17 พ.ค. 2021 เวลา 06:40 • ข่าว
เจาะลึกการทำงาน "โดมเหล็ก" ของอิสราเอล ระบบอัจฉริยะป้องกันขีปนาวุธ
4
↘เหตุปะทะกันรุนแรงรอบล่าสุดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส อิสราเอลถูกยิงถล่มข้ามพรมแดนด้วยจรวดเกือบ 3,000 ลูก ในช่วงเวลา 7 วันที่ผ่านมา แต่กว่า 90% ถูกสกัดได้โดยระบบป้องกันสุดอัจฉริยะ "ไอเอิร์น โดม" หรือ "ไอรอน โดม" (Iron Dome) ของกองทัพอิสราเอล
3
↘"ไอรอน โดม" เป็นระบบที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศแบบพิสัยใกล้ (4-70 กิโลเมตร) ซึ่งมีราคาแพงมหาศาล แต่สำหรับอิสราเอล ประเทศยิวที่อยู่ท่ามกลางคู่แค้นชาติอาหรับแล้วนับว่าคุ้มค่ามาก เพราะในรอบนี้ช่วยลดความสูญเสียชีวิตทหารและพลเรือนจากหลักพันมาเหลือหลักสิบ
3
↘ขีปนาวุธทาเมียร์ที่อิสราเอลใช้ยิงขึ้นสกัดมีราคาลูกละกว่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับว่าแพงมากเมื่อเทียบกับราคาขีปนาวุธกาซซามของปาเลสไตน์ ซึ่งอยู่ที่ลูกละ 800 ดอลลาร์สหรัฐ การยิงถล่มเข้ามาแต่ละลูกแม้จะสกัดได้ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ต่างจากการโจมตีทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในทางอ้อม
4
จากข่าวสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นภาพน่านฟ้าของอิสราเอลถูกกลุ่มฮามาสยิงถล่มด้วยจรวดแบบไม่ยั้ง ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้แค้นที่ถูกอิสราเอลโจมตีทางอากาศสังหารผู้บัญชาการทหารอาวุโสหลายนายของกลุ่มฮามาส และทำให้ตึกสูงในเมืองกาซา ซิตี้ พังถล่ม
1
กองกำลังฮามาสเปิดเผยว่า นับจนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาแล้ว 192 ศพ ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 58 คน ผู้หญิง 34 คน มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 1,200 ราย แต่ถ้ามาดูฝั่งอิสราเอลจะพบว่าความสูญเสียต่างกันมาก มีชาวอิสราเอลเสียชีวิต 10 ศพ ตัวเลขความสูญเสียเพียงหลักสิบของอิสราเอล สะท้อนความสำเร็จของระบบ Iron Dome ที่ได้ทำหน้าที่ปกป้องประชาชนอีกครั้ง
11
ต้นกำเนิด Iron Dome
Iron Dome ได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบป้องกันขีปนาวุธที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในโลกในขณะนี้ แนวคิดการพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธของอิสราเอลมีขึ้นหลังจากช่วงสงครามเลบานอน การสู้รบกับกองกำลังติดอาวุธเฮซบอลเลาะห์ของเลบานอน กินเวลายาวนาน 34 วัน ในช่วงปี 2549 ซึ่งตอนนั้นอิสราเอลโดนยิงจรวดถล่มหลายพันลูก ทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล มีผู้เสียชีวิตกว่า 120 ศพ บาดเจ็บกว่า 1,200 ราย
ระบบนี้พัฒนาโดยบริษัท "ราฟาเอล แอดวานซ์ ซิสเต็มส์" ร่วมกับบริษัท "อิสราเอล แอโรสเปซ อิสดัสทรี้ส์" และบริษัทอเมริกันที่มาเป็นหุ้นส่วน ซึ่งในที่สุด "ไอรอน โดม" ก็ถูกติดตั้งพร้อมใช้งานเมื่อเดือน มี.ค.2554 หรือเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา
2
การทำงาน 4 ขั้นตอนของระบบอัจฉริยะ
1
Iron Dome เป็นระบบที่สามารถใช้งานได้ทุกเวลาและทุกสภาพอากาศ เมื่อขีปนาวุธหรือจรวดถูกยิงมา ระบบเรดาร์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัท Elta ของอิสราเอลจะทำการตรวจจับแล้วติดตาม จากนั้นระบบควบคุมและอำนวยการรบอัจฉริยะ (Battle Management and Weapons Control-BMC) สร้างโดยบริษัท mPrest Systems ที่พัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับ Rafael จะทำการประมวลผลกระทบ แล้วส่งคำสั่งไปยังแท่นยิง ที่เรียกว่าหน่วยยิงอาวุธปล่อย (Missile Firing Unit) ให้ทำการยิงขีปนาวุธออกไปสกัด
3
จากนั้นขีปนาวุธจะไประเบิดใกล้ๆ เพื่อทำลายเป้าหมายกลางอากาศ โดยขีปนาวุธเป็นแบบยิงจากพื้น-สู่-อากาศ "ทาเมียร์" (Tamir Interceptor Missile) ที่ติดระบบนำวิถี "อิเล็กโทร ออปติคอล" และครีบควบคุมทิศทางที่มีความคล่องแคล่วสูง พร้อมชนวนจุดระเบิดแบบเฉียดระเบิด
4
เรียกได้ว่าต่อให้กลุ่มฮามาสระดมยิงขีปนาวุธใส่อิสราเอลเป็นพันลูก ก็จะถูกยิงสกัดเหนือโดมได้จนเกือบหมด แม้แต่ในเมืองสเรดอต ที่อยู่ติดกับฉนวนกาซา มีระยะเวลาจรวดตกถึงเป้าหมายเพียงไม่กี่วินาที โดยในขั้นตอนการประมวลผลนั้นจะสามารถแยกความแตกต่างและความแม่นยำของขีปนาวุธที่โจมตีเข้ามา หรือวัตถุใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อน่านฟ้าอิสราเอลได้
3
ปัจจุบันนี้ Iron Dome ใช้สกัดและทำลายจรวด ตลอดจนกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงมาจากระยะ 4-70 กิโลเมตร ส่วนฐานยิงมีรัศมีครอบคลุมในการป้องกัน 150 ตารางกิโลเมตร ในอนาคต อิสราเอลมีความต้องการจะเพิ่มระยะสกัดยิงไปเป็น 250 กิโลเมตร และเพิ่มความรอบตัวให้สามารถขัดขวางจรวดที่มาจากสองทิศทางได้พร้อมกัน
2
ประสิทธิภาพคุ้มราคาแสนแพง
1
ก่อนที่จะมีการใช้งาน Iron Dome อิสราเอลใช้วิธีการสู้รบกับกลุ่มฮามาสด้วยการโจมตีทางอากาศถล่มแท่นยิงจรวด และมีเวลาเพียง 15-20 วินาทีในการเปิดไซเรนเตือนให้ประชาชนอพยพ และระบบป้องกันขีปนาวุธสุดล้ำก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักวิเคราะห์ด้านกลาโหม ว่าอาจจะมีประสิทธิภาพไม่คุ้มราคา ค่ายิงสกัดแต่ละลูก และไหนจะค่าอัปเกรดระบบแต่ละครั้ง
2
โดยมองว่าเป็นระบบที่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป และขีปนาวุธทาเมียร์ก็มีราคาลูกละกว่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับว่าแพงมากเมื่อเทียบกับราคาขีปนาวุธกาซซามของปาเลสไตน์ ซึ่งอยู่ที่ลูกละ 800 ดอลลาร์สหรัฐ การยิงถล่มเข้ามาแต่ละลูกแม้จะสกัดได้ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ต่างจากการโจมตีทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในทางอ้อมนั่นเอง
1
แต่ตอนนี้เป็นเวลานับสิบปีมาแล้วที่อิสราเอลมีระบบโดมเหล็กไว้ป้องกันการโจมตีจากศัตรูคู่แค้น จนถึงตอนนี้มีการติดตั้งตามแนวสู้รบ 10 แห่งทั่วประเทศ แต่ละแห่งมีมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แท่นยิง 3-4 เครื่อง ซึ่งสามารถยิงสกัดขีปนาวุธได้คราวละ 20 ลูก
1
โมเช พาเทล หัวหน้าองค์การป้องกันขีปนาวุธของอิสราเอล เปิดเผยว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงเดือน ม.ค.64 ก่อนการสู้รบล่าสุด ระบบโดมเหล็กสามารถทำลายขีปนาวุธไปแล้วกว่า 2,400 ลูก คิดเป็นอัตราความสำเร็จอยู่ที่ 90% โดยบอกว่าขีปนาวุธเหล่านี้หากไม่ถูกทำลายก็จะพุ่งโจมตีพลเรือนชาวอิสราเอลและอาคารบ้านเรือน ทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล
พลโทโจนาธาน คอนริคัส โฆษกกองทัพอิสราเอล กล่าวว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บของทางฝั่งอิสราเอลจะสูงกว่านี้มาก หากไม่มีระบบโดมเหล็ก และอิสราเอลต้องเพิ่มการติดตั้งเป็น 13 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมการป้องกันทั่วประเทศ
2
แต่อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายเชื่อว่าทุกอย่างย่อมมีขีดจำกัดของมัน การสู้รบรอบนี้กลุ่มฮามาสกำลังท้าทายเทพเจ้า ระดมยิงจรวดใส่อิสราเอลทั้งกลางวันกลางคืน ก็เพื่อพยายามถล่มโดมเหล็ก ทำให้ทั่วโลกกำลังจับตาดูสงครามราคาแพง ดูขีดจำกัดของระบบขั้นเทพนี้ว่าจะรับมือได้แค่ไหน.
5
ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์
ข้อมูล : BBC, Washington Post, Army Technology
2
โฆษณา