2 พ.ค. 2021 เวลา 03:00 • กีฬา
ถอดสถิติทีมตกชั้น สู่เงื่อนไขการอยู่รอดบนเวทีไทยลีก
ฟุตบอลไทยลีกฤดูกาล 2020 ปิดฉากลง โดยเป็นฝั่งของ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ที่คว้าแชมป์ลีกในที่สุด สร้างประวัติศาสตร์แชมป์ลีกสมัยแรกของสโมสร และขอต้อนรับน้องใหม่จาก M-150 แชมเปียนชิพ ได้แก่ หนองบัวพิชญ เอฟซี, เชียงใหม่ ยูไนเต็ด และ ขอนแก่น ยูไนเต็ด
สำหรับการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในหลายๆประเทศไม่ว่าจะเป็นในระดับเวทียุโรปหรือเอเชีย เรามักจะพบว่าทีมที่พึ่งจะขึ้นมาเล่นในระดับลีกสูงสุด ในท้ายที่สุดทีมเหล่านั้นก็จะกลับไปสู่การเล่นในลีกรองและก็จะอยู่วนเวียนอยู่ในระดับนั้นเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งเลยก็ว่าได้ สำหรับไทยลีก 1 ก็เช่นกัน หลายๆทีมที่ขึ้นมาจาก ไทยลีก 2 ส่วนมากก็จะอยู่วนเวียนได้ไม่นานก็จะตกกลับไปเล่นในระดับเดิม หรือถ้าเลวร้ายกว่านั้นก็จะหล่นลงไปอีก
ทีนี้เรามาย้อนดูสถิติน่าสนใจ ว่าทีมที่เพิ่งขึ้นชั้นมาจากไทยลีก 2 ถ้าอยากจะโลดแล่นในไทยลีก 1 ต้องทำอย่างไรกันบ้าง (ข้อมูลเชิงสถิติจะเก็บตั้งแต่ ไทยลีกฤดูกาล 2016-17 ถึง 2020-21 )
1.เก็บให้ได้มากกว่า 33 คะแนน
จากตารางคะแนนไทยลีก 5 ฤดูกาลหลังสุดจะพบว่า ทีมที่ตกชั้นเป็นทีมสุดท้าย(อันดับที่ 16 และอันดับที่ 14 ในปัจจุบัน) ส่วนมากจะมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 29.5 หรือก็คือ 30 คะแนน
ฤดูกาล 2016 อันดับ 16 อาร์มี ยูไนเต็ด เก็บได้ 30 คะแนน (อันดับที่ 15 ซุปเปอร์ พาวเวอร์ สมุทรปราการ มี 31 แต้ม)
ฤดูกาล 2017 อันดับ 16 ไทยฮอนด้า ลาดกระบัง เก็บได้ 28 คะแนน (อันดับที่ 15 สุโขทัย เอฟซี มี 36 แต้ม)
ฤดูกาล 2018 เป็นฤดูกาลที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของลีกทำให้มีทีมตกชั้น 5 ทีม แต่จะขออิง 3 อันดับท้ายตามเดิมนั่นคือ อันดับ 16 ราชนาวี ที่เก็บได้ 30 คะแนน (อันดับที่ 15 บีอีซี เทโรศาสน มี 36 แต้ม)
ฤดูกาล 2019 เป็นฤดูกาลที่ไทยลีก 1 เหลือ 16 ทีม ซึ่งอันดับที่ 14 สุพรรณบุรี เอฟซี เก็บได้ 32 คะแนน แต่สโมสรพีทีที ระยอง ประกาศพักทีมทำให้โควต้าตกชั้นเหลือเพียง 2 ทีม ก็คือทีมอันดับที่ 15 และ16 (อันดับที่ 13 นครราชสีมา เอฟซี มี 34 แต้ม)
ฤดูกาล 2020 อันดับ 14 สุโขทัย เอฟซี เก็บได้ 28 คะแนน (อันดับที่ 13 สุพรรณบุรี เอฟซี มี 30 แต้ม)
1
ซึ่งทีมที่อยู่ในโซนปลอดภัย (อันดับเหนือโซนตกชั้น 1 อันดับ) ส่วนมากมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 33 คะแนน จึงสรุปได้ว่าถ้าทีมที่ขึ้นชั้นมาอยากจะอยู่รอดในเวทีไทยลีกจะต้องเก็บคะแนนให้ได้มากกว่า 33 คะแนน แต่ถ้าไม่ถึง 30 คะแนนก็ลุ้นตกชั้นได้เลย
28 คะแนน ไม่เพียงพอให้ สุโขทัยฯ อยู่รอดบนไทยลีก 1
2. ต้องชนะมากกว่า 8 เกม
จากข้อมูลดังกล่าวในข้อที่ 1 จะพบว่าทีมอันดับที่ดีที่สุดที่ตกชั้นสู่ T2 ทั้ง 5 ทีมจาก 5 ฤดูกาล จะมีสถิติการชนะไม่เกิน 8 นัด
ฤดูกาล 2016 อาร์มี ยูไนเต็ด ชนะ 8 เสมอ 6 แพ้ 17
ฤดูกาล 2017 ไทยฮอนด้า เอฟซี ชนะ 8 เสมอ 4 แพ้ 22
ฤดูกาล 2018 ราชนาวี เอฟซี ชนะ 7 เสมอ 9 แพ้ 18
ฤดูกาล 2019 สุพรรณบุรี เอฟซี ชนะ 7 เสมอ 11 แพ้ 12
ฤดูกาล 2020 สุโขทัย เอฟซี ชนะ 8 เสมอ 4 แพ้ 19
ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าแต่ละสโมสรในไทยลีก มีการจัดการผู้เล่นในการแข่งขันแต่ละเกมอย่างไร ไม่ใช่ว่าทั้ง 5 ทีมข้างต้นมีการจัดการวางตัวผู้เล่นไม่ดี แต่ยังมีเรื่องของคุณภาพนักเตะมาเกี่ยวข้องด้วย ในเมื่อพวกเขาเป็นทีมเล็กแปลว่าขุมกำลังของผู้เล่นแต่ละทีมจะมีคุณภาพที่อาจสู้ทีมใหญ่ๆได้ยากกว่า และหลายๆสโมสรควรวางแผนการเล่นให้ดีว่าในเกมไหนที่พวกเขาควรจะชนะ เพราะถ้าสามารถเอาชนะได้ 8 เกม เท่ากับโกยแต้มไปแล้ว 24 แต้ม แปลว่า อีก 9 แต้มจากการลงเล่น 22 เกม มันก็มีความเป็นไปได้ในการอยู่รอดบนเวทีไทยลีกต่อไป
3.คุณภาพเกมรุกที่ถดถอย คุณภาพเกมรับที่หละหลวม ในฤดูกาลที่ 2 จาก 5 ฤดูกาลหลังสุดมีทีมที่ขึ้นมาเล่นในระดับไทยลีก 1 ทั้งหมด 12 ทีม ซึ่งจะมีอยู่ อยู่แค่ 5 ทีมที่ปัจจุบันยังคงโลดแล่นอยู่ในไทยลีก 1 ฤดูกาล 2020 คือ การท่าเรือ เอฟซี, พีที ประจวบ เอฟซี, บีจี ปทุม ยูไนเต็ด, โปลิศ เทโร เอฟซี และ สมุทรปราการ ซิตี้ ซึ่งมีอยู่ 4 ทีมที่ขึ้นมาเล่นได้แค่ฤดูกาลเดียวก็ตกไปสู่ไทยลีก 2 ตามเดิม อย่าง ไทยฮอนด้า เอฟซี (ฤดูกาล 2017), ราชนาวี (ฤดูกาล 2018), เชียงใหม่ เอฟซี (ฤดูกาล 2019) และ ระยอง เอฟซี (ฤดูกาล 2020)
ระยอง เอฟซี ดีไม่พอและตกชั้นเป็นทีมแรกในไทยลีก 2020
ซึ่งอีก 4 ทีมที่เหลือคือทีมที่สามารถโลดแล่นบนไทยลีก 1 ได้มากกว่า 1 ฤดูกาล และถ้าดูจากผลงานในฤดูกาลแรกที่พึ่งขึ้นชั้นมาและฤดูกาลที่ตกชั้นจะพบจุดที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
1.อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด ขึ้นมาเล่นไทยลีก 1 ฤดูกาล 2017 ทำผลงาน ชนะ 12 เสมอ 11 แพ้ 11 ยิงไป 55 ประตู เสีย 54 ลูก จบอันดับที่ 10 ของตาราง แต่มาตกชั้นในฤดูกาล 2018 จบอันดับที่ 17 ชนะ 6 เสมอ 8 แพ้ 20 ยิง 39 ประตูเสีย 58 ซึ่งถ้าคิดออกมาในแง่ของตัวเลข อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด มีเปอร์เซนต์การทำประตูหายไปจากเดิมเกือบ 30% และเสียประตูเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 7%
2.ชัยนาท ฮอร์นบิล ขึ้นมาเล่นในไทยลีก 1 ฤดูกาล 2018 ทำผลงานชนะ 11 เสมอ 9 แพ้ 14 ยิงไป 46 ประตู เสีย 52 ลูก จบอันดับที่ 13 ของตาราง แต่พอฤดูกาล 2019 ทีมกลับตกชั้นหลังทำผลงาน ชนะ 8 เสมอ 6 แพ้ 16 ยิงไป 31 ประตู เสีย 50 ลูก ซึ่งถ้าคิดออกมาในแง่ของตัวเลข ชัยนาท ฮอร์นบิล เอฟซี มีเปอร์เซนต์การทำประตูหายไปจากเดิมเกือบ 33% แต่เสียประตูน้อยลงจากเดิมเกือบ 4%
3.ตราด เอฟซี ขึ้นมาเล่นในไทยลีก 1 ฤดูกาล 2019 ทำผลงานชนะ 9 เสมอ 8 แพ้ 13 ยิงไป 47 ประตู เสีย 47 ลูก ทีมจบอันดับที่ 10 ของตาราง แต่ก็ตกชั้นในฤดูกาลต่อมาอย่างฤดูกาล 2020 หลังจบอันดับที่ 15 ชนะ 4 เสมอ 5 แพ้ 21 ยิงไป 31 ประตู และเสีย 64 ลูก ซึ่งถ้าคิดออกมาในแง่ของตัวเลข ตราด เอฟซี มีเปอร์เซนต์การทำประตูหายไปจากเดิมเกือบ 35% และเสียประตูเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 36%
4.สุโขทัย เอฟซี คือทีมที่อยู่นานที่สุดในกลุ่มนี้ หลังจากขึ้นมาเล่นในไทยลีกฤดูกาล 2016 ทำผลงานยอดเยี่ยมหลังจากเอาชนะได้ 13 เสมอ 6 แพ้ 12 ยิงไป 50 ประตู เสีย 44 ลูก พาทีมจบอันดับที่ 7 เป็นอันดับที่ดีที่สุด และท้ายสุดก็ตกชั้นในฤดูกาลที่ 5 ในฤดูกาล 2020 หลังจากผ่านไป 30 เกม ชนะ 8 เสมอ 4 แพ้ 18 ยิงไป 40 ประตู เสีย 57 ลูก ซึ่งถ้าคิดออกมาในแง่ของตัวเลข สุโขทัย เอฟซี มีเปอร์เซนต์การทำประตูหายไปจากเดิมเกือบ 20% และเสียประตูเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 27%
ทั้ง 4 ทีมที่กล่าวไปข้างต้นเป็นทีมที่สามารถทำผลงานได้ดีในฤดูกาลแรก แต่ผลงานของทีมกลับตกต่ำลงจนถึงขนาดตกชั้นในฤดูกาลต่อมา ซึ่งจากตัวเลขข้างต้นจะเห็นได้เลยว่า แต่ละทีมจะมีการยิงประตูที่น้อยลง แต่การเสียประตูกลับมีมากขึ้น ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึง 2 ข้อคือ
1.ระบบการเล่น ที่ฤดูกาลแรกยังไม่สามารถจับทางได้ แต่เมื่อถูกจับทางได้แล้วไม่สามารถปรับเป็นรูปแบบอื่นได้ ย่อมได้ผลลัพธ์ที่ลดลงอย่างแน่นอน
2.คุณภาพนักเตะที่มีการย้ายเข้าย้ายออกตลอดเวลา ซึ่งกับบรรดาทีมเล็กที่หลายๆ ทีมต้องเสียผู้เล่นคีย์แมนตัวหลักไปให้กับทีมใหญ่ แต่ไม่สามารถหาผู้เล่นที่มีคุณภาพทดแทนได้ จนนำไปสู่ความไม่เข้ากับระบบการเล่นที่โค้ชวางแผนจนทีมไม่สามารถสร้างความน่ากลัวได้อย่างที่คิดไว้
แซม อัลลาร์ไดซ์ กุนซือผู้ช่ำชองการหนีตกชั้น (แต่กำลังจะตกชั้นไปกับเวสบรอมวิชฯ)
ซึ่งมีคำแนะนำจากกุนซือคนหนึ่งที่ดูจะเหมาะกับทีมน้องใหม่หลายๆทีมที่อยากอยู่รอดปลดภัยในลีกสูงสุดว่าควรจะทำอย่างไร และนี่คือตำราการเอาตัวรอดบนลีกสูงสุดของ “แซม อัลลาร์ไดซ์” กุนซือแห่งวงการลูกหนังอังกฤษที่พาทีมน้องใหม่อย่าง “โบลตัน วันเดอเรอร์ส” โลดแล่นอยู่ในพรีเมียร์ลีกยาวนานถึง 6 ฤดูกาลและขึ้นชื่อเรื่องการพาทีมอยู่รอดในลีกสูงสุดของอังกฤษ ซึ่งเจ้าตัวเผยตำราผ่านรายการ Monday Night Football ของ Sky Sport ว่า
1.พยายามไม่เสียประตู
2.อย่าเสียบอลในพื้นที่ของตัวเอง
3.บอลแรกต้องมุ่งไปข้างหน้าเท่านั้น
4.เอาชนะในเวลาคับขันและชิงออกบอลให้เร็วที่สุด
5.เน้นลูกเซตพีซทุกจังหวะ
6.โจมตีไปที่จุดอ่อนของคู่แข่ง
7.การเล่นในพื้นที่สุดท้ายต้องมีประสิทธิภาพ
ซึ่งดูจาก 7 ข้อนี้ ตำราของ”บิ๊กแซม”คือการให้ความสำคัญเกมรับเป็นอันดับแรก ใช้วิธีการเล่นแบบ “ไดเร็ค ฟุตบอล” ที่ต้องส่งบอลขึ้นไปในแดนหน้าคู่แข่งอย่างรวดเร็ว และถ้าเสียบอลก็ต้องรีบแย่งกลับคืนมาให้ได้
สำหรับทีมน้องใหม่ที่พึ่งขึ้นมาเล่นในไทยลีก 1 จะมีความเสียเปรียบทั้งในเรื่องของคุณภาพผู้เล่นรวมไปถึงทรัพยากรของสโมสร แต่ก็ไม่สามารถประมาททีมเหล่านี้ได้เหมือนกัน เพราะฟุตบอลไม่ใช่เรื่องของวิทยาศาสตร์ ที่มีสูตรตายตัว อย่างเลสเตอร์ ซิตี้ ที่หนีตายในฤดูกาล 2014-15 ก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2015-16 หรือถ้าใกล้ตัวที่สุดก็ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ที่เพิ่งขึ่นมาเล่นในไทยลีก 1 ฤดูกาลล่าสุด ก็สามารถคว้าแชมป์ลีกได้ทันทีเป็นทีมที่ 2 ต่อจาก เมืองทอง ยูไนเต็ด ฉะนั้นเรื่องของลูกกลมๆที่วิ่งไปมาบนผืนหญ้าสีเขียว เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรสามารถคาดเดาได้ หรือพูดในวลีอมตะนั่นก็คือ "ลูกกลมๆอะไรก็เกิดขึ้นได้"
โฆษณา