11 พ.ค. 2021 เวลา 21:02 • ปรัชญา
“สมถะเป็นที่พักใจ วิปัสสนาเป็นที่ทำงานของใจ”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔
ร่างกายก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่เที่ยง ใช้งานมากก็เหนื่อย ต้องพักผ่อน ใจก็เหมือนกัน ถ้าใช้สังขารความคิดปรุงแต่งมาก ก็ต้องพักบ้าง เข้าสมาธิสลับกัน จะได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ การปฏิบัติธรรมกับการทำมาหากินก็เหมือนกัน เวลาทำมาหากินก็ออกไปทำงานตอนเช้า ตอนเย็นก็กลับมาบ้าน มารับประทานอาหารพักผ่อนหลับนอน เพื่อจะได้เติมกำลังกายและกำลังใจ ตอนเช้าจะได้มีกำลังกายกำลังใจไปทำงานต่อ ทำงาน ๕ วันก็ต้องหยุด ๒ วัน เปลี่ยนบรรยากาศ มาพักผ่อนหย่อนใจพักผ่อนร่างกาย การปฏิบัติธรรมก็เป็นแบบเดียวกัน ต้องมีการพักสลับกับการทำงาน
การทำงานก็คือการเจริญปัญญา พิจารณาสภาวธรรมต่างๆ ที่ใจไปเกี่ยวข้อง ไปรับรู้ ไปรับผิดชอบ ให้เห็นความจริงของสิ่งต่างๆ ของสภาวธรรมต่างๆว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่อยู่ในการควบคุมบังคับเสมอไป ถ้าไม่สอนใจก็จะถูกความอยาก ความหลง สร้างความทุกข์ให้กับใจ ความหลงก็จะทำให้อยาก ให้สิ่งที่เกี่ยวข้องดีเสมอไป มีแต่เจริญไม่มีเสื่อม แต่โดยธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ทั้งหลายในโลกนี้ มีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุข้าวของต่างๆ สภาพเหตุการณ์ต่างๆ ร่างกายของคนและสัตว์ต่างๆ ถ้าไปยึดติด อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็จะต้องเสียใจทุกข์ใจ นี่คือการทำงานของปัญญา
ใจจึงต้องพิจารณาสิ่งต่างๆ ที่ใจเกี่ยวข้อง เช่น ลาภยศสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรส ที่ให้ความสุขกับใจว่า มีการเปลี่ยนไป มีการเจริญมีการเสื่อมไป ถ้าไปยึดไปติด เวลาเสื่อม เวลาจากไป ก็จะเสียใจทุกข์ใจ ถ้าคอยสอนใจอยู่เรื่อยๆว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เช่นลาภยศสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรส บุคคลต่างๆ ต้องมีการเสื่อมมีการหมดไปเป็นธรรมดา เวลาเกิดเหตุการณ์ ใจจะได้ไม่เดือดร้อน เพราะได้เตรียมตัวเตรียมใจ รับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นไว้แล้ว นี่คือการพิจารณาทางปัญญา ถ้าพิจารณาไปเรื่อยๆ ก็จะฟุ้งซ่านเกิดอารมณ์ต่างๆ ที่ไม่ดีขึ้นมาได้ เนื่องจากกำลังของสมาธิ คืออุเบกขาธรรม ที่ได้จากสมาธิอ่อนกำลังลงไป ก็ต้องกลับเข้าไปสร้างพลังอุเบกขาขึ้นมาใหม่ ด้วยการเข้าไปในสมาธิทำใจให้สงบ
พอใจสงบแล้วก็ให้พักตามความต้องการของใจ จนกว่าใจจะถอนออกมาเอง เหมือนกับร่างกายที่ทำงานหนักมา เหนื่อยก็ต้องพักผ่อนหลับนอน ต้องปล่อยให้หลับให้เต็มที่ อย่าไปปลุกในขณะที่ยังนอนไม่พอ เพราะจะงัวเงียหงุดหงิด ไม่มีกำลังทำงานได้อย่างเต็มที่ ใจก็เหมือนกัน เวลาพักก็ต้องปล่อยให้พักอย่างเต็มที่ จนกว่าจะอิ่มตัวแล้วถอนออกมาเอง พร้อมที่จะพิจารณาสภาวธรรมต่างๆ ต่อไป พิจารณาจนปล่อยวางได้ ถ้ายังไม่รู้ว่าปล่อยได้ ก็ต้องทดสอบดู เช่นรักอะไรหวงอะไร ยกให้คนอื่นไปได้หรือไม่ เช่นสมบัติข้าวของเงินทอง บุคคลที่รักที่หวง ตัดความรักความหวงได้หรือไม่ ปล่อยวางได้หรือไม่ ไม่ทุกข์ไม่กังวลได้หรือไม่ ต้องทดสอบใจดูว่า ตัดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ตัดความอยากได้หรือไม่ นี่คือการทำงานทางสมถะและวิปัสสนา สมถะเป็นที่พักใจ วิปัสสนาเป็นที่ทำงานของใจ
จุลธรรมนำใจ ๒๙ ,กัณฑ์ที่ ๔๔๑
วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
โฆษณา