3 พ.ค. 2021 เวลา 01:30 • ไลฟ์สไตล์
เมื่อพูดถึงการเคลียร์งาน บางคนอาจจะชอบทำงานให้เสร็จตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่ต้องมานั่งกังวลทีหลัง บางคนก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก เพราะถ้าไม่เห็นเดดไลน์ก็ไม่หลั่งน้ำตา
.
คนประเภทหลังอาจคิดว่าตราบเท่าที่ส่งงานตรงเวลา (หรือเลทไปนิดหน่อย) ก็โอเคแล้ว แต่อันที่จริงการที่เรามัวรอให้ใกล้เดดไลน์อาจส่งผลเสียต่อตัวเราเองมากกว่าที่คิด
.
การที่เราต้องมาเร่งปั่นงานเอาวินาทีสุดท้าย แน่นอนว่าโอกาสที่คุณภาพงานจะตกต่ำลงก็มีสูง หรือในกรณีที่โชคร้ายกว่านั้น ถ้าหากมีงานแทรกเข้ามากะทันหัน แต่ก็เลื่อนเดดไลน์งานเดิมไม่ได้ สุดท้ายเราก็จำต้องยอมส่งเลท ภาพลักษณ์ของเราในสายตาองค์กรและเพื่อนร่วมงานก็คงไม่ดีเท่าไร ความผิดพลาดครั้งแรกอาจยังพอรับได้ แต่ถ้าเราทำบ่อยจนกลายเป็นนิสัย มันก็อาจส่งผลกระทบไปถึงโอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงานของเราเลยก็ได้
.
“แล้วจะให้ทำยังไงล่ะ ก็คนมันไม่มีอารมณ์ทำงาน”
.
ไม่ต้องกังวลไป เพราะคนที่มีอารมณ์อยากทำงานไม่น่าจะใช่คนส่วนใหญ่ วันนี้เราจึงมานำเสนอ “ทริคหลอกตัวเอง” ให้เริ่มทำงาน เพราะถ้าเอาแต่รอให้เกิดความอยาก สุดท้ายก็คงมาจบที่รอเดดไลน์เป็นฝ่ายขยับเข้าใกล้เหมือนเดิม
.
.
#เปลี่ยนเดดไลน์ส่งงานเป็นเดดไลน์ทำงาน
.
พวกเราทุกคนคงคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่าเดดไลน์กันดี แต่ปัญหาอยู่ตรงที่เดดไลน์เหล่านี้บางทีก็ตั้งไว้ห่างเกินไปจนเรารู้สึกว่า “ยังมีเวลาอีกตั้งเยอะ ไว้ค่อยทำก็ได้”
.
เพราะงั้นแทนที่จะกำหนดเวลาส่งงาน เรามาลองเปลี่ยนเป็นเวลา ‘ทำ’ งานแทนจะดีกว่าไหม เพราะการที่เราทำเสร็จก่อนเวลาจะทำให้เรามีเวลาตรวจงานอย่างละเอียดก่อนส่งและที่สำคัญคือ บางครั้งเราก็ประเมินตัวเองสูงไป ในหัวเราอาจจะคิดว่าทำแป๊บเดียวก็เสร็จ แต่พอลองทำจริงถึงได้รู้ว่ามันยากกว่าที่คิด และเวลาที่เผื่อไว้ทำงานก็ไม่พอซะแล้ว การตั้งเดดไลน์ทำงานที่เร็วกว่าเวลาส่งงานจริงจึงช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้
.
.
#พูดกับตัวเอง
.
การพูดกับตัวเองในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่เสียงในหัว แต่คือเสียงที่เปล่งออกมา เพราะการพูดกับตัวเองจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเรา แถมยังมีงานวิจัยออกมาว่าการพูดกับตัวเองนั้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอีกด้วย เพราะงั้น เมื่อถึงกำหนดเวลาเริ่มทำงาน ก่อนเริ่มก็อาจจะพูดให้กำลังใจตัวเองให้พร้อมก่อนก็ได้
.
มี 2 อย่างที่ต้องจำไว้หากเราอยากปลุกใจตัวเองให้เริ่มทำงาน
.
อย่างแรกคือเปลี่ยนสรรพนามจาก “ฉัน” เป็น “คุณ/เธอ/นาย” เช่น วันนี้เธอเก่งมาก!
อย่างที่สองคือหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ไม่” เช่น แทนที่จะบอกว่า “วันนี้จะไม่อู้” ลองเปลี่ยนเป็น “วันนี้จะตั้งใจทำงาน”
.
#แข่งกับตัวเอง
.
วิธีนี้จะเวิร์กกับคนที่ชอบการแข่งขันอยู่แล้วเป็นพิเศษ แต่ก็ใช้กับคนที่ไม่ได้ชอบแข่งขันได้เช่นกัน ลองตั้งเป้าว่าจะต้องทุบสถิติการทำงานของตัวเองให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เหมือนกับการทดสอบดูว่าถ้าตั้งใจจริงๆ เราจะดึงศักยภาพตัวเองออกมาได้มากแค่ไหน หรือพนันกับตัวเองไว้ว่าถ้าทำงานไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้จะต้องโดนลงโทษ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เราตั้งใจทำงานมากขึ้นโดยไม่วอกแวก
.
.
#ให้รางวัลตัวเองเมื่อทำได้ตามเป้าหมาย
.
Gretchen Rubin ผู้เขียนหนังสือขายดี “Better Than Before” กล่าวไว้ว่าการให้รางวัลคือวิธีการที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าช่วยเพิ่ม Productivity และแรงจูงใจในการทำงานได้จริง
.
ลองนึกรางวัลที่อยากให้ตัวเองเมื่อทำอะไรสักอย่างได้ดี อาจจะเป็นอะไรง่ายๆ อย่างการทานขนมหรือการให้ตัวเองพักสัก 15 นาที ถึงแม้จะไม่ใช่รางวัลยิ่งใหญ่อะไร แต่สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้เนี่ยแหละที่จะคอยผลักดันให้เราไปถึงเส้นชัยในที่สุด
.
การมองว่างานของเราเป็นเกม (Gamification) ก็เป็นการประยุกต์ใช้วิธีการให้รางวัลตัวเองอีกรูปแบบหนึ่ง ลองแบ่งงานชิ้นหนึ่งเป็นด่านย่อยๆ แล้วให้รางวัลตัวเองทุกครั้งที่ผ่านด่าน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและสร้างความรู้สึกว่าเรา “ชนะ” ตัวเองและได้ทำบางอย่างจนสำเร็จ
.
.
ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องได้ด้วยกล อารมณ์ทำงานไม่มาก็คงต้องหลอกตัวเองให้ Productive
.
.
#careerfact #cariber
………………
Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว
ติดตาม Career Fact ทุกช่องทางได้ที่ https://linktr.ee/careerfact
เรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จในแต่ละแวดวงได้ที่ https://www.cariber.co/ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงความรู้และประสบการณ์จากผู้นำองค์กรและผู้เชี่ยวชาญในทุกแวดวง ไร้ข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา
โฆษณา