8 พ.ค. 2021 เวลา 15:33 • การเมือง
ตุลาการกับความยุติธรรม ตอนที่ 2: เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่พอใจกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะลงรายละเอียดว่า ศาลวินิจฉัยตัดสินว่าอย่างไรบ้าง ผมขออนุญาตชี้ให้ท่านผู้อ่านได้มีโอกาสเห็นว่า ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีผู้ไม่เห็นด้วยพอสมควรในหลายๆ เรื่อง อย่างไรก็ตาม คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม ตามบทเกริ่นนำของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แต่การตัดสินในครั้งนี้กลับไม่ได้ยึดมั่นใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเลย
ทั้งๆ ที่ในหลักการพิจารณาคดีตามหลักสากล มีทฤษฎีเจตนารมณ์ (Original Intent) ในการพิจารณาว่า ศาลควรจะใช้เจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายมาประกอบการพิจารณาและตีความตัวบทกฎหมายมากกว่าเพียงแค่ตีความไปตามตัวหนังสือเท่านั้น
บทนำของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการกำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 ได้กำหนดคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรีไว้ดังนี้
1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
2. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
3. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
4. มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
5. ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
6. ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
7. ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท​
8. ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง
1
ทั้งนี้ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา คือ สมาชิกภาพของ ส.ส. ของผู้ถูกร้อง (ร.อ. ธรรมนัส) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) หรือไม่ ซึ่งมาตราหลังได้กล่าวถึงลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หากเคย "ต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด" ว่ากระทำความผิดในคดีต่าง ๆ หนี่งในจำนวนนั้นคือ "กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิด ฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า"
อย่างที่เห็นกันได้ชัดเจนว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม หากจะตีความในอนุมาตราที่ 6 นี้ก็ควรจะตีความในกรอบที่ว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้ผู้ที่มาเป็นรัฐมนตรีควรจะมีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงสุด เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี และควรจะเป็นผู้ไร้มลทิน และเห็นได้เพิ่มเติมจากอนุมาตราที่ 7 เองที่ระบุไว้ว่า ถึงแม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด บุคคลที่มีคดีความติดตัวก็ยังมิสมควรที่จะเป็นรัฐมนตรี ดังนั้นผู้ที่ศาลประเทศอื่นตัดสินถึงที่สุดแล้วให้ผิดคดีความ ยิ่งมิสมควรเป็นรัฐมนตรียิ่งขึ้นไปอีก หาใช่เรื่องของขัดหลักอธิปไตย-ต่างตอบแทนแต่อย่างใดไม่
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตามคำร้องดังกล่าว และให้ความเห็นดังนี้
คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นที่ต้องวินิจฉัยไว้ 2 ประเด็น คือ 1) สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด และ 2) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใดประเด็นแรก ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และวรรคสองบัญญัติรัฐสภา ครม. และศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม
1
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า หลักอธิปไตยของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ คำพิพากษาของศาลรัฐใด ก็จะมีผลในดินแดนของรัฐนั้น ในบางกรณีรัฐใดรัฐหนึ่งอาจให้การรับรองคำพิพากษาของอีกรัฐหนึ่ง และอาจบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้นได้ แต่ต้องมีการทำสนธิสัญญารับรองบังคับตามคำพิพากษาตามหลักการต่างตอบแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีแพ่ง คดีครอบครัว และคดีมรดก สำหรับคดีอาญา อาจได้รับการยอมรับพิจารณาบ้าง กรณีส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการโอนนักโทษ
ดังนั้นทั้งหลักการและทางปฏิบัติของรัฐเกี่ยวกับการใช้อำนาจตุลาการ จึงได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ เพื่อยืนยันหลักการความเป็นอิสระของตุลาการ และความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีการกล่าวถึงคำพิพากษา จึงย่อมต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลแห่งรัฐหรือประเทศนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ
ดังนั้น หากจะร้องในเรื่องเดิมซ้ำก็อาจจะไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการร้องขอให้มีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ก็ควรจะร้องขอให้มีการพิจารณาตามอนุมาตรา 4 ว่าด้วยเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต และอนุมาตรา 5 ว่าด้วยเรื่องไม่มีพฤติกรรมที่ผิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ประเด็นที่สอง ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด เมื่อศาลได้วินิจฉัยในประเด็นหนึ่งไว้แล้วว่าไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตาม 98 (10) จึงไม่มีเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 160 (6) ความเป็นรัฐมนตรีมาสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)
ทั้งนี้มาตรฐานทางจริยธรรม มีการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานจริยธรรม พ.ศ. 2562 หากจะมีการตีความว่า ร.อ. ธรรมนัส ผิดหรือไม่ อาจจะต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานจริยธรรม หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นผู้ตีความ
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นการใช้สิทธิ์ตามสุจริตตามมาตรา 38 วรรคสาม “การวิจารณ์คําสั่งหรือคําวินิจฉัยคดีที่กระทําโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล” และไม่มีเจตนาดูหมิ่น หรือให้ร้ายศาลแต่อย่างใด
โฆษณา