30 เม.ย. 2021 เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
"Vincenzo ทนายมาเฟีย: มาเฟียกับระบบอุปถัมภ์ และความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจการเมือง"
เรื่องราวของ Vincenzo Cassano (รับบทโดย ซงจุงกิ) ทนายผู้มีตำแหน่งเป็นมือขวาของมาเฟียตระกูลใหญ่ในอิตาลี ใกล้จะดำเนินมาถึงตอนจบ ซีรี่ส์ได้ฉายให้เห็นภาพความร่ำรวย อำนาจ และความโหดของมาเฟียอิตาลีจนอาจทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่ามาเฟียอิตาลีมีอยู่จริงหรือไม่
วันนี้ Bnomics จะได้นำทุกคนไปรู้จักกับต้นกำเนิดของระบบมาเฟีย ที่ได้เป็นเบ้าหล่อหลอม Vincenzo Cassano ตั้งแต่เขาอายุเพียง 8 ขวบ และเป็นจุดเริ่มต้นของซีรี่ส์ดังเรื่องนี้
ส่วนหนังจะเดินเรื่องอย่างไร เร้าใจแค่ไหน จบอย่างไร ต้องขอท่านผู้อ่านไปชมเอง เราขอที่จะไม่ Spoil ทุกคน โดยวันนี้ Bnomics จะขอเพียงอธิบายให้ทุกคนฟังถึงมุมที่น่าสนใจทางเศรษฐศาสตร์ของระบบมาเฟีย ซึ่งเริ่มที่อิตาลีแต่ได้กระจายไปอยู่ทุกมุมโลก ทั้งในสหรัฐ รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง เป็นต้น (หนังดังของโลก เช่น The Godfather เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ หรือ The Yakuza Papers ต่างสะท้อนถึงเรื่องเหล่านี้ได้ดี)
ทุกคนคงอยากรู้ว่า ระบบมาเฟียเริ่มมาอย่างไร
มาเฟียในแถบซิซิลีที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี ถือเป็นต้นกำเนิดและต้นแบบความสำเร็จของระบบมาเฟียทั่วโลก ซึ่งการที่เราจะเข้าใจที่มาของระบบมาเฟียได้ ต้องขอเล่าย้อนกลับไปก่อนว่าในอดีต เมื่อก่อน 200 ปีที่แล้ว อิตาลีปกครองด้วยระบบศักดินา โดยขุนนาง (บารอน) ที่มีจำนวนไม่กี่ครอบครัวจะถือครองที่ดินจำนวนมาก ส่วนชนชั้นล่างซึ่งมีจำนวนมากก็จะเป็นชาวนาที่ทำนาบนที่ดินของขุนนาง และขุนนางก็จะมอบหมายให้คนกลาง (Gabelloti) คอยดูแลที่ดินให้แลกกับการส่งส่วยรายปี
ซิซิลีในยุคนั้น ถือได้ว่ามีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเนื่องจากมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และมีทำเลที่ดีต่อการขนส่งสินค้า สิ่งนี้เองจึงดึงดูดให้มีการแย่งชิงอำนาจ และเปลี่ยนแปลงตัวผู้ปกครองอยู่บ่อยครั้ง
อย่างไรก็ตาม พอหลังจากมีการปฏิรูประบบศักดินาในช่วงปี 1812 ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปที่ดินและจัดสรรกรรมสิทธิ์ให้ชาวนาประมาณ 1 ใน 5 ของที่ดินที่ชาวนาเคยทำนาอยู่ก่อน และต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติของอิตาลีในปี 1860 การรวมชาติของอิตาลี รัฐบาลได้ยึดกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนมากมาแจกจ่ายใหม่ให้แก่ประชาชน แต่รอบนี้ ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์จากการจัดสรรที่ดินเท่าที่ควร กลับกลายเป็นกลุ่มเจ้าของที่ดินเดิมและคนกลางซึ่งมีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลมากกว่า
ด้วยความที่มีเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ตำรวจผู้บังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้เกิดอาชญากรรมขึ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับชาวนาที่ไม่สามารถเข้าถึงที่ดินทำกินได้เหมือนเดิมก็กลายไปเป็นขโมย ส่งผลให้เจ้าของที่ดินต้องการผู้คุ้มครองนอกกฎหมายที่เข้มแข็งที่สุดเข้ามาปกป้องที่ดินของตน และผู้คุ้มครองนอกกฎหมายนี้เองก็ได้เรียงลำดับขั้นกัน พัฒนาจนก้าวหน้ากลายมาเป็นระบบมาเฟียซิซิเลียนในที่สุด
จากมุมของเศรษฐศาสตร์ เมื่อมองย้อนกลับไปถึงที่มาของมาเฟียในขณะนั้น ก็คงต้องบอกว่า มาเฟียเกิดได้ ก็เพราะเขาขายสินค้าที่มีคนต้องการกันมาก (create value) จากสถานการณ์ที่ทุกคนถูกบีบคั้นบังคับจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นในยุคดังกล่าว คือ ขายความสงบ ความปลอดภัยให้กับผู้ที่อยู่ใต้ความคุ้มครอง จากอาชญากรรม ขโมย และการบุกรุกที่ดิน ซึ่งการที่มาเฟียขายในสิ่งที่คนต้องการ จึงนำมาซึ่งความรุ่งเรืองของกิจการ ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ คำว่า มาเฟีย เมื่อแรกเริ่มนั่นไม่ได้หมายถึง เจ้าพ่อ หรือ นักเลง แต่หมายถึง “ผู้ที่ปกป้องคนจากความเอาเปรียบของผู้มีอำนาจ”
เรื่องราวทั้งหมดนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เมื่อถือกำเนิดขึ้นแล้ว ระบบมาเฟียก็ได้พัฒนา เปลี่ยนรูป ปรับร่างตามลำดับ โดย 20 ปีต่อมา ในช่วงทศวรรษที่ 1880s ภาคเกษตรกรรมของซิซิลีย่ำแย่เป็นอย่างมากเนื่องจากมีนโยบายกีดกันทางการค้า (Protectionist) กับหลายๆ ประเทศคู่ค้าหลัก ทำให้ซิซิลีส่งออกได้ยากขึ้น และยิ่งย่ำแย่มากขึ้นไปอีกเมื่อเกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในปี 1893 ผลผลิตทางเกษตรลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่งของระดับปกติ กระทบไปถึงชาวนาซึ่งเป็นแค่ลูกจ้างรายวันที่ขาดรายได้ จนเกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น เรียกร้องการปฏิรูปที่ดิน และเรียกร้องการลดภาษีการบริโภค
กลุ่มชาวนาเหล่านี้ได้กระจายไปในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดแรงต่อต้านจากเจ้าของที่ดินและชนชั้นกลางซึ่งเป็นผู้ควบคุมการบริหารงานท้องถิ่น แล้วด้วยความที่รัฐบาลกลางไม่ตอบสนองอะไร ความขัดแย้งดังกล่าวได้ส่งผลให้กลุ่มเจ้าของที่ดินและชนชั้นกลางรวมกลุ่มกันขึ้นเป็นมาเฟียดูแลท้องถิ่นของตน และใช้อำนาจรุนแรงเพื่อปราบปรามชาวนาที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง ระบบมาเฟียท้องถิ่นจึงแพร่กระจายตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา และระบบมาเฟียก็ได้กลายร่างจาก “ผู้ปกป้องคนตัวเล็กจากการเอาเปรียบของผู้มีอำนาจ” มาเป็นผู้มีอำนาจที่เอาประโยชน์และ take value จากคนตัวเล็กเสียเอง
ทั้งนี้ จากงานวิจัยของคุณ Daron Acemoglu นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ (MIT) พบว่าใน 2 ทศวรรษให้หลัง ผลจากการมีมาเฟีย ทำให้อัตราการรู้หนังสือลดลง และการจัดหาสินค้าสาธารณะของรัฐบาลก็น้อยลง นอกจากนี้ยังพบต่อไปว่า ระบบมาเฟียได้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น โดยมีความเกี่ยวพันกับเรื่องการเมืองท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จาก ถ้าที่ไหนมีมาเฟีย ที่นั่นจะมีการกระจุกตัวของผลการเลือกตั้งมากกว่า ทำให้การเมืองมีการแข่งขันกันน้อย และมีข้อสังเกตว่ามาเฟียจะพยายามไม่ให้พรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นพรรคพวกเดียวกันเข้ามาในพื้นที่ของตน นี่จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มาเฟียไปมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ ท้องถิ่นที่มีมาเฟียมักจะมีการพัฒนาที่ต่ำกว่าที่อื่น ทำให้ซิซิลีกลายจากแคว้นที่เคยมั่งคั่งในอดีต กลับกลายเป็นแคว้นที่มี GDP ต่อหัวเกือบต่ำที่สุดในปัจจุบัน
กลับมายังปัจจุบัน แม้ระบบมาเฟียในยุคกลางจะสิ้นสุดลงไป แต่มันได้ฝังรากลึกไปในโครงสร้างสถาบันสังคมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและกลายเป็นระบบอุปถัมภ์ ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์ ได้ใช้กรอบแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในลักษณะสังคมของซิซิลีที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจต่ำเนื่องจากในอดีตมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ปกครองอยู่บ่อยครั้ง ก่อให้เกิดความรู้สึกตัวใครตัวมัน ทำให้ประชาชนเน้นสร้างคอนเนคชั่นเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษ และกลายเป็นระบบอุปถัมภ์พวกพ้อง ที่สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในกลุ่มและคนนอกกลุ่มมากขึ้นไปอีก
ล่าสุด ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา อิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และภาพที่อาจทำให้หลายคนประทับใจ คือ การที่มาเฟียสวมบทบาทฮีโร่ออกไปแจกจ่ายอาหารและสิ่งของให้คนยากไร้ จนกระทั่งตำรวจเริ่มเกิดความกังวลใจว่ามาเฟียอาจทำไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากคนกลุ่มเหล่านี้ในการทำธุรกิจสีเทาในวันข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ใด การที่มาเฟียเข้ามาแทรกแซงการทำงานของรัฐได้เช่นนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐมีช่องโหว่ และการดำเนินการที่ล่าช้านั่นเอง ดังนั้นการจะลดบทบาทของมาเฟียลงคงต้องย้อนกลับไปแก้ที่ปัจจัยหลักทางสถาบันที่เกื้อหนุนระบอบมาเฟีย ประกอบไปด้วยความอ่อนแอของภาครัฐในการให้ความสงบ ความยุติธรรมแก่ประชาชน ตลอดจนความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมาย และความไว้เนื้อเชื่อใจกันที่ต่ำ หากรัฐสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ก็จะสามารถลดบทบาทของระบอบมาเฟียลงได้จริง
1
หมายเหตุ : หากใครสนใจหนังเกี่ยวกับเจ้าพ่อ กลุ่มมาเฟีย และโลกนอกกฎหมาย สามารถไปหาดูหนังได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้
10 หนังแก๊งสเตอร์ที่คอหนังนักเลงตัวจริงไม่ควรพลาด (kapook.com)
1. The Godfather Trilogy (1972-1990)
2. Scarface (1983)
3. Once Upon A Time In America (1984)
4. A Better Tomorrow (1987)
5. Casino (1995)
6. Gangs of New York (2002)
7. Infernal Affairs Trilogy (2002-2003)
8. The Departed (2006)
9. American Gangster (2007)
10. Gangster Squad (2013)
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ
Economist, Bnomics
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Facebook : Bnomics
Youtube: Bnomics.bbl
Twitter: @BnomicsBBL
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงกดปุ่ม "Follow" เท่านั้น
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #Economics #เศรษฐกิจไทย #โรคระบาด #ไทย #ReproductionRate #R0 #วัคซีน
References :
- Acemoglu, D. et al. (2017). Weak States: Causes and Consequences of the Sicilian Mafia
- Balletta, L. & Lavezzi, A. (2019). The Economics of Extortion: Theory and Evidence on the Sicilian Mafia.
- Bandiera, O. (2003). Land Reform, the Market for Protection, and the Origins of the Sicilian Mafia: Theory and Evidence.
- Journal of Law, Economics, & Organization, 19(1), 218-244.
- ธานี ชัยวัฒน์ (2555) “มาเฟียกับการพัฒนา: กรณีศึกษามาเฟียซิชิเลียน” https://www.history.com/topics/crime/origins-of-the-mafia
- Regional Accounts (istat.it)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา