28 เม.ย. 2021 เวลา 01:50 • สุขภาพ
เติมนมลงในชาอาจไม่ใช่ความคิดที่ดี
หลายคนชอบเติมนมลงในชาเพื่อรสชาติ แต่นักวิทยาศาสตร์บอกว่านมอาจลบล้างประโยชน์ทั้งหมดที่ชามีต่อสุขภาพของเราได้อย่างสิ้นเชิง เรื่องนี้จริงหรือไม่ลองมาหาคำตอบกัน
ชาเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกและการดื่มชานั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการในหลายๆแห่งบนโลกผู้คนนิยมบริโภคชาร่วมกับนม แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการเติมนมลงในชาจะให้ประโยชน์เพิ่มขึ้นหรือจะไปขัดขวางการทำงานของสารประกอบชา
****ทั้งชาและนมมีประโยชน์****
ในขณะที่ชาหลายชนิดอาจให้ประโยชน์ต่อสุขภาพชาเขียวและชาดำเป็นชนิดที่มีการวิจัยมากที่สุด ชาทั้งสองชนิดทำจากใบชา (Camellia sinensis) ชนิดเดียวกัน แต่ผ่านกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน
ชาเขียวและชาดำนั้นอุดมไปด้วยสารประกอบจากพืชที่เรียกว่าฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) สารประกอบเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยต่อสู้กับความเสียหายของเซลล์ที่เกิดจากโมเลกุลที่เรียกว่าอนุมูลอิสระ การมีอนุมูลอิสระในระดับสูงในร่างกายมีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจ มะเร็ง และปัญหาสุขภาพอื่นๆ
 
ในชาเขียวจะอุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์ที่เรียกว่าคาเทชิน (catechins) ในขณะที่ชาดำมีสารเทฟลาวิน (theaflavins) ในปริมาณสูง ด้วยเหตุนี้ในการศึกษาจึงพบว่าการดื่มชาเขียวและชาดำมีความสัมพันธ์กับการลดความดันโลหิต ออกฤทธิ์ต้านมะเร็ง และลดระดับคอเลสเตอรอล ทั้งในสัตว์และในมนุษย์
 
ในทางกลับกันนมอุดมไปด้วยสารอาหาร เช่น โปรตีน แคลเซียม และ โพแทสเซียม ซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสุขภาพกระดูกที่ดี
1
****โปรตีนจากนมอาจรบกวนสารต้านอนุมูลอิสระในชา****
 
เนื่องจากทั้งชาและนมมีสารประกอบและสารอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพ การทานชาใส่นมจึงอาจดูเหมือนเป็นประโยชน์ แต่จริงๆแล้วผลลัพท์การวิจัยในเรื่องนี้ยังมีความสับสน
1
ในการศึกษาหนึ่งในผู้ใหญ่กว่า 1,800 คนในประเทศจีน พบว่าการบริโภคทั้งชาและนมมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่ลดลงของมะเร็งช่องปาก และอาจมีผลดีอย่างยิ่งเมื่อบริโภคร่วมกัน อย่างไรก็ตามการศึกษาบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าโปรตีนในนมอาจรบกวนการดูดซึมและลดการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารประกอบในชา
การศึกษาหนึ่งในผู้หญิงวัยทำงานจำนวน 16 คนพบว่าการดื่มชาดำธรรมดา 2 ถ้วย (500 มล.) ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดอย่างมีนัยสำคัญซึ่งสามารถช่วยปรับปรุงการทำงานของหัวใจเมื่อเทียบกับการดื่มน้ำ ในขณะเดียวกันการดื่มชาดำกับนมจะไม่ได้ผลลัพท์เช่นนี้
นักวิจัยสรุปว่าเคซีน (Casein) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในนมอาจจับตัวกับฟลาโวนอยด์ในชาและทำให้สารประกอบในชามีโมเลกุลที่ซับซ้อนขึ้นและยากต่อการย่อย จนส่งผลให้ไม่สามารถออกฤทธิ์ในร่างกายได้
อย่างไรก็ตามการศึกษาเล็กๆ อีกชิ้นในผู้ใหญ่ 9 คน กลับพบว่าการบริโภคชาดำช่วยเพิ่มระดับฟลาโวนอยด์ต้านอนุมูลอิสระในเลือดและการเพิ่มนมลงในชาไม่ได้มีฤทธิ์ยับยั้งผลกระทบนี้ ที่น่าสนใจคือนักวิจัยชี้ให้เห็นว่าระยะเวลาในการชงชาที่นานขึ้น อาจทำให้สารต้านอนุมูลอิสระในชาสามารถถูกดูดซึมได้ดีขึ้นถึงแม้ว่าจะเติมนมลงไป
2
จากผลการศึกษาที่ขัดแย้งกันเหล่านี้เราสามารถสรุปได้ว่า นมอาจรบกวนการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระในชาได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจไม่มีผลเช่นเดียวกันกับชาที่ผ่านการชงหรือต้มเป็นระยะเวลานาน อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจถึงประโยชน์และข้อเสียของการเติมนมลงในชา
1
****ประเภทของชาอาจส่งผลแตกต่างกัน****
ผลของการเพิ่มนมลงในชาอาจยังขึ้นอยู่กับประเภทของชาด้วยเช่นกัน แต่การศึกษาในหัวข้อนี้ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ชาดำ อย่างไรก็ตามเนื่องจากชาเขียวอุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์เช่นกัน นมอาจส่งผลต่อสารประกอบในชาเขียวในทางทฤษฎีเช่นเดียวกับที่มีผลต่อสารประกอบในชาดำ
การศึกษาชิ้นหนึ่งในผู้ใหญ่ 18 คนพบว่าการดื่มนมร่วมกับการทานแคปซูลชาเขียวจะไปยับยั้งการเพิ่มการเผาผลาญแคลอรี่ ซึ่งโดยปกติจะเป็นผลจากการรับประทานแคปซูลชาเขียวเพียงอย่างเดียว
 
แม้ว่าผลลัพธ์นี้จะน่าสนใจ แต่ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจถึงผลของการผสมนมกับชาเขียวมากกว่าผลลัพท์ต่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากชาเขียว ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่มีการศึกษาใดที่วิเคราะห์ผลของการเติมนมลงในชานอกเหนือไปจากการศึกษาในชาดำและชาเขียว
3
****ข้อสรุป****
ชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาดำและชาเขียวอุดมไปด้วยสารประกอบที่ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและอาจช่วยลดความดันโลหิต ลดระดับคอเลสเตอรอล รวมถึงยังประโยชน์อื่นๆอีกหลายประการต่อร่างกาย
2
การศึกษาบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าการเติมนมลงในชาอาจยับยั้งการทำงานของสารประกอบเหล่านี้ได้ ในขณะที่งานวิจัยอื่นๆยังมีผลการวิจัยที่ขัดแย้ง นอกจากนี้การศึกษาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการบริโภคนมและชายังเป็นการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กและยังไม่รวมเอาผู้ที่ดื่มชาร่วมกับนมมาเป็นระยะเวลานานเข้าไว้ในกลุ่มทดลอง
ดังนั้นจึงไม่มีความชัดเจนว่าการผสมนมและชาจะเป็นประโยชน์หรือไม่ สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระในชาอย่างเต็มที่สามารถเลือกดื่มชาที่ไม่ผสมนม หรือชาที่ผสมนมที่เป็นผลผลิตจากพืช เช่น นมอัลมอนด์ และนมถั่วเหลือง ทดแทนได้
โฆษณา