23 เม.ย. 2021 เวลา 05:30 • สุขภาพ
ถ้าวิกฤตโควิด เกินเยียวยา เราอาจเหมือนอเมริกา คือเลือกผู้ป่วยที่แข็งแรงเพื่อรอด ไทยใกล้ถึงจุดนั้นแล้ว
.
มืดมน สับสน เหนื่อย ท้อแท้ สิ้นหวัง จากนี้จะไปยังไงต่อ?
ความรู้สึกนี้น่าจะตรงกับใครหลายคน หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3
จำนวนผู้ป่วยยังไม่มีทีท่าลดลง
ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
เตียงไม่เพียงพอ
ผู้ป่วยเข้าคิวรอรักษา
มาตรการรองรับมีแต่ความสับสน อลเวง ไม่รู้จะเชื่อใคร
มิหนำซ้ำ “วัคซีน” แสงสว่างสุดท้าย ณ ปลายอุโมงค์ ก็ค่อนข้างริบหรี่ ไม่ชัดเจน
.
คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า วันนี้เรากำลังก้าวเข้าใกล้วิกฤตมากขึ้นทุกที แล้วควรเดินต่อไปอย่างไร เพื่อไม่ให้การระบาดลุกลามเลวร้าย จนถึงวันที่ผู้ป่วยล้นประเทศเกินศักยภาพระบบสาธารณสุขที่จะรองรับ
ต้องเลือกให้ตายหรืออยู่ เหมือนที่บางประเทศเคยเผชิญ
❌ เมื่อสถานการณ์ในไทย เข้าใกล้นิวยอร์ก ตำราเดิมอาจไม่ได้ผล ❌
โควิด-19 ระลอก 3 มาแรงกว่าที่คิด แต่มันก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่มีการคาดการณ์ในทางระบาดวิทยา
ทั้งนี้จากข้อมูลของ ศบค. พบข้อสังเกตสำคัญว่า ในวันที่ 19 เมษายน มีผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจประมาณ 16 ราย แต่วันที่ 20 เมษายนมีคนใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มเป็น 55 ราย
สะท้อนว่าหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ปัญหาที่จะตามมาหลังจากเตียงไม่พอคือห้อง ICU ไม่พอ อาจต้องใช้ ICU สนาม
.
“ถ้าการระบาดลุกลามเกินเยียวยา เราอาจเข้าสู่สภาวะเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาเผชิญ นั่นคือเลือกผู้ป่วยที่แข็งแรงเพื่อรอด นี่คือทฤษฏี
รายไหนที่ดูแล้วโคม่าอาจหยุดให้ยา เก็บยาไว้ให้คนที่มีโอกาสรอดสูงกว่า ซึ่งเราเคยเห็นภาพนี้ในนิวยอร์กเมื่อปีที่แล้ว เราไม่คิดหรอกว่าภาพนี้จะเกิดในประเทศไทย แต่วันนี้ต้องบอกว่าเรากำลังใกล้ไปถึง ณ จุดนั้นแล้ว”
.
.
ย้อนกลับเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นชาติแรกๆ ในโลก ที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกเหนือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน
โดย ณ วันนั้นแม้ต้องแลกมาซึ่งความสูญเสียทางธุรกิจ แต่ประเทศไทยถือได้ว่ามีการจัดการที่ดีกว่าหลายประเทศจนทำให้ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก
.
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา หลายประเทศฝั่งยุโรป มีการประกาศมาตรการที่เข้มงวดต่อเนื่อง ล็อกดาวน์ซ้ำหลายรอบเพื่อจำกัดวงรอบการระบาดให้แคบที่สุด แม้บางแห่งคัดค้านรุนแรงถึงขั้นปะทะกัน
แต่นั่นเป็นวิธีเจ็บแต่จบ ที่ทำให้วันนี้หลายประเทศผ่านจุดร้ายแรงที่สุดมาได้
อัตราผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมาก มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรเกินครึ่ง จนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตในภาวะใกล้เคียงปกติได้บ้างแล้ว อาทิ อิสราเอล, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย (บางรัฐ)
มองมาที่ประเทศไทย วันนี้เรายังคงอยู่ในจุดเดิม เพราะที่ผ่านมาเน้นแก้ไขเฉพาะหน้ามากกว่าป้องกัน 🚑🚑🚑
นั่นคือ ติด – กักตัว – รักษา
แต่เชื้อโรควิวัฒนาการจากเดิม ฉลาดขึ้น เก่งขึ้นรอบนี้จึงดูรุนแรงมากขึ้น และตำราบทเดิมที่เคยใช้อาจกางออกมาใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นเพราะที่ผ่านมาเรายังขาดการบูรณาการแผนรับมือภาวะวิกฤตโควิด-19 จากหลายๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าด้วยกัน และขาดการแบ่งบทบาทให้ชัดเจน ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางนั่นคือ
“คัดกรอง – รองรับ – บรรเทา – เยียวยา – จัดหาและกระจายวัคซีน เพื่อป้องกัน หรือ หาวิธีสร้างภูมิคุ้มกันหมู่”
.
แต่อาจด้วยข้อจำกัดในการทำงานของผู้รับผิดชอบที่มีลักษณะรวมศูนย์ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจ โดยรูปแบบนี้แม้เคยใช้ได้ดีกับวิกฤตการณ์อื่น อาทิ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่
แต่ครั้งนี้มีปัจจัยต่างกัน เพราะตอนน้ำท่วมความเสียหายค่อนข้างชัดในสาธารณูปโภคและเศรษฐกิจ ไม่ได้หลบซ่อนและแพร่กระจายรวดเร็วเหมือนเชื้อโรค
.
และถ้าเป็นโควิด – 19 เมื่อไหร่ ถ้าปล่อยให้ผู้ติดเชื้อต้องรอ เชื้อมีสิทธิอัพเกรดอาการที่รุนแรงขึ้น ลามไปติดคนข้างเคียง กระจายกว้างขึ้น 💥💥
เช่น ครอบครัวย่านสายไหมมีผู้ป่วยติดเชื้อ 1 คน แต่รอ รพ.รับไปรักษาผ่านไป 10 วัน ติดทั้งบ้าน 6 คน ตามที่เป็นข่าว
.
ดังนั้นอาจต้องดูกันต่อไปว่า ภาครัฐจะปรับ หรือ วางมาตรการขั้นตอนต่อไปอย่างไร
แต่ก็เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อมีการปลดล็อกบางประการเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาได้มากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องวัคซีน 💉
ที่เรียกได้ว่าเป็นความหวังทั้งในด้านสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงเชิงจิตวิทยาที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
💥 เมื่อไวรัสเก่งขึ้น ปรับตัวทุกวินาที ถ้าจะรอดต้องทำอย่างไร 💥
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการกำหนดขอบเขตอาการโควิด-19 ออกเป็น 3 ระดับ ตามนโยบายการส่งต่อผู้ติดเชื้อ
.
สีเขียว = ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือ มีอาการเล็กน้อย ส่งต่อ โรงพยาบาลสนาม/Hospitel
สีเหลือง = ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงแต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว หรือ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอื่นๆ เช่น สูงอายุ น้ำหนักเกิน มีโรคประจำตัวส่งต่อ โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน
สีแดง = ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ปอดอัดเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวมส่งต่อ โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน
.
แต่ชีวิตจริงเชื้อโรคไม่มีการแบ่งระดับความรุนแรงว่าต้องเป็นไปตามขั้นตอน ดังนั้น
ถ้าวันนี้คุณอยู่ในเป็นเคสสีเหลือง พรุ่งนี้คุณอาจจะสีแดงก็ได้ หรือ วันนี้คุณตรวจไม่เจอ แต่อีกสามวันคุณอาจเข้าขั้นวิกฤตแล้วก็ได้
เพราะไวรัสมีการปรับตัวทุกนาที ส่งผลให้ตรวจเจอยากขึ้น แฝงอยู่ในร่างกายนานขึ้น
และที่น่ากลัวกว่า คือ มันสามารถวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ จนอาจนำสู่การดื้อยา ต่อต้านวัคซีน
ดังที่ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด19 ว่า
🔴 เชื้อปรับตัวเองให้เก่งขึ้น แม้ไม่ต้องนำเข้า สายบราซิล อังกฤษ แอฟริกาด้วยซ้ำ และกลายเป็นรายใหม่ หลบหลีกกระบวนการต่อสู้ของร่างกายเก่งขึ้น และน่าจะมีผลดื้อต่อวัคซีนหรือไม่
🔴 เชื้อยังไม่เปลี่ยนมาก แต่คนติดเชื้อไม่แข็งแรงเท่าแรงงานในต้นระลอกสอง
.
ดังนั้นสิ่งที่เรารู้และเคยปฏิบัติอาจต้องปรับกระบวนการใหม่ เดิมอาจคิดว่าพอเริ่มมีอาการน้อยๆ ก็รีบดูแลตัวเองก่อนเพื่อจะไม่ได้พัฒนาจากเคสสีเขียวไปสีเหลือง
หรือ การที่คิดว่าถ้าได้วัคซีนแล้วก็คงรอด คงจบ เหล่านี้อาจต้องปรับเพราะรอบนี้ไวรัสมันเก่งขึ้น
.
ปัจจุบันคุณจะประเมินความเสี่ยงได้ยากมากขึ้น
จากเมื่อก่อนอาจบอกว่าไม่ได้ไปเที่ยวฉะนั้นเสี่ยงน้อย
แต่วันนี้มันไม่ใช่แบบเดิม
ทุกคนเสี่ยงเท่ากันหมด
เพราะยังต้องพบเจอคนซึ่งไม่รู้ว่าเขาไปไหนมาบ้าง ซึ่งอาจมีทั้งติดแล้ว หรือ อยู่ในพื้นที่เสี่ยงโดยไม่รู้ตัว
.
ระหว่างที่เรายังรอความหวัง โดยไม่รู้ว่าประเทศไทยสามารถยับยั้งการระบาดครั้งนี้ด้วยวิธีใด วัคซีนจะมาเมื่อไหร่ เตียงมีไหม ยาพอหรือไม่ หรือ ใครจะเป็นอัศวินม้าขาวมาช่วย
.
🟢 วิธีที่ดีที่สุดตอนนี้ คือ ถ้าหวังพึ่งใครไม่ได้ ก็ต้องพึ่งตัวเองเสียก่อน
ป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด เข้มที่สุด
แม้หลายท่านจะบอกว่าปัจจุบันก็เข้มอยู่แล้วก็ขอให้เข้มงวดต่อไป
ท่องไว้ว่า
“มีวินัย ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ลดไปสถานที่เสี่ยง”
แม้ช่วยไม่ได้ 100% แต่ก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงของคุณเองและคนรอบตัว รวมถึงบรรเทาอัตราการระบาดได้บ้าง
เพราะเชื่อได้ว่าคงไม่มีใครอยากให้ภาพการล้มป่วยและเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากในนิวยอร์กเมื่อปีที่แล้วมาเกิดขึ้นกับประเทศไทยของเราแน่นอน………..
ติดตามเรื่องราวข่าวสาร กินอยู่เป็น ง่ายๆ ได้ทาง
แฟนเพจ : กินอยู่เป็น
ทวิตเตอร์ : @kinyupenco : www.twitter.com/Kinyupenco
อินสตาแกรม : @kinyupen.co www.instagram.com/kinyupen.co
โฆษณา