16 พ.ค. 2021 เวลา 11:30 • ประวัติศาสตร์
“ยุคแห่งการสำรวจ (Age of Discovery)”
“ยุคแห่งการสำรวจ (Age of Discovery)” เป็นยุคสมัยที่น่าตื่นเต้นยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์
ย้อนกลับไปหลายร้อยปีก่อน ชาวยุโรปที่มีฐานะมั่งคั่งมักจะชื่นชอบสิ่งของสวยงาม ล้ำค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงาช้าง เพชรพลอย หรือผ้าไหม ซึ่งสิ่งของมีค่าเหล่านี้ก็ล้วนแต่มาจาก “อินดีส์ (Indies)”
อินดีส์ คือชื่อที่ชาวยุโรปในสมัยยุคกลาง ใช้เรียกเอเชียและอินเดีย
การค้าขายของมีค่าตามที่กล่าวไป สร้างความมั่งคั่งให้พ่อค้า หากแต่การเดินทางจากยุโรปไปอินดีส์ก็เป็นระยะทางยาวไกลและอันตราย
เครื่องเทศ
ก่อนสิ้นสุดศตวรรษที่ 15 มีวิธีการเดินทางจากยุโรปไปอินดีส์อยู่สองวิธี
หนึ่งคือการเดินทางๆ ทะเล โดยใช้ “เส้นทางเครื่องเทศ (Spice Route)”
การเดินทางโดยใช้เส้นทางเครื่องเทศนั้น ต้องเดินทางผ่านทะเลเมดิเตอเรเนียน ตรงไปยังตะวันออกกลาง จากนั้นก็อ้อมมาทางอินเดีย ผ่านอินโดนีเซียและไปยังจีน
เส้นทางเครื่องเทศ (Spice Route)
การเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียนนั้นยากลำบาก เมืองเวนิส ซึ่งเป็นนครรัฐที่ทรงอำนาจได้ควบคุมเส้นทางเดินเรือแถบนี้ และมักจะหยุดยั้งเรือไม่ให้เดินทางผ่านไป หรือไม่ก็เก็บค่าผ่านทางสุดแพง
อีกวิธีหนึ่งก็คือการเดินทางๆ บก
การเดินทางๆ บกนี้จะใช้ “เส้นทางสายไหม (Silk Road)”
เส้นทางสายไหม (Silk Road)
เส้นทางสายไหม เป็นเส้นทางที่มีระยะทางกว่า 6,400 กิโลเมตร ตัดผ่านทะเลทรายและภูเขา และเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อยุโรปกับเอเชีย
ตลอดเส้นทางนั้นจะมีสถานีการค้าให้พ่อค้าชาวยุโรปได้แวะพัก และทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า
1
สำหรับพ่อค้าที่เดินทางเข้าไปในเส้นทางสายไหมได้ตลอดเส้นทาง ก็ต้องใช้เวลานานนับปีกว่าจะเดินทางจากยุโรปไปเอเชีย และกลับมายุโรปอีกครั้ง
1
ด้วยความยากลำบากนี้เอง ทำให้ราคาสินค้าที่นำกลับมาขายนั้นมีราคาสูง
การค้าขายบนเส้นทางสายไหม
ค.ศ.1271 (พ.ศ.1814) ได้มีวัยรุ่นจากเวนิส ชื่อว่า “มาร์โค โปโล (Marco Polo)” ได้ขอติดตามพ่อและลุงของตน ซึ่งเป็นพ่อค้า ร่วมเดินทางไปยังคาเธย์ (Cathay) หรือประเทศจีนในปัจจุบัน โดยการเดินทางนี้ต้องใช้เส้นทางสายไหม
การเดินทางนี้ใช้เวลากว่าสามปีครึ่ง ต้องข้ามทั้งทะเล ทะเลทราย และภูเขา ต้องผจญกับทั้งโจรและสงคราม รวมทั้งโรคระบาด
มาร์โค โปโล (Marco Polo)
เชื่อกันว่าเมื่อถึงคาเธย์ พ่อ ลุง และมาร์โค ได้ผูกมิตร เป็นสหายกับ “กุบไลข่าน (Kublai Khan)” ข่านแห่งจักรวรรดิมองโกล
มาร์โคนั้นตื่นเต้นในสิ่งที่พบเห็น ทั้งพระราชวังทองคำ ผ้าไหมล้ำค่า เพชรพลอยอร่าม เครื่องเทศมากมาย รวมทั้งสัตว์แปลกๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น ช้างและลิง
กุบไลข่าน (Kublai Khan)
นอกจากนั้น พ่อ ลุง และมาร์โค ยังได้สำรวจพื้นที่ในเอเชียหลายแห่งที่ยังไม่มีชาวยุโรปคนไหนเคยสำรวจมาก่อน โดยพวกเขาจากบ้านมาเป็นเวลานานกว่า 24 ปี
1
เมื่อพ่อ ลุง และมาร์โคกลับไปถึงเวนิสในปีค.ศ.1295 (พ.ศ.1838) ครอบครัวต่างก็จำพวกเขาไม่ได้
ในช่วงที่พ่อ ลุง และมาร์โคกลับบ้าน ในเวลานั้น เวนิสกำลังทำสงครามกับนครรัฐอีกแห่งหนึ่ง โดยมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งในเส้นทางเครื่องเทศ
1
มาร์โคได้ออกรบ โดยอยู่ฝ่ายเวนิส
แต่มาร์โคถูกจับได้ และถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลาหนึ่งปี
1
มาร์โคขณะถูกคุมขัง
ขณะอยู่ในเรือนจำ มาร์โคได้พบกับนักเขียนชื่อ “รัสติเซียโน (Rustichello da Pisa)”
1
รัสติเซียโน ได้จดบันทึกทุกเรื่องราวที่มาร์โคเล่าให้ฟังเกี่ยวกับคาเธย์ ซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือในราวปีค.ศ.1350 (พ.ศ.1893)
หนังสือจากบันทึกของรัสติเซียโน คือ “บันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล (The Travels of Marco Polo)” ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดี และเป็นต้นแบบให้นักเดินทางในยุคหลังอีกหลายคน
บันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล (The Travels of Marco Polo)
การค้าขายกับเอเชียสร้างความมั่งคั่งให้พ่อค้า หากแต่ควรจะต้องมีเส้นทางอื่นที่ง่ายกว่า เร็วกว่าการใช้เส้นทางเครื่องเทศและเส้นทางสายไหม
คำถามที่สำคัญก็คือ “จะหาเส้นทางนั้นได้ยังไง?”
หนึ่งในผู้ที่สนใจในการหาเส้นทางใหม่ไปยังอินดีส์ก็คือ “เจ้าชายเฮนรีแห่งโปรตุเกส (Prince Henry of Portugal)”
เจ้าชายเฮนรีแห่งโปรตุเกส (Prince Henry of Portugal)
เจ้าชายเฮนรีเป็นพระราชโอรสใน “พระเจ้าจอห์นที่ 1 แห่งโปรตุเกส (John I of Portugal)”
จากการทำนายดวงชะตาของเจ้าชายเฮนรี บ่งบอกว่าพระองค์จะทรงอุทิศตนเพื่อชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ และเจ้าชายเฮนรีก็ทรงเชื่อ อีกทั้งทรงตั้งพระทัยที่จะทำให้คำทำนายนี้เป็นจริง
ขณะที่อยู่ในวัยหนุ่ม เจ้าชายเฮนรีและพระราชบิดา ทรงนำทัพครูเสด สู้รบกับเมืองเซวตา ซึ่งเป็นเมืองมุสลิมที่ตั้งอยู่ในอ่าวแอฟริกาเหนือ
เมืองเซวตาเป็นศูนย์กลางการค้าเครื่องเทศจากอินดีส์ รวมทั้งเพชรพลอยและแร่มีค่าต่างๆ
ยุทธการเมืองเซวตา
ตั้งแต่บัดนั้น เจ้าชายเฮนรีก็ทรงสนพระทัยในการหาเส้นทางอื่นไปยังตะวันออก เส้นทางที่จะอ้อมแอฟริกา มุ่งไปยังเอเชีย
หากค้นพบเส้นทางๆ ทะเลทางใหม่ ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งเวนิสหรือพวกมุสลิมอีกต่อไป ราคาเครื่องเทศก็จะถูกลง
1
แต่การเดินเรืออ้อมแอฟริกาก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆ ไม่เคยมีนักสำรวจชาวยุโรปคนไหนไปไกลกว่าแหลมโบฮาดอร์ (Cape Bojador) เนื่องจากนักเดินเรือต่างเกรงกลัวอันตราย ไม่กล้าไปไกลเกินกว่านี้
แหลมโบฮาดอร์ (Cape Bojador)
แต่เจ้าชายเฮนรีก็ไม่ทรงยอมแพ้ นอกจากเหตุผลเรื่องอำนาจและความมั่งคั่งแล้ว ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งสำหรับการสำรวจอ่าวในแอฟริกา
เจ้าชายเฮนรีเป็นชาวคริสต์ที่เลื่อมใสศรัทธาในศาสนา พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยจะให้เรือของโปรตุเกสหยุดตามที่ต่างๆ ในอ่าวแอฟริกา และทำให้ชาวแอฟริกามาเข้ารีต นับถือศาสนาคริสต์
ดังนั้น หากจะกล่าวว่าเจ้าชายเฮนรีเป็นผู้เริ่มต้นยุคแห่งการสำรวจ ก็คงจะไม่ผิดนัก และถึงแม้พระองค์จะไม่ได้เสด็จออกสำรวจด้วยพระองค์เอง หากแต่พระองค์ก็ได้รับสมัญญานามว่า “เจ้าชายเฮนรี นักเดินเรือ (Henry the Navigator)” เนื่องจากพระองค์ทรงสนับสนุนการสำรวจทางทะเลเป็นจำนวนมาก
ค.ศ.1419 (พ.ศ.1962) เจ้าชายเฮนรีได้เสด็จไปประทับยังภาคตะวันตกเฉียงใต้ของโปรตุเกส ที่เมืองซาเกรส ซึ่งเป็นจุดที่เหมาะในการเดินเรือไปแอฟริกา
1
ซาเกรส
ที่เมืองซาเกรส เจ้าชายเฮนรีทรงรวบรวมนักเดินเรือ นักทำแผนที่ นักดาราศาสตร์ รวมทั้งช่างต่อเรือ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีฝีมือ
2
มีการปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆ ขนานใหญ่ รวมทั้งมีการปรับปรุงเรือให้เดินทางได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น
แต่ถึงอย่างนั้น ตลอดเวลาที่เจ้าชายเฮนรีทรงส่งกองเรือออกทะเล ให้เดินเรือผ่านแหลมโบฮาดอร์ถึง 14 ครั้ง ก็ปรากฎว่าล้มเหลวทั้ง 14 ครั้ง
แต่ในที่สุด ค.ศ.1434 (พ.ศ.1977) พระองค์ทรงส่งนักเดินเรือชาวโปรตุเกสที่ชื่อ “กิล แอเนส (Gil Eanes)” เพื่อลองเดินเรืออีกครั้ง และคราวนี้ก็สำเร็จ
1
กิล แอเนส (Gil Eanes)
ความสำเร็จนี้ ถือเป็นการเปิดอ่าวทางตะวันตกของแอฟริกา ทำให้มีช่องทางสำหรับการสำรวจในภายภาคหน้า
แต่ถึงอย่างนั้น ชาวโปรตุเกสหลายคนก็วิจารณ์ว่าเจ้าชายเฮนรีทรงใช้จ่ายเงินกับการสำรวจมากจนเกินไป และผลตอบแทนที่ได้ก็ไม่คุ้มค่า
หากแต่ภายหลังพวกเขาก็ต้องคิดใหม่
1
ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถหาผลประโยชน์จากการค้าของมีค่า เช่น ผ้าไหม หรือเครื่องเทศ แต่สิ่งที่สร้างผลกำไรอย่างมหาศาลก็คือ “การค้ามนุษย์”
การค้าทาสในสมัยโบราณ
ในปีค.ศ.1444 (พ.ศ.1987) แอเนสเดินทางกลับจากอ่าวแอฟริกาพร้อมด้วยทาสอีก 200 คน
ทาสเหล่านี้ถูกนำตัวมายังเมืองลากอสในโปรตุเกส ก่อนจะถูกนำไปขาย
เมื่อการค้าทาสสร้างผลประโยชน์ได้เป็นกอบเป็นกำ เจ้าชายเฮนรีจึงมีรับสั่งให้สร้างสถานีค้าทาสในแอฟริกาเหนือ ในบริเวณที่ปัจจุบันคือประเทศมอริเตเนีย
1
อันที่จริง ที่ผ่านมานั้น การค้าทาสก็มีมาก่อนเป็นเวลานานแล้ว แต่ในเวลานี้ การค้าทาสกลายเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาลและเป็นที่นิยม
นอกจากการค้าทาสจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้จำเป็นต้องเร่งหาเส้นทางอ้อมแอฟริกาไปยังอินดีส์ แต่อีกสาเหตุก็คือ ในปีค.ศ.1453 (พ.ศ.1996) จักรวรรดิอ็อตโตมันได้พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล
การพิชิตคอนสแตนติโนเปิล ค.ศ.1453
กรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่นำทางไปสู่เส้นทางสายไหม และในเมื่อตกเป็นของจักรวรรดิอ็อตโตมันแล้ว ชาวยุโรปก็ไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้อีกต่อไป
1
เจ้าชายเฮนรีสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ.1460 (พ.ศ.2003) และในเวลานั้น คณะสำรวจของพระองค์ก็ไปไกลถึงเซียร์ราลีโอน ซึ่งตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก
21 ปีต่อมา “พระเจ้าจอห์นที่ 2 แห่งโปรตุเกส (John II of Portugal)” พระราชนัดดาของเจ้าชายเฮนรี ได้ขึ้นครองราชย์
พระเจ้าจอห์นที่ 2 แห่งโปรตุเกส (John II of Portugal)
พระเจ้าจอห์นที่ 2 ทรงมีพระราชประสงค์เช่นเดียวกับเจ้าชายเฮนรี นั่นคือต้องการจะสำรวจเส้นทางไปไกลถึงอินดีส์
ในปีค.ศ.1487 (พ.ศ.2030) พระองค์ทรงส่งกองเรือจำนวนสามลำ โดยมีหัวหน้ากองเรือคือ “บาร์โทโลมิว ดีแอส (Bartholomeu Dias)”
การสำรวจนี้จะต้องเดินทางผ่านแหลมโบฮาดอร์ โดยพระเจ้าจอห์นที่ 2 มีพระราชประสงค์จะให้กองเรือเดินทางผ่านรอบๆ แอฟริกา
บาร์โทโลมิว ดีแอส (Bartholomeu Dias)
สำหรับสาเหตุที่การเดินเรืออ้อมทวีปนั้นทำได้ยาก ก็เป็นเพราะน้ำทะเลที่เชี่ยวกราก สภาพน้ำที่เต็มไปด้วยแก่งหิน ทำให้เรือนั้นเสียหายได้ง่ายก่อนจะถึงฝั่ง
ขณะเดินทางไปตามอ่าวทางตะวันตก กองเรือของดีแอสต้องผจญกับพายุที่พัดติดต่อกันนานถึงสองสัปดาห์ และไม่มีทีท่าจะเห็นฝั่ง
เมื่อพายุสงบลง พวกเขาได้เดินทางไปทางทิศตะวันออก แต่ก็ยังคงไม่เห็นฝั่ง พวกเขาจึงวกกลับไปทางเหนือและพบฝั่งในที่สุด
ตอนนี้โปรตุเกสรู้แล้วว่ามหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดียนั้นเชื่อมกัน ซึ่งดีแอสต้องการที่จะเดินทางไปต่อจนถึงอินเดีย หากแต่ลูกเรือนั้นอ้อนวอน ขอร้องให้กลับบ้าน เนื่องจากลูกเรือทั้งเหนื่อย ทั้งกลัว และต้องการจะพอแล้ว
1
ดีแอสและลูกเรือกลับถึงบ้านหลังจากออกเดินทางไปได้ 16 เดือน
1
12 ปีต่อมา ดีแอสได้ออกเดินทางไปอินเดีย หากแต่เขาและลูกเรือนั้นเรือล่ม อับปางลงบริเวณจุดที่เขาใช้เดินทางกลับเมื่อคราวที่แล้ว
ไม่เพียงแค่โปรตุเกสที่สนใจในการสำรวจเส้นทางใหม่ๆ หากแต่นักเดินเรือชาวอิตาลีที่ชื่อ “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus)” ก็สนใจเช่นกัน
คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus)
โคลัมบัสคิดว่าเส้นทางซึ่งต้องเดินเรือเข้าไปในบริเวณแอฟริกาเพื่อไปให้ถึงเอเชีย ไม่ใช่ทางที่สั้นและง่ายที่สุดที่จะไปถึงอินดีส์
เขาเชื่อว่าเขามีวิธีที่ดีกว่านั้น นั่นคือเดินเรือจากโปรตุเกสไปทางตะวันตก ตัดตรงเข้ามายังแอตแลนติก
ในทีแรก โคลัมบัสก็ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าจอห์นที่ 2 แห่งโปรตุเกส หากแต่พระองค์ก็ไม่ทรงสนพระทัย เนื่องจากดีแอสก็ได้พิสูจน์แล้วว่าการเดินเรืออ้อมไปทางแอฟริกานั้นเป็นทางที่ได้ผล
เมื่อเป็นอย่างนั้น โคลัมบัสจึงหันไปหา “พระเจ้าเฟอร์ดินันด์ที่ 2 แห่งอารากอน (Ferdinand II of Aragon)” และ “พระราชินีอิซซาเบลลา (Isabella I of Castile)” องค์พระประมุขแห่งสเปน
1
พระเจ้าเฟอร์ดินันด์ที่ 2 แห่งอารากอน (Ferdinand II of Aragon)
พระราชินีอิซซาเบลลา (Isabella I of Castile)
ทั้งสองพระองค์ทรงสนพระทัยในแผนของโคลัมบัส และไม่อยากจะทรงเห็นโปรตุเกสร่ำรวยและทรงอำนาจมากกว่าอาณาจักรของตน
หากแต่ในเวลานั้น ทั้งสองพระองค์ทรงติดพันในสงครามทางใต้ของสเปน จึงไม่มีเงินมาสนับสนุนโคลัมบัส
ทั้งสองพระองค์ทรงผลัดผ่อนต่อโคลัมบัสมาเป็นเวลานานกว่าเก้าปี จนในที่สุด ค.ศ.1492 (พ.ศ.2035) ทั้งสองพระองค์ก็ทรงมีเงินพอจะสนับสนุนโคลัมบัส ซึ่งไม่เพียงแค่สนับสนุนทางด้านเงินทุนเท่านั้น หากยังมอบตำแหน่งสำคัญทางทะเลให้โคลัมบัสอีกด้วย
2
ในเดือนสิงหาคมปีนั้น โคลัมบัสออกเดินทางจากสเปนพร้อมเรืออีกสามลำ นั่นคือ “นิญ่า (Nina)” “ปินต้า (Pinta)” และ “ซานตามาเรีย (Santa Maria)” โดยโคลัมบัสเลือกที่จะคุมเรือซานตามาเรีย
กองเรือของโคลัมบัส
ลูกเรือบนเรือทั้งสามลำนั้น มีรวมกัน 86 คน และถึงแม้โคลัมบัสคาดว่าการเดินทางครั้งนี้จะใช้เวลาเพียงสามสัปดาห์ แต่เขาก็เตรียมเสบียงไว้สำหรับหนึ่งปี
ชีวิตบนเรือนั้นยากลำบาก อาหารก็สกปรก ที่หลับที่นอนก็ไม่สบาย
นอกจากนั้น ชีวิตกลางทะเลก็อันตราย ไม่ว่าจะเป็นพายุหรืออุบัติเหตุ ความหวาดกลัวของลูกเรือ รวมทั้งยังมีโรคระบาด
การเดินทางครั้งนี้กินเวลานานกว่าที่โคลัมบัสบอกลูกเรือมาก ลูกเรือก็เริ่มจะสติแตก ทำให้โคลัมบัสเกรงว่าลูกเรือจะก่อกบฏ
เพื่อป้องกันการกบฏ โคลัมบัสจึงเตรียมสมุดบันทึกไว้สองเล่ม โดยเล่มหนึ่งจะเป็นข้อมูลปลอมที่เขียนว่าพวกเขาเพิ่งเดินทางออกมาเป็นระยะทางไม่ไกล ซึ่งเมื่อโคลัมบัสนำมาให้ลูกเรือดู ก็พอจะทำให้ลูกเรือสบายใจขึ้นบ้าง หากแต่ในสมุดบันทึกของจริง โคลัมบัสก็เขียนถึงระยะทางจริงๆ ซึ่งไกลกว่าที่เขาคาดเอาไว้มาก
1
จากบันทึกของโคลัมบัส ในคืนวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.1492 (พ.ศ.2035) โคลัมบัสเห็นแสงบางอย่างห่างออกไป ก่อนที่ในเวลาต่อมา เวลาราว 2.00 น. พวกเขาก็มาถึงฝั่ง
เนื่องขากในเวลานั้น ไม่มีใครทราบว่ามีทวีประหว่างยุโรปและเอเชีย โคลัมบัสจึงมั่นใจว่าได้มาถึงอินดีส์แล้ว
แต่ที่จริงแล้ว โคลัมบัสได้มาถึงเกาะแห่งหนึ่งในบาฮามาส
1
โคลัมบัสตั้งชื่อเกาะนั้นว่า “ซานซาลวาดอร์ (San Salvador)”
โคลัมบัสมาถึงซานซาลวาดอร์
โคลัมบัสอ้างว่าซานซาลวาดอร์เป็นเกาะของสเปนแล้ว ก่อนจะมุ่งไปยังคิวบา และไปยังเกาะฮิสปันโยลา (Hispaniola)
1
ที่เกาะฮิสปันโยลา โคลัมบัสได้พบกับชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งชนเผ่าไทโน ซึ่งโคลัมบัสเรียกว่า “อินเดียน” เนื่องจากเขาเข้าใจว่าชนเผ่านี้คือชาวอินดีส์
ชนเผ่าพื้นเมืองตื่นเต้นที่พบเจอคนแปลกหน้า แต่ก็ต้อนรับคณะของโคลัมบัสอย่างดี ได้นำเอาอาหารและน้ำดื่มมาให้ รวมทั้งทองคำ ส่วนโคลัมบัสก็มอบประคำที่ทำจากแก้ว กระดิ่ง และหมวกขนสัตว์ให้แก่ไทโน
1
โคลัมบัสขณะพบกับชนไทโน
โคลัมบัสนั้นต้องการที่จะนำเอาทองคำกลับไปให้มากกว่านี้ เนื่องจากตามข้อตกลงนั้น โคลัมบัสจะได้สมบัติที่พบเป็นจำนวน 10% ส่วนที่เหลือต้องถวายให้พระเจ้าเฟอร์ดินันด์ที่ 2 และพระราชินีอิซซาเบลลา
โคลัมบัสได้ยินว่ามีทองคำอยู่ทางเหนือของฮิสปันโยลา ดังนั้น เดือนธันวาคม ค.ศ.1492 (พ.ศ.2035) โคลัมบัสจึงเดินทางเพื่อตามหาทองคำ
ในเช้าตรู่ของวันหนึ่ง เรือซานตามาเรียที่โคลัมบัสประจำการ เกิดชนกับหินและอับปาง ทำให้โคลัมบัสจำเป็นต้องมีเรือเพิ่ม และต้องเดินทางกลับสเปน
ในเวลานั้น เรือปินต้าได้ออกสำรวจรอบๆ บริเวณนั้นอยู่ จึงเหลือเพียงนิญ่า ซึ่งก็ไม่ใหญ่พอที่จะจุลูกเรือได้ครบทุกคน โคลัมบัสจึงต้องให้ลูกเรือ 39 คนอยู่บนเกาะไปก่อน ไม่ได้เดินทางกลับพร้อมกับเขา
2
ลูกเรือของโคลัมบัสที่ถูกทิ้งบนเกาะได้สร้างที่พักอาศัยจากซากเรือ และตั้งชื่อว่า “La Navidad” ซึ่งเป็นภาษาสเปน แปลว่า “คริสมาสต์”
อีกสองวันต่อมา เรือปินต้าก็กลับมาถึง
โคลัมบัสได้รวบรวมทองคำ เครื่องเทศ นกแก้ว และได้จับตัวขาวไทโนมาบางส่วน นำกลับมาถวายองค์พระประมุขของสเปน
1
เรือทั้งสองลำออกเดินทางกลับสเปน หากแต่ก็พลัดหลงกันเนื่องจากพายุ แต่ก็กลับมาถึงสเปนได้ในที่สุด
ถึงแม้ว่าโคลัมบัสจะไม่ได้นำสมบัติกลับมามากมาย หากแต่เขาก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี มีการจัดงานเลี้ยงฉลองขนาดใหญ่
โคลัมบัสเข้าเฝ้าพระเจ้าเฟอร์ดินันด์ที่ 2 และพระราชินีอิซซาเบลลา ภายหลังจากเดินทางกลับถึงสเปน
กันยายน ค.ศ.1493 (พ.ศ.2036) โคลัมบัสได้เดินทางออกจากสเปนเพื่อกลับไปยังฮิสปันโยลา โดยครั้งนี้ โคลัมบัสมีกองเรือถึง 17 ลำ ลูกเรืออีก 1,500 คน
พวกเขาวางแผนจะสร้างอาณานิคม มีการนำฝูงสัตว์ไปด้วยเป็นจำนวนมาก
นี่เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “Columbian Exchange”
Columbian Exchange เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างยุโรปกับโลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอาหาร สัตว์ และแนวคิด
ภาพแสดงแนว Columbian Exchange
มีการนำม้า หมู อ้อย แอ๊ปเปิ้ล และข้าวสาลีมายังดินแดนใหม่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีการจับทาส รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคระบาดในโลกใหม่ ทำให้มีคนเสียชีวิตนับล้าน
เมื่อมาถึงฮิสปันโยลา โคลัมบัสก็ต้องพบว่าลูกเรือทั้ง 39 คนที่ทิ้งไว้บนเกาะ ต่างเสียชีวิตหมดแล้ว
ลูกเรือทั้ง 39 คนนี้ทั้งเหนื่อยและหิว จึงได้พยายามจะขโมยของจากพวกไทโน พวกไทโนจึงตอบโต้ เกิดความรุนแรง และทำให้ลูกเรือทั้ง 39 คนไม่มีใครรอดเลย
แต่โคลัมบัสก็ไม่ยอมแพ้ เขาได้พยายามจะตั้งอาณานิคมอีกครั้ง และเรียกที่นี่ว่า “La Isabela” หากแต่ทุกอย่างก็ไม่เป็นไปอย่างที่คิด
แทนที่จะก่อสร้างบ้านและหาทางเพาะปลูก พวกเขาต่างสนใจในการออกหาทองคำมากกว่า และอากาศบนเกาะที่ร้อนชื้น ก็ทำให้ลูกเรือจำนวนมากล้มป่วยและเสียชีวิต โคลัมบัสเองก็ล้มป่วยเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ในเวลาต่อมาได้เกิดพายุ ทำให้เรือทั้งหมดได้รับความเสียหาย บางลำพังยับเยิน
โคลัมบัสซึ่งหงุดหงิดในความล้มเหลว ได้บอกกับพวกไทโนว่าพวกเขาต้องนำทองคำตามจำนวนที่กำหนดมาให้โคลัมบัสทุกๆ สามเดือน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ฮิสปันโยลาไม่ได้มีทองคำมากพอที่โคลัมบัสต้องการ
ในเมื่อไม่สามารถหาทองคำได้ โคลัมบัสก็คิดวิธีอื่นที่จะเอาใจองค์เหนือหัวแห่งสเปนทั้งสองพระองค์ นั่นคือการจับตัวชาวไทโนจำนวน 500 คนไปเป็นทาส และส่งกลับไปยังสเปน
โคลัมบัสคิดว่าองค์เหนือหัวทั้งสองต้องพอพระทัยที่เห็นทาสชาวไทโน หากแต่ตรงกันข้าม พระราชินีอิซซาเบลลาทรงกริ้วมาก
พระราชินีอิซซาเบลลาทรงมีรับสั่งให้ส่งชาวไทโนกลับไป เนื่องจากพระองค์ทรงถือว่าชาวไทโนก็คือชาวสเปน เป็นประชาชนของพระองค์ ดังนั้นชาวไทโนต้องเป็นอิสระ
1
องค์เหนือหัวทั้งสองทรงผิดหวังในตัวโคลัมบัส หากแต่โคลัมบัสก็ได้โน้มน้าวจนทั้งสองพระองค์ ทรงยอมให้โคลัมบัสออกเดินทางเป็นครั้งที่สามในปีค.ศ.1498 (พ.ศ.2041)
โคลัมบัสทำพลาดอีกครั้ง โคลัมบัสนึกว่าตนได้มาถึงสถานที่ๆ มีทองคำมากมาย หากแต่ก็คิดผิด
ทางด้านฮิสปันโยลา โคลัมบัสได้ทิ้งให้น้องของตนประจำการ คอยดูแลความเรียบร้อย หากแต่ในเวลานี้ ลูกเรือของโคลัมบัสและชาวไทโน ได้ร่วมมือกันก่อกบฏ ซึ่งน้องของโคลัมบัสก็ได้ทำการปราบปรามอย่างรุนแรง
เมื่อโคลัมบัสมาถึง แทนที่สถานการณ์จะดีขึ้น กลับแย่ลงอีก และสถานการณ์ก็แย่มากซะจนต้องมีการส่งผู้พิพากษามาจากสเปน และทำการจับกุมโคลัมบัสกับน้องทั้งสองคน ใส่โซ่ตรวน ลงเรือกลับสเปนในปีค.ศ.1500 (พ.ศ.2043)
โคลัมบัสขณะถูกล่ามโซ่ ส่งกลับสเปน
หากแต่การเดินทางของโคลัมบัสยังไม่สิ้นสุด องค์เหนือหัวทั้งสองมีรับสั่งให้ปล่อยโคลัมบัส และส่งเขาให้ออกเดินทางครั้งที่สี่ในปีค.ศ.1502 (พ.ศ.2045)
แต่การเดินทางครั้งนี้ ห้ามโคลัมบัสกลับไปฮิสปันโยลา อีกทั้งตำแหน่ง ความดีความชอบต่างๆ ของโคลัมบัสก็ถูกถอด เรียกคืนจนหมด
หน้าที่ของโคลัมบัสในครั้งนี้ คือการหาทางเข้าสู่มหาสมุทรอินเดียจากคิวบา ซึ่งแน่นอนว่าไม่มี และโคลัมบัสก็ยอมแพ้ เปลี่ยนไปออกตามหาทองคำอีกครั้ง
แต่แผนใหม่ของโคลัมบัสก็ไม่สำเร็จ ได้เกิดพายุ ทำให้เรือของเขาได้รับความเสียหาย โคลัมบัสและลูกเรือจึงต้องติดอยู่ที่จาไมกาเป็นเวลากว่าหนึ่งปี
1
โคลัมบัสและลูกเรือได้รับการช่วยเหลือจากข้าหลวงฮิสปันโยลาในปีค.ศ.1504 (พ.ศ.2047) ซึ่งโคลัมบัสก็ล้มป่วยและถูกส่งกลับสเปน
โคลัมบัสเสียชีวิตในปีค.ศ.1506 (พ.ศ.2049)
โคลัมบัสเสียชีวิต
ในเวลาต่อมา จะมีการค้นพบทองคำที่โคลัมบัสตามหา อีกทั้งชาวยุโรปยังทราบว่า มีดินแดนที่เต็มไปด้วยทรัพยากรมีค่าและชนเผ่าที่จะสามารถเกณฑ์ให้มาเข้ารีต นับถือศาสนาคริสต์ ตั้งอยู่ระหว่างยุโรปและเอเชีย
นักสำรวจไม่จำเป็นต้องไปถึงจีน พวกเขาจะเข้ายึดครองโลกใหม่นี้เอง
ทางด้านโปรตุเกส พระเจ้าจอห์นที่ 2 ได้สวรรคตในปีค.ศ.1495 (พ.ศ.2038) “พระเจ้ามานูเอลที่ 1 แห่งโปรตุเกส (Manuel I of Portugal)” ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าจอห์นที่ 2
พระเจ้ามานูเอลที่ 1 แห่งโปรตุเกส (Manuel I of Portugal)
พระองค์ได้พระราชทานกองเรือจำนวนสี่ลำให้ “วัชกู ดากามา (Vasco da Gama)” ออกเดินทะเล ซึ่งดากามาก็ได้เดินเรือจากลิสบอน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของโปรตุเกส ล่องไปตามแหลมทางใต้ของแอฟริกา และขึ้นไปทางอ่าวตะวันออก ข้ามมหาสมุทรอินเดียไปยังแคลิคัต ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าของมุสลิมในอินเดีย โดยคณะของดากามามาถึงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1498 (พ.ศ.2041)
วัชกู ดากามา (Vasco da Gama)
การเดินทางของดากามานั้นใช้เวลานานกว่า 10 เดือน ตลอดเส้นทางก็ถูกโจมตี ลูกเรือหลายรายก็ติดโรคและเสียชีวิต และศพลูกเรือก็มีมากซะจนดากามาต้องให้เผาเรือหนึ่งลำ เนื่องจากไม่มีลูกเรือมากพอที่จะให้ประจำอยู่บนเรือลำนั้น
และดากามาก็ไม่ได้กลับไปโปรตุเกสพร้อมทรัพย์สมบัติมหาศาล สินค้าที่ดากามานำมาค้าขายในอินเดียก็ไม่ได้น่าตื่นตาตื่นใจนัก เขาจึงได้เพียงเครื่องเทศกลับมาเล็กน้อย
แต่ถึงอย่างนั้น พระเจ้ามานูเอลที่ 1 ก็ทรงชื่นชมยินดี ในที่สุด พวกเขาก็พบเส้นทางตรงสู่อินเดีย
ดากามาขณะเข้าเฝ้าประมุขแห่งแคลิคัต
ในเมื่อค้นพบเส้นทางใหม่แล้ว พระเจ้ามานูเอลที่ 1 ก็ทรงต้องการที่จะยึดครองการค้าเครื่องเทศจากมุสลิม พระองค์ทรงต้องการให้การค้าเครื่องเทศตกเป็นของโปรตุเกส
ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1500 (พ.ศ.2043) พระองค์ทรงส่ง “เปดรู อัลวารึช กาบรัล (Pedro Álvares Cabral)” พร้อมด้วยกองเรืออีก 13 ลำ ออกเดินทาง ทำตามพระราชประสงค์ของพระองค์
แต่การเดินทางของกาบรัล นำพาเขาไปยังบริเวณที่คาดไม่ถึง
ในระหว่างทาง ตามเส้นทางอ่าวทางตะวันตกของแอฟริกา เขาก็ได้มาพบเจอกับบราซิล ซึ่งกาบรัลก็อ้างสิทธิ ให้ดินแดนนี้เป็นของโปรตุเกส
เปดรู อัลวารึช กาบรัล (Pedro Álvares Cabral)
ภายหลังจากพักอยู่ในบราซิลเป็นระยะเวลาสั้นๆ กาบรัลก็ออกเดินทางไปทางตะวันออก มุ่งสู่อินเดีย
แต่เมื่อกองเรือของกาบรัลอ้อมมาถึงแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งอยู่ทางใต้ของแอฟริกา ก็ได้เกิดพายุ ทำให้เรือจำนวนสี่ลำอับปาง ลูกเรือเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งดีแอส ซึ่งได้ร่วมเดินทางมาด้วย
เมื่อกองเรือที่เหลือมาถึงแคลิคัต พวกเขาก็ได้รับการต้อนรับที่ดีกว่าดากามามาก เนื่องจากคราวนี้ พระเจ้ามานูเอลที่ 1 ได้ทรงส่งของขวัญที่ล้ำค่ากว่าคราวที่แล้วมามาก ทำให้กาบรัลได้สิทธิทางการค้ามากมาย
แต่ดูเหมือนว่าเหล่าพ่อค้ามุสลิมในแคลิคัตจะไม่พอใจ พวกเขาได้ทำการโจมตีและฆ่าชาวโปรตุเกสเป็นจำนวนมาก ซึ่งกาบรัลก็โต้กลับด้วยการเผากองเรือมุสลิมจำนวน 10 ลำ ซึ่งมีลูกเรืออยู่บนเรือกว่า 600 คน ก่อนจะโจมตีเมือง
จากนั้น กาบรัลก็มุ่งไปทางใต้ ตรงไปยังท่าเรือโคชิน และทำสนธิสัญญาที่นั่น
ในที่สุด โปรตุเกสก็เข้าสู่การค้าเครื่องเทศอย่างเต็มตัว
ในปีค.ศ.1502 (พ.ศ.2045) พระเจ้ามานูเอลที่ 1 ทรงส่งดากามากลับไปยังอินเดียอีกครั้ง พร้อมกองเรือกว่า 20 ลำ โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสดงแสนยานุภาพของโปรตุเกสและข่มขวัญเหล่ามุสลิม
เมื่อกองเรือของดากามาเดินทางมาถึงอ่าวทางตะวันออกของแอฟริกา ก็ได้ทำการโจมตีสถานีการค้าของมุสลิม อีกทั้งยังเผาเรือของมุสลิมที่เต็มไปด้วยผู้แสวงบุญจากเมกกะ
เรือมุสลิมที่ถูกดากามาโจมตี
โปรตุเกสได้ทำสงครามกับพ่อค้ามุสลิมเป็นเวลาหลายปี หากแต่โปรตุเกสมีกองเรือที่ทันสมัยและจำนวนมากกว่าของมุสลิม
ภายในปีค.ศ.1511 (พ.ศ.2054) โปรตุเกสก็ได้กุมอำนาจในเส้นทางเครื่องเทศทางตะวันออกไว้ทั้งหมด
เมื่อประสบความสำเร็จในการยึดครองเส้นทางเครื่องเทศ ก็ได้มีนักสำรวจชาวโปรตุเกสอีกคนหนึ่ง ต้องการจะไปให้ถึงหมู่เกาะเครื่องเทศ
นักสำรวจผู้นั้นคือ “เฟอร์ดินันด์ มาเจลลัน (Ferdinand Magellan)”
เฟอร์ดินันด์ มาเจลลัน (Ferdinand Magellan)
มาเจลลันเชื่อว่าหากเดินเรือไปทางทิศตะวันตก ก็จะถึงหมู่เกาะเครื่องเทศ
2
มาเจลลันได้ออกเดินทางจากอเมริกาใต้ ล่องไปทางอ่าวด้านตะวันออก โดยเขาได้ยินว่ามีช่องแคบที่เชื่อมตรงไปทางใต้ของทวีป ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่ปลอดภัยและรวดเร็ว
หากแต่พระเจ้ามานูเอลที่ 1 ไม่ทรงสนพระทัยในความคิดของมาเจลลัน ทำให้มาเจลลันได้เข้าหาสเปน เผื่อว่าสเปนอาจจะสนใจ
จริงดังหวัง “จักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Charles V, Holy Roman Emperor)” กษัตริย์แห่งสเปนในเวลานั้น ทรงตอบรับ ยินดีให้การสนับสนุนการออกสำรวจของมาเจลลัน
4
จักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Charles V, Holy Roman Emperor)
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 ได้พระราชทานกองเรือจำนวนห้าลำ ลูกเรืออีก 270 นายให้มาเจลลัน โดยมาเจลลันประจำการบนเรือที่ชื่อว่า “ทรินิแดด (Trinidad)”
มาเจลลันออกเดินทางจากสเปนในเดือนกันยายน ค.ศ.1519 (พ.ศ.2062) โดยทิ้งภรรยาและลูกที่เพิ่งคลอดไว้ที่สเปน
การเดินทางนั้นเลวร้ายตั้งแต่ต้น โดยกองเรือของเขาได้แวะพักที่เกาะกานาเรียส ซึ่งที่นี่เอง มาเจลลันก็ได้รู้ว่ากัปตันเรือของเขาสามคนได้วางแผนจะก่อกบฏและฆ่าเขา
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อพระเจ้ามานูเอลที่ 1 ทรงทราบว่ามาเจลลันไปขอการสนับสนุนจากสเปน พระองค์ก็ทรงกริ้วมากและส่งกองเรือโปรตุเกสมาตามถล่มมาเจลลัน
แต่ถึงจะตกอยู่ในอันตราย หากแต่มาเจลลันก็ยังวางเฉย ไม่แสดงท่าทีกระโตกกระตาก เพียงแต่ให้เปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือเพื่อหลีกเลี่ยงกองเรือโปรตุเกส และคอยจับตาดูกัปตันทั้งสามที่คิดจะก่อกบฏ
การเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกใช้เวลาสองสัปดาห์ โดยพวกเขาได้มาขึ้นท่าที่บราซิล และได้ทำการรวบรวมเสบียงและน้ำดื่ม อีกทั้งยังให้ชนเผ่าหลายๆ คนมาเข้ารีตได้สำเร็จ
จากนั้น มาเจลลันก็ล่องเรือไปทางใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่ขั้วโลกใต้
อากาศนั้นเริ่มหนาวเย็น พายุก็กระหน่ำ และบริเวณนี้เอง พวกเขาก็ได้เห็นสัตว์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น นกเพนกวิ้น
ขั้วโลกใต้
ปลายเดือนมีนาคม ค.ศ.1520 (พ.ศ.2063) ฤดูหนาวกำลังมา คณะของมาเจลลันจึงตัดสินใจจะแวะพักในบริเวณที่เรียกว่า “ปาตาโกเนีย (Patagonia)” ซึ่งปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของชิลีและอาร์เจนตินา
ในเวลาต่อมา กัปตันทั้งสามที่คิดกบฏ ได้คิดจะลงมือก่อการ หากแต่มาเจลลันที่รู้ทันได้เตรียมพร้อมอยู่แล้ว
กัปตันสองนายถูกฆ่า ส่วนอีกหนึ่งถูกทิ้งให้อยู่บนปาตาโกเนีย
ในขณะที่ทำการซ่อมแซมเรือ มาเจลลันก็ได้ส่งเรือลำหนึ่งออกไปสำรวจช่องแคบ หากแต่เรือก็อับปางเนื่องจากพายุ ทำให้ต้องพักการสำรวจ
ในเดือนสิงหาคม คณะของมาเจลลันได้ทำการสำรวจช่องแคบอีกครั้ง และพบช่องแคบในเดือนตุลาคม
แต่การสำรวจนี้ก็เป็นอะไรที่เหน็ดเหนื่อย ทำให้ลูกเรือของมาเจลลันไม่เอาแล้ว หนึ่งในเรือของมาเจลลันจึงไม่ไปต่อ หันหัวเรือกลับบ้าน
มาเจลลันเหลือเรือเพียงสามลำ
ภายหลังจากล่องอยู่ในช่องแคบเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือน พวกเขาก็หลุดออกมายังมหาสมุทร ซึ่งมาเจลลันก็ได้ตั้งชื่อว่า “Mar Pacifico” หรือ “แปซิฟิก (Pacific)” ซึ่งแปลว่า “สงบ” เนื่องจากมหาสมุทรนี้เงียบสงบ ปราศจากคลื่นลม
มาเจลลันเป็นชาวยุโรปรายแรกที่ล่องเรือจากมหาสมุทรแอตแลนติกมาถึงมหาสมุทรแปซิฟิก แต่หนทางยังอีกยาวไกล
ในเวลานั้น หนูได้กัดกินอาหารบนเรือจนแทบไม่เหลือ ลูกเรือจึงต้องกินขี้เลื่อยและเศษหนังเพื่อประทังชีวิต
ในที่สุด พวกเขาก็เห็นฝั่งในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.1521 (พ.ศ.2064)
คณะของมาเจลลันมาขึ้นฝั่งยังเกาะกวม ซึ่งอยู่ทางใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งพวกเขาก็ได้แวะพัก รวบรวมเสบียงและน้ำดื่ม
4
มาเจลลันได้อ้างกรรมสิทธิว่าเกาะกวมนี้เป็นของสเปน และที่นครเซบู มาเจลลันก็ได้ผูกมิตรกับชนเผ่าพื้นเมือง
หัวหน้าชนเผ่าพื้นเมืองได้ขอให้มาเจลลันช่วยขับไล่ศัตรูจากเกาะมัคทัน ซึ่งอยู่ไม่ไกล และมาเจลลันก็ตกลงจะช่วย
นี่เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดมหันต์
ในระหว่างที่ทำการต่อสู้กับศัตรูในเดือนเมษายน ค.ศ.1521 (พ.ศ.2064) มาเจลลันก็ถูกลูกธนูอาบยาพิษยิง ก่อนจะถูกแทงจนเสียชีวิต
มาเจลลันถูกฆ่า
มาเจลลันเพิ่งเดินทางรอบโลกได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น
1
จากนั้น หัวหน้าชนเผ่าที่เป็นมิตรกับมาเจลลัน ก็ได้หลอกลูกเรือของมาเจลลันที่ยังเหลือ หลอกว่าจะมีงานเลี้ยง ขอเชิญเข้าร่วม โดยลูกเรือที่ตอบรับเข้าร่วมในงานเลี้ยงมีจำนวน 30 นาย
ในงานเลี้ยง มีทั้งเหล้าและอาหารมากมาย แต่ภายหลังจากทานอาหารเสร็จ ชนเผ่าก็รุมฆ่าลูกเรือของมาเจลลัน ที่รอดก็ถูกจับเป็นทาส
ภายหลังจากการต่อสู้ ลูกเรือของมาเจลลันที่เหลือมีจำนวน 115 นาย ซึ่งไม่พอที่จะบังคับเรือจำนวนสามลำ จึงต้องเผาเรือลำหนึ่งทิ้ง
8 พฤศจิกายน ค.ศ.1521 (พ.ศ.2064) ลูกเรือก็ได้เดินทางมาถึงหมู่เกาะเครื่องเทศ และได้ทำการแลกเปลี่ยนสินค้า ได้กานพลูและเครื่องเทศต่างๆ มาเต็มลำเรือ
แต่เรื่องวุ่นๆ ยังไม่จบ ขณะที่พวกเขากำลังจะเดินทางกลับสเปน เรือลำหนึ่งนั้นเกิดรั่ว ต้องทำการซ่อมแซม ยังไม่สามารถกลับได้ และภายหลังเรือลำนั้นก็ถูกทางการโปรตุเกสจับและทำลายทิ้ง
กันยายน ค.ศ.1522 (พ.ศ.2065) สามปีหลังจากออกเดินทางสำรวจครั้งแรก เรือลำที่เหลือก็กลับถึงสเปนพร้อมเครื่องเทศเต็มลำเรือ หากแต่ลูกเรือนั้น เหลือเพียง 18 นาย จากครั้งแรก 271 นาย
ถึงแม้มาเจลลันจะได้ชื่อว่าเป็นชายคนแรกที่เดินทางรอบโลก หากแต่เขาก็ไม่เคยทำได้สำเร็จจริงๆ
1
แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ทุกคนก็ประจักษ์ว่าการล่องเรือรอบโลกนั้นเป็นไปได้
ในช่วงศตวรรษที่ 16 นี้ ได้เกิดนักสำรวจที่ต้องการออกสำรวจเพื่อตามหาอารยธรรมโบราณ และหาสมบัติ
“ควน ปอนเซ เด เลออน (Juan Ponce de León)” เป็นที่รู้จักในฐานะชาวยุโรปคนแรกที่ออกสำรวจฟลอริด้า
ควน ปอนเซ เด เลออน (Juan Ponce de León)
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1513 (พ.ศ.2056) เขาได้ตั้งชื่อบริเวณนี้ว่า “La Florida” ซึ่งแปลว่า “เต็มไปด้วยดอกไม้”
1
เด เลออนเป็นทั้งนักสำรวจและวิศวกร และเป็นหนึ่งในคณะที่ติดตามโคลัมบัสในคราวออกสำรวจครั้งที่สอง ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงแห่งฮิสปันโยลา
เด เลออนถูกส่งไปเปอร์โตริโกในปีค.ศ.1508 (พ.ศ.2051) เพื่อตามหาทองคำ ซึ่งนอกจากเขาจะพบทองคำแล้ว ยังได้ก่อตั้งอาณานิคม ซึ่งภายหลังคือเมืองซานฮวน เมืองหลวงของเปอร์โตริโก
ซานฮวน
ในปีค.ศ.1516 (พ.ศ.2059) เด เลออนได้เป็นชาวยุโรปคนแรกที่เหยียบเม็กซิโก และเพราะแผนที่เดินเรือของเด เลออนนี้เอง ทำให้นักสำรวจอีกคนหนึ่ง นั่นคือ “เฮอร์นัน กอร์เตส (Hernán Cortés)” สามารถมาถึงเม็กซิโกในปีค.ศ.1519 (พ.ศ.2062)
กอร์เตสผู้นี้จะเป็นผู้ทำลายจักรวรรดิแอซเท็ก (Aztec) ในช่วงที่จักรวรรดินี้รุ่งเรืองสุดขีด
เฮอร์นัน กอร์เตส (Hernán Cortés)
จักรวรรดิแอซเท็ก ตั้งอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันคือภาคกลางและภาคใต้ของเม็กซิโก และเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ มั่งคั่ง และทรงอำนาจ
จักรวรรดิแอซเท็ก
จักรวรรดิแอซเท็กประกอบด้วยนครรัฐหลายแห่ง ล้อมรอบเมืองเตนอชตีตลัน (Tenochtitlan) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในราวปีค.ศ.1325 (พ.ศ.1868)
มีคนอาศัยอยู่ในเตนอชตีตลันอย่างน้อย 200,000 คน สังคมในเมืองก็มีการแบ่งแยกระหว่างชนชั้นสูงและสามัญชนอย่างชัดเจน และยังมีทาสอีกด้วย
เมืองนี้มีโรงเรียนทหารที่เข้มงวด และมีพิธีกรรมบูชายัญมนุษย์เช่นเดียวกับอารยธรรมโบราณหลายๆ แห่ง มีการปลูกพืช ล่าสัตว์ มีผ้าต่างๆ ที่สวยงาม และยังมีระบบปฏิทินที่มี 365 วัน มีภาษาเขียน ตลาดในเมืองก็ดึงดูดคนได้นับหมื่น
ตลาดในเมืองเตนอชตีตลัน
กอร์เตสได้ยินถึงความรุ่งเรืองของดินแดนแห่งนี้ และเขาก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งเมื่อข้าหลวงแห่งคิวบาได้ขอให้เขาออกสำรวจเม็กซิโก
แต่ภายหลัง ข้าหลวงเกิดเปลี่ยนใจ หากแต่กอร์เตสก็ไม่สน เขารวบรวมคนได้ 600 คน และล่องเรือไปยังเวรากรูซ ซึ่งเป็นเมืองบนอ่าวเม็กซิโก
เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คนของเขาคิดจะกลับ เมื่อมาถึงแล้ว เขาจึงจัดการเผาเรือของตน
จากนั้น กอร์เตสก็พาทัพออกเดินทางเป็นเวลานับเดือน ฝ่าป่าดงเพื่อไปยังเตนอชตีตลัน โดยกองทัพของกอร์เตสมีทั้งปืนและม้า เหนือกว่าเหล่าชนเผ่าพื้นเมือง
1
ระหว่างทาง กอร์เตสได้พบกับชนเผ่าพื้นเมืองที่จงเกลียดจงชังประมุขแห่งจักรวรรดิแอซเท็ก เนื่องจากพวกตนต้องยอมอยู่ใต้อำนาจของประมุขแห่งจักรวรรดิแอซเท็ก
ประมุขแห่งจักรวรรดิแอซเท็กในเวลานั้น คือ “จักรพรรดิมอกเตซูมาที่ 2 (Moctezuma II)”
จักรพรรดิมอกเตซูมาที่ 2 (Moctezuma II)
กอร์เตสเห็นช่องทาง เขาจึงทำการชักชวนให้เหล่าชนเผ่าพื้นเมืองเข้าร่วมกับเขา
กองทัพของกอร์เตส ซึ่งในเวลานี้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,600 คน ได้มาถึงเตนอชตีตลันในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1519 (พ.ศ.2062)
พระเจ้ามอกเตซูมาที่ 2 ได้ทรงต้อนรับกอร์เตสอย่างดี โดยพระองค์ได้พระราชทานสิ่งของและทองคำแก่กอร์เตสมากมาย
แต่จากนั้นไม่นาน กอร์เตสก็สั่งให้คนของเขาจับพระเจ้ามอกเตซูมาที่ 2 และยึดเมืองเตนอชตีตลัน รวมทั้งกักตุนทองคำจำนวนมาก
พระเจ้ามอกเตซูมาที่ 2 ทรงถูกควบคุมองค์
กอร์เตสนั้นประทับใจในความรุ่งเรืองของเมืองแห่งนี้มาก โดยในจดหมายที่เขาเขียนไปถวายองค์เหนือหัวแห่งสเปน เขาได้บรรยายถึงตลาดที่คึกคัก มีทั้งร้านขายยา ร้านตัดผม ร้านอาหาร มีแทบทุกอย่างบนโลก
ต่อมา กอร์เตสก็ทราบว่าข้าหลวงแห่งคิวบาได้ส่งคนมาตามจับเขา เขาจึงรวบรวมกองทัพ และออกจากเตนอชตีตลันเพื่อต่อสู้
กอร์เตสได้ทิ้งให้ลูกน้องที่ชื่อ “เปโดร เดอ อัลบาราโด (Pedro de Alvarado)” อยู่ดูแลเมืองเตนอชตีตลัน
เปโดร เดอ อัลบาราโด (Pedro de Alvarado)
กอร์เตสออกรบและสามารถเอาชนะกองทัพของข้าหลวงแห่งคิวบา แต่ขณะเดียวกัน ที่เมืองเตนอชตีตลัน เดอ อัลบาราโดกำลังวางแผนจะสังหารหมู่ชาวแอซเท็กนับพัน
ในเวลานั้นกำลังมีเทศกาลในเมือง ผู้คนจึงมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งง่ายต่อการลงมือ
เมื่อกอร์เตสกลับมาถึงเตนอชตีตลัน เขาก็ต้องพบว่าทั้งเมืองเกิดกบฏ เต็มไปด้วยความวุ่นวาย พระเจ้ามอกเตซูมาที่ 2 ก็ถูกปลงพระชนม์ในช่วงชุลมุน
กอร์เตสเห็นว่าทัพของตนนั้นมีจำนวนน้อยกว่า ไม่สามารถต้านทานได้ เขาจึงรวบรวมคนที่เหลือ และหนีออกจากเตนอชตีตลัน
กอร์เตสสูญเสียคนไปกว่าครึ่ง ทรัพย์สมบัติที่ได้มาก็สูญสลายไปหมด
กอร์เตสซึ่งหนีออกมาจากเมือง
แต่กอร์เตสก็ไม่ยอมแพ้ เขาได้กลับไปเตนอชตีตลัน และอาศัยจังหวะที่ชาวแอซเท็กกำลังอ่อนแอ ล้มป่วยจากไข้ทรพิษ ซึ่งก็ติดมาจากชาวสเปน โจมตีในเวลานี้
กอร์เตสได้ทำลายเสบียงและน้ำดื่มของชาวแอซเท็ก และภายในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1521 (พ.ศ.2064) จักรวรรดิแอซเท็กก็ต้องพ่ายแพ้
จักรวรรดิแอซเท็กได้เปลี่ยนชื่อเป็น “นิวสเปน (New Spain)” และในปีค.ศ.1522 (พ.ศ.2065) กอร์เตสได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงแห่งนิวสเปน
ภายในเวลาไม่ถึงสองปี กอร์เตสได้เอาชนะอารยธรรมที่รุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่ง และผ่านมากว่า 500 ปี ภาษาที่ใช้กันมากที่สุดในเม็กซิโกก็คือภาษาสเปน
2
สงครามยึดเตนอชตีตลัน
ไม่เพียงแค่กอร์เตส หากแต่ญาติของเขาที่ชื่อ “ฟรันซิสโก ปิซาร์โร (Francisco Pizarro)” ก็จะเป็นผู้ทำลายอารยธรรมอีกแห่งหนึ่งเช่นกัน
ปิซาร์โรเคยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองปานามา และเขาก็ได้ยินเรื่องราวความมั่งคั่งรุ่งเรืองของจักรวรรดิอินคา ซึ่งเป็นจักรวรรดิที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาแอนดีส
1
การไปยังเทือกเขาแอนดีสนั้นยากลำบาก ปิซาร์โรและคณะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะหาตำแหน่งที่ตั้งเจอ
ฟรันซิสโก ปิซาร์โร (Francisco Pizarro)
จักรวรรดิอินคานั้นรุ่งเรืองไม่ต่างอะไรจากจักรวรรดิแอซเท็ก เมืองกุสโก (Cuzco) ซึ่งเป็นเมืองหลวง มีประชากรกว่า 12 ล้านคน และกว้างใหญ่ไพศาล ระยะทางจากเหนือลงใต้นั้นยาวกว่า 3,200 กิโลเมตร
นอกจากนั้น กุสโกยังมีกองทัพขนาดใหญ่ และมีการใช้ลูกคิดในการคำนวน มีการเก็บภาษี มีระบบการรดน้ำพืชผล รวมทั้งมีการปลูกมันฝรั่ง ซึ่งเป็นของใหม่ในเวลานั้น และมีการสร้างถนนเป็นระยะทางกว่า 24,900 กิโลเมตร
เวลานั้นคือปีค.ศ.1532 (พ.ศ.2075) “จักรพรรดิฮวยน่า กาปัค (Huayna Capac)” ประมุขแห่งจักรวรรดิอินคา เพิ่งจะสวรรคต และพระราชโอรสทั้งสองของพระองค์ก็กำลังสู้กันเองเพื่อชิงบัลลังก์
จักรพรรดิฮวยน่า กาปัค (Huayna Capac)
“อทาฮวลปา (Atahualpa)” พระราชโอรสของจักรพรรดิฮวยน่า กาปัค ได้สังหารพระเชษฐาได้สำเร็จ
จากนั้น กองทัพของปิซาร์โร ก็ได้บุกโจมตีทัพของอทาฮวลปา ฆ่าชาวอินคาไปนับพัน และจับอทาฮวลปาเป็นองค์ประกันถึงแปดเดือน
ปิซาร์โรได้เจรจากับอทาฮวลปา โดยกล่าวว่าเขาจะปล่อยอทาฮวลปา หากว่าอทาฮวลปาจะยอมมอบทองคำและเงินจำนวนมากพอที่จะทำให้เต็มห้องหนึ่งห้อง ซึ่งอทาฮวลปาก็ยอมตกลง
แต่ถึงอย่างนั้น ปิซาร์โรก็สั่งให้ประหารอทาฮวลปา
การประหารอทาฮวลปา
เมื่อประหารอทาฮวลปา ปิซาร์โรก็ยึดครองจักรวรรดิอินคา และย้ายเมืองหลวงไปยังชายฝั่งแปซิฟิก และเรียกเมืองใหม่นี้ว่า “ลิมา (Lima)”
1
แต่ดูเหมือนว่า “ดิเอโก เดอ อัลมาโกร (Diego de Almagro)” ซึ่งเป็นหนึ่งในคนของปิซาร์โร จะไม่ค่อยพอใจเท่าไรนัก และไม่ได้อยากทำงานให้ปิซาร์โร
1
ในภายหลัง ชาวอินคาได้เข้ายึดครองกุสโกคืนจากปิซาร์โร จากนั้น เดอ อัลมาโกรก็ได้นำกองทัพของตนเองบุกเข้ายึดเมือง
ดิเอโก เดอ อัลมาโกร (Diego de Almagro)
แต่ปิซาร์โรก็ไม่ยอมง่ายๆ เขาได้จับตัวเดอ อัลมาโกร และประหารในที่สุด
อีกสามปีต่อมา ลูกชายของเดอ อัลมาโกร ต้องการจะล้างแค้นให้พ่อ และได้ฆ่าปิซาร์โรในปีค.ศ.1541 (พ.ศ.2084)
ในเมื่อสเปนและโปรตุเกสได้ออกสำรวจโลกใหม่ไปมากแล้ว แล้วประเทศอื่นล่ะ? ได้ออกสำรวจบ้างหรือไม่?
คำตอบคือ “มี” ครับ
ในเวลานั้น มีหลายคนที่มั่นใจว่ายังมีทางอื่นไปยังอินดีส์ นั่นคือ “ช่องทางตะวันตกเฉียงเหนือ(The Northwest Passage)”
ช่องทางตะวันตกเฉียงเหนือ(The Northwest Passage)
ช่องทางนี้คือการเดินทางจากมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังแปซิฟิก โดยการล่องเรือเข้าไปในมหาสมุทรอาร์กติก ใกล้กับขั้วโลกเหนือ
ค.ศ.1524 (พ.ศ.2067) “พระเจ้าฟรานซิสที่ 1 แห่งฝรั่งเศส (Francis I of France)” ได้ทรงสนับสนุนการออกสำรวจ โดยมีการเลือกนักสำรวจชาวอิตาลีที่ชื่อ “โจวันนี ดา แวร์รัซซาโน (Giovanni da Verrazzano)” มาเป็นผู้นำการสำรวจ
พระเจ้าฟรานซิสที่ 1 แห่งฝรั่งเศส (Francis I of France)
แวร์รัซซาโนคิดว่าน่าจะหาทางออกไปสู่แปซิฟิกจากแอตแลนติกได้ โดยต้องเดินทางเข้าไปในอเมริกาเหนือ
หากแต่ความพยายามนี้ล้มเหลว เขาจึงทำการสำรวจชายฝั่งทะเลตะวันออกของแอฟริกา
แวร์รัซซาโนได้ส่งจดหมายมาถวายพระเจ้าฟรานซิสที่ 1 โดยได้เขียนบรรยายถึงการพบเจอกับชนเผ่าพื้นเมือง โดยครั้งนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองเป็นมิตร ไม่มีอันตราย
โจวันนี ดา แวร์รัซซาโน (Giovanni da Verrazzano)
ในปีค.ศ.1528 (พ.ศ.2071) แวร์รัซซาโนได้ออกเดินทางเป็นครั้งที่สาม เพื่อตามหาเส้นทางไปเอเชีย
พวกเขาได้ไปถึงทะเลแคริบเบียนและตัดสินใจจะสำรวจเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่ง โดยแวร์รัซซาโนได้นำลูกเรือบางส่วนลงเรือเล็ก มุ่งไปยังเกาะเล็ก
แต่พวกเขาถูกชนเผ่าพื้นเมืองจับ และถูกฆ่า จากนั้นก็ถูกนำไปกิน โดยที่คนบนเรือใหญ่ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย
ทางด้านอังกฤษ ก็มีความสนใจในการตามหาเส้นทางใหม่ไปสู่อินดีส์
ในปีค.ศ.1497 (พ.ศ.2040) และค.ศ.1498 (พ.ศ.2041) “พระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษ (Henry VII of England)” ได้ส่งนักสำรวจที่ชื่อ “จอห์น แคบอต (John Cabot)” ออกตามหาช่องทางตะวันตกเฉียงเหนือ
พระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษ (Henry VII of England)
จอห์น แคบอต (John Cabot)
แคบอตไม่สามารถหาช่องทางตะวันตกเฉียงเหนือ แต่เขาก็พบกับ “นิวเฟานด์แลนด์ (Newfoundland)” ในปีค.ศ.1497 (พ.ศ.2040) และอ้างกรรมสิทธิในอเมริกาเหนือว่าเป็นของอังกฤษ ซึ่งทำให้อังกฤษอ้างกรรมสิทธิในแคนาดาในเวลาต่อมา
แคบอตหายตัวไปในการสำรวจครั้งต่อไป และไม่มีใครพบเจอเขาอีกเลย
ต่อมาในปีค.ศ.1610 (พ.ศ.2153) นักสำรวจชาวอังกฤษที่ชื่อ “เฮนรี ฮัดสัน (Henry Hudson)” พร้อมลูกชายและลูกเรืออีก 23 คน ได้ออกเดินทางจากลอนดอน ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก
เฮนรี ฮัดสัน (Henry Hudson)
นี่เป็นความพยายามครั้งที่สองของฮัดสันในการออกตามหาช่องทางตะวันตกเฉียงเหนือ หลังจากมีปัญหาในครั้งแรก
ฮัดสันล่องเรือไปถึงไอซ์แลนด์และรอบๆ กรีนแลนด์
เรือของฮัดสันล่องเข้าไปในช่องแคบ และเข้ามาสู่อ่าวแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะมุ่งลงใต้เพื่อหาช่องทางตะวันตกเฉียงเหนือ แต่ก็จบลงด้วยการที่เรือเข้ามาติดในธารน้ำแข็งที่บริเวณอ่าวเจมส์
ฮัดสันและคณะขณะติดอยู่ในธารน้ำแข็ง
เวลาผ่านไปเรื่อยๆ และเมื่อฤดูหนาวมาถึง ลูกเรือต่างหนาวเหน็บและหิวโหย ต่างกล่าวโทษว่าฮัดสันนั้นแอบกักตุนเสบียง
เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง ฮัดสันต้องการจะออกเดินทางต่อ หากแต่ลูกเรือไม่เอาด้วยแล้ว
ลูกเรือได้บังคับให้ฮัดสันและลูกชาย รวมทั้งลูกเรือที่ป่วยอีกเจ็ดนาย ลงเรือเล็ก ก่อนที่พวกลูกเรือจะกลับบ้าน
ไม่มีใครได้เห็นฮัดสันและคนที่เหลืออีกเลย
นักสำรวจจะต้องใช้เวลาอีกนับร้อยปี กว่าจะตามหาช่องทางตะวันตกเฉียงเหนือพบ โดยในปีค.ศ.1906 (พ.ศ.2449) “โรอัลด์ อามุนด์เซน (Roald Amunsen)” นักสำรวจชาวนอร์เวย์ ได้ค้นพบช่องทางตะวันตกเฉียงเหนือในที่สุด
โรอัลด์ อามุนด์เซน (Roald Amunsen)
การออกตามหาเส้นทางใหม่ ดินแดนใหม่ เป็นอะไรที่อันตราย หากแต่นักสำรวจหลายคนก็ยังถวิลหาในการออกตามหา ต้องการจะค้นพบ
หากแต่การค้นพบใหม่ๆ ก็ตามมาด้วยโศกนาฏกรรมมากมาย ทั้งการสังหารชนเผ่าพื้นเมือง การจับคนพื้นเมืองเป็นทาส รวมทั้งโรคระบาดต่างๆ อีกมากมาย
แต่อย่างไรก็ตาม ยุคแห่งการสำรวจก็เป็นยุคสมัยที่น่าตื่นเต้นที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์
โฆษณา