25 เม.ย. 2021 เวลา 03:00 • กีฬา
ทำไมเสื้อนักฟุตบอลเดี๋ยวใหญ่เดี๋ยวเล็ก ?
โดย ช้างศึก x Play Now Thailand
แฟนบอลหลายคนเคยสังเกตกันไหม ทำไมเสื้อนักฟุตบอลสมัยก่อนถึงมีขนาดใหญ่ และอะไรทำให้เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเสื้อฟุตบอลกลับเล็กลงขึ้นเรื่อยๆ แถมนักฟุตบอลหลายๆคนยังใส่เสื้อรัดกล้ามเนื้ออีกต่างหาก วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลมาตอบให้เพื่อนๆ แฟนบอลหายสงสัย
หากใครได้ดูฟุตบอลมานานพอจะเห็นได้ว่าเสื้อฟุตบอลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่เสื้อขนาดเล็ก มาใหญ่ และกลับมาเล็กหรือพอดีตัวในปัจจุบัน เราจะย้อนรอยเหตุการณ์ซึ่งเป็นที่จดจำของวงการฟุตบอลในปี 1953 ที่ได้มีการนำวัตกรรมผ้าใยสังเคราะห์เข้ามาใช้ผลิตเสื้อบอลเป็นครั้งแรก และทีมที่นำมาใช้เป็นทีมแรกคือทีมโบลตัน วันเดอเรอร์ ในการแข่งขัน เอฟเอ คัพนัดชิงชนะเลิศ กับแบล็คพูล ซึ่งส่งผลให้หลายๆ ทีมในอังกฤษหันมาใช้ผ้าชนิดนี้มากขึ้น และยังมีเหตุการณ์สำคัญอีกอย่างในปีนี้ คือการที่ทีมชาติอังกฤษเปิดบ้านพบทีมชาติฮังการี ในเกมอุ่นเครื่อง ซึ่งทัพสิงโตคำรามในยุคนั้นไม่เคยแพ้ทีมนอกสหราชอาณาจักรในบ้านของตัวเองมาก่อน แต่กลับโดนทีมชาติฮังการีถล่มประตูไปไม่เหลือชิ้นดีด้วยสกอร์ 3-6
2
เสื้อของ โบลตัน วันเดอร์เรอร์ นัดชิง เอฟเอ คัพ 1953
ทว่าเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างมากกลับไม่ใช่แผนการเล่นของทีมชาติอังกฤษหรือทีมชาติฮังการี แต่ทุกคนพูดถึงเสื้อของทีมชาติฮังการีที่ดูรัดรูป แตกต่างจากเสื้อของทีมชาติอังกฤษที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งก่อนเกมดังกล่าวทีมชาติฮังการีโดนแฟนบอลทีมชาติอังกฤษหัวเราะเยาะว่าใส่เสื้ออะไรเล็กจังรัดจนเห็นหัวนม แต่พอเกมจบแฟนบอลเหล่านั้นกลับหัวเราะไม่ออก ประเด็นเสื้อรัดรูปของทีมชาติฮังการีจึงเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงนั้น และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของบริษัทผู้ผลิตเสื้อของอังกฤษ ที่พากันผลิตเสื้อรัดรูปแนบเนื้อออกมาเพื่อเพิ่มความคล่องแคล่วให้กับนักกีฬาในยุคนั้น
ความต่างที่พอจะเห็นได้จากเสื้อฮังการี (ซ้าย) และ อังกฤษ (ขวา)
ต่อมาในยุค 1990 เสื้อตัวใหญ่กลับแพร่หลายอีกครั้ง ผู้เล่นมักจะสวมเสื้อยืดหลวมๆ เพื่อเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกและอากาศถ่ายเท ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คงเป็นยุคแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คลาสออฟ 92 ซึ่งปีนั้นมีนักเตะชั้นเยี่ยมหลายคนที่ก้าวขึ้นมาจากอะคาเดมี ประกอบไปด้วย ไรอัน กิ๊กส์, แกรี เนวิลล์, เดวิด เบ็คแฮม, พอลล์ สโคลส์, นิกกี บัตต์ และ ฟิลล์ เนวิลล์ จะเห็นได้ว่าในยุคนั้นนักเตะหลายคนมักจะใส่เสื้อที่ใหญ่กว่าตัว 1 ขนาดเป็นส่วนใหญ่
ถัดมาในยุค 2000 เสื้อฟุตบอลมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก และเป็นที่นิยมของแฟนบอลที่ไม่ได้ใส่เพื่อไปเชียร์ทีมเท่านั้น แต่ยังใส่ในชีวิตประจำวันเพื่อบ่งบอกว่าตัวเองเป็นแฟนคลับของทีมนั้นๆ อีกด้วย นอกจากนี้ดีไซน์ของเสื้อก็ออกแบบให้แปลกใหม่มากขึ้น เรียกได้ว่าในยุค 2000 หลายบริษัทได้ผลิตเสื้อฟุตบอลออกมาแข่งขันกันอย่างคึกคัก และมีหลากหลายขนาดมากขึ้นทั้งใหญ่และเล็กตามรสนิยมของนักฟุตบอล ไม่ได้จำกัดว่าเสื้อฟุตบอลจะต้องตัวเล็กแนบเนื้อหรือใหญ่โคร่งต่อไป อาจจะด้วยเทคโนโลยีและวัตถุดิบที่ทันสมัย รวมไปถึงแฟชั่นทำให้เสื้อบอลในยุคดังกล่าวค่อนข้างหลากหลายทั้งในเรื่องของขนาดและเรื่องของดีไซน์
3
เสื้อพอดีตัวและเสื้อรัดกล้ามเนื้อแขนยาว
ในยุคปัจจุบันเสื้อฟุตบอลที่นักเตะนิยมใส่มีขนาดกระชับมากขึ้น เน้นรัดรูป นั่นอาจเป็นความชื่นชอบส่วนตัวของนักเตะหลายๆ คน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็สามารถผลิตเสื้อที่รัดรูปแต่ระบายอากาศและดูดซับเหงื่อได้ดีกว่าสมัยก่อน แถมยังลดปัญหาโดนคู่แข่งดึงเสื้อระหว่างการแข่งขันได้อีกด้วย อีกอย่างที่มักเห็นนักฟุตบอลนิยมใส่กันมากในยุคปัจจุบันก็คงเป็นเสื้อแขนยาวรัดกล้ามเนื้อที่ใส่ข้างในเสื้อแข่งขัน หลายคนคงสงสัยว่านักบอลเหล่านั้นใส่เสื้อรัดกล้ามเนื้อไปทำไม มันช่วยอะไรได้บ้าง เสื้อรัดกล้ามเนื้อนั้นออกแบบให้กระชับกล้ามเนื้อ ช่วยลดการสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อระหว่างวิ่งหรือขยับตัว และช่วยพยุงกล้ามเนื้อเอาไว้เมื่อเกิดการกระชากของกล้ามเนื้อตอนที่ขยับตัวกะทันหันขณะแข่งขัน นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับนักฟุตบอล สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือการดูดซับเหงื่อ จะเห็นได้ว่าการแข่งขันฟุตบอลใน 90 นาที นักฟุตบอลมีเหงื่อออกมาก ทำให้เสื้อการแข่งขันเปียกและหนัก ส่งผลให้ขยับตัวลำบาก แต่ถ้าใส่เสื้อรัดกล้ามเนื้อจะช่วยดูดซับเหงื่อได้ดีขึ้น และไม่รู้สึกว่ามันหนักเลย แถมยังใส่แล้วดูเท่ไปอีกแบบ
จะเห็นได้ว่าเสื้อฟุตบอลนั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับนักฟุตบอลและทีมฟุตบอล เช่นเพื่อให้นักฟุตบอลมีศักยภาพมากขึ้น หรือเพื่อเอาชนะกันในการแข่งขัน แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลทุกอย่าง เพราะอย่าลืมว่ายังมีเรื่องของแฟชั่นเข้ามาเกี่ยว เสื้อฟุตบอลไม่ได้ใส่เฉพาะนักฟุตบอลอีกต่อไป หากยังมีดารานักร้องหรือแฟนบอลนิยมใส่กันมาก ทำให้รู้ว่าโลกฟุตบอลกับแฟชั่นมันไปด้วยกันได้จริงๆ
โฆษณา