11 พ.ค. 2021 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
เดี๋ยวก็มีเมลใหม่มาให้ตอบ มีไอเดียที่ต้องลอง มีประชุมที่ต้องเข้า จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรที่เราจะรู้สึกว่าไม่เคยได้หยุดพักจากการทำงานแม้ว่าฟ้าจะเริ่มมืดแล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้นหลายคนก็ยังรู้สึกผิดเพราะคิดว่าตัวเองยังทำงานไม่มากพอ ความรู้สึกผิดนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘Productivity Shame’
.
.
[ รู้จัก Productivity Shame ]
.
Productivity Shame มีองค์ประกอบ 2 อย่าง
.
1. รู้สึกว่าทำงานมากเท่าไรก็ไม่พอ ไม่ว่าจะทำงานกี่ชั่วโมง หรือทำงานเสร็จไปกี่ชิ้น เราก็ยังรู้สึกว่ามีบรรยากาศแห่งความละอายใจลอยรอบตัวอยู่ดี
.
2. Productivity Shame คือการที่เรารู้สึกว่าเราไม่ควรทำสิ่งที่ ‘ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์’ เราจะรู้สึกผิดเวลาเราใช้เวลาไปกับงานอดิเรก ดูหนังฟังเพลง หรือกระทั่งการนอนพักผ่อน
.
ทั้งสองอาการนี้บั่นทอนสภาวะจิตใจเรามากกว่าที่หลายคนคิด การที่เราไม่สามารถปิดสวิตช์โหมดทำงานของตัวเองในยามพักผ่อนได้จะส่งผลให้เราเครียด ทำงานหนักเกินไป และท้ายที่สุดก็จะเกิดอาการหมดไฟ
.
.
[ แล้วเราจะเอาชนะวงจร Productivity Shame อย่างไรดี? ]
.
#อย่าตีค่าของตัวเองจากจำนวนงานที่ทำได้
.
เพราะถ้าเรามองว่าคุณค่าของเราขึ้นอยู่กับจำนวนงานที่ทำได้เพียงอย่างเดียว เราก็จะรู้สึกว่ายิ่งทำงานมากยิ่งมีค่ามาก และเกิดความรู้สึกผิดเวลาไม่ได้ทำงาน เพราะฉะนั้น หากเราต้องการหลุดจากวงจร Productivity Shame เราก็ต้องเลิกโฟกัสกับจำนวนงาน แต่อาจจะโฟกัสอย่างอื่นแทน เช่น คุณภาพของงาน หรืออิมแพคของงานที่เราทำต่อคนอื่น
.
#ตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริง
.
ถ้าเราตั้งเป้าหมายที่ยากหรือเยอะเกินไป เราก็จะรู้สึกผิดที่ทำตามเป้าหมายไม่ได้ตลอดเวลา ในทางกลับกัน ถ้าเราตั้งเป้าหมายโดยคำนึงถึงความเป็นจริง เราก็จะมองเห็นความคืบหน้าของตัวเองได้อย่างชัดเจนและทำให้เกิดความรู้สึก Productive แต่ถ้างานนั้นเป็นงานชิ้นใหญ่มากจริงๆ ก็อาจจะใช้วิธีซอยย่อยออกมาเป็นขั้นตอนที่เล็กลงเพื่อให้รู้สึกว่าเราจัดการได้
.
#พยายามแยกงานและชีวิตออกจากกัน
.
หลังเลิกงานแล้ว เราก็ยังมีอาการ Productivity Shame ได้ ถ้าเราไม่รู้จักแยกชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวออกจากกันให้ขาด
.
ไลฟ์สไตล์การทำงานในยุคปัจจุบันทำให้งานสามารถตามติดเราได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเพราะสมาร์ตโฟนที่ทำให้เจ้านายสามารถแชทมาทวงงานกับเราหรือนัดประชุมผ่าน Zoom กันได้ง่ายๆ หรือเพราะ Work From Home ที่ทำให้บ้านไม่ต่างจากออฟฟิศ ทั้งหมดนี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างเวลางานและเวลาส่วนตัวบางลงเรื่อยๆ จนเรารู้สึกว่าเรา ‘ต้อง’ ทำงานตลอดเวลา
.
นักจิตวิทยาใช้เวลาหลายปีเพื่อศึกษาว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คนปิดโหมดการทำงานของตัวเองได้ และพบว่ามีอยู่ 4 ข้อด้วยกัน
.
- แยกตัวออกมา: คือต้องเอาตัวเราออกห่างจากสภาพแวดล้อมและอุปกรณ์การทำงาน
- ผ่อนคลาย: ใช้เวลากับตัวเองเพียงลำพังเพื่อประมวลผลว่าวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
- ฝึกฝน: ให้เวลากับงานอดิเรกหรือสิ่งที่เราสนใจ
- ควบคุม: ควบคุมหรือกึ่งๆ บังคับตัวเองให้เลิกสนใจงานด้วยการเลือกทำกิจกรรมหนึ่งอย่างเป็นอย่างสุดท้ายของทุกๆ วันเพื่อเป็นสัญญาณให้ตัวเองว่าวันนี้เราจะเลิกงานแล้ว ตัวอย่างเช่น วางแผนว่าวันพรุ่งนี้จะทำอะไรบ้าง
.
.
.
เราอยู่ในสังคมที่ทุกคนเชิดชู Productivity ทำให้ยิ่งทำงานมากเท่าไร เราก็ยิ่งรู้สึกดีมากขึ้นเท่านั้น แต่ปัญหาก็คือ ทุกคนย่อมมีลิมิตเป็นของตัวเอง และการฝืนลิมิตตัวเองบ่อยๆ ก็ไม่ต่างจากการเร่งใช้เชื้อไฟจนทำให้มันหมดก่อนเวลาอันควร ความขยันทำงานเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าลืมว่าการพักให้ตัวเองได้เติมเชื้อไฟก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน และคนเราไม่ควรรู้สึกผิดเพียงเพราะเราไม่สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
.
.
#careerfact #cariber
………………
Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว
ติดตาม Career Fact ทุกช่องทางได้ที่ https://linktr.ee/careerfact
เรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จในแต่ละแวดวงได้ที่ https://www.cariber.co/ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงความรู้และประสบการณ์จากผู้นำองค์กรและผู้เชี่ยวชาญในทุกแวดวง ไร้ข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา
โฆษณา