18 พ.ค. 2021 เวลา 03:42 • ความคิดเห็น
ของทิพย์ ติดตัวเรามาแต่เกิด?
[เปิดตัวเดอะซีรี่ย์ของความคิดอ่าน "เรื่องสั้นทันเล่า"]
•ถ้อยคำภาษาเหมือนว่าจะเป็นของทิพย์ที่เกิดมาพร้อมกับคนเรา
ไม่เชื่อลองคิดดู อยู่ในท้องแม่เก้าเดือน แม่คุยกับเรา เรารับรู้ใช่ไหม?
เกิดมาแล้ว แม่เห่กล่อม พากินพานอน พาเล่นพาเรียน… เราเข้าใจใช่ไหม?
•ยิ่งเมื่อเราโตขึ้น ได้เรียนรู้ภาษาแม่ภาษาแรกในชีวิตครอบครัวและเครือญาติ ตลอดจนเพื่อนฝูง คนคุ้นเคย เรายิ่งเพิ่มพูนถ้อยคำภาษามากขึ้นๆ
•การฟังมากๆ ทำให้เราเข้าใจเรื่องได้เร็ว เข้าใจความหมายได้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้น เรื่องราวใหม่ๆ คำพูดแปลกๆ เราก็เริ่มปะติดปะต่อได้มากขึ้นตามไป ยิ่งใครได้ฟังเพลง ฟังเรื่องราวข่าวสาร จากวิทยุ จากทีวี จากสื่อออนไลน์… ยิ่งมากเท่าใด ก็ยิ่งเปิดประตูรับถ้อยคำภาษามาเก็บไว้ในตัวเพิ่มเป็นทวีคูณธนาคารคำในตัวก็เติบโต กว้างใหญ่ขึ้น
ดอกเข็มผุดกลางใบคูนเก่า | ภาพโดย ทางหอม
•เช่นกัน เมื่อฟังมากขึ้น รู้ภาษามากขึ้น พฤติกรรมเลียนแบบภาษาอีกอย่าง ก็จะได้รับการพัฒนาตามมา นั่นคือการพูด (ยกเว้นผู้พิการอวัยวะออกเสียง) การพูดเลียนแบบ หรือได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์การฟัง เป็นเรื่องธรรมดา แรกๆ เราก็จะต้องฝึกพูดเลียนแบบแม่พ่อ คนรอบตัว โตขึ้นก็อาจเลียนแบบเพื่อน เลียนแบบคนที่เราชื่นชอบชื่นชม ต่อมา…เราอาจพอใจหาตัวตนทางการพูด
•คำพูด หรือถ้อยคำภาษา เป็นของกลางของคนแต่ละเผ่าแต่ละสังคม
ไม่มีตัวตน แม้จะมีตัวอักษรใช้แทนก็ตาม เราก็ไม่อาจจับต้องมันได้เหมือนคน เหมือนตุ๊กตา…
แต่คำพูด นี่มิใช่หรือ ที่เป็นของทิพย์ประจำตัวคนปกติสามัญทุกคน 
แล้วแต่ใครจะใช้เป็นเครื่องมือทำการทำกิน ไปในทางดีทางร้าย.
📣 [ ทางหอม ขอนำเสนอ เรื่องสั้นชุด เกี่ยวแก่การ "ซอมคำซอด" คือ การพิจารณาคำที่ผุดผลิโผล่ขึ้นระหว่างทาง...ระหว่างทำ... เป็นแนวเรื่องสั้นๆ เชิญติดตามกันเดอครับเดอ ] 🌝
ติดตาม ทางหอม และตัวตนอื่นเพิ่มเติม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา