8 พ.ค. 2021 เวลา 02:19 • ข่าว
งานกีฬาโอลิมปิกประจำปี 2020 เป็นการแข่งขันกีฬาฤดูร้อนและมีกำหนดจัดขึ้นที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เดิมที กำหนดการจัดการแข่งขันอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมในปีที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกถูกเลื่อนออกไปอีกหนึ่งปี โดยกำหนดพิธีเปิดงานโอลิมปิกจะมีในวันที่ 23 กรกฎาคม และจะมีการแข่งขันยาวไปจนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2564 ในขณะที่ กำหนดการของงานกีฬาพาราลิมปิกจะมีในวันที่ 24 สิงหาคมถึง 5 กันยายน 2564 ทั้ง ๆ ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ให้งานทั้งสองนี้ยุติลง ด้วยสถานการณ์แบบนี้ โตเกียวโอลิมปิกจะอยู่หรือไปกันนะ #JustAsk มีความคืบหน้ามาฝาก #6minread
1
โตเกียวโอลิมปิก จะอยู่หรือไป (ที่มา: Prithpal Bhatia จาก Pixabay)
โดยปกติแล้ว ประเพณีของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะจัดขึ้นทุก ๆ สี่ปี โดยมีที่มาจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโบราณในกรีซซึ่งเริ่มต้นใน 776 ปีก่อนคริสตกาลและดำเนินต่อมาทุก ๆ สี่ปีจนถึง ค.ศ. 394 โดยโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาวจะเกิดขึ้นสลับกันทุกสองปี ซึ่งการเลื่อนการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกในปีที่ผ่านมาจึงเป็นผลให้พิธีโอลิมปิกในครั้งนี้จะห่างกับพิธีโอลิมปิกฤดูหนาวที่จะจัดขึ้นที่ปักกิ่งในปี 2022 แค่หกเดือนเท่านั้น
คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee หรือ IOC) ร่วมด้วยกันกับคณะกรรมการจัดงานของโตเกียวยังคงยืนยันว่าจะจัดการแข่งขันหลังจากวางแผนกันมาหลายปี และยังบอกอีกว่าไม่สามารถเลื่อนงานออกไปได้อีกแล้ว
1
การเลื่อนงานออกไปจะทำให้กระแสเงินสดของ IOC ซึ่งอาศัยการขายลิขสิทธิ์จากการออกอากาศกีฬาโอลิมปิกเป็นจำนวน 73% ของรายได้ หยุดชะงักลง นอกจากนั้นญี่ปุ่นก็ได้ลงทุนไปแล้วอย่างน้อย 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อจัดงานนี้
แม้ว่าโอลิมปิกจะยังดำเนินต่อไป แต่เป็นไปได้ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาในสถานที่ว่างเปล่าไร้แฟนกีฬาข้างสนาม เพราะอย่างน้อยแฟนกีฬาจากต่างประเทศจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศญี่ปุ่นเพื่อมาเข้าร่วม ทำให้ตอนนี้คณะกรรมการจัดงานจะต้องจัดการเรื่องการคืนเงินให้กับผู้ซื้อตั๋วจากต่างประเทศ
ในการแข่งขันครั้งนี้ นักกีฬาและทีมงาน จะได้รับวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากบริษัท Pfizer และ BioNTech โดยการฉีดวัคซีนจะเป็นไปตามความสมัครใจ แต่ IOC คาดหวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันมากพอที่จะเลือกรับวัคซีนก่อนพิธีโอลิมปิกและพาราลิมปิกจะเปิดฉากขึ้น ซึ่งในมุมมองของผู้จัดงาน การเข้ารับการฉีดวัคซีนนอกจากจะเป็นการประกาศถึงการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลแล้ว ยังแสดงออกถึงความสมัครสมานสามัคคีและการใส่ใจถึงความเป็นอยู่ที่ดีของคนรอบข้าง
อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจในการจัดงานของคณะกรรมการจัดงานกลับสวนทางกับความต้องการของชาวญี่ปุ่นเอง เพราะจากผลการสำรวจพบว่าประชากรในประเทศญี่ปุ่น 70-80% คิดว่างานกีฬาโอลิมปิกยังไม่ควรจัดขึ้นในฤดูร้อนนี้ โดยการสำรวจของหนังสือพิมพ์ Asahi เมื่อเดือนที่แล้วพบว่ามีเพียง 28% ที่ต้องการให้งานนี้ดำเนินต่อไปในเดือนกรกฎาคม ในขณะที่ 34% ต้องการให้เลื่อนออกไปอีกครั้งและ 35% ต้องการให้มีการยกเลิกทันที
ล่าสุด มีผู้สนับสนุนมากกว่า 260,000 คน ได้ร่วมกันลงชื่อในแคมเปญรณรงค์หัวข้อ “ยกเลิกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวเพื่อปกป้องชีวิตของเรา (Cancel the Tokyo Olympics to protect our lives)” ผ่านเว็บไซต์ Change.org เนื่องจากรัฐบาลประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินในหลาย ๆ เมือง เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส
1
Stop Tokyo Olympics to save our lives (ที่มา: www.change.org)
สาระสำคัญของแคมเปญนี้ เป็นการเรียกร้องให้ยกเลิกงานกีฬาโตเกียวโอลิมปิก ตั้งคำถามถึงความเสี่ยงของชาวญี่ปุ่นจากการจัดการแข่งขันว่าคุ้มกันหรือไม่ ทั้งยังเป็นการใช้บุคลากรทางการแพทย์รวมถึงทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขอื่น ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดไปโดยไม่จำเป็น และเรียกร้องให้รับฟังความคิดเห็นของทั้งคนในประเทศและทั่วโลกที่ต้องการให้ยุติงานดังกล่าวลง
 
ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “การแพร่ระบาดของไวรัสไม่ได้จบลงเลย ขณะที่การฉีดวัคซีนเริ่มต้นขึ้นเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา แต่การกระจายของวัคซีนยังกระจุกอยู่แค่ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ ดังนั้น ยังอีกนานกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะถึงจุดสิ้นสุด"
ทั้ง ๆ ที่อีกไม่กี่เดือน ก็จะถึงพิธีเปิดแล้ว นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ สึกะ ยังขยายสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในโตเกียว โอซาก้าและภูมิภาคตะวันตกอื่น ๆ จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้อยู่เลย ประกอบกับอัตราการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของชาวญี่ปุ่นยังคงน้อยมาก แค่ไม่ถึง 2% ของประชากรทั้งหมด
แม้ว่าคณะกรรมการจัดงานยืนยันที่จะจัดโตเกียวโอลิมปิกต่อไป แต่ก็ยังเป็นที่น่ากังขาทั้งในสายตาของคนญี่ปุ่นเองและทั่วโลกว่า การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกซึ่งเป็นงานที่มีขนาดใหญ่และมีโอกาสทำให้เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาไปในวงกว้างได้ จะเกิดขึ้นอย่างราบรื่นและปลอดภัยได้อย่างไร
โฆษณา