11 พ.ค. 2021 เวลา 08:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ความรุนแรงของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ปฏิเสธไม่ได้ว่ายิ่งทวีคูณกว่าระลอก 1 และ 2 เป็นอย่างมาก ที่สำคัญเหมือนเป็นการกลับมาซ้ำเติมให้ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาด ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงเศรษฐกิจไทยย่ำแย่กว่าเดิม จนถึงขนาดที่ว่าเสี่ยงต้องเผชิญกับภาวะถดถอยซ้ำอีกครั้ง!
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ EIC ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ปี 2564 จากเดิม 2.6% เหลือจะเติบโตเพียง 2.0% โดยปัจจัยหลักมาจากผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดระลอกที่ 3 รวมถึงแนวนโยบายการเปิดประเทศทั่วโลกที่มีความระมัดระวังมากขึ้น แม้ว่าในขณะเดียวกันแรงสนับสนุนจากภาคการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตดีเกินคาดก็ตาม
ซึ่งในระยะต่อไป ก็คาดว่าเศรษฐกิจและการค้าโลกจะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องมาจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน รวมถึงเม็ดเงินจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำให้ราคาสินค้าส่งออกปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ EIC ปรับประมาณการมูลค่าส่งอกปี 2564 จะขยายตัวที่ 8.6% จากเดิม 6.4%
แต่ในขณะเดียวกัน การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ทำให้หลายประเทศ รวมถึงไทย มีความระมัดระวังในการเปิดประเทศหรือเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดง่ายขึ้น แม้จะมีการฉีดวัคซีนต้าน แต่ก็ยังมีความกังวลอยู่ ดังนั้น EIC จึงคาดการณ์การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวโลกอาจจะล่าช้าออกไปอีก ทั้งยังปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2564 เหลือเพียง 1.5 ล้านคน จากเดิม 3.7 ล้านคน
สำหรับภาคเศรษฐกิจของประเทศ โควิด-19 ระลอกนี้ จะส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายสูงถึง 2.4 แสนล้านบาท (1.5% ต่อ GDP)
ทั้งยังส่งผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังเปราะบางอยู่แล้ว อาจแย่ลงกว่าเดิม โดยเฉพาะภาวะตลาดแรงงาน ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบบ้างแล้ว จากจำนวนประกาศรับ สมัครงานออนไลน์บนเว็บไซต์ JobsDB.com ที่ปรับลดลงอย่างชัดเจนหลังเข้าสู่เดือนเมษายน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจึงอาจล่าช้าออกไปไม่ใช่เร็ววันนี้แน่นอน
สำหรับการใช้จ่ายของภาครัฐ ล่าสุด ครม. มีมติออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วยวงเงินราว 2.4 แสนล้านบาท เป็นการใช้เม็ดเงินใน พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทจนครบวงเงิน ซึ่งเม็ดเงินตามแผนที่จะเข้าพยุงเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 จะมีเพียง 8.5 หมื่นล้านบาท เทียบกับผลกระทบการระบาดระลอก 3 ที่ EIC ประเมินไว้ราว 2.4 แสนล้านบาท
เม็ดเงินดังกล่าวจึงอาจไม่เพียงพอต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น และอาจส่งผลทำให้มีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะ Technical recession ได้อีกรอบในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ หลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบแรกในช่วงไตรมาส 3 ปี 2019 - ไตรมาส 2 ปี 2020 จากผลกระทบสงครามการค้าและการระบาดของโควิด-19 รอบแรก
ซึ่งความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจไทยในช่วงระยะถัดไป จะประกอบไปด้วย
1.ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดระลอก 3 อาจนานกว่าที่คาด รวมทั้งการระบาดรอบใหม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้ายังมีการฉีดวัคซีนในระดับต่ำ
2.ความล่าช้าในการฉีดวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีนที่อาจมีไม่สูงพอโดยเฉพาะกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ที่สำคัญมีคามเสี่ยงที่จะเกิดการสูญเสียผลิตผลอย่างถาวร (Permanent Output Loss) ขนาดใหญ่ สาเหตุหลักคือ การที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวระดับสูง ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ อย่าง แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรง, ความเปราะบางที่สะสมจากหนี้ครัวเรือนที่สูง, SMEs มีปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการแข่งขันที่สูง เป็นต้น
ดังนั้น ภาครัฐจึงควรพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อการฟื้นตัวในระยะปานกลางและยาว โดยเฉพาะการปรับทักษะของแรงงาน (Up/Re-skill) ช่วย SMEs ปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะช่วยลด permanent output loss ทั้งยังช่วยซ่อมแซมงบดุลของภาคครัวเรือนและธุรกิจได้เร็วขึ้น รวมถึงเพิ่มอัตราการขยายตัวตามศักยภาพ (potential growth) ของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย
#อายุน้อยร้อยล้านNEWS
#อายุน้อยร้อยล้าน #ryounoi100lan
#โควิด19 #COVID19 #GDP #Economy #EIC #ไทยพาณิชย์ #โควิดระลอก3 #เศรษฐกิจไทย
โฆษณา