4 พ.ค. 2021 เวลา 09:03 • สุขภาพ
นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในสหรัฐอเมริกามีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อไวรัสโคโรนา ซึ่งหมายถึงอย่างน้อย 80% ของประชากรจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อาจยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้หรืออาจไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น #8minread #JustAsk
ทำไมการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ถึงเป็นเรื่องยากในอเมริกา
ภูมิคุ้มกันหมู่ (Population immunity or Herd Immunity) คืออะไร
ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นเมื่อสัดส่วนของประชากรในสังคมที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคมีจำนวนมากพอ เช่น 70 ถึง 80% ของประชากรในสังคมได้รับภูมิคุ้มกัน จนสามารถป้องกันการติดเชื้อทางอ้อมต่อประชากรที่ไม่ได้รับภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่นั้นสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติเมื่อประชากรมีการติดเชื้อและหายจากโรคเอง หรือเกิดจากการฉีดวัคซีนในประชากรหมู่มาก
1
ย้อนกลับไปช่วงต้นของการระบาด เมื่อหลายประเทศกำลังมุ่งใช้วิธีการคัดกรองหาผู้ป่วยเพื่อที่จะนำตัวส่งโรงพยาบาล สหราชอาณาจักรนำโดยนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) ตามมาด้วยเซอร์แพทริก วาแลนซ์ (Sir Patrick Vallance) หัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และ ศ. คริส วิตตี Prof. Chris Whitty) หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ ได้ประกาศกับสื่อว่าสหราชอาณาจักรจะใช้วิธีการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากร เซอร์แพทริกกล่าวว่า “มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหยุดไม่ให้พวกเราทุกคนติดเชื้อ ซึ่งมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เพราะว่าสิ่งที่เราต้องการก็คือภูมิคุ้มกันในประชากร พวกเราต้องการภูมิคุ้มกันที่จะป้องกันตัวเราเองจากสิ่งนี้ในอนาคต”
ไอเดียการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ได้แพร่หลายอยู่แค่ในสหราชอาณาจักรเท่านั้นแต่ยังเป็นเป้าหมายของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกา
ทำไมการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ถึงยากนัก
กลับไปที่สหรัฐอเมริกา ขณะนี้มากกว่า 50% ของประชากรได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดส แต่อัตราการเข้ารับวัคซีนประจำวันกลับมีจำนวนลดลง มาพร้อมกับมติเอกฉันท์จากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ว่า สัดส่วนของประชากรที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ในสหรัฐฯ อาจจะไม่มีวันถึงหรืออย่างน้อยก็ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี ที่แน่ ๆ การที่ไวรัสกลายพันธุ์เร็วเกินไป แพร่กระจายง่ายเกินไป และอัตราการเข้ารับการฉีดวัคซีนน้อยเกินไป ล้วนส่งผลต่อความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทั้งสิ้น
นักวิชาการเผยว่าไวรัสจะยังไม่ไปไหนแต่การฉีดวัคซีนจะเป็นกุญแจหลักที่จะทำให้ไวรัส สามารถควบคุมได้และทำให้เกิดการติดเชื้อแบบไม่รุนแรง
ก่อนหน้านี้ เป้าหมายในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อยู่ที่ประมาณ 60 ถึง 70% ของประชากร ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน รวมถึงดอกเตอร์แอนโทนี ฟอชี่ (Dr Anthony Fauci) หัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของประธานาธิบดีไบเดน คาดว่าสหรัฐอเมริกาจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เมื่อมีการพัฒนาวัคซีนแล้วเสร็จ
1
จนในที่สุด เมื่อวัคซีนมีการพัฒนาและได้รับการส่งต่อในช่วงหน้าหนาวที่ผ่านมาจวบจนกระทั่งฤดูใบไม้ผลินี้ การคาดคะเนเปอร์เซ็นต์ของประชากรสหรัฐฯ ที่ควรได้รับวัคซีนเพื่อที่จะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่กลับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เกิดขึ้นจากการคาดประมาณในช่วงแรกคำนวณจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เก่า แต่ในขณะนี้สายพันธุ์ที่แพร่หลายอยู่ในสหรัฐอเมริกา มีชื่อว่า B.1.1.7 ซึ่งพบครั้งแรกในอังกฤษ โดยไวรัสสายพันธุ์นี้มีความสามารถในการแพร่เชื้อมากขึ้นถึง 60% ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญคำนวณสัดส่วนประชากรต่ำที่สุดที่จะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ใหม่ เป็นอย่างน้อย 80% ของประชากร และหากมีสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้มากกว่านี้เกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์ก็คาดว่าประชากรที่ได้รับภูมิต้านทานแล้วจะยังสามารถส่งต่อเชื้อโรคต่อไปได้ ทำให้จะต้องมีการประมาณตัวเลขนี้ใหม่อีกครั้ง
ผลสำรวจหลาย ๆ แหล่ง พบว่า 30% ของประชากรสหรัฐยังคงลังเลที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน สะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุของความลังเลหลายอย่าง ได้แก่ ความกลัว ความไม่เชื่อมั่น การเข้าใจที่ผิด ความไม่สะดวกในการเข้ารับบริการ หรือความขาดความรู้ที่เพียงพอ การเลือกที่จะไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนนี้เองจึงนับว่าเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในสหรัฐฯ ไม่สำเร็จ หากแต่ว่าก็ไม่ใช่เหตุผลเดียว
1
แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ยังเป็นแนวคิดที่คลุมเครือสำหรับประเทศที่มีขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่า 95% ของประชากรสหรัฐได้รับภูมิคุ้มกันแล้ว แต่ถ้า 70% ของประชาชนในท้องถิ่นไม่ได้รับภูมิ ไวรัสโคโรน่าก็มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อขึ้นมาในท้องถิ่นนั้น ๆ
นอกจากนั้น นักวิชาการยังเห็นว่าภูมิคุ้มกันหมู่สามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ด้วยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความหนาแน่นของประชากร พฤติกรรมส่วนบุคคล สุขอนามัย และอื่น ๆ
 
นักชีวิสถิติยังเสริมอีกว่า การติดต่อกันระหว่างประเทศ เช่น การผ่อนคลายนโยบายการจำกัดการเดินทาง เป็นต้น ยังทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ไว ไม่เพียงแต่เฉพาะกับประชากรในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังกับทุก ๆ คนในโลก
 
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ยังไล่หลังสหรัฐฯ อีกไกล เช่น ประชากรที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนในอินเดียมีน้อยกว่า 2% และน้อยกว่า 1% ในแอฟริกาใต้
1
ดังนั้น ปัจจัยหลักอีก 1 ข้อที่ทำให้สหรัฐอเมริกาจะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้สำเร็จ ก็คือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต้องอาศัยประชากรทั้งโลกช่วยกัน
ทั้งหมดนี้ ยังไม่รวมถึงประชากรบางกลุ่มที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน แรงงานอพยพ เป็นต้น อีกด้วย
นอกจากความกังขาในหมู่ประชากรในการเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในท้องถิ่นและทั่วโลกล้วนมีส่วนสำคัญต่อแก้ปัญหาโควิด-19 แม้ว่าการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จะยังเป็นเป้าหมายที่ไกลความสำเร็จในตอนนี้ แต่การฉีดวัคซีนยังเป็นกุญแจสำคัญในการลดอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิต ดังนั้น การสร้างความเชื่อมั่น และการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชนเพื่อชักจูงให้เข้ามารับวัคซีน จึงเป็นความท้าทายสำคัญของประเทศที่ต้องทำอย่างโปร่งใสและแพร่หลายที่สุด
โฆษณา