14 พ.ค. 2021 เวลา 13:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เรียนรู้เศรษฐศาสตร์ผ่านหนังดัง อ้าย..คนหล่อลวง
สำหรับบทความนี้ ผมจะขอหยิบแง่มุมที่น่าสนใจจากภาพยนตร์เรื่องอ้าย..คนหล่อลวงออกมา ซึ่งพระเอก ทาวเวอร์ (ณเดชน์) เป็น 18 มงกุฎ มาร่วมมือกับนางเอก อินา (ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก) เพื่อหาทางเอาเงินคืนจาก เพชร (ธิติ) แฟนเก่าของนางเอก ที่หลอกเอาเงินของอินาไปห้าแสนบาท ทำให้อินาติดหนี้ติดสินก้อนโต โดยมีฉากหนึ่งที่น่าสนใจคือตอนที่ทาวเวอร์ต้องการเงินสดด่วน เพื่อนำไปใช้ในแผนหลอกเงินจากเพชร จึงต้องนำรถยนต์สปอร์ตสุดหรู Mercedes Benz E-Class Cabriolet ของตน ไปขอสินเชื่อโดยใช้ทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ซึ่งทำให้ได้เงินสดมา 1 ล้านบาทมาใช้ในแผนการที่วางไว้ได้สำเร็จ
📌 ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
ผมได้นำข้อความแนะนำสินเชื่อทะเบียนรถจากบนหน้าเว็บไซต์ของบริษัทเงินติดล้อมาดังนี้ “บริษัทสินเชื่อ ‘บมจ.เงินติดล้อ’ พร้อมส่งต่อ “โอกาส” ให้ชีวิตของทุกคนหมุนต่อได้ด้วยบริการ สินเชื่อทะเบียนรถเก๋ง-กระบะ สินเชื่อที่ให้วงเงินสูง ได้เงินเร็ว อนุมัติไวแบบไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ด้วยดอกเบี้ยที่เป็นธรรม” ซึ่งผมได้หาข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่าอัตราดอกเบี้ย(ที่เป็นธรรม) อยู่ที่ร้อยละ 21 ต่อปีสำหรับสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นทะเบียนรถ!
📌 หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส4 ปี 2563 สูงเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ร้อยละ 89.3 ของ GDP
การที่ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยมีกว่า 14.2 ล้านล้านบาท และตลาดหลักทรัพย์ยังคงมองว่าหนี้ครัวเรือนจะเติบโตต่อเนื่องอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในหมวดบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด โดยในหมวดสินเชื่อนี้ อัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 16 และของสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 25 การที่ดอกเบี้ยสูงมากนี้ จะส่งผลให้เกิด Debt Trap หรือกับดักหนี้ ที่ผู้กู้ไม่สามารถหลุดออกจากการเป็นหนี้ได้เพราะการขยายตัวของหนี้สินมากกว่าความสามารถในการชำระหนี้ เสมือนเป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจหากเราไม่ได้แก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและรวดเร็ว
3
ยิ่งในยุคโควิดดังเช่นปัจจุบันนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น คนที่ตกงาน คนที่ถูกลดชั่วโมงทำงาน ธุรกิจที่ค้าขายไม่ได้ ธุรกิจที่ถูกปิดกิจการชั่วคราว ต่างก็มีค่าใช้จ่ายมากมายเป็นประจำทั้งสิ้น ไหนจะค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าใช้จ่ายลูก ค่าใช้จ่ายเงินเดือนคนงาน ค่าเช่า ค่าดอก ค่าของ เมื่อรายได้ไม่มา หนี้ก็พอกพูน ยิ่งโควิดยืดเยื้อ หนี้ก็ยิ่งมาก
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีระดับหนี้ครัวเรือนเทียบกับ GDP ที่สูงมากใน Asia และเมื่อเทียบประเทศไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนเทียบกับ GDP น้อยกว่าเพียงแค่สหราชอาณาจักร (96.6%) และเกาหลีใต้ (106.6%) แต่มากกว่าระดับของ สหรัฐอเมริกา (69.5%) และสิงคโปร์ (67.9%) และยิ่งไปกว่านั้น สินเชื่อบ้านที่จัดว่าเป็นสินทรัพย์ที่ดีและดอกเบี้ยต่ำนั้น ของไทยเราในปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 34 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า ของทั้ง สิงคโปร์ (74%) และอังกฤษ (84%) มาก
การที่ไทยมีหนี้ครัวเรือนระดับสูงจะเป็นการฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะในปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนนั้นคิดเป็นถึงร้อยละ 53 ของ GDP และ อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนที่ 14.2 ล้านล้านบาทซึ่งสูงกว่าหนี้ธุรกิจที่ 9.5 ล้านล้านบาท สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจว่าเม็ดเงินการลงทุนจากภาคเอกชนต่ำมานาน เมื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่าการลงทุนของภาคเอกชนจะส่งผลความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงเรื่อยๆ
📌 เมื่อเงินติดล้อ (TIDLOR) เข้าตลาดหลักทรัพย์
ถึงตรงนี้เราคงมองเห็นแล้วว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจการปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกัน ที่ได้ผลตอบแทนดอกเบี้ยที่สูงมากและความเสี่ยงต่อหนี้เสียต่ำ และจากการทำการโปรโมทโรดโชว์ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ทันสมัยและให้โอกาสผู้ถือหุ้นรายย่อยได้มีสิทธิจอง IPO ด้วย(แต่ตัวผู้เขียนไม่ได้รับการจัดสรรมาเลย) จึงทำให้มี Demand สูงมากสำหรับหุ้น TIDLOR นี้ ทำให้ราคาหุ้นที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ในวันแรก ซึ่งคือวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระโดดขึ้นไปถึง 55.50 บาทจากราคาจอง 36.50 บาท ส่งผลให้มูลค่าของบริษัทเกินกว่า 100,000 ล้านบาทจากยอดการปล่อยสินเชื่อเพียงประมาณ 51,000 ล้านบาทเท่านั้น
เมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคาร ผมขอยกตัวอย่าง ในวันเดียวกันนั้น มูลค่าตามราคาตลาดของ ธนาคารไทยพาณิชย์ (ที่มี Market Cap มากสุดในกลุ่มธนาคาร) อยู่ที่ 300,000 ล้าน ถึงแม้ว่าจะมีการให้สินเชื่อกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าสินเชื่อของเงินติดล้อกว่า 40 เท่า สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนในตลาดหุ้นประเมินว่ากลุ่มธุรกิจอย่างเงินติดล้อมีความสามารถและประสิทธิภาพในการทำกำไรมากกว่ากลุ่มธนาคารหลายเท่ามาก
ในเรื่องนี้ หลายคนคงเคยได้ยินมาแล้วว่า หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 4 ปี 2563 สูงเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ร้อยละ 89.3 ของ GDP การที่ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยมีกว่า 14.2 ล้านล้านบาท และตลาดหลักทรัพย์ยังคงมองว่าหนี้ครัวเรือนจะเติบโตต่อเนื่องอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในหมวดบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด โดยในหมวดสินเชื่อนี้ อัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 16 และของสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 25 การที่ดอกเบี้ยสูงมากนี้ จะส่งผลให้เกิด Debt Trap หรือกับดักหนี้ ที่ผู้กู้ไม่สามารถหลุดออกจากการเป็นหนี้ได้เพราะการขยายตัวของหนี้สินมากกว่าความสามารถในการชำระหนี้ เสมือนเป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจหากเราไม่ได้แก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและรวดเร็ว
ยิ่งในยุคโควิดดังเช่นปัจจุบันนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น คนที่ตกงาน คนที่ถูกลดชั่วโมงทำงาน ธุรกิจที่ค้าขายไม่ได้ ธุรกิจที่ถูกปิดกิจการชั่วคราว ต่างก็มีค่าใช้จ่ายมากมายเป็นประจำทั้งสิ้น ไหนจะค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าใช้จ่ายลูก ค่าใช้จ่ายเงินเดือนคนงาน ค่าเช่า ค่าดอก ค่าของ เมื่อรายได้ไม่มา หนี้ก็พอกพูน ยิ่งโควิดยืดเยื้อ หนี้ก็ยิ่งมาก
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีระดับหนี้ครัวเรือนเทียบกับ GDP ที่สูงมากใน Asia และเมื่อเทียบประเทศไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนเทียบกับ GDP น้อยกว่าเพียงแค่สหราชอาณาจักร (96.6%) และเกาหลีใต้ (106.6%) แต่มากกว่าระดับของ สหรัฐอเมริกา (69.5%) และสิงคโปร์ (67.9%) และยิ่งไปกว่านั้น สินเชื่อบ้านที่จัดว่าเป็นสินทรัพย์ที่ดีและดอกเบี้ยต่ำนั้น ของไทยเราในปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 34 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า ของทั้ง สิงคโปร์ (74%) และอังกฤษ (84%) มาก
การที่ไทยมีหนี้ครัวเรือนระดับสูงจะเป็นการฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะในปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนนั้นคิดเป็นถึงร้อยละ 53 ของ GDP และ อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนที่ 14.2 ล้านล้านบาทซึ่งสูงกว่าหนี้ธุรกิจที่ 9.5 ล้านล้านบาท สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจว่าเม็ดเงินการลงทุนจากภาคเอกชนต่ำมานาน เมื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่าการลงทุนของภาคเอกชนจะส่งผลความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงเรื่อยๆ
ทำไมหนี้ครัวเรือนของไทยถึงสูงขึ้นอย่างมาก
ในปี 2549 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่เพียงร้อยละ 44.4 ของ GDP แต่ในปัจจุบันใกล้ร้อยละ 90 (เพิ่มขึ้นสองเท่า) โดยจากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยเป็นหนี้ในวงกว้างขึ้น และมีค่ากลางมูลหนี้เพิ่มจาก 7 หมื่นบาทต่อราย เป็น 1.28 แสนบาทต่อราย และพบว่าคนไทยยังเป็นหนี้เร็ว คือเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย โดยร้อยละ 60 ของกลุ่มคนอายุ 29-30 ปีจะเป็นหนี้ โดยกลุ่มคนอายุน้อยจะมีหนี้เสียถึง 1 ใน 4 และคนไทยยังเป็นหนี้นาน แม้หลังเกษียณแล้ว” ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือการดำเนินนโยบายภาครัฐที่กระตุ้นในเกิดการกู้ยืม “ในส่วนของคนเมืองคือ นโยบายรถคันแรก ที่ทำให้คนที่ยังไม่พร้อมต้องมาก่อหนี้ ก่อให้เกิดหนี้เสีย และสำหรับชาวชนบทคือ นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร ที่ทำให้เกษตรกรที่เข้าโครงการพักหนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2559 มีหนี้สะสมมากขึ้น และกลายเป็นหนี้เสีย มากกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าโครงการ”
นอกจากนั้น การที่ทางผู้ประกอบธุรกิจ SME บางส่วนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้ จึงต้องยอมใช้เงินกู้ผ่านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมาบรรเทาปัญหา ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยจะสูงกว่ากันมาก และยังมีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อนำมาใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น คนขับรถแท็กซี่ และ คนส่งอาหาร
📌 การขาดความรู้ ความเข้าใจด้านการเงิน
นอกจากนั้นการที่คนไทยส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจและทักษะทางการเงิน จึงทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็วแบบไม่รู้ตัว ซึ่งข้อมูลจากเครดิตบูโรชี้ให้เห็นว่าคนไทยมีจำนวนบัญชีบัตรเครคิตและสินเชื่อส่วนบุคคลประมาณ 50 ล้านบัญชี (คนหนึ่งอาจจะมีมากกว่าหนึ่งบัญชี) นอกจากนั้น เราคงเคยเห็นโฆษณาเงินกู้ในที่ต่าง ๆ เช่น ร้อยละ 1 แต่เป็นการคิดดอกเบี้ยต่อเดือนไม่ใช่ต่อปี ข้อมูลจากทางเว็บไซต์บริษัทให้สินเชื่อทะเบียนรถแห่งหนึ่ง ระบุคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.03 ต่อเดือน แต่เทียบเท่าอัตราที่แท้จริงคือ ร้อยละ 22.50 ต่อปี ซึ่งข้อมูลตรงนี้ไม่มีความโปร่งใสว่าคำนวณมาได้อย่างไร และในบางกรณี ผู้บริโภคก็โดนหลอกให้ทำประกันชีวิต โดยสถาบันการเงินบางแห่งให้ข้อมูลว่าเป็นการฝากเงิน หรือโดนบังคับให้ทำประกันเพื่อจะได้ให้เงินกู้ได้รับการอนุมัติ เป็นต้น
ผมขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งไว้เพื่อเป็นการเตือนถึงอันตรายที่อาจพบได้ หากใช้บัตรเครดิตแล้วขาดความเข้าใจ สมมติว่าเราเป็นหนี้บัตรเครดิต 10,000 บาท แต่เราเลือกที่จ่ายเพียงยอดขั้นต่ำที่อยู่ที่ร้อยละ 5 ของยอดคงค้างทุกเดือน และเราใช้อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตในปัจจุบัน ที่ร้อยละ 16 เชื่อหรือไม่ครับว่าต้องใช้เวลากว่า 12 ปี กว่าจะผ่อนชำระหนี้ก้อนนี้หมด และคิดเป็นเงินค่าดอกเบี้ยทั้งหมด 3,295 บาท ซึ่งตรงนี้ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมาอย่างหนัก
📌 แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
ล่าสุดผมเพิ่งได้ทราบข่าว ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีมากๆ ว่าทางธนาคารออมสินจะเข้ามาแข่งขันในธุรกิจจำนำทะเบียนรถโดยเสนอดอกเบี้ยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 14.99% ต่อปี หรือ 0.69% ต่อเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มการแข่งขันในตลาดนี้และจะทำให้ภาระดอกเบี้ยสำหรับผู้มีรายได้น้อยปรับลดลง จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายลงอย่างมีนัย ซึ่งผมก็หวังว่ากลไกตลาด จะทำให้เกิดความโปร่งใสและอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้ด้วยความมั่นคงและยั่งยืน
ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว มีตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น ในสหราชอาณาจักรมีคนประมาณ 2 ล้านคนที่กำลังประสบปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ก่อให้เกิดปัญหาต่อทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายกับคนจำนวนมาก หน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษ FCA (Financial Conduct Authority) ได้ออกกฎเกณฑ์ให้สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อบัตรเครดิต ต้องติดต่อกับกลุ่มคนที่มีหนี้เรื้อรัง (บุคคลที่จ่ายแต่ยอดขั้นต่ำมาแล้ว 18 เดือน หรือจ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเท่ากับยอดเงินต้นที่กู้มาในตอนแรก) โดยทาง FCA บังคับให้สถาบันการเงินต้องติดต่อหาทางออกร่วมกันกับลูกหนี้ที่ประสบปัญหา โดยการให้ความรู้ ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือยกหนี้ให้เลย
ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผมยังไม่ได้นำหนี้นอกระบบมารวม ซึ่งหนี้นอกระบบนี่ต้องถือเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกร่อน โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างหนัก อัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบนี้อาจจะอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อวัน หรือมากกว่า 1,000% ต่อปี ผมขอคัดข้อความจากกระทรวงยุติธรรม ดังต่อไปนี้ “กลุ่มอาชีพที่มีปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.พ่อค้าแม่ค้า เนื่องจากเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก ทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ 2.พนักงานรัฐวิสาหกิจ ไม่น่าเชื่อกลุ่มนี้จะตกเป็นหนี้นอกระบบเช่นกัน 3.ข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการในต่างจังหวัด อย่างข้าราชการครู มีปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ และ 4.เกษตรกร มีปัญหาเรื่องเงินกู้นอกระบบอย่างรุนแรง เพราะนายทุนในพื้นที่ได้ทุกอย่างทั้งเครื่องมือการเกษตร อุปกรณ์การเกษตร มีสินค้าให้กู้ยืม และการทำสัญญาขายฝากเพียงแค่เซ็นแล้วนำโฉนดที่ดินมาวางไว้เท่านั้น” จึงสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้นอกระบบได้ส่งผลต่อประชาชนในวงกว้าง มีผลลบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก
อันที่จริง ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ มาช่วยลดปัญหาสินเชื่อนอกระบบได้ระดับหนึ่ง เพราะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่ามาก แต่อาจจะตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มคนที่มีหลักประกัน เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เป็นต้น แต่สำหรับประชาชนกลุ่มอื่นอาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก จึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญว่าจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะเห็นบริษัท Fintech หลายแห่งที่จะเข้ามาแก้ Pain Point ตรงนี้ โดยเฉพาะจากกลุ่ม Crowd Funding และ P2P Lending ผมคิดว่าเราน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
หากหน่วยงานของรัฐมากำกับดูแลให้เกิดความโปร่งใสและมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบอย่างจริงจัง ยิ่งเราสามารถนำตัวอย่างแนวทางแก้ไขจากประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับเรามาปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศ ผมมองว่าเราจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้และถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทย โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ ดังเช่นนโยบายเยียวยาของรัฐในหลายมาตรการที่ผ่านมา
ท้ายที่สุดผมขอฝากไว้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เปรียบเสมือนระเบิดเวลา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน และหากทำได้สำเร็จ จะเป็นการทำให้คนไทยหลายสิบล้านคนมีความหวังขึ้นมาอีกครั้งอย่างแน่นอน
ผู้เขียน : บุรินทร์​ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Facebook : Bnomics
Youtube: Bnomics.bbl
Twitter: @BnomicsBBL
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา