30 ม.ค. 2022 เวลา 11:57 • สิ่งแวดล้อม
Local Marketing (ใจเกษตร EP24) เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ
คือความพยายามของ ใจเกษตรฟาร์ม ให้มีกำไรแบบรักษ์โลก
1
Lacal Marking
ความเป็นมา ผมเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานสายเทคโนโลยี เป็นทั้งนักธุรกิจ นักลงทุน เกษตรกร และนักเขียนมือสมัครเล่น
 
ผมอยากทดลอง​ อยากทำสิ่งใหม่ ถ้าพบอะไรดีๆ ดูน่าเชื่อถือและเป็นประโชน์ ก็จะนำมาเผยแพร่ โดยเฉพาะใน BD แหล่งรวมความรู้ นาๆสาระแห่งนี้
บางสิ่งที่มี “เทคโนล้ำ เทคนิคเลิศ” มากแค่ไหนก็ตาม ถ้าสิ่งนั้นยังคง “ขาดทุน” (หรือมีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย) ความเห็นของผม ยังดูน่าอาย ไม่ควรนำมาเผยแพร่ หรือสร้างฝันให้คนอื่นเข้าใจผิด ทำตามแล้วจะรวย
อย่าหาทำ นำมาหลอกลวงผู้อื่น
Pain point ของการทำเกษตร หลักๆคือ ราคาสินค้าตกต่ำ พ่อค้าคนกลางกดราคา สินค้าล้นตลาด ที่กล่าวมาทั้งหมด แก้ไขได้ด้วย Local Marketing
นิยามของ Local marketing แบบใจเกษตร คืออะไร
คือ การตลาดแบบขายปลีกในพื้นที่ เช่น ขายในฟาร์ม หรือขายใกล้ๆฟาร์ม
ฟังดูแล้วไม่น่ายาก แต่โปรดอ่านต่อ ว่าแท้จริงต้องทำอย่างไร
ถ้าเราไม่แตกต่าง ปลูกพืชเหมือนคนอื่น เลี้ยงสัตว์เหมือนคนอื่น ทำเกษตรเหมือนชาวบ้านในพื้นที่ เช่น ปลูกอ้อย (แถวนั้นมีโรงงานน้ำตาล) ปลูกมันสำปะหลัง (ที่ไหนๆก็มีลานมัน) ทำเกษตรแบบตามกัน ยากที่เราจะสร้าง Local marketing ได้
แม้ว่า ใจเกษตรฟาร์ม จะปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อบริโภคเอง เหลือเยอะจริงๆ ก็จะนำไปขาย นั่นทำเพื่อการพึ่งพาตัวเองเท่านั้น
ชนิดพืชที่ปลูกเพื่อทำ Local marketing นั่นคือ “ไม้ประดับ” หลักๆเป็นไม้ใบ ไม้ในร่ม และไม้ใบด่าง เช่น พืชสกุล อิพิ ฟิโล ซิงโกเนียม มอนสเตร่า อโลคาเซีย โคโลคาเซีย อโกลนีมา คาลาเดียม และวงศ์มาแรนทาซีอี
อย่าพึ่งงง นะครับ เรียกภาษาบ้านๆก็พวก พลูด่าง ออม เงินไหลมา บอน บอนสี และคล้าชนิดต่างๆ บางชนิดก็กระจาย เกร่อมีอยู่ถมเถ ใครๆก็รู้จัก
แต่บางชนิดหายาก ราคาแพง นักสะสมต้นไม้ต่างตามหากัน ชนิดที่ชาวบ้านไม่เคยเห็น นั่นคือสินค้าที่แตกต่าง ขายง่าย ราคาดี
อย่าพึ่งคิดว่าเพาะปลูกไม้ประดับมันยาก ถ้าเทียบกันจริงๆแล้ว ผมว่าปลูกง่ายกว่า ผักบุ้งเยอะ ปลูกไม้ประดับเราไม่ต้องฉีดยากันแมลง ไม่ต้องเร่งปุ๋ย เหมือนการปลูกผักทั่วไป
หรือไม้ประดับเก็บเกี่ยวง่ายกว่า “พริก” หรือ “ดอกมะลิ” เยอะมากๆ
ให้นึกภาพ เก็บพริกขี้หนู 1 kg หรือ เก็บดอกมะลิ 1 kg คุณจะใช้เวลากี่ชั่วโมง? ถ้าต้องก้มหลังเป็นเวลานานๆ มันไม่ง่ายเลยนะครับ
แล้วถ้าผมบอกว่า พริกขี้หนูหรือดอกมะลิ 1 kg ราคาถูกกว่า ออมนมชมพู หรือซิงโกเนียม Milk Confetti กระถาง 4” แค่กระถางเดียวนะ
ผมยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพว่า ไม้ประดับนั้นปลูกและเก็บเกี่ยวได้ไม่ยาก
ที่ใจเกษตรฟาร์ม เรายังเลี้ยงปลาดุกและปลานิล ปลาที่หาไม่ได้ในแม่น้ำแควน้อย หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ
ส่วนน้ำเลี้ยงปลาหรือน้ำขี้ปลา ก็ใช้รดน้ำไม้ประดับ เป็นการให้น้ำให้ปุ๋ยพืชในเวลาเดียวกัน เกื้อกูลลดต้นทุนกันไป
เรายังเลี้ยงหมูป่า เพื่อขายทั้งลูกหมู หมูรุ่น และหมูปลด (หมูปลด คือ หมูที่ไม่คุ้มเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์แล้ว เพราะอายุมากเกิน)
ในอดีตพื้นที่แถวนั้นเคยมีหมูป่าตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันนี้ไม่เหลือหมูป่าในธรรมชาติอีกแล้ว เพราะมีการทำไร่ทำสวนกระจายอยู่แทบทุกพื้นที่ สัตว์ป่าหลายชนิดก็หายไป
ปลาดุก ปลานิล และหมูป่า จึงเป็นสินค้าเกษตรที่แตกต่าง เช่นเดียวกับ ไม้ประดับชนิดหายากในพื้นที่
การขายสินค้าในพื้นที่ เริ่มจากปากต่อปาก ใครต้องการซื้อปลาดุก ปลานิล และหมูป่า ก็ต้องมาซื้อที่ฟาร์ม
ส่วนไม้ประดับ เดิมทีเริ่มต้นจากการขายออนไลน์ ขายผ่าน Lazada หรือเฟสบุค แต่เมื่อผลิตเองได้เยอะเกินพอแล้ว จึงสอนให้ลูกน้อง ให้นำไม้ประดับที่เหลือ ไปขายตลาดนัดใกล้ฟาร์ม 3 แห่งซึ่งอยู่กันคนละตำบล โดยสลับวัน สลับตลาด
การขายไม้ประดับและสินค้าเกษตรในตลาดนัด ได้รับการตอบรับที่ดี เรามีลูกค้าประจำ นักสะสมพันธุ์ไม้
ไม่ใช่แค่ขายสินค้านั้น เรายังนำป้ายประชาสัมพันธ์ว่า มีปลาดุก ปลานิล และหมูป่า ขายที่ฟาร์มอีกด้วย
ลูกค้าเกือบทั้งหมดที่มาซื้อที่ฟาร์ม ก่อนนั้นมาจากปากต่อปาก ตอนนี้ก็มีเพิ่มมาจาก คนเดินตลาดนัดที่เห็นป้ายแล้วมีความสนใจ
ไม่ว่าลูกค้าเก่า ลูกค้าใหม่ สิ่งที่ต้องสร้างให้ได้ คือการซื้อซ้ำ หรือซื้อเป็นประจำ เพื่อความต่อเนื่องในการขายและการวางแผนการผลิต
ทำไมลูกค้า ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเดินทางมาซื้อที่ฟาร์ม เหตุผลเดียวคือ ของดีราคาถูก ดังนั้น การกำหนดราคา จึงเป็นสิ่งสำคัญ
อย่างที่เราเข้าใจดี ถ้าเราขายสินค้าให้กับพ่อค้าคนกลางเราเรียก “ขายส่ง” ถ้าขายตรงให้แก้ผู้บริโภค เราเรียก “ขายปลีก”
1
เรากำหนดราคาสินค้า ให้อยู่ระหว่าง “ราคาส่ง” และ “ราคาปลีก” เท่านี้เอง ก็ขายง่าย คนซื้อก็พึงพอใจ ได้ของดีราคาถูก สดจากฟาร์ม
1
ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงที่เขียนบทความนี้ เป็นช่วงตรุษจีน และราคาหมูสูงขึ้นเกิน 2 เท่า แต่ที่ฟาร์มยังคง ขายราคาเดิม
หมูป่าน้ำหนักประมาณ 20-70 kg เราขายราคา 60-70 บาทต่อ kg ก่อนวิกฤตหมูแพงก็ขายราคานี้ ช่วงนี้หมูแพง และหมูมีความต้องการสูง ในช่วงตรุษจีน เราก็ยืนยัน ขายราคาเดิม
1
ปีใหม่ที่ผ่านมาต่อเนื่องด้วยตรุษจีน ปลาดุก ปลานิล และหมูป่า สินค้าที่ผลิตได้ในฟาร์มมีไม่พอขาย หรือเร่งขุนเร่งให้อาหารแล้วแต่ก็โตไม่ทันขาย
เมื่อวานเป็นวันจ่ายของเทศการตรุษจีน ลูกน้องที่ฟาร์มไปขายไม้ประดับที่ตลาดนัดตามปรกติ
แต่ที่ไม่ปรกติคือ ขายต้นไม้ไม่ค่อยดี แต่ขายกล้วยน้ำว้า 22 หวี หมดใน 1 ชม.
ขอบอกก่อนว่าร้านอื่นขาย 40-50 บาทต่อหวี ช่วงนอกเทศกาลเราขาย 20 บาทต่อหวี ในช่วงเทศกาลเราก็ขาย 20 บาทต่อหวีเช่นเดิม
ผมบอกกับลูกน้องว่า ลูกค้าซื้อกล้วยไปไหว้ ไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราทำเกษตร แล้วขายของถูก จึงเป็นโอกาสร่วมทำบุญไปด้วย ผู้ซื้อรู้สึกดีใจและขอบใจ ที่ได้ของดีราคาถูก เราเห็นผู้ซื้อมีความสุข เขาซื้อไปทำบุญ เราก็ได้บุญไปด้วย
ทั้งหมดเป็นเรื่องของการสร้างฐานลูกค้า
- สร้างเครือข่ายลูกค้า (Customer Network)
- สร้างการบอกต่อ (Earning Media)
- สร้างการซื้อซ้ำ (Reorder or Repeat Order)
แน่นอน การที่เราจะสามารถกำหนดราคาแบบนี้ได้ เพราะเราบริหารต้นทุนให้ต่ำ เมื่อเรามีต้นทุนต่ำ ถ้าจะขายราคาต่ำกว่านี้อีก เราก็ยังไม่ขาดทุน
ตัวอย่างการบริหารต้นทุนให้ต่ำให้ได้ เช่น ลดการซื้อปุ๋ย หรือลดการซื้ออาหารสัตว์จากภายนอก พยายามผลิตเองให้ได้เกือบทั้งหมด เป็นต้น
การบริหารต้นทุนให้ต่ำ เป็นการตั้งกำแพงกันคู่แข่งไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ เป็นการเพิ่มกำไร​ และเป็นการสร้างความมั่นคงให้กิจการ
ความพยายามในการทำเกษตรที่ผ่านมา ลองผิดลองถูก เจอกับความผิดพลาด พบกับความล้มเหลว หลงทางมาหลายสิ่งหลายอย่าง
การอดทนรอเพื่อให้เจอกับความสำเร็จ นั้นเป็นสิ่งสำคัญ ไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ ที่จะทำให้สำเร็จได้ในชั่วข้ามคืน มันต้องใช้เวลาและความอดทน
1
ความเชื่อมั่นลูกค้า การเป็นที่รู้จัก การได้รับการยอมรับในวงกว้าง จำเป็นต้องใช้เวลา หากเราทำอะไรสักอย่าง แล้วท้อใจล้มเลิกไปก่อน ก็จะไม่มีทางประสบพบกับความสำเร็จได้
1
สรุปวิธีการทำ Local Marketing (การตลาดแบบขายปลีกในพื้นที่) ให้สำเร็จ จำเป็นต้องทำดังต่อไปนี้
1. ผลิตและขายสินค้าที่แตกต่าง
2. เพิ่มช่องทางการขาย (ทั้งที่ฟาร์ม ที่ตลาดนัด ต่อไปอาจมี Delivery)
3. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า สร้างฐานลูกค้า
4. บริหารต้นทุนให้ต่ำ
5. มีความอดทน สู้ต่อไปเพื่อจะพบกับความสำเร็จ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ใจเกษรต ฟาร์ม ประสบความสำเร็จแล้ว ใช่หรือไม่?
ใช่ครับ เราพึ่งผ่านบันไดแห่งความสำเร็จขั้นที่ 1 ได้รู้จักการขายและการตลาดที่เหมาะสมกับฟาร์มของเรา
เราขายดีก็จริง แต่สินค้าพร้อมขายก็หมดไปแล้ว ลูกค้าอุตส่าห์มาถึงที่ฟาร์ม เรายังทำให้ลูกค้าผิดหวัง ดีสเครดิตตัวเอง แถมเสียโอกาสการสร้างรายได้ให้สูงขึ้น
ก็พอจะแก้ตัวได้ว่า เพราะเราพึ่งเริ่มต้น ยังขาดประสบการณ์ ไม่สามารถวางแผนการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการลูกค้าได้
อะไรที่ผลิตไม่ทัน ปลูกหรือเลี้ยงแล้วโตไม่ทัน ก็ต้องพยายามปรับปรุงต่อไป
และที่จริงแล้ว ไม้ประดับ ปลา และหมูป่า เป็นเพียง “กลุ่มที่มีกำไรแล้ว”
เราเป็นเกษตรผสมผสาน ในฟาร์มของเราทั้งหมด เรายังมี “กลุ่มที่ยังไม่มีกำไร” แม้จะขายได้บ้างแล้ว แต่ยังต้องลงทุนเพิ่มอีก เช่น วัวเนื้อ แพะ แกะ เป็นต้น
ก็ยังดีที่เรามีรายได้จาก “กลุ่มที่กำไรแล้ว” มาช่วยลงทุน “กลุ่มที่ยังไม่มีกำไร”
อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องอดทน มุ่งมั่น พยายามต่อไป เพื่อความสำเร็จในบันไดขั้นต่อไป
หากคุณเป็นสายอนุรักษ์ Local Marketing คือ แนวทางรักษ์โลก สำหรับสินค้าประเภทอาหารมนุษย์
1
เพราะ Local Marketing จะช่วยโลกประหยัดต้นทุน Logistic เช่น ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง ค่าจัดเก็บ การสูญเสีย เป็นต้น
ลดค่าบรรจุภัณฑ์ → ลดกล่อง ลดพลาสติกห่อหุ้ม ลดภาชนะขนย้าย
ลดค่าขนส่ง → ลดการใช้เชื้อเพลิง ค่าพาหนะขนส่ง
ลดค่าจัดเก็บ → ลดค่าไฟฟ้า ลดค่าตู้แช่เย็น ลดพื้นที่โกดังสินค้า
ลดการสูญเสีย → ลดอาหารบางส่วนที่ขายไม่หมด หรือของเสียต่างๆที่เกิด ตั้งแต่กระบวนการบรรจุจนถึงมือผู้บริโภค
1
การบริโภคอาหารข้ามถิ่น จะเกิดการสิ้นเปลืองเพิ่มมากมาย
ถ้าพื้นที่ใด สามารถผลิตอาหารในพื้นที่ได้หลายๆชนิด ตอบสนองความต้องบริโภคในพื้นที่ได้เกือบทั้งหมด จะเป็นโลกที่ลดการสิ้นเปลืองในอุดมคติ ช่วยกันลดโลกร้อน ลดการสิ้นเปลืองได้มากเลยทีเดียว
สนใจการเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม
โปรดติดตาม ใจเกษตร EP ต่อไป
ได้ที่ Blockdit: www.blockdit.com/worklifewinwin

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา