12 ต.ค. 2021 เวลา 05:10 • ประวัติศาสตร์
วันนี้ในอดีต
“116 ปี หอสมุดแห่งชาติ”
หอสมุดแห่งชาติบนดวงแสตมป์
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครกลับจากเสด็จประพาสยุโรป พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำริให้ขยายกิจการหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งแต่เดิมทีเป็นหอพระสมุดสำหรับราชสกุล ให้เป็นหอสมุดสำหรับบริการประชาชนทั่วไป และทรงพระราชทานนามว่า "หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร" โดยได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ตุลาคม พุทธศักราช 2448
ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครจากเดิมที่ตั้งอยู่ที่ศาลาสหทัยสมาคมมาไว้ที่ตึกใหญ่ริมถนนหน้าพระธาตุซึ่งเรียกว่า "ตึกถาวรวัตถุ" และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2459
ในปีพุทธศักราช 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้แยกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครออกเป็น 2 หอ คือ "หอพระสมุดวชิราวุธ" ตั้งอยู่ที่ตึกถาวรวัตถุเช่นเดิมให้เป็นที่เก็บหนังสือฉบับพิมพ์และ "หอพระสมุดวชิรญาณ" ให้ใช้เป็นที่เก็บหนังสือตัวเขียนและตู้พระธรรม
หอสมุดแห่งชาติในอดีตและปัจจุบัน
ปีพุทธศักราช 2476 รัฐบาลจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นและมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกำหนดให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร มีฐานะเป็นกองหนึ่งในกรมศิลปากรเรียกว่า "กองหอสมุด" และได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็น "หอสมุดแห่งชาติ" ในเวลาต่อมา
จนถึงพุทธศักราช 2505 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติเป็นอาคารทรงไทย สูง 5 ชั้นขึ้นที่บริเวณท่าวาสุกรี ถนนสามเสน และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 สำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นอาคารทรงไทย 5 ชั้น บนเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
ในวาระ 100 ปี หอสมุดแห่งชาติ 2448-2548 ไปรษณีย์ไทยได้ออกดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก ชุด 100 ปี หอสมุดแห่งชาติ วันแรกจำหน่าย 12 ตุลาคม 2548
พิมพ์ที่ Chan Wanich Security Printing Company Limited, Thailand มีขนาดรอยปรุ 14 1/2 x 14 ขนาดดวง 45 x 27 มิลลิเมตร พิมพ์ด้วยวิธีลิโธกราฟี่
จัดพิมพ์ชนิดราคา 3 บาท จำนวน 1,000,000 ดวง
แสตมป์ 100 ปี หอสมุดแห่งชาติ
ภาพบนดวงแสตมป์
ศาลาสหทัยสมาคม อาคารหอสมุดในอดีต และอาคารหอสมุคแห่งชาติปัจจุบัน พร้อมตราสัญลักษณ์หอพระสมุดวชิรญาณ ร.ศ. 109
และในวันที่ 12 ตุลาคมของทุกปี ยังมีความสำคัญอีกอย่าง คือเป็น “วันโรคข้อสากล” (World Arthritis Day) อีกด้วย
โรคข้ออักเสบเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เป็นการอักเสบของข้อ โรคข้ออักเสบนี้มีมากกว่า 100 ชนิด แต่มี 2 ประเภทที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ โรคข้อเข่าเสื่อมและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ แม้ว่าโรคนี้จะไม่มีทางรักษา แต่ก็มีการรักษาโดยแพทย์สั่งจ่ายยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ และการฉีดที่เรียกว่าคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบ รวมถึงกายภาพบำบัดและการดูแลไคโรแพรคติกสามารถช่วยลดความเจ็บปวดและการอักเสบได้
มีแสตมป์ที่ออกเพิ่อเป็นที่ระลึกในการรณรงค์โรคข้อ ด้วยกัน 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2520 และพ.ศ. 2527
ครั้งแรก แสตมป์ชุดปีสากลแห่งการต่อต้านรูมาติสม์ 2520 จำหน่ายวันแรก 20 ธันวาคม 2520
แสตมป์ปีสากลแห่งการต่อต้านรูมาติสม์ 2520
แสตมป์ชุดนี้จัดพิมพ์ที่ Joh. Enschedé en Zonen Grafische Inrichting B.V., Netherlands มีขนาดรอยปรุ 11 x 13 ดวงเป็นแนวนอนขนาด 27 x 45 มิลลิเมตร ใข้วิธีการพิมพ์แบบโฟโตกราวูร์ ชนิดราคา 75 สตางค์ จำนวน 6,000,000 ดวง
ภาพบนดวงแสตมป์ สื่อความหมายถึง โรครูมาติสม์เป็นโรคเรื้อรังเกี่ยวกับโรคข้ออักเสบจากการเสื่อมของกระดูก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดความพิการแก้ไขไม่ได้ และภาพตัวอักษร R เป็นสัญลักษณ์โรครูมาติสม์
ครั้งที่ 2 เป็นแสตมป์ชุดที่ระลึกการประชุมรูมาติสซั่ม ภาคพื้นเอชียและแปซิฟิค ครั้งที่ 5 จำหน่ายวันแรกคือวันที่ 22 มกราคม 2527 พิมพ์ที่ Harrison & Sons (High Wycombe) Ltd., England เป็นชนิดราคา 1.25 บาท จำนวนพิมพ์ 4,000,000 ดวง มีขนาดรอยปรุ 14 1/4 x 14 3/4 ขนาดดวง 27 x 45 มิลลิเมตร พิมพ์ด้วยวิธีลิโธกราฟี่
แสตมป์ที่ระลึกการประชุมรูมาติสซั่ม ภาคพื้นเอชียและแปซิฟิค ครั้งที่ 5
เป็นภาพโครงกระดูกฝ่ามือ ข้อมือ ข้อศอก และหัวเข่าของผู้ป่วยเป็นโรครูมาติสซั่มอยู่ภายในเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ของ South East Asia and Pacifc Area Leaque Against Rheumatism (SEAPAL) พร้อมตราสัญลักษณ์ของการประชุมรูมาติสซั่ม ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพมหานคร (5" SEAPAL Congress of Rheumatology)
* การวัดฟันแสตมป์แบบมาตรฐานที่ใช้ในวงการแสตมป์ วัดจากจำนวนฟัน หรือ รู ในช่วงระยะ 2 เซนติเมตร ตัวอย่างเช่น ฟันขนาด 13×11 หมายถึง ในระยะ 2 เซนติเมตร แนวนอนมี 13 ซี่ และแนวตั้ง 11 ซี่
โฆษณา