1 พ.ค. 2021 เวลา 02:19 • การเกษตร
ตลาดพันธุ์ หลุมพรางของเกษตรกรรายย่อย (ใจเกษตร EP23)
ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรมือใหม่ หรือเกษตรกรดั้งเดิม ก็มีโอกาสตกหลุมพราง กับสินค้าเกษตรที่ทำ “ตลาดพันธุ์”
ตลาดพันธุ์ หลุมพรางเกษตรกร
ตลาดพันธุ์ เหมือนเหรียญสองด้าน คือมีทั้งด้านดี และด้านเสีย
เป็นเพียงข้อเสนอแนะ ให้ผู้สนใจทำเกษตร ได้ไตร่ตรอง ศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อน
หรือให้เริ่มทดลองจากเล็กๆ ดูทิศทางสักระยะนึงก่อน อย่าพึ่งโลภ อย่าพึ่งรีบรวย มันอาจจะทำให้เราเสียหาย ขาดทุนอย่างหนัก
ผมขอแบ่งการทำตลาดสินค้าเกษตร กว้างๆเป็น 2 ตลาด
1. ตลาดพันธุ์
2. ตลาดผู้บริโภค
ตลาดพันธุ์ ลูกค้าคือ “เกษตรกร” ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น เกษตรกรรายย่อย
ตลาดพันธุ์ จะขายสินค้าเกษตร ให้เกษตรกร นำไปผลิตต่อ เช่น นำไปเลี้ยงให้โต นำไปปลูกให้โต นำไปเพาะพันธุ์ หรือนำไปขยายพันธุ์
ส่วน ตลาดผู้บริโภค ลูกค้า อาจจะเป็นพ่อค้าคนกลาง หรือขายตรงไปยังผู้บริโภค
ปัจจุบัน เรามีการซื้อขายออนไลน์ ที่ช่วยให้เกษตรกร สามารถขายสินค้าตัวเอง ให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง
ตลาดผู้บริโภค จะขายสินค้าเกษตรเพื่อให้ลูกค้านำไปบริโภค นำไปแปรรูป หรือนำไปขายต่อ (ไม่ได้นำไป ปลูก เลี้ยง หรือขยายพันธุ์ต่อ)
ด้านดี
เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรในหลายชนิด เริ่มผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ End-to-End Production จำเป็นต้องมีความพร้อมหลายๆอย่าง ทั้งด้านทรัพยากร แรงงาน ความรู้ ความชำนาญ ความเหมาะสมของพื้นที่ เป็นต้น
จึงเป็นเรื่องยาก ที่เกษตรกรรายย่อยจะมีความพร้อมครบได้ทุกอย่าง
ดังนั้น จึงมีการแบ่งหน้าที่กันผลิตคนละช่วง
โดยมีผู้ผลิตต้นน้ำ(ตลาดพันธุ์) กลางน้ำ(เช่น เลี้ยงให้โตก่อนขุน) และปลายน้ำ(เช่น ขุนทำน้ำหนัก) เกษตรกรจะเลือกตามความเหมาะและความพร้อมของตัวเอง
แน่นอน การผลิตช่วงต้นน้ำ หรือผลิตเพื่อขายตลาดพันธุ์ เกษตรกรที่หัวใส หรือใครที่มีความเก่ง มีความพร้อม สามารถทำได้ ก็เลือกทำต้นน้ำ เพราะมีกำไรดีที่สุด
ทำไมการทำตลาดพันธุ์(ผลิตต้นน้ำ) จึงมีกำไรดีที่สุด
ขอยกตัวอย่าง ปูนาเป็นๆ ถ้านำไปบริโภค กิโลกรัมละ 100 บาท แต่ถ้าคัดตัวใหญ่เป็นพ่อแม่พันธุ์ปู จะขายได้คู่ละ 40-80 บาท แพงขึ้นไปอีก 10 เท่าเลย
ขั้นตอนการผลิตสินค้า เพื่อทำตลาดพันธุ์ ก็จะละเอียดกว่า ยากกว่า ต้นทุนสูงกว่า จึงทำกำไรได้มากกว่า
นั้นเป็นการแบ่งหน้าที่ ในการผลิตสินค้าเกษตร โดยแบ่งตามความพร้อม ตามความถนัด ซึ่งเป็นด้านดี ของตลาดพันธุ์
ด้านเสีย
สินค้าเกษตรในตลาดพันธุ์อีกด้าน ที่เกษตรกรควรคิดพิจารณ ก่อนลงทุน ดังนี้
1. สินค้าที่ ยังไม่มีตลาดผู้บริโภค ที่แท้จริง
 
ผมขอยกตัวอย่าง ไก่ดำ การทำตลาดพันธุ์ไก่ดำบางสายพันธุ์ ยังเติบโตอยู่ (คือยังขายพันธฺุ์ให้เกษตรกรได้เรื่อยๆ) และเรารู้ว่า ไก่ดำนำมาทำ ซุบไก่สกัดหลายยี่ห้อ
จึงมีผู้เพาะพันธุ์ไก่ดำ หลากหลายชนิดพันธุ์ มีทั้งดำทั้งตัว ดำทั้งขน หรือดำแต่ตัวมีลักษณะดี จำหน่ายพันธุ์ให้เกษตรกรรายย่อยมากมาย
แต่ถ้าเราผลิตไก่ดำ แล้วต้องการขายเนื้อปริมาณเยอะๆ เหมือนไก่เนื้อ หรือไก่บ้าน แล้วหวังว่าราคาต้องดีกว่า เพราะเราซื้อพันธุ์มาแพงกว่า จะเป็นไปได้มั้ยครับ
ข้อคิดที่ 1 การซื้อพันธุ์มาแพงๆ ไม่ได้การันตีว่า เราจะขายชังกิโลได้ราคาแพงๆ
2. สินค้าที่ แพงเฉพาะที่เมืองไทย
ผมขอยกตัวอย่าง อินทผาลัม ซึ่งมีทั้งแบบกินสด และแบบอบแห้ง ชาวมุสลิมชอบกิน จริงๆชาวพุทธหรือชาวไหนๆ ก็ชอบกิน เพราะหวานมันอร่อย
เมืองไทยปลูกผลไม้ได้หลากหลายชนิดมากๆ ผลไม้บางชนิดปลูกได้ตลอดปี ถามชาวต่างชาติว่า ชอบอะไรที่เมืองไทย ผลไม้ จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้คนทั่วโลกกล่าวถึง
แล้วงัยครับ สินค้าที่แพงเฉพาะที่เมืองไทย พอปลูกได้ก็ขายแพงๆเลย เพราะเราซื้อพันธุ์มาแพงๆ มันไม่ดีตรงไหน
เราอาจเคยเห็นอินทผาลัมสดขายข้างทาง ขายในสวนอินทผาลัม หรือขายออนไลน์
แต่ไม่เคยเห็นอินทผาลัมขายปะป่นกับผลไม้สดชนิดอื่นๆ ในแผงตลาดใช่มั้ยครับ
นั่นเพราะ ผู้บริโภคเมื่อลองของใหม่ สุดท้ายก็เลือกผลไม้ชนิดเดิมที่ราคาปรกติ
ส่วนอินทผาลัมอบแห้ง เกือบทั้งหมด นำเข้ามาจากต่างประเทศ จากประเทศที่เขาปลูกผลไม้อย่างอื่นไม่ได้สักชนิด ยกเว้น อินทผาลัม นี่แหละครับ
ข้อคิดที่ 2 พัฒนาจุดเด่น ง่ายกว่า แก้ไขจุดด้อย
โดยเฉพาะการเอาชนะสภาพธรรมชาติ นั้นยากมากๆ
สินค้าที่ผลิตได้ยากในประเทศไทย แม้สินค้าจะแพงในประเทศไทย
ถ้าพยายามผลิต เพื่อขายตลาดผู้บริโภค น่าจะทำกำไรได้ยาก เพราะ ยังไม่มีตลาดผู้บริโภค ที่แท้จริง
 
แต่ถ้านำเข้าหรือผลิต เพื่อขายทำตลาดพันธุ์ ก็ยังพอมีกำไร ไปจนกระทั้งวันหนึ่ง ตลาดพันธุ์อิ่มตัว และตลาดผู้บริโภคก็ยังไม่เกิด สุดท้ายก็ต้องขาดทุนเช่นกัน
3. สินค้าที่ ใช้เวลาผลิตยาวนาน
ผมขอยกตัวอย่าง พะยูงไหหลำ พะยูงเวียดนาม ไม้เศรษฐกิจที่กำลังมาแรง จนลืมคิดไปว่า
เราเคยเห็นโรงเลื่อย ร้านขายไม้ ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ หรือบ้านไม้หลังไหน ที่ใช้ไม้ที่ทำมาจากไม้พะยูงต่างถิ่นนี้มั้ย?
พะยูงไทยในป่า จริงๆยังมีอีกเยอะ ไม่ใช่เพราะเราช่วยกันปกป้องอย่างดีเยี่ยม ที่ยังคงมีต้นพะยูงป่าอยู่นั้น ก็เพราะต้นพะยูงเหล่านั้น ยังไม่มีแก่นเป็นสีดำ
พวกลักลอบตัดไม้ จะใช้สว่านเจาะดูแก่นไม้สีดำก่อน ถ้ามีส่วนสีดำน้อยเกินไป ก็ยังไม่ตัดต้นนั้น จะเสาะหาเจาะต้นอื่นต่อๆไป จนกว่าจะเจอไม้พะยูงที่มีแก่นไม้สีดำ
และที่ราคาพะยูงแพงลิบลิ้ว ก็เพราะมีข่าวการจับกุมผู้ลักลอบตัดไม้พะยูง หรือมีการปราบปรามขบวนการลักลอบซื้อขายไม้นี้ อะไรที่มาด้วยความเสี่ยง และผิดกฎหมาย ราคาจึงแพงมากๆ
การปลูกไม้เศรษฐกิจใช้ทั้งเวลาและพื้นที่มาก เป็นต้นทุนที่สำคัญในการทำเกษตร ถ้าต้องใช้เวลาเกิน 10 ปีขึ้นไป ถึงจะรู้ว่า รวยหรือจน นั้นเป็นอะไรที่เสี่ยงมากๆ
ข้อคิดที่ 3 ถ้าไม้พะยูงไหหลำ ไม่ใช่ไม้ต้องห้าม ไม่มีการจับกุมผู้ตัด ตัดขายได้อย่างสบายใจ แล้วราคาไม้พะยูงไหหลำจะแพงมั้ย
4. สินค้าที่ โฆษณาหนักมาก
หลายครั้ง ผู้ที่ทำตลาดพันธุ์ จะมาในรูปแบบบริษัท บางครั้งมีการแอบอ้าง กรมวิชการเกษตร มหาวิทยาลัยด้านเกษตร หรือโครงการของธกส. เป็นต้น
มีที่ตั้งสำนักงานชัดเจน มีดอกเตอร์ มีอาจารย์ควบคุมคุณภาพ มีการประกันราคา รับซื้อคืนผลผลิต หรือแม้กระทั้งอ้างยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศ
สารพัดสาระเพ เพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือ และจูงใจ ยั่วยุให้เกิดความโลภ บ้างก็คำนวณรายได้อนาคต ประเมินมูลค่าสูงลิบลิ่ว ยังกับว่า ต้องจ้าง รปภ.หรือติดกล้อง CCTV เฝ้าสวนนั้น เพราะจะได้สินค้าเกษตรที่แพงมากๆ
ข้อคิดที่ 4 อะไรที่สวยหรูเกิน โฆษณาเวอร์เกิน ให้ตั้งธงไว้เลย “เป็นคำหลอกลวง”
5. สินค้าที่ พึ่งพากลุ่มหรือพึ่งพาตัวเองได้
พืชเกษตรหรือสัตว์เลี้ยงหลายชนิด เพาะพันธุ์/คัดสายพันธุ์ได้ไม่ยากหนัก เช่น ข้าว พริก มะละกอ ฟักทอง กระเจี๊ยบ กุ้ง หอย ปู ปลา กบ หมู แพะ แกะ ฯลฯ
การเพาะและขยายพันธุ์เอง หรือแลกเปลี่ยนภายในกลุ่มเกษตรกรของตัวเอง เป็นการบริหารจัดการ เพื่อลดต้นทุนและควบคุมคุณภาพ ได้เป็นอย่างดี
ถ้ามันไม่ยากมาก ไม่เสียเวลามาก ก็ควรทำเอง พยายามพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด
ข้อคิดที่ 5 อะไรที่พอประหยัดได้ ก็จงประหยัด ลดความมักง่าย แล้วหาอะไรที่ท้าทายทำ
เราไม่สามารถ “ห้ามไม่ให้มีคนหลอกลวงได้” แต่เราสามารถ “ห้ามตัวเองไม่ให้ถูกหลอกได้”
การขายพันธุ์ให้พี่น้องเกษตรกร เพื่อนำไปปลูกหรือเลี้ยงต่อนั้น
เกษตรกรรายย่อย ซึ่งอาจเป็นตัวเรา ต้องลงทุนซื้อพันธุ์ และยังต้องมีค่าใช้จ่ายการเพาะเลี้ยงเพิ่มอีก
ทั้งนี้ก็เพื่อ​ หวังสร้างอาชีพ หารายได้ดูแลตัวเองและครอบครัวอย่างสุจริตใจ แต่ยังต้องมาเสี่ยงกับ ด้านที่ไม่ดีของตลาดพันธุ์
ปัญหาของตลาดพันธุ์ในเมืองไทย เคยเกิดมาแล้วหลายๆครั้ง แต่ก็ยังจะเกิดอีก เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดวนไป ในอนาคตข้างหน้า
ตัวอย่างสินค้าที่ผมยกมา อาจเป็นปัญหาเฉพาะเกษตรกรกลุ่มหนึ่ง
ไม่ได้ตั้งใจโจมตีสินค้านั้นๆ เพียงแต่ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ ซึ่งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด ที่เกิดกับเกษตรกรทุกราย
หากท่านมีข้อแนะนำ มีความคิดเห็นแตกต่าง​ หรือมองเห็นอีกมุม เชิญคอมเมนต์ แลกเปลี่ยน แชร์ได้เลย ยินดีมากครับ
สนใจการทำเกษตร โปรดติดตาม ใจเกษตร EP ต่อไป นะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา