5 พ.ค. 2021 เวลา 03:49 • ธุรกิจ
ผู้เชี่ยวชาญรุมโวย ‘Pfizer’ ฐานฉวยโอกาสใช้วัคซีนต้านโควิด-19 โกยกำไรหลายร้อยล้านดอลลาร์
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The New York Times รวบรวมความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขที่พร้อมใจออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงไม่พอใจ หลังจากที่ทาง Pfizer บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ ได้ออกมาเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ที่รายได้และผลกำไรเพิ่มขึ้นหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากยอดขายวัคซีนต้านโควิด-19
ทั้งนี้ บริษัท Pfizer เปิดเผยว่า วัคซีนต้านโควิด-19 สร้างรายได้ให้กับบริษัทถึง 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดของ Pfizer ซึ่งแม้จะมีรายได้จากส่วนอื่นๆ เข้ามา แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักที่ได้เห็นรายงานของ Pfizer ต่างเห็นตรงกันว่า ขณะนี้วัคซีนคือแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของ Pfizer และมีแนวโน้มจะเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ที่อยู่ไปได้อีกนาน
แม้ว่าทาง Pfizer จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขผลกำไรที่ชัดเจนที่ได้มาจากการขายวัคซีนต้านโควิด-19 แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนผลกำไรจากวัคซีนดังกล่าวมีสิทธิ์สูงถึง 20% ซึ่งแปลได้ว่า Pfizer จะมีกำไรจากการขายวัคซีนก่อนหักภาษีในช่วงไตรมาสแรกปีนี้สูงถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
3
แน่นอนว่าผลงานการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ของ Pfizer ได้ช่วยรักษาชีวิตของผู้คนนับไม่ถ้วนจนเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่จุดยืนทางธุรกิจที่แน่วแน่ก็ทำให้หลายฝ่ายอดที่จะออกมาประณาม Pfizer ที่ฉวยโอกาสท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ไม่ได้เช่นกัน
โดยในขณะที่บริษัทผู้คิดค้นวัคซีนต้านโควิด-19 หลายแห่งให้คำมั่นที่จะไม่แสวงหาผลกำไรจากการขายวัคซีน Pfizer กลับมุ่งมั่นที่จะขายวัคซีนของตนในราคาแพง
1
แม้จะไม่มีรายงานราคาต่อโดสที่ Pfizer ขายให้กับประเทศต่างๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า วัคซีนของ Pfizer ก็น่าจะมีราคาที่สูงกว่าบริษัทคู่แข่งรายอื่นๆ เพราะสัดส่วนการกระจายวัคซีนของ Pfizer นั้น กระจุกอยู่ที่ประเทศร่ำรวยมากกว่าประเทศยากจน ทั้งๆ ที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Pfizer ได้ลั่นวาจาให้คำมั่นที่จะจัดส่งวัคซีนให้กับประเทศยากจนเหมือนกับนานาประเทศ ที่จะมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการต้านโควิด-19
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงช่วงกลางเดือนเมษายน กลุ่มประเทศร่ำรวยครอบครองวัคซีนได้มากกว่า 87% จากจำนวนวัคซีนกว่า 700 ล้านโดสที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ขณะที่ประเทศยากจนได้รับวัคซีนเพียง 0.2% เท่านั้น พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ 1 ใน 4 ของประชากรในประเทศร่ำรวยได้รับการฉีดวัคซีน แต่สัดส่วนดังกล่าวในประเทศยากจนกลับอยู่ที่ 1 ใน 500
2
องค์การอนามัยโลกเผยอีกว่า Pfizer ให้ความช่วยเหลือประเทศยากจนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยืนยันได้จากการประกาศมอบวัคซีน 40 ล้านโดสเข้าร่วมโครงการ COVAX ในการจัดการวัคซีนให้แก่ประเทศยากจน ซึ่งปริมาณดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 2% ของวัคซีน 2,500 ล้านโดสที่ Pfizer กับพันธมิตรอย่าง BioNTech ตั้งเป้าจะผลิตภายในปีนี้
1
แคลร์ เวนแฮม ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณสุขจาก London School of Economics กล่าวว่า ปริมาณวัคซีนของ Pfizer ที่มอบให้กับ COVAX เป็นเพียงหยดน้ำในมหาสมุทรเท่านั้น
1
ทั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงแต่ Pfizer เท่านั้นที่กอบโกยรายได้จากวัคซีน เพราะผู้ผลิตอย่าง Moderna ก็ออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะขายวัคซีนเพื่อเอากำไร ซึ่งสวนทางกับคู่แข่งอย่าง Johnson & Johnson และ AstraZeneca ที่ต่างออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่กอบโกยกำไรจากวัคซีนในช่วงวิกฤตการระบาด
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของ Moderna กลับไม่ถูกโจมตีหนักเท่ากับ Pfizer เพราะ Moderna ไม่มีผลิตภัณฑ์ตัวอื่นในตลาด และไม่มีช่องทางรายได้อื่นใดนอกเหนือจากวัคซีน ดังนั้นการขายวัคซีนเพื่อให้ได้กำไรจึงเป็นทางรอดหนึ่งเดียวของ Moderna
1
กลับกันในกรณีของ Pfizer วัคซีนต้านโควิด-19 ไม่ได้เป็นฐานรายได้สำคัญของบริษัท โดยมีรายงานว่า ปีที่แล้ว Pfizer ได้รับผลกำไร 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่วัคซีนต้านโควิด-19 จะป้อนเข้าสู่ตลาด
รายงานระบุว่า Pfizer มักจะอ้างสาเหตุการขายวัคซีนในราคาสูงกว่าคู่แข่งว่าเป็นเพราะบริษัทไม่ได้เข้าร่วมโครงการ Operation Warp Speed ซึ่งเป็นโครงการที่อดีตรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะมอบทุนสนับสนุนให้กับบริษัทในการเร่งพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 กระนั้น BioNTech ผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนกับ Pfizer สัญชาติเยอรมันกลับได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเยอรมนี ทำให้ไฟเซอร์ได้รับประโยชน์จากเงินภาษีของประชาชนในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน ยังไม่นับรวมกับที่บริษัทได้ประโยชน์จากการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีน
ที่สำคัญราคาวัคซีนต่อโดสของ Pfizer ยังขาดความชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ซื้อวัคซีน Pfizer ที่ 19.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส กลับมีรายงานว่ารัฐบาลอิสราเอลเสนอซื้อวัคซีนจาก Pfizer ที่ราคาประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส แถมในบางกรณี เช่น การตกลงขายวัคซีนให้กับสหภาพยุโรป (EU) เมื่อไม่นานมานี้ ทาง Pfizer ก็ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขราคา
เรียกได้ว่าคำพูดและการกระทำของ Pfizer ค่อนข้างสวนทางกันอย่างชัดเจน และทำให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องร่วมกดดัน Pfizer ยึดมั่นในหลักการของบริษัทที่ว่า คนทุกคนสมควรได้รับการมองเห็น รับฟัง และเอาใจใส่ มากกว่าราคาของยอดขาย
เรื่อง: THE STANDARD WEALTH
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
โฆษณา