7 พ.ค. 2021 เวลา 12:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“Parasite: เลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะปีนข้ามกำแพงความเหลื่อมล้ำ เพื่อไปอีกด้านได้หรือไม่?”
2
ความจน ความรวย ความไม่เท่าเทียม ได้กลายเป็นประเด็นอ่อนไหว เป็นจุดเปราะบางสำคัญในทุกประเทศ เมื่อมีความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรมสองมาตรฐาน ก็มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นปลุกเร้า ให้เกิดความไม่พึงพอใจอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งการระบาดรอบที่ 3 ของโควิด-19 ในไทย ก็มีมุมเรื่องความเหลื่อมล้ำแฝงอยู่ในทุกมิติ ดังจะเห็นได้จากที่เขาโพสต์กันในโซเชี่ยลว่า “ระบาดจากคนรวย แต่ลำบากคนจน” “หาโรงพยาบาล หาเตียงไม่ได้ คนจนอย่างเราไม่มีใครเหลียวแล ต้องรอ จนกระทั่งต้องเสียชีวิต ติดกันทั้งครอบครัว” “แม้กระทั่งวัคซีน บัตรคิว การเข้าถึง ประเภท ก็ยังกลายเป็นประเด็นให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้น” สะท้อนความรู้สึกเหนื่อยล้า ความคับแค้นใจกับระบบที่มีความเหลื่อมล้ำ ที่ทำให้พวกเขาขาดโอกาสที่จะมีชีวิตอย่างเสมอภาคในประเทศนี้
10
ด้วยเหตุนี้ Bnomics จึงอยากขอนำกรณีศึกษาปัญหาความเหลื่อมล้ำในเกาหลีใต้ มาวิเคราะห์ให้ทุกคนฟัง ผ่านหนังดังที่ทุกคนรู้จักกันดี
หนังสัญชาติเกาหลีเรื่อง Parasite อาจจะพอทำให้หลายคนเห็นภาพของความเหลื่อมล้ำในเกาหลีใต้ได้ดี แม้เนื้อเรื่องนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ผู้กำกับบงจุนโฮ สามารถเสียดสีปัญหาความเหลื่อมล้ำในระเทศเกาหลีใต้อย่างคมคาย และแฝงสัญลักษณ์ในหลายๆ ฉาก จนทำให้หนังเรื่องนี้สามารถคว้าหลายรางวัลในเวทีระดับโลกได้ รวมถึงกลายเป็นหนังภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่ได้รางวัลออสการ์ Best Picture และได้รางวัล Palme d’Or จากเทศกาล Cannes (ขณะนี้ มีหนังแค่ 3 เรื่องเท่านั้นที่ได้ 2 รางวัลนี้พร้อมกัน)
2
ตัวละครในเรื่องแบ่งเป็น 2 ครอบครัวหลักๆ คือ ครอบครัวคนรวยปาร์ค และครอบครัวคนจนคิม ซึ่งโชคชะตาได้พาทั้งสองมาพบกัน ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เราเห็นว่าแม้ครอบครัวคนจนพยายามรับจ้างทำงานสารพัดอย่าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาหลุดพ้นจากฐานะยากจนได้ ทั้งลูกชายและลูกสาวก็ไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยแม้ว่าจะเป็นคนที่มีความสามารถ ที่เป็นเข่นนั้น เป็นเพราะว่ายังขยันไม่มากพอ หรือเพราะระบบไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนจึงมากจนกระทั่งคนจนไม่สามารถปีนข้ามไปได้กันแน่?
3
ความเหลื่อมล้ำในเกาหลีใต้เกิดขึ้นมาจากอะไร?
ต้องย้อนกลับไปสมัยหลังสงครามเกาหลี ประเทศเกาหลีใต้ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุด จนกระทั่งในยุคเผด็จการทหารนำโดยนายพลปาร์คจุงฮี (1961 - 1979) มีการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรม และเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปที่การส่งออกเป็นหลัก โดยใช้ประโยชน์จากค่าจ้างแรงงานราคาถูก ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมสิ่งทอ การต่อเรือ ยานยนต์ โลหะเหล็กกล้า เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์ เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์แห่งอนาคต และได้ผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูงหรือที่เรียกกันว่าแชโบล (chaebols) ประกอบไปด้วยกลุ่มบริษัทฮุนได แดวู ซัมซุง และโกลสตาร์ (LG) เป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
1
กลุ่มแชโบลนี้ มักถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มธุรกิจครอบครัว ซึ่งควบคุมการผูกขาดตลาด ที่บริษัทเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้ส่วนหนึ่งก็มาจากการแทรกแซงด้วยการสนับสนุน และการเอื้อสิทธิประโยชน์พิเศษมากมายจากรัฐบาลของนายพลปาร์ค ทำให้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960–1980 เป็นต้นมา เกาหลีใต้ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด จนได้สมญานามว่า ปาฏิหาริย์ลุ่มแม่น้ำฮัน หรือ หนึ่งในมหัศจรรย์แห่งเอเชีย
3
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของกลุ่มแชโบล พ่วงมากับปัญหาการคอร์รัปชั่นระหว่างนักธุรกิจ นักการเมือง และข้าราชการ จนทำให้เกาหลีใต้เผชิญกับวิกฤตการเงินในปี 1997 เมื่อกลุ่มแชโบลประสบปัญหาหนี้เงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นจากการขยายการลงทุนจำนวนมาก รัฐบาลจึงเข้าไปอุ้มกลุ่มแชโบลโดยขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เนื่องจากกังวลกว่าหากกลุ่มแชโบลล้มขึ้นมาจะเกิดผลกระทบอย่างต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก การปรับโครงสร้างของกลุ่มแชโบลประสบความสำเร็จ แต่ต้องแลกมาด้วยการเลิกจ้างแรงงานอย่างมหาศาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง เนื่องจากตอนนั้นรัฐบาลปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความเสรีไปพร้อมกับแก้ไขกฎระเบียบให้ธุรกิจสามารถลดจำนวนคนงานได้เพื่อความยืดหยุ่น
2
ผลที่ตามมาต่อจากนั้น คือ เด็กจบใหม่ไม่มีงานทำ และบริษัทหลายแห่งมักเลือกที่จะจ้างพนักงานแบบชั่วคราวที่ค่าจ้างถูกกว่าพนักงานประจำ ปัจจัยเหล่านี้เองส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากชนชั้นกลางค่อยๆ สูญหายไปจากระบบ โดยคนชั้นบนสะสมความมั่งคั่งมากขึ้น แต่คนทั่วไปกลับมีฐานะแย่ลงและยิ่งย่ำแย่ลงไปอีกเมื่อวิฤตการณ์การเงินโลกในปี 2008 ได้เข้ามาซ้ำเติม ทำให้แรงงานเหล่านี้ที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้จากวิกฤตครั้งก่อนต้องลำบากอีกครั้ง
1
นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัจจัยอีก 2 อย่าง ที่ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ (1) ครอบครัวที่มีแม่เลี้ยงเดี่ยว/พ่อเลี้ยงเดี่ยวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้นในช่วงปี 1997 ครอบครัวลักษณะนี้มักจะพบปัญหาความไม่มั่นคงทางรายได้ และความยากจนทับซ้อนขึ้นไปอีก (2) ปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว แต่ผู้สูงวัยเหล่านั้นยากจนเพราะไม่ได้วางแผนการเงินหลังเกษียณไว้
1
ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำในเกาหลีใต้ยังเกิดขึ้นในหลายๆ มิติ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางรายได้ทำให้คนที่มีรายได้น้อยขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาดีๆ และไม่สามารถออกจากวังวนของความยากจนได้สักที
1
ล่าสุด โควิด-19 ได้เข้ามาทำให้ความเหลื่อมล้ำนี้ยิ่งห่างขึ้นกว่าเดิม แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจเกาหลีได้ฟื้นฟูกลับมา แต่การฟื้นตัวดังกล่าวนั้นไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเท่าเทียมระหว่างกลุ่มทุนใหญ่กับคนทั่วไป ขณะที่หุ้นของกลุ่มแชโบลหลายตัวมีมูลค่าสูงจนทำลายสถิติเดิม แต่คนทั่วไปกลับตกงานสูงสุดในรอบ 21 ปี แม้ว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง คุณมุนแจอิน จะชูนโยบายปฏิรูปความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่ความเหลื่อมล้ำในเกาหลีใต้ไม่ได้ลดลงเลย จนทำให้ คนรุ่นใหม่ชาวเกาหลีหลายคนเรียกบ้านเกิดตัวเองว่า “นรกโชซอน” เพราะความรู้สึกสิ้นหวังในชีวิตที่เขาทุ่มเทกับการเรียน ทำงานหนัก แต่ก็ไม่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้อย่างที่หวัง หรือเรียกได้ว่าเป็นเหมือนกับดักของชนชั้นกลางภายใต้ประเทศดูเหมือนจะที่ร่ำรวยแห่งนี้
4
การพัฒนาประเทศโดยใช้กลุ่มทุนที่รัฐสนับสนุนเป็นตัวบุกเบิก ทำให้เกาหลีใต้ใช้เวลาเพียง 26 ปี ในการพัฒนาไปสู่ประเทศรายได้สูง แต่เมื่อมองย้อนกลับไป กลยุทธ์นี้เองที่เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนใหญ่ถูกกลุ่มแชโบลควบคุมไว้หมด (80% ของ GDP มาจากกลุ่มแชโบล) จนกลุ่มแชโบลมีอำนาจต่อรองกับรัฐสูง และผู้เล่นรายเล็กเข้ามาได้ยาก
1
แม้ในปัจจุบัน รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาโดยการหันมาสนับสนุน SMEs และ Start-up รวมถึงการจัดเก็บภาษีจากมรดกเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้นดังจะเห็นได้จากข่าวล่าสุดที่ทายาทซัมซุงถูกเก็บภาษีมรดกกว่า 12 ล้านล้านวอน ซึ่งคิดเป็นเกือบ 60% ของมรดกทั้งหมด แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ฝังรากล้ำในสังคมเกาหลีใต้เรียบร้อยแล้ว
บทเรียนจากกรณีของเกาหลีใต้ จึงเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับไทยโดยแม้ปัญหาเหล่านี้ เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน แต่ต้นตอหลักนั้นเกิดจากการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่สูงในระยะยาว เสียจนคนทั่วไปรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถปีนข้ามกำแพงนี้ไปมีชีวิตที่ดีขึ้นได้จนต้องยอมแพ้ไปในที่สุด และเมื่อวันนั้นมาถึงเราอาจจะต้องสูญเสียคนที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปตลอดกาล
4
หมายเหตุ¹ วันหลัง Bnomics จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับความเหลื่อมล้ำในมิติอื่น ๆ ของเกาหลีใต้ผ่านหนัง/ซีรีส์เกาหลีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของประเทศแห่งนี้ที่ขึ้นชื่อว่ามีการแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยโหดที่สุด
2
หมายเหตุ² หากใครสนใจเรื่องสัญญะที่แฝงอยู่ในหนัง สามารถไปดูได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้
1
ชื่อคลิป : [Spoil!] ตีความสัญลักษณ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ใน 'PARASITE' | Jelly
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ
Economist, Bnomics
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Facebook: Bnomic
Youtube: Bnomics.bbl
Twitter: @BnomicsBBL
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงกดปุ่ม "Follow" เท่านั้น
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
- Hyun-Hoon LEE et al. (2012). "Growth Policy and Inequality in Developing Asia: Lesson from Korea," Working Papers DP-2012-12, Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA).
- Heo, Uk et al. (2008). The Political Economy of South Korea: Economic Growth, Democratization, and Financial Crisis. Maryland Series in Contemporary Asian Studies.
- Edward M. Graham (2003). "Reforming Korea's Industrial Conglomerates," Peterson Institute Press: All Books, Peterson Institute for International Economics, number 341, May.
- ดำรงค์ ฐานดี (2014). จากอนุรักษ์นิยมแบบดั้งเดิมมาเป็นอนุรักษ์นิยมแบบปัก กึนเฮ:กรณีศึกษาประเทศเกาหลีใต้
- วิเชียร อินทะสี (2008). ประสบการณ์การพัฒนาของเกาหลีใต้
- Rising Inequalities in South Korea and the Search for a New Business Ecosystem > Articles | (globalasia.org)
- เราจะไปโลกที่หนึ่งแบบเกาหลีกลาง? | The 101 World (the101.world)
- ภายใต้การพัฒนาแบบไหน ที่ทำให้ ‘เกาหลีใต้’ เหลื่อมล้ำอย่างในหนัง Parasite | The Interview Club (theinterviewclub.com)
- Chaebol | Wikipedia.org
- บทวิเคราะห์ภาพยนตร์ Parasite ชนชั้นที่ต่าง ใครกันแน่ที่เป็นปรสิต? | The People (thepeople.co)
- OECD Economic Surveys: Korea 2020
- ทำความรู้จัก Hell Joseon หรือ นรกโชซอน ที่คนรุ่นใหม่เกาหลีใต้ใช้เรียกประเทศตัวเอง | Brand Inside

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา