8 พ.ค. 2021 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
บริหารธุรกิจให้สตรอง🔥🔥วิกฤตกี่รอบก็ยังไหว
ถอดความจาก Clubhouse Session วันที่ 29 เมษายน 2564 โดย Speaker ชื่อดังมาเปิดเผยเคล็ดวิชาพาธุรกิจให้ยืนหยัดสุดสตรองเป็นผู้อยู่รอดได้ทุกวิกฤต
💬คุณแท็ป - รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด
💬คุณนาม - สุรนาม พานิชการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โทฟุซัง จำกัด
💬คุณปิ๊ว - อัครนันท์ ฐิตสิริวิทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
🎙ดำเนินรายการโดย คุณโซอี้ - ภญ.โสภา พิมพ์สิริพานิชย์ เจ้าของเพจการตลาดออนไลน์ชื่อดัง โซอี้ Digital Shortcut
***ประสบการณ์บริหารธุรกิจฝ่าโควิด***
คุณแท็ป
- ช่วงโควิดระลอกแรกที่ล็อกดาวน์ ห้างปิด ยอดขายดรอปลงไปเยอะ จริงๆ ก่อนหน้านี้บริษัทมีแผนทำออนไลน์อยู่แล้ว ก็เลยหันมาทำออนไลน์จริงจังมากขึ้น เน้นตลาดต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้เน้นขายแต่ออฟไลน์ พอเจอโควิดเข้าไป ก็มานั่งคิดว่าจะ Expand ไปทำธุรกิจอื่นบ้างดีไหม
- สำหรับการขยายไปต่างประเทศ จริงๆ ก่อนหน้านี้ที่เคยดีลไว้ ก็พยายามปิดดีลจบให้ได้ โดยมี Keyword คือ Diversify เพราะเห็นแล้วว่าทำอย่างเดียวมันเสี่ยง
- โปรดักต์กลุ่ม Health เป็นกลุ่มสินค้าที่เราอยากเน้นด้วย
- แต่ธุรกิจที่อยากทำจริงๆ ก็อยากทำธุรกิจแพลตฟอร์ม ก็ Test ไปเรื่อย ด้วยเงินทุนที่ยังไม่มาก เพราะไม่อยากลงทุนเยอะ ขอทดลองไปเรื่อยๆ ก่อน
- อยากลองทำแพลตฟอร์มสำหรับ B2B เพราะศรีจันทร์ขาย B2C อยู่แล้ว และมองว่าองค์กรสมัยใหม่จะให้ความสำคัญกับสุขภาพใจของพนักงานมากขึ้น
- เดิมบบริษัทขายออฟไลน์เกือบ 100% เลย ช่องทางหลักคือ Watson และ EVE&BOY จึงกระทบหนักมากในรอบแรก เพราะร้านถูกปิด ต้องล็อกดาวน์ แต่โควิดรอบนี้ถึงไม่ปิดก็กระทบอยู่ดี เพราะคนไม่เดิน ไม่ชอปปิงที่ร้าน
- จากวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำให้เราต้องสร้างขวัญและกำลังใจของทีมงาน พยายามสื่อสารตลอดว่าไม่ต้องห่วงเรื่องงาน ว่าจะไม่ตกงาน เรื่องสุขภาพ ก็ซื้อประกันโควิดให้ ส่งหน้ากากอนามัยให้
- มีการส่งแบบฟอร์มสำรวจไปยังพนักงานที่มี 200 กว่าคน เพื่อสำรวจว่าใครอยากฉีดวัคซีนบ้าง และพยายามหาวัคซีนมาให้พนักงานด้วย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน เราจะดูแลพนักงานให้ดีที่สุด จริงๆ ก็อยากฉีดให้ครอบครัวเขาด้วย แต่ขอพิจารณาความเป็นไปได้อีกที
- นอกจากสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน เราก็มานั่งคิดร่วมกันว่าทำอะไรได้บ้าง ให้ทุกคนช่วยคิด ให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ปีที่แล้วชวนพนักงานลงพื้นที่ไปช่วยเหลือชุมชนต่างๆ มีแคมเปญส่งเครื่องสำอางให้ลูกค้าถึงบ้าน เสริมความสุขให้ลูกค้าตอนที่ต้องล็อกดาวน์อยู่บ้าน รอบนี้ก็มีโครงการซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลภาคสนาม
- ตอนนี้มองข้าม Shot ไปเรื่องการ Exit จากวิกฤตแล้ว ก็เลยถือโอกาสพัฒนา Data เอา AI มาใช้กับระบบ Work from home เลยถือโอกาสนั่งพัฒนาระบบขององค์กร เพื่อให้การทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อวิกฤตจบ เราจะใส่เกียร์ 5 ดังนั้นเราต้องพร้อมกระโดด
คุณนาม
- ก่อนเจอโควิดรอบแรก ช่วงนั้นเป็นขาขึ้นของโทฟุซัง โตประมาณ 40% ต่อปี รายได้ปีก่อนนั้น 400 ล้านบาท มีการลงทุนจะทำ UHT ลงทุนไป 200 ล้านบาท มีจ้างดาราพรีเซนเตอร์โฆษณาโทรทัศน์ มีสต็อกเยอะมาก พอโควิดมา ทุกอย่างก็เงียบมาก Traffic ในร้านค้าที่เป็น Traffic หลักยอดขายหายไป 30-40% ค่าเสื่อมราคาก็บวมไปเยอะ รวมๆ แล้ว 2 ปีรวมกันเราติดลบไปเกือบ 60 ล้านบาท
- เรื่องการดูแลพนักงาน ก็ให้ Work from home กันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่รัฐจะประกาศให้ล็อกดาวน์ เพื่อลดความเสี่ยงกับพนักงาน
- สำหรับโปรเจ็กแจกของ คือเรามีสต็อกสินค้าที่รอขายอยู่ และสินค้าของเรามันมีวันหมดอายุ ตอนแรกคิดว่าจะเอามาลดราคา แต่สุดท้ายเราเอาไปแจกให้โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ดีกว่า ตัวเราเองก็แฮปปี้ที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น แล้วยังเป็นการทำ Branding ที่ดี
- โควิดระลอกนี้ เรามีการสื่อสารกับพนักงานว่าปีนี้มันหนักจริงๆ ถ้าเราจะล่ม เราจะล่มไปด้วยกัน ถ้าเราจะรอด เราก็ต้องรอดไปด้วยกัน
- เปิดอกคุยกับพนักงาน ขอให้ลองช่วยกันทำตามแผนที่วางไว้ เราอยากเปลี่ยนตัวเองให้เป็นองค์กรที่ทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ จากที่เป็นเครื่องดื่มถั่วเหลืองอย่างเดียว จริงๆ หลังบ้านเรามี Knowhow มี Innovation เรื่องอาหารสุขภาพเยอะมาก มีงานวิจัยลงลึกระดับเอนไซน์เลย
- เรามีความรู้เรื่องอาหาร และร่วมมือพัฒนาสินค้ากับแบรนด์อื่นๆ เช่น เถ้าแก่น้อย เซเว่นอีเลฟเว่น วันนั้นเริ่มทำ วันนี้เราเริ่มเป็นผู้นำแล้ว
- วันนี้เรามีโปรดักต์เพื่อสุขภาพออกมาวางขายแล้ว เราทำสินค้าส่งออกที่เป็นที่ต้องการของตลาด คือนมมะพร้าว ซึ่งฝรั่งชอบกันมาก
- พัฒนาความหลากหลายของโปรดักต์ เมื่อก่อนคนกินโทฟุซังตอนเบรก หรือระหว่างมื้อ แต่หลังจากมีโควิด ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรม จากที่เคยเดินไปซื้อในร้านสะดวกซื้อเมื่อหิว ก็เปลี่ยนเป็นซื้อไซส์ลิตร มาเทกิน
- เราหันมาทำ Data Learning แบบจริงจังมากขึ้น เรารู้เลยว่าร้านค้าไหนขายได้เท่าไหร่ ต้องสต็อกเท่าไหร่ เรามอนิเตอร์ขนาดนี้เลย เพราะโปรดักต์เรามีอายุแค่ 2 อาทิตย์
- สิ่งที่คุณแท็ปทำ มีความคล้ายกับโทฟุซังมาก คือพยายามเคลียร์หลังบ้าน ทำการบ้านว่าเรามีอะไรทำอะไรบ้าง เพราะสินค้าเรา shelf life สั้นมากๆ จึงต้องศึกษาและแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุด
- สิ่งที่พยายามทำคือ ยอดขายไม่เพิ่ม แต่ค่าใช้จ่ายลด ทำให้เรามีกำไร เช่น ฝ่ายบัญชีต้องรู้จักโครงสร้างต้นทุนมากขึ้นเพื่อดูว่าค่าใช้จ่ายตรงไหนลดได้บ้าง ส่วนเซลก็ไปขายของทำรายได้เข้าบริษัท
- พยายามคิดนอกกรอบให้มากๆ ทำให้เรา Lean มากขึ้น ก็รอดมาได้เพราะ Lean ตัวเอง
***ปัญหาที่ธุรกิจ SME ส่วนใหญ่เจอ***
คุณปิ๊ว
- ขอโฟกัส SME รายเล็กหน่อย กลุ่มนี้มุ่งสร้างยอดขาย จะขายอะไร จะพัฒนาสินค้ายังไง ใช้เวลาไปกับการพัฒนายอดขาย แต่ลืมเรื่องการเงิน อาจจะมองว่าไม่สำคัญ และส่วนใหญ่ตัวเจ้าของธุรกิจเองอาจไม่ได้มีความรู้เรื่องการเงินมากนัก ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้ผิดอะไรที่จะไปหมกมุ่นกับการสร้างยอดขาย หลายรายชอบพูดว่าโอกาสมาแล้วต้องรีบจับ ขายดี แต่หมุนเงินทุนไม่ทัน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเยอะ จนเกิดปัญหาด้านการเงิน
- ส่วนใหญ่ให้ Credit Term กับลูกค้า และลูกค้าบางรายไม่ได้มีคุณสมบัติพอที่จะได้ Credit Term ยาวขนาดนั้น และอาจกลายเป็นลูกหนี้การค้าที่ด้อยคุณภาพ ทำให้เก็บหนี้ไม่ได้ หรือเก็บได้ช้า จนขาดสภาพคล่อง
- อีกปัญหาที่เจอก็คือ การใช้เงินผิดประเภท เช่น เอาเงินกู้ระยะสั้นไปลงทุนระยะยาว อย่างเช่น เอาเงิน OD ไปซื้อที่สร้างโรงงาน มันทำให้เงินกลับมาหมุนไม่ทัน
- เมื่อธุรกิจเริ่มนิ่ง เราต้องกลับมาสนใจเรื่องการเงินแล้ว จริงอยู่ที่ช่วงเริ่มต้นทุกคนจะสนใจยอดขาย แต่เมื่อโตระดับหนึ่งต้องกลับมาสนใจการเงิน เพื่อให้เติบโตต่อไปได้
- นักธุรกิจมองแต่อยากกู้ ซึ่งบางครั้งไม่เหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจ นักธุรกิจมักจะมองว่า ตอนนี้เรากำลังโต มีโอกาสโต ก็อยากกู้มาขยายธุรกิจ แต่หากบริหารเงินดี คุณอาจไม่มีความจำเป็นต้องกู้ด้วยซ้ำ
- ถ้าธุรกิจมีการวางแผนกระแสเงินสดก็จะทนทานสู้วิกฤตอยู่ได้ ลองจิตนาการว่ารายได้หายไป แต่ค่าใช้จ่ายยังอยู่ เราต้องมีสภาพคล่องเท่าไหร่ บริษัทถึงจะอยู่ต่อไปได้
- ในอดีตอาจจะคิดกันว่ามีสภาพคล่อง 6-9 เดือน นี่ถือว่าเยอะแล้ว แต่พอเจอโควิดเข้าไปทฤษฎีนี้ใช้ไม่ได้แล้ว
***โควิดรอบนี้หนักใจเรื่องไหนสุด***
คุณแท็ป
- น่าจะเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรา Manage ไม่ได้
- และอีกอันคือ เรื่องเงินสดที่คุณปิ๊วพูดนี่ถูกต้องมากๆ เมื่อก่อนมีเงินสด 6 เดือนนี่อยู่ได้สบายๆ ธุรกิจขาดทุนไม่เป็นไร แต่เงินสดติดลบนี่ธุรกิจอยู่ไม่ได้ เจ๊งทันที
คุณนาม
- กังวลเรื่องความไม่แน่นอนเหมือนกัน มันมีความไม่แน่นอนเยอะเกินไปในทุกมิติ ซึ่งเราคาดการณ์ไม่ได้ ทั้งเรื่องนโยบายของรัฐ สถานการณ์ต่างๆ รวมถึงกระแสเงินสด เพราะเอาเข้าจริงต่อให้เราวางแผนได้ดีแล้ว มันก็ยังไม่พอ เลยต้องหันกลับมาวางแผนกระแสเงินสดให้ดีขึ้นยาวขึ้น บทเรียนจากโควิดรอบที่แล้ว ทำให้เรามีการเตรียมตัว เราพยายามจำลอง Scenario ต่างๆ ว่าหากเกิดอันนี้แล้วจะทำอย่างไร
- หาเงินจากช่องทางเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องกระจายความเสี่ยง แต่มันฝืนสิ่งที่บริษัทเคยเชื่อ เพราะมันคือสิ่งที่เราทำได้ดี แต่เราก็ต้องพยายามหามุมใหม่ๆ ต้องลองทำท่าที่ไม่ถนัดดูบ้าง
- ตอนนี้ต้องดูแลใจพนักงาน เพราะผมคิดว่าพนักงานคือหัวใจของบริษัท เรามีพนักงานที่โรงงาน 250 คน ที่ออฟฟิศ 40 กว่าคน ทั้งออฟฟิศและโรงงานไม่ได้อยู่ในจุดเสี่ยงของการระบาด แต่เราก็กลัว และพยายามดูแลพนักงานให้ดี เราก็พยายามหาวัคซีนมาให้พนักงาน แต่พนักงานบางส่วนก็ไม่สบายใจที่จะฉีด
***คำแนะนำในการบริหารจัดการเงิน***
คุณปิ๊ว
- เรื่องแรก ถ้าเจ้าของธุรกิจไม่มีอยากปัญหาต้องทำความเข้าใจกระแสเงินสดของธุรกิจตัวเอง เช่น การบริหารสต็อก ว่ามีสต็อกจมอยู่เท่าไหร่ ขายออกได้เร็วแค่ไหน เพราะเงินมันจมอยู่ตรงนั้น รวมถึงเรื่องลูกหนี้การค้ากับเจ้าหนี้การค้า ต้องบริหารให้มันทันกันระหว่างเงินไหลเข้ากับไหลออก
- เรื่องที่สองที่สำคัญก็คือ เรื่องเงินทุนหมุนเวียน อาจจะต้องลองจำลองเหตุการณ์ว่าบริษัทเราจำเป็นต้องมีเงินทุนหมุนเวียน ณ ขณะใดขณะหนึ่งเท่าไหร่ อย่าคิดว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวค่อยไปแก้ปัญหาข้างหน้า เพราะสุดท้ายแล้วอาจจะต้องมาวิ่งหาเงิน
- อีกอันคือ การขอวงเงินกับธนาคาร เราอาจต้องสำรองวงเงินกับธนาคารไว้จำนวนหนึ่ง เพราะบางทีต้องมีวงเงินสำรองเอาไว้บ้าง เผื่อวันไหนจำเป็นต้องใช้ จะช่วยลดปัญหากระแสเงินสดได้
- อีกข้อที่น่าจะเป็นปัญหาบ่อยมาก คือการแยกกระเป๋าระหว่างธุรกิจกับตัวเจ้าของ เราควรแยกให้ขัดเจน เวลาบริษัทสภาพคล่องไม่มีเอาเงินส่วนตัวไปช่วยแก้ปัญหา ทำให้เกิดปัญหาได้ อย่าให้ปนกัน มันจะแยกไม่อออก เพราะถ้าแยกกันได้ มันจะเห็นเงินธุรกิจชัดเจนขึ้น
***วิธีรับมือกับวิกฤตความเชื่อมั่นของพนักงาน***
คุณแท็ป
- ช่วงนี้ดอกเบี้ยถูก ทำให้เราสามารถกู้เงินด้วยต้นทุนที่ถูกลง ก็ทำให้เรามีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน นอกจากนี้ก็พยายามสื่อสารกับพนักงานว่าเราจะสู้ไปด้วยกัน ไม่ต้องห่วงว่าจะถูกลดเงินเดือน เพราะเรารู้ว่าพนักงานห่วงเรื่องอะไร นอกจากเรื่องเงิน เราก็รู้ว่าพนักงานห่วงเรื่องความปลอดภัย บางตำแหน่งไม่สามารถ Work from home ได้ เราก็มีการดูแลให้พวกเขาสบายใจ แต่ทั้งนี้เราต้องบอกความจริงให้พนักงานรับรู้ด้วย เช่น ยอดตก ก็บอกไปตามจริง
- พูดสื่อสารเยอะๆ บ่อยๆ ให้เขาเข้าใจและมั่นใจ ไม่ปล่อยให้คิดกันไปเอง เมื่อเขาไม่กังวล เขาก็จะมีแรงมาทำงาน
- หน้าที่ของ CEO คือทำยังไงให้ Manage cash flow ได้ มี Scenario อย่างไร ต้องรู้สถานการณ์ และที่สำคัญที่สุดในการสื่อสารกับพนักงาน เราต้องมั่นใจ เมื่อเรามั่นใจ พนักงานก็จะมั่นใจตามไปด้วย ข้อมูลเราต้องแน่น Worst case ต่างๆ เราจัดการได้
คุณนาม
- เราต้องทำให้เค้าเชื่อมั่น ทำให้เค้าสบายใจ มั่นใจ ช่วงมีนาคมเราบอกพนักงานว่าเราไม่ลดเงินเดือน และให้การบ้านพนักงานไปว่าเราต้องลดต้นทุนเพื่อที่เราจะได้อยู่ได้ ให้โจทย์ว่าถ้าคุณทำ Lost มากกว่า 3.5% เราจะหักเงินคุณ สุดท้าย พนักงานทุกคนกังวลมาก แต่เราก็บอกไปว่าจะมี 2 คนที่โดนหักเงินมากคือ หัวหน้าโรงงาน และผม ทำให้ทุกคนช่วยกันลดการ Lost ลงไปได้มาก
- ทำให้ดู อยู่ให้เห็น ทำให้พนักงานรู้ว่าบริษัทแคร์เขา
- การจะเห็นใจกันได้ ต้องฟังกัน ไม่งั้นอาจจะหวังดีผิดเรื่อง
- ต้องฟังกันเยอะๆ ซึ่งการฟังมีหลาย Level ถ้าเราฟังเยอะๆ ก็จะตอบโจทย์ได้
- และอีกเรื่องคือการจัดโซนนิ่งให้พนักงานให้รู้สึกปลอดภัย จัดที่พัก และให้ครอบครัวเค้ามาทำงานด้วยกัน ผมแจก LINE ส่วนตัวของผม ให้พนักงานทุกระดับ เพื่อส่งเรื่องมาคุยกัน ผมก็ได้รับฟังพนักงาน
คุณปิ๊ว
- ธุรกิจธนาคารได้รับผลกระทบแน่นอน เหมือนธุรกิจอื่น และทำงานหนักมากขึ้น เพราะลูกค้าเจอวิกฤติหนัก เราต้องช่วยลูกค้าให้รอด เพราะลูกค้ารอด เราก็รอด
- เราไม่สามารถปิดสาขาได้ เพราะยังมีความจำเป็นที่ต้องทำธุรกรรมให้ลูกค้า พนักงานก็กลัว แต่ก็ต้องมาทำงานเพราะมีความจำเป็น ต่างคนต่างกลัว ธนาคารเรามีความเข้มงวดมากเรื่องความปลอดภัย และสุขภาพของพนักงานมาก เพื่อให้เค้าอุ่นใจ
- ผมว่าธนาคารกสิกรไทยมีความเข้มงวดมากๆ เพราะเราต้องเอาความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง เราไม่อยากให้พนักงานเสี่ยง และให้ลูกค้าไม่เสี่ยงด้วย นโยบายใหญ่ของธนาคารก็ดูแลพนักงานทุกท่านด้วย
- ธุรกิจการเงินมันหยุดไม่ได้ เพราะกระแสเงินสดเป็นเรื่องสำคัญ เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำงานเพื่อให้บริการธุรกิจ
***Mindset ที่ผู้บริหารต้องมี***
คุณนาม
- ระดับ C level ต้องปล่อยวางให้เป็น เพราะเรามีเรื่องเครียดเยอะมาก ถ้าไม่รู้จักปล่อยวางจะทำงานยาก ต้อง “ช่างแม่งให้เป็น” ผมว่าผมรอดมาได้เพราะช่างแม่งให้ได้
คุณแท็ป
- เราต้องเชื่อว่ามีทางออก ไม่งั้นเราจะเครียดมาก เพราะเรารับแต่ข่าวร้าย และเครียดมาก เลยต้องตั้งสติ และต้องเชื่อว่าต้องมีทางออก และต้องโฟกัสจุดที่สำคัญให้ถูกจุด ถามตัวเองว่าอะไรสำคัญ เรื่องการดูแลลูกค้าเก่า ดูแลเงินสด ดูแลพนักงาน
- CEO ต้อง Focus 3 เรื่อง
1. People รับคนให้ถูก ทำงานให้ได้
2. Culture เป็นนักสู้
3. Number ตัวเลขสำคัญในธุรกิจต้องดูให้เป็น เช่น ตัวเลขในงบการเงิน
คุณปิ๊ว
- ให้กำลังใจตัวเอง ว่าสถานการณ์นี้มันต้องจบ และต้องอยู่ให้ได้ เมื่อฟ้าเริ่มใสแล้ว เราจะเดินยังไงต่อ อย่าไปยึดติดกับธุรกิจเดิม เอาช่วงเวลานี้มาคิด คิดเผื่อไว้ จะได้ไม่ช้ากว่าคนอื่น
- เมื่อเหตุการณ์จบทุกต้องพร้อมวิ่ง คุณจะมานั่งเตรียมชุดวิ่ง ใส่รองเท้าวิ่งมันไม่ได้
- อาจจะถอยหลัง 2 ก้าว เพื่อเดินไปข้างหน้าอีก 3 ก้าวก็ได้
***บริหารธุรกิจให้สตรอง เจอวิกฤตกี่รอบก็ยังไหว***
คุณนาม
- ตอนที่เรามีคนไม่เกิน 8 คน เราสามารถคุยกับทุกคนได้ทุกวัน ทุกคนก็รู้ Direction ของเถ้าแก่ แต่เมื่อไหร่มีคนที่ 9 เข้ามาเมื่อไหร่ ก็ให้เริ่มคิดเลยว่าเราอยากให้วัฒนธรรมองค์กรของเราเป็นแบบไหน เราสร้างให้พนักงานมีวัฒนธรรมองค์กรที่ใส่ใจกัน ดูแลกันและคนที่ไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร ก็จะถูกเหวี่ยงจนเค้าอยู่ไม่ได้ แต่มันไม่ได้แปลว่าเค้าผิดนะ เค้าแค่มีความคิดที่ไม่ตรงกันกับวัฒนธรรมองค์กรของเราเท่านั้น
- โฟกัสแค่เรื่องสำคัญ 20% ที่ทำให้อีก 80 % สำเร็จได้
คุณแท็ป
1. ตัวเราเองนี่แหละที่สำคัญ เพราะเราคือผู้บริหาร เราคือคนที่กำหนดทิศทางขององค์กร ดังนั้นสุขภาพของเราสำคัญ เพราะมันส่งผลกับสมาธิ การตัดสินใจ ความคิดต่างๆ ในการทำงาน ต้องมีสติดี ไม่ตื่นกลัว ไม่ตระหนก เพราะเมื่อเราเป็น มันจะส่งไปถึงลูกน้องด้วย
2. จัดระบบ ระเบียบหลังบ้านให้ดี และเตรียมพร้อมให้ได้มากที่สุด
คุณปิ๊ว
- โควิดทำให้เห็นชัดเจนแล้วว่า พนักงานคือสิ่งมีค่าขององค์กร การให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นเรื่องใหญ่ เราควรเพิ่ม Skill ให้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้น เพื่อให้บริษัทสามารถเดินต่อไปได้ ถ้าตัวพนักงานมี Skill เพิ่มขึ้น เรามาสามารถ หมุนคนให้ไปช่วยในส่วนต่างๆได้มากขึ้น ควรเตรียมการไว้ เพื่อให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่น และขับเคลื่อนองค์กรได้ง่ายขึ้น
***ทิ้งท้าย***
คุณปิ๊ว
- วิกฤตครั้งนี้สาหัส ก็คงได้ Lesson learn เยอะพอสมควร เอาสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันมาเตรียมตัว เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีอะไรเกิดขึ้น มันมีเช้าวันใหม่เสมอ เราก็ต้องลุกขึ้นเดินกันต่อคุณวิน - วิน สิงห์พัฒนกุล เชฟและเจ้าของร้านชอคโกแลตวิลล์
- เจ้าของธุรกิจต้องลงไปเล่นในสนามกับพนักงานอย่างเต็มที่ สวมปลอกแขนเป็นกัปตัน ทำอย่างที่พนักงานไม่เคยเห็นมาก่อน
- ฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน ผู้นำที่ดีก็ต้องสร้างผู้ตามได้ด้วย
คุณบุ๋ม - บุญย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านการสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด
1. ใจตัวเองสำคัญที่สุด เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนตัวเองได้
2. ความสำเร็จในอดีตเราฉีกทิ้งไปเริ่มใหม่ได้ อย่าไปยึดติด
3. สุขภาพสำคัญกับการรบแบบ Infinite game ยืนกันยาวๆ อะไรที่ทำให้เราตายไม่ได้ เราจะแกร่งขึ้น
🔔กดติดตามและร่วมพูดคุยกันได้ใน Clubhouse KBank Live >>> http://kbank.co/3vGO36A
👋กดเข้าร่วมคลับ K SME >>> http://kbank.co/3c1kXac
#KSME #KBankLive
โฆษณา