29 เม.ย. 2021 เวลา 05:20 • สุขภาพ
เชื่อว่าน่าจะมีหลายคนนะคะที่รู้สึกอ่อนไหวกับการสีหน้าท่าทางของคนอื่น
ถามว่าแปลกไหม หากพิจารณาจากการทดลองหลาย ๆ ครั้ง ก็ค่อนข้างเชื่อว่าไม่แปลกเลยค่ะ เพราะมีความเป็นไปได้สูงมากที่คนเราจะได้รับผลกระทบทางจิตใจจากสีหน้าท่าทางของคนอื่น โดยเฉพาะคนที่มีลักษณะอ่อนไหวต่อสิ่งต่าง ๆ หรือที่เรามักเรียกกันว่า เป็นคน sensitive
.
การทดลองที่ว่า หนึ่งในนั้นที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันดี มีชื่อการทดลองว่า
"A Still-face Paradigm for Young Children: 2½ Year-olds’ Reactions to Maternal Unavailability during the Still-face"
หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Still Face Experiment: Dr. Edward Tronick
[ดูคลิปได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=apzXGEbZht0]
เป็นการทดลองที่นำเด็กเล็ก ๆ มามีปฏิสัมพันธ์กับแม่
โดยช่วงแรก ๆ แม่ก็จะยิ้มแย้มเล่นกับเด็กด้วยความอ่อนโยน
ต่อมาแม่จะทำสีหน้าเรียบเฉยหรือทำหน้านิ่ง เพื่อทดสอบว่าลูกจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ปรากฏว่า ในช่วงแรก ๆ ลูกจะพยายามเล่นกับแม่ พยายามทำให้แม่สนใจหรือมีปฏิกิริยาโต้ตอบทางบวกด้วย แต่เมื่อพยายามแล้วไม่สำเร็จ แม่ยังคงหน้านิ่งอย่างเดิม ลูกก็ร้องไห้ออกมาทันที และหลังจากที่แม่กลับมายิ้มแย้มเล่นกับลูก ลูกก็จะมีท่าทีที่คลายกังวล หยุดร้องไห้ และยิ้มแย้มเล่นกับแม่ตามเดิม
จากการทดลองนี้ ทำให้เห็นได้ว่า แม้แต่เด็กเล็ก ๆ ก็ยังสามารถรับรู้และตีความอารมณ์จากสีหน้าของแม่ได้ และดูเหมือนว่าความ "หน้านิ่ง" จะทำให้รู้สึกกระอักกระอ่วนหรือไม่สบายใจ ซึ่งเท่าที่สังเกตหลาย ๆ คนก็มักจะมีความรู้สึกอึดอัดหรือไม่ชอบคนหน้านิ่ง แต่จะชอบคนที่ดูยิ้มแย้มแจ่มใสมากว่า เพราะอาจจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากกว่า
.
อีกหนึ่งการทดลองนำมาจากคลิปนี้ค่ะ https://www.youtube.com/watch?v=7FC4qRD1vn8
มีชื่อคลิปว่า Toddlers regulate their behavior to avoid making adults angry ก็คือ เด็กเล็กพยายามทำตัวเรียบร้อยเพื่อไม่ให้ผู้ใหญ่โกรธ
การทดลองนี้เริ่มต้นที่การนำเด็กเล็กมาเล่นในห้อง โดยมีผู้ใหญ่คนหนึ่งสาธิตการเล่นให้เด็กดู ซึ่งตอนแรกเด็กก็ดูมีท่าทางสนใจและรู้สึกว่าการเล่นแบบนี้น่าสนุกดี ต่อมาผู้สาธิตอีกคน เรียกว่า Emotor ได้ทำการเปิดประตูเข้ามานั่งในห้อง และแสดงออกว่าไม่พอใจที่ผู้สาธิตอีกคนเล่นของเล่น เมื่อผู้สาธิตคนแรกยื่นของเล่นให้เด็ก เด็กก็จะไม่เล่นและมองไปยัง Emotor เหมือนจะเช็คว่ามันจะโอเคมั้ยถ้าจะเล่น ซึ่งสุดท้ายเด็กก็ไม่เล่นของเล่นนั้น
การทดลองนี้ทำให้เห็นว่า นอกจากคนเราจะสามารถรับรู้อารมณ์ผ่านสีหน้าท่าทาง(และน้ำเสียง) ของคนอื่นได้แล้ว ยังสามารถเรียนรู้ผ่านการสังเกตประสบการณ์ของคนอื่นได้อีกด้วย
.
ซึ่งเราเองยังไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งว่าเพราะอะไรคนบางคนจึง sensitive ต่อสีหน้าท่าทางและน้ำเสียงของคนอื่นเป็นพิเศษ แต่แน่นอนว่ามันย่อมมีที่มาที่ไปของการเป็นคนที่ sensitive
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการเป็นคน sensitive นั้นไม่แปลกค่ะ
และเราก็อาจจะไม่จำเป็นต้องไปหาด้วยซ้ำว่าทำไม
แต่สิ่งที่น่าทำก็คือลองทบทวนดูว่าการเป็นคนที่ sensitive นั้นกระทบต่อการใช้ชีวิตของเรามากไหม และพอจะมีวิธีอะไรที่จะช่วยให้เราเป็นคน sensitive ที่ไม่ทุกข์จนเกินไป
.
แต่ถ้าหากคุณต้องการที่จะสืบสาวไปถึงที่มาว่าเพราะอะไรคุณถึงได้เจ็บปวดกับการแสดงสีหน้าท่าทางและน้ำเสียงของคนอื่นมากจัง ก็สามารถแวะเวียนไปพบจิตแพทย์/นักจิตบำบัด/นักจิตวิทยาได้ค่ะ ซึ่งในกรณีนี้อาจจะต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญเชิงลึกหน่อย เพราะอาจจะต้องไปรับบริการแบบ psychotherapy ซึ่งจะมีความเข้มข้นกว่าการปรึกษาแบบ counseling ค่ะ
ซึ่งก็คงต้องออกตัวว่าเราเองไม่ได้เชี่ยวชาญด้าน psychotherapy แต่สามารถแนะนำได้ค่ะว่าสถานที่ไหนให้บริการบ้าง ถ้าต้องการทราบก็สามารถทัก inbox เข้ามาสอบถามได้ค่ะ
#สุขภาพจิต (เขาไม่สร้างหมวดหมู่ให้ก็สร้างเองเลยค่ะ 555)
โฆษณา