเล่มที่เขียนด้วยภาษาละตินใหม่ ยกตัวอย่างจากตำราดาราศาสตร์ ดังนี้
- De revolutionibus orbium coelestium โดย Nicolaus Copernicus นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ (ค.ศ.1543)
- Astronomia Nova โดย Johannes Kepler นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน (ค.ศ.1609)
- Sidereus Nuncius โดย Galileo Galilei นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี (ค.ศ.1610)
- Systema Saturnium โดย Christiaan Huygens นักดาราศาสตร์ชาวดัตช์ (ค.ศ.1659)
- Philosophiæ Naturalis Principia Mathematica โดย Isaac Newton นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ (ค.ศ.1687)
ภาพถ่ายเเสดงหน้าที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการโคจรของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะในตำรา Astronomia Nova เขียนโดย Johannes Kepler นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ฉบับตีพิมพ์ครั้งเเรกในปี ค.ศ.1609 [Credit ภาพ : Casey Dreier]
จากนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ภาษาละตินก็ลดความสำคัญลงจากที่เคยเป็น “ภาษากลาง” (Lingua Franca) ของวงการวิชาการ วิทยาศาสตร์ และการติดต่อระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษกับภาษาฝรั่งเศสที่เพิ่มบทบาทในช่วงสมัยนี้ จนภาษาอังกฤษกลายเป็น “ภาษากลาง” สำหรับการติดต่อระหว่างประเทศทั่วโลกแทนที่ภาษาละตินใหม่ในเวลาต่อมา ขณะที่ในวงการวิทยาศาสตร์แต่ละประเทศ แม้ว่ายังคงใช้ภาษาละตินอยู่บ้าง (อย่างชื่อสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต) แต่หลายประเทศก็เริ่มใช้คำวิทยาศาสตร์ในภาษาของตนเองแทนที่ภาษาละตินมากขึ้น (โดยเฉพาะแถบเอเชีย)
7) ภาษาละตินเชิงศาสนา (Ecclesiastical Latin) เป็นภาษาละตินที่ใช้กันในกิจการทางศาสนา (ศาสนพิธี ตำราทางศาสนา เอกสารทางศาสนจักร) ตามกลุ่มคริสตจักรโรมันคาทอลิก แองกลิคัน ลูเทอแรน เมทอดิสต์ และออร์ทอดอกซ์ตะวันตก ภาษาละตินเชิงศาสนายังใช้เป็นภาษาราชการของ “สันตะสำนัก” (Holy See) มุขมณฑลโรมันคาทอลิกแห่งกรุงโรม (มุขนายกที่นี่จะดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา อันเป็นประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั้งหมด)
โบสถ์คริสต์ในยุโรปสมัยก่อนถือว่ามีส่วนสืบทอดการใช้ภาษาละติน อย่างบทสวดหรือพระคัมภีร์ที่คนเข้าโบสถ์เป็นประจำได้ฟังหรืออ่านบ่อย ๆ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เก็บรักษางานเขียนภาษาละตินคลาสสิก
เนื้อหาพระวรสารนักบุญยอห์นในภาษาละตินเชิงศาสนาที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับ Sixto-Clementine Vulgate คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ตีพิมพ์ครั้งเเรกเมื่อปี ค.ศ.1592 [Credit ภาพ : User "Marie-Lan Nguyen" @ Wikipedia]
ขณะที่ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ภาษาในดินแดนยุโรปต่าง ๆ ได้แข่งขันบทบาทกับภาษาละตินมากขึ้น และมีปัจจัยเสริมตรงการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ โดยนักการเมืองนักปกครองในยุโรปที่พยายามสั่นคลอนอำนาจและการควบคุมรัฐของพระสันตะปาปา ส่งเสริมให้คริสตชนในนิกายโปรเตสแตนต์แปลคัมภีร์และตำราทางศาสนาจากภาษาละตินเป็นภาษาของตน ขณะที่ภาษาละตินกลับจำกัดอยู่ในโบสถ์คาทอลิก
ภาษาละตินเป็นภาษาแบบวิภัติปัจจัย (Fusional language) ตรงที่คำนามเอกพจน์และพหูพจน์ สามารถผันไปตามหน้าที่ของหน่วยคำ (ประธาน กรรมตรง หรือเจ้าของ เป็นต้น) จนหน่วยคำนั้นมีความหมายได้หลายอย่าง
เมื่อพิจารณาโครงสร้างประโยคแล้ว ภาษาละตินนับเป็นภาษาแบบ SOV (ประธาน-กรรม-กริยา) ดังตัวอย่างประโยคต่อไปนี้
1
ตัวอย่างลักษณะอื่น ๆ ของภาษาละติน ได้แก่
- ไม่มีคำนำหน้านาม (Article) แบบ a, an, the ในภาษาอังกฤษ (ต่างจากกลุ่มภาษาโรมานซ์ที่มีคำนำหน้านาม)
- คำนามในภาษาละติน มีเพศของคำนาม เรียกว่า “เพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender) อยู่ 3 เพศ ได้แก่ เพศชาย เพศหญิง และเพศกลาง (เพศกลางของคำนามหายไประหว่างที่ภาษาละตินวิวัฒนาการเป็นกลุ่มภาษาโรมานซ์)
- คำกริยาผันตามอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต และประธานของประโยค (บุรุษที่ 1-2-3) ซึ่งส่งผลมายังไวยากรณ์ที่มีการผันคำกริยาของกลุ่มภาษาโรมานซ์
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของภาษาละติน จนถึงแง่มุมที่แม้ภาษาละตินเป็นภาษาจากยุคโบราณ ผ่านประวัติศาสตร์นับพันปี และเสื่อมความนิยมลงจนไม่เหลือผู้ใช้เป็นภาษาแม่ (กลายเป็น “ภาษาที่ตายแล้ว”) แต่บทบาทสำคัญของภาษาละตินทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนนั้น ทำให้ภาษานี้มีคุณค่า เป็นตัวช่วยใช้ศึกษาแง่มุมต่าง ๆ ของโลกตะวันตกในยุคโบราณและยุคกลาง ทั้งเรื่องของตัวภาษา อิทธิพลและวิวัฒนาการของภาษา ไปจนถึงมรดกทางประวัติศาสตร์-ศาสนา-ปรัชญา-การปกครอง-วรรณกรรม-ศิลปวัฒนธรรม-วิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตก
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาข้อมูล]
- G.D.A. Sharpley. Get Started in Latin. London, UK: Hodder Education; 2010.
- Gavin Betts. Complete Latin. London, UK: Hodder Education; 2013.
- Gregory Klyve. Essential Latin Grammar. London, UK: Hodder Education; 2010.
โฆษณา