19 พ.ค. 2021 เวลา 01:00 • สุขภาพ
Digital Transformation ของบริการสุขภาพ
เทคโนโลยีกับระบบอุตสาหกรรมสุขภาพ
ในยุคที่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาปรับใช้และพัฒนาทำให้เกิด Digital Transformation ในองค์กรหรือธุรกิจมากมาย สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ เทคโนโลยีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ และช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้คนเป็นอย่างมาก ทุกวันนี้เราสามารถเข้าถึงข่าวสารจากแหล่งต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว การพูดคุยติดต่อกับคนอื่นจากทั่วทุกมุมโลกสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา การทำธุรกรรมทางการเงิน การจับจ่ายใช้สอย หรือแม้แต่การสั่งอาหารสามารถทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้วโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง (ไม่แม้แต่จะต้องเสียเวลาพูด) ดังนั้นจะเห็นได้ว่า Digital Transformation ไม่เพียงแต่จะช่วยอำนวยความสะดวก แต่เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วยังช่วยให้เราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาได้ด้วย
นอกจากในธุรกิจต่าง ๆ แล้ว อีกหนึ่งสาขาวิชาที่ได้เริ่มมีการนำเอาเทคโนโลยีผนวกเข้ากับความรู้ทางด้านข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นั่นคือ อุตสาหกรรมการบริการด้านสุขภาพหรือ Healthcare ซึ่งนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการทางด้านสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพของของตนเองให้แก่ประชาชน และส่งเสริมให้การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมสุขภาพในอนาคตเป็นไปได้อย่างราบรื่นและเป็นระบบ
ภาพการให้บริการของอุตสาหกรรมการบริการด้านสุขภาพ (คลีนิค/โรงพยาบาล) แก่ผู้ป่วย แหล่งที่มาจาก INSYNC
ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติในสหราชอาณาจักร
ตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในระบบอุตสาหกรรมสุขภาพ ได้แก่ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพแห่งชาติในสหราชอาณาจักร (National Health Service : NHS) จากการเล็งเห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ได้เข้ามาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการที่ประชาชนเปิดรับการใช้งานระบบดิจิทัลมากขึ้น ทำให้คณะกรรมการข้อมูลแห่งชาติ (National Information Board : NIB) มีเป้าหมายที่จะนำเทคโนโลยีร่วมกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลมาพัฒนาแนวทางการให้บริการของระบบบริการสุขภาพ โดยมุ่งหวังที่จะ
(1) สามารถให้บริการสุขภาพแบบเฉพาะบุคคล (Personalization Care)
(2) เปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการและการเข้าถึงบริการในสถานบริการสุขภาพทั่วประเทศ
(3) สร้างความก้าวหน้าให้การทำงานของบุคลากรเกิดประสิทธิผลมากขึ้น
เมื่อเทคโนโลยีถูกนำมาปรับใช้
การจัดตั้งระบบจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ของ NHS ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญเพื่อพัฒนาระบบการให้บริการสุขภาพ โดยได้มีการนำเทคโนโลยีระบบคลาวด์คอมพิวติง (Cloud Computing) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบันสำหรับให้บริการจัดเก็บ จัดการ และประมวลผลข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้ามาปรับใช้ในการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสำคัญ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของระบบการจัดเก็บข้อมูลจากแบบเดิมที่จัดเก็บอยู่ในระบบของสถานบริการทางการแพทย์ (เช่นเครื่องเซิร์ฟเวอร์ภายในโรงพยาบาล คลินิก) มาอยู่บนระบบคลาวด์กลาง นอกจากจะช่วยให้การเก็บข้อมูลมีความปลอดภัยแล้ว ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบขององค์กร รวมถึงมีฟังก์ชันให้สามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดของระบบเพื่อรองรับการใช้งานและเทคโนโลยีที่หลากหลายในอนาคต และช่วยให้การประมวลผลข้อมูลสุขภาพเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
เนื่องด้วยการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพภายในประเทศมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน การดูแลรักษาความปลอดภัยของข้อมูลดังกล่าว ทั้งในส่วนของข้อมูลสุขภาพ หรือแม้แต่ข้อมูลที่เกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์ของสถานบริการสุขภาพ ถือเป็นปัจจัยหลักที่ต้องตระหนักในการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูล ด้วยเหตุนี้ทาง NHS จึงได้มีการกำหนดแนวทางการจัดเก็บ แลกเปลี่ยน และประมวลผลข้อมูล หรือเรียกง่าย ๆ ว่าแนวทางในการธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) ที่แต่ละสถานบริการสุขภาพควรปฏิบัติตาม อีกทั้งยังมีการตรวจสอบปัจจัยด้านต่าง ๆ ของสถานบริการสุขภาพให้พร้อมก่อนจะอนุญาตให้สามารถนำข้อมูลสุขภาพขึ้นไปบนคลาวด์เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการรั่วไหลหรือการนำข้อมูลไปประมวลผลอย่างผิดวิธี ในขณะเดียวกันการเลือกผู้ให้บริการระบบคลาวด์คอมพิวติ้งที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้การควบคุมดูแลระบบมีเสถียรภาพและคงความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น
 
• Microsoft Azure ระบบคลาวด์คอมพิวติงที่ให้บริการโดยบริษัทMicrosoftได้มีการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนบุคคลของข้อมูลบนคลาวด์ตามมาตรฐาน ISO 27001, ISO/IEC 27018 และ Microsoft’s Security Development Lifecycle
• การย้ายบริการ e-Referral Service (e-RS) และ 111 Directory of Services (DoS) ขึ้นไปให้บริการอยู่บน AWS Cloud Computing Services ซึ่งให้บริการโดย Amazon เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบให้มากขึ้น
• Google Cloud Platform ก็เป็นอีกหนึ่งผู้ให้บริการระบบคลาวด์ที่น่าสนใจ และมีจุดเด่นที่สามารถเชื่อมต่อกับ Network ของ Google ได้
ผู้ให้บริการระบบ Cloud Computing Platform ที่มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือในปัจจุบัน แหล่งที่มาจาก DAILY HOST NEWS
จากการก่อตั้ง และพัฒนา NHS ในสหราชอาณาจักร ส่งผลให้สถานบริการสุขภาพ องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายสามารถแลกเปลี่ยนและเข้าถึงข้อมูลสุขภาพจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง เพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบการสื่อสารทั้งภายในและระหว่างองค์กร สร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน และช่วยให้การให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนมีศักยภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลมาจากข้อมูลสุขภาพที่สามารถแสดงผลได้เรียลไทม์ ถูกต้อง และเพียงพอต่อความต้องการของบุคลากร เหนือกว่านั้นคือข้อมูลสุขภาพเหล่านี้สามารถถูกนำไปใช้ในการประมวลผลและวิเคราะห์เชิงปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และ/หรือร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อื่น ๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่วิทยาการทางการแพทย์
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University Hospitals)
เป็นโรงพยาบาลที่เป็นผู้นำในการริเริ่มใช้ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Medical Record: EMR) ที่ทำให้กระบวนการทำงานภายในโรงพยาบาลใช้เวลาน้อยลงและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประชาชนได้อย่างมหาศาล เช่น แพทย์และพยาบาลสามารถเรียกดูประวัติการรักษาของผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีเป็นผลให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น การเตรียมเอกสารสรุปเวชระเบียนผู้ป่วยใช้เวลาน้อยลงกว่าครึ่ง การแสดงบันทึกการรักษาหรือไฟล์เอกซเรย์ของผู้ป่วยแบบจำลองที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่แพทย์ได้มาก จนทำให้แผนกศัลยกรรมกระดูกของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ปิดเคสการรักษาผู้ป่วยไปกว่า 4,500 เคสในเวลาอันรวดเร็ว หรือแม้แต่ระบบแจ้งเตือนการแพ้ยาที่ช่วยลดอัตราการเกิดอาการแพ้ ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เกิดอาการแพ้ลดลงถึงประมาณปีละ 2,500 เตียง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า 41 ล้านบาท
ภาพบรรยากาศภายในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University Hospitals) แหล่งที่มาจาก CUH
เทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนามาเพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงและยกระดับระบบการบริการสุขภาพมีหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจคือแอพพลิเคชั่น HealthVault Insights ที่ทาง Microsoft เป็นผู้สร้างขึ้น โดยตัวแอปพลิเคชันนี้มีจุดเด่นคือ สามารถนำเอาเทคโนโลยี Machine Learning มาผนวกกับข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยจากแหล่งต่าง ๆ เช่น การนอนหลับพักผ่อน การออกกำลังกาย อัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งถูกบันทึกจากอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยสวมใส่หรือ Smart Watch เป็นต้น เพื่อใช้ในการเรียนรู้และวิเคราะห์แนวโน้มสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์วางแผนการดูแลรักษาเพื่อรองรับผู้ป่วยได้อย่างตรงจุด และในสถานบริการสุขภาพหลายแห่งยังได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามามีส่วนช่วยในการวิเคราะห์อาการและรักษาผู้ป่วยด้วยเช่นกัน
COVID-19 และการจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังเป็นความท้าทายของระบบสาธารณสุขและระบบบริการสุขภาพของหลายประเทศทั่วโลก แม้ในปัจจุบันจะมีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคออกมาได้สำเร็จซึ่งสร้างความหวังให้แก่ผู้คนมากมายว่าจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ดังนั้น แนวทางการบริหารและจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคอย่างปลอดภัย เป็นระบบ และทั่วถึง จึงมีความสำคัญอย่างมากในการบรรเทาสถานการณ์การระบาดและสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้แก่ประชาชน สำหรับระบบบริการสุขภาพทั้งในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และในอีกหลาย ๆ ประเทศจึงมีเป้าหมายหลักคือการกระจายวัคซีนแก่ประชาชนให้ได้มากและรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเริ่มจากกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง ด้วยเหตุนี้เองเทคโนโลยีจึงเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการแจกจ่ายวัคซีนให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการฉีดวัคซีนได้สะดวกขึ้น การใช้ประโยชน์จากข้อมูลสุขภาพที่มีอยู่ในฐานระบบยังช่วยให้ ทราบถึงความเสี่ยงต่อการได้รับวัคซีนของแต่ละบุคคล สามารถคำนวณระยะเวลาที่จะต้องได้รับการฉีดซ้ำ รวมไปถึงสามารถประเมินคุณภาพของวัคซีนหลังฉีดได้ด้วยเช่นกัน
ในขณะเดียวกัน บทบาทของเทคโนโลยียังเข้าไปมีส่วนร่วมถึงขั้นตอนของการขนส่งวัคซีนจากจุดหลักไปยังโรงพยาบาลและคลินิกต่าง ๆ ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนทั่วประเทศ โดยมีบริษัทขนส่งเจ้าใหญ่อย่าง FedEx ได้ร่วมมือกับ Microsoft ในการจัดทำ FedEx Surround ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้จัดการและติดตามข้อมูลการขนส่งวัคซีนแบบเรียลไทม์
อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ระบบบริการสุขภาพของหลายประเทศต้องเผชิญในการแจกจ่ายวัคซีนเพื่อบรรเทาสถานการณ์การระบาดของไวรัส คือ ประชาชนบางกลุ่มยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีน COVID-19 ส่งผลให้ประชาชนเหล่านั้นไม่ทราบถึงผลลัพธ์และผลข้างเคียงที่แน่ชัดของการฉีดวัคซีน เกิดความไม่มั่นใจในความปลอดภัย และไม่ต้องการได้รับวัคซีน การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโดยละเอียดรวมถึงสถานะของการแจกจ่ายวัคซีนในแต่ละพื้นที่จึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้ประชาชนกล้าที่จะออกมารับวัคซีนกันมากขึ้น บางหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายในกระจายวัคซีนแก่ประชาชนมีการจัดทำ Dashboard ผ่านโปรแกรมจำพวก Business Intelligence เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดยจะแสดงให้เห็นข้อมูลปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรรในพื้นที่นั้น ๆ จำนวนประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วในแต่ละช่วงเวลา อัตราส่วนการได้รับวัคซีนเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ และข้อมูลสถิติด้านอื่น ๆ
 
นอกเหนือจากที่กล่าวมา แชตบอตเป็นอีกหนึ่งผลงานทางด้าน Digital Transformation ที่ถูกพัฒนามาเพื่อตอบโจทย์การให้ความรู้เกี่ยวกับไวรัส COVID-19 แก่ประชาชนในประเทศ โดยใช้เทคโนโลยี AI และ NLP (Natural Language Processing) มาพัฒนาโปรแกรมให้สามารถจับใจความในสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการทราบและตอบโต้กลับไปได้อย่างถูกต้องตรงประเด็นผ่านการส่งข้อความถาม-ตอบ ตัวอย่างของแชทบอทที่มีให้บริการ เช่น Azure Health Bot ที่รองรับฟังก์ชันการสอบถามอาการเบื้องต้นหากสงสัยว่าตนเองอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ การทำแบบสอบถามเพื่อคัดกรองผู้ป่วยว่าเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับใด การตรวจสอบสิทธิ์การได้รับการฉีดวัคซีนฟรี และหัวข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากวัคซีน COVID-19 นั้นสามารถผลิตออกมาได้ในปริมาณที่จำกัดและยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทั้งหมดในขณะนี้ จึงจำเป็นต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของการกระจายและการฉีดวัคซีนอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดศักยภาพโดยรวมสูงสุด โมเดลหลายรูปแบบถูกนำเสนอเพื่อใช้สำหรับการจัดสรรปริมาณการแจกจ่ายวัคซีน เช่น Fair Priority Model นอกจากนี้ยังมีตัวแปรอื่นอีกหลายด้านที่ส่งผลต่อกระบวนการกระจายวัคซีน เช่น ปริมาณวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรและปริมาณวัคซีนที่รองรับได้ในแต่ละสถานพยาบาล จำนวนบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจมากพอที่จะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ การเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นต่าง ๆ ขนาดของสถานพยาบาลและจำนวนผู้ป่วยสูงสุดที่รองรับได้ในสถานพยาบาลนั้น การรวบรวมข้อมูลในแต่ละมิติดังกล่าวของสถานพยาบาลทั่วประเทศร่วมกับการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยจะทำให้การจัดสรรวัคซีนมีความทั่วถึงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
จะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในสหราชอาณาจักรว่า การใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีไม่เพียงแต่ละเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่การใช้ชีวิตประจำวัน แต่ยังช่วยประหยัดทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และเพิ่มความปลอดภัยของสุขภาพที่มากขึ้นให้แก่เราอีกด้วย
การพัฒนาระบบบริการสุขภาพในประเทศไทย
เมื่อมองกลับมายังประเทศไทย ที่ผ่านมาองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีความพยายามในการที่จะผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีเข้ามาผนวกกับการพัฒนาระบบการบริการสุขภาพอยู่พอสมควร จะเห็นได้จากการพัฒนาแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันของแต่ละโรงพยาบาลเพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษา หรือแม้แต่การพยายามสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Health Information Exchange (HIE) ซึ่งถือเป็นความท้าทายของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างหลายสถานพยาบาลทั่วประเทศนั้นทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากระบบฐานข้อมูลโรงพยาบาล (Hospital Information System: HIS) และมาตรฐานข้อมูลที่ใช้นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละสถานพยาบาล เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างความเข้าใจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงาน รวมถึงกำหนดมาตรฐานกลาง (Data Standard) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดขึ้น
ปัจจุบัน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการผลักดันให้เกิดระบบ HIE ในระดับประเทศของประเทศไทย โดยพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า Health Link ขึ้นมา มีการกำหนดมาตรฐานกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพพื้นฐานร่วมกับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ และสนับสนุนโรงพยาบาลในด้านเครื่องมือและกระบวนการที่จำเป็นที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกิดขึ้นได้จริง
อย่างไรก็ตามแพลตฟอร์ม Health Link ในขณะนี้จะเป็นเพียงระบบที่ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลในโครงการเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้นจึงยังไม่ได้มีการนำข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยเข้าไปสู่ขั้นตอนของการเรียนรู้และวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรตามที่กล่าวมา เนื่องจากในเบื้องต้นทางผู้พัฒนามีความต้องการที่จะมุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ในการให้การรักษาพยาบาลของแพทย์อย่างสำเร็จลุล่วงเสียก่อน โดยการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนนั้นเป็นไปอย่างรอบคอบ และปลอดภัยเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลน้อยที่สุด แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะได้เห็นพัฒนาการของการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ในการช่วยวิเคราะห์และรักษาผู้ป่วยในบ้านเรา รวมถึงพัฒนาการทำงานของระบบบริการสุขภาพของประเทศอันจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและการบริการด้านสุขภาพมีประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่าที่สหราชอาณาจักร
อ่านบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Big Data ได้ที่
#govbigdata #bigdata #bigdatathailand #datascience #dataengineer #dataanalytics #digitalthailand
โฆษณา