21 พ.ค. 2021 เวลา 09:57 • ประวัติศาสตร์
เพราะกำเนิดจากรากเหง้าเดียวกัน ตอนที่ 2
โดย NI/NA@play_now.kom
1
หมากรุกสากลและหมากรุกไทยนั้น กำเนิดมาจากรากเหง้าเดียวกัน เรียกว่า เกมจตุรงค์ ซึ่งถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย แต่หมากกระดานทั้งสองชนิดถูกนำไปเผยแพร่ในภูมิภาคที่ต่างกัน ผ่านระยะเวลาที่ยาวนานจนถึงปัจจุบัน จึงมีลักษณะภาพลักษณ์ดังเช่นที่เห็นในวันนี้
ในตอนนี้จะกล่าวถึงความเหมือนที่แตกต่างของหมากกระดานทั้งสองชนิดอีกหนึ่งอย่าง หลังจากตอนที่แล้วได้กล่าวเปรียบเทียบกันเรื่องตัวกระดาน ในตอนนี้จะนำเสนอข้อเปรียบเทียบของตัวหมากที่ใช้เล่นบนกระดาน
อย่างที่ได้กล่าวมาในบทความตอนก่อนๆ เกมจตุรงค์ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของหมากรุกสากลและหมากรุกไทยนั้น เมื่อถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นในอินเดีย เมื่อประมาณ 1,200 กว่าปีล่วงมาแล้ว ทางสายหนึ่งนั้นถูกนำไปเผยแพร่ตามเส้นทางทิศตะวันตก มุ่งหน้าไปยังดินแดนอาหรับ เปอร์เซีย ไม่แน่ใจนักว่าผู้ใดเป็นผู้บุกเบิกนำไปเผยแพร่ อาจจะเป็นกองคาราวานค้าขายที่เดินทางไปมาหาสู่กันทั้งทางบกและทางทะเล และคงแยกสายย่อยกันไปอีกตามเส้นทางการค้าที่แตกกระจายไป บางส่วนมุ่งหน้าเข้าไปสู่ตอนเหนือของทวีปแอฟริกา แต่สายหลักจะย้อนขึ้นไปทางทิศเหนือ เข้าสู่ดินแดนที่เป็นพื้นที่ของประเทศตุรกีในปัจจุบัน ก่อนที่จะเข้าสู่ทวีปยุโรปในเวลาต่อมา
ช่วงเวลาที่เกมหมากรุกกำลังเดินทางเข้าสู่พื้นที่ทวีปยุโรป ประมาณคริสต์ศักราช 1000-1200 นั้น เป็นช่วงที่อิทธิพลของคริสต์ศาสนากำลังพุ่งขึ้นถึงขีดสุด ศาสนจักรแห่งวาติกันมีบทบาทและครอบงำทั้งสังคม การเมืองการปกครอง ตลอดไปจนถึงราชสำนักของบรรดาเหล่าราชวงศ์ต่างๆ เกมหมากรุกที่เผยแพร่เข้าสู่ยุโรป จึงมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงลักษณะสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะกฎกติกาการเล่น ส่วนรูปลักษณะ หน้าตาของตัวหมากก็มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพื้นที่ท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ เช่น รูปลักษณะของตัวหมากในแถบประเทศอาณาจักรทางยุโรปตะวันออก จะมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมออตโตมัน เติร์ก และความเป็นมุสลิมแอบแฝงอยู่ ส่วนตัวหมากของทางยุโรปตะวันตกจะดูเรียบง่ายมากกว่า ไม่มีการประดิดประดอยตกแต่งอะไรมากมายนัก แต่เนื่องจากไม่มีกฎข้อบังคับอะไรที่เป็นมาตรฐานให้เป็นเหมือนกันทั่วไป รูปลักษณะตัวหมากในช่วงนี้จึงมีความหลากหลาย สวยงาม ทรงคุณค่าทางงานศิลป์อย่างมากมาย
มีข้อสงสัยและข้อสังเกตว่า ทำไมจึงเป็นหมากควีนที่มีอานุภาพและทรงพลังอย่างที่สุดบนกระดานหมากรุกสากล คำตอบคงเกี่ยวข้องกับบทบาทของกษัตริย์หรือราชินีในหลายๆ ราชวงศ์ในยุคสมัยนี้ ที่มีบทบาทอย่างสำคัญในราชสำนัก ซึ่งควบคุมและกำหนดนโยบายท่าทีที่มีต่อพันธมิตรประเทศอื่นๆ แต่นี่เป็นข้อสันนิษฐานที่ยังไม่มีบทสรุปแน่ชัด ในขณะที่ทางยุโรปตะวันตก ตัวหมากบนกระดานมีพระหรือบิชอปยืนตำแหน่งขนาบซ้ายขวาของพระราชาและพระราชินี แต่ในราชอาณาจักรรัสเซีย พระบิชอปกลับกลายเป็นช้าง
เกมหมากรุกสากลในทวีปยุโรปนั้นเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูงและผู้มีอันจะกินทั้งหลาย บรรดาชนชั้นปกครอง ราชวงศ์ เจ้าขุนมูลนาย ล้วนแล้วแต่สามารถเล่นเกมหมากรุกกันได้ทั้งสิ้น รวมไปถึงบุคลากรในแวดวงการศาสนาและการทหาร
1
ย้อนกลับมาดูเส้นทางการแพร่ขยายเกมหมากรุกที่มาทางทิศตะวันออกกันบ้าง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเกมหมากรุกที่สืบทอดมาจากเกมจตุรงค์ และพัฒนามาเป็นเกมหมากรุกที่รู้จักและเล่นกันอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์
เมื่อมองดูเกมหมากรุกที่ชาวอุษาคเนย์รู้จัก พบว่าเกมหมากรุกในประเทศไทย กัมพูชา ลาว และเมียนมานั้นคล้ายคลึงกันมาก ทั้งรูปแบบและกติกาการเล่น ของไทยและกัมพูชานั้นคล้ายกันมากที่สุด ข้างเมียนมานั้นแตกต่างออกไปค่อนข้างเด่นชัด แต่คำถามมีอยู่ว่าจุดเริ่มต้นของเกมหมากรุกในภูมิภาคนี้เป็นอย่างไร
หลักฐานเด่นชัดมากที่สุดที่พอจะอ้างอิงถึงประวัติความเป็นมาของเกมหมากรุกได้นั้น คือภาพสลักนูนต่ำบนผนังของนครวัดในกัมพูชา เป็นภาพคนนั่งเล่นเกมหมากกระดานอย่างหนึ่งซึ่งคงจะเป็นหมากรุก เป็นหลักฐานที่แสดงว่า ผู้คนในอาณาจักรขอมโบราณนั้นรู้จักเกมหมากรุกมานานกว่าหนึ่งพันปีแล้ว แต่จะได้รับมาอย่างไรนั้นยังไม่สามารถสรุปแน่ชัดได้ บางข้อสันนิษฐานคาดว่า เกมหมากรุกน่าจะเดินทางมาจากอินเดียโดยกองเรือสินค้า หรือกองเรือคณะทูต จะอ้อมแหลมมลายูมา หรือแวะขึ้นบกแถบอาณาจักรลังกาสุกะ (ซึ่งคือพื้นที่ในบริเวณจังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน) แล้วจึงเข้าสู่อาณาจักรขอมในท้ายที่สุด ถ้าตามการสันนิษฐานแนวทางนี้ ขอมจึงเป็นผู้ริเริ่มเกมหมากรุกในภูมิภาคนี้เป็นชาติแรก และหมากรุกไทยจึงน่าจะพัฒนามาจากหมากรุกของขอมหรือเขมรโบราณ
ยังมีแนวคิดที่สันนิษฐานถึงเส้นทางการแพร่ขยายของเกมหมากรุกเข้าสู่ภูมิภาคอุษาคเนย์อีกทางหนึ่ง คือในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกันกับการดำรงอยู่ของอาณาจักรขอมโบราณ ดินแดนแถบภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย บริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ที่เรียกกันว่าแคว้นสุพรรณภูมิ ตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ควบคุมเส้นทางการค้าและการเดินทางในบริเวณแถบตอนกลางของแหลมสุวรรณภูมิ ซึ่งแคว้นสุพรรณภูมินี้ก่อตั้งขึ้นก่อนที่ราชวงศ์สุโขทัยจะสถาปนาขึ้น จึงอาจจะเป็นไปได้ว่าแคว้นสุพรรณภูมิจะรับเอาเกมหมากรุกมาจากอินเดียโดยตรง มากกว่าที่ชาติไทยจะรับเอาเกมหมากรุกมาจากอาณาจักรขอมโบราณ และโดยที่ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ทางภูมิศาสตร์ของสุพรรณภูมิเป็นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ พื้นดินเป็นทะเลโคลน ไม่เหมาะกับการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร จึงไม่มีหลักฐานยืนยันถึงแนวคิดความเป็นมาเช่นนี้ได้ แต่ข้อสรุปที่ชัดเจนคือ อาณาจักรขอมโบราณรู้จักกับเกมหมากรุกก่อนชนชาติอื่นใดในภูมิภาคนี้
ไม่ว่าหมากรุกไทยจะรับเอาหมากรุกของชาวขอมมาพัฒนาปรับปรุง หรือคนไทยจะเป็นผู้พัฒนาปรับเปลี่ยนเกมหมากรุกเอง จนมาเป็นหมากรุกไทยที่มีหน้าตาดังเช่นในปัจจุบันนี้ อย่างไรเสียเกมหมากรุกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแถบแหลมสุวรรณภูมินี้มีที่มาหรือถือกำเนิดมาจากรากเหง้าเดียวกัน และมีความเชื่อมโยงกับเกมหมากรุกสากลที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกมุมโลกนั่นเอง
จากตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอและเปรียบเทียบความเหมือนและคล้ายคลึงกันอย่างมากที่สุดในเรื่องของกระดาน ในตอนนี้จะกล่าวถึงความเหมือนที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่ง นั่นคือตัวหมากที่ใช้เล่นบนกระดาน
ไม่ว่าจะพิจารณาเปรียบเทียบกันระหว่างหมากรุกไทยและหมากรุกสากลในแง่มุมไหน ฟังก์ชั่นหน้าที่การทำงาน ลำดับความสำคัญ คุณค่าของตัวหมาก หรือแม้กระทั่งเรื่องจำนวนปริมาณ ทั้งสองหมากกระดานนั้นมีความเหมือนและความแตกต่างกันหลายประการ จนพอจะสรุปได้ดังนี้
เนื่องจากวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการเล่นเกมนั้นเหมือนกัน คือการเช็กเมทหรือรุกจน ตัวหมากคิง ซึ่งหมากรุกไทยในที่นี้ก็คือตัวหมากที่เรียกว่าขุน ขุนเหมือนกับคิงทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นคุณค่า หรือลำดับความสำคัญ ตลอดไปจนถึงประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่และทิศทางการเดิน ความแตกต่างที่มีก็คือรูปลักษณ์ของตัวหมาก ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่แปรเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรม อารยธรรม และศิลปะของพื้นที่นั้นๆ ว่าด้วยเรื่องรูปลักษณ์ของตัวหมากรุกของทั้งสองชนิดนี้ ข้างหมากรุกสากลนั้น รูปแบบลักษณะของตัวหมากที่เป็นมาตรฐานใช้กันอยู่ทั่วโลก และทุกๆ ชาติ ทุกๆ ภาษาที่เล่นเกมหมากรุกสากลต่างยอมรับและเข้าใจตรงกัน นั่นคือ ชุดหมากรุกที่เรียกว่ารูปแบบสตอนตัน (Staunton) ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 นี้เอง และถูกเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงการหมากรุกสากลทั่วโลก
จนถึงปัจจุบัน ชุดหมากรุกสากลอาจจะถูกออกแบบให้กลายเป็นงานศิลปะได้ ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ของผู้ออกแบบ ถึงแม้จะมีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างจากแบบสตอนตัน แต่ชุดหมากรุกนั้นก็จะมีลักษณะหรือจุดเด่นบางอย่างบนตัวของมันว่ามันเป็นตัวหมากอะไร เช่น หมากคิง มักจะเป็นตัวหมากที่สูงที่สุดในบรรดาตัวหมากทั้งหมด หมากควีนจะเป็นตัวหมากที่มีลำดับความสูงรองลงมา เบี้ยหรือพอนก็จะเป็นตัวหมากที่เล็กที่สุดและมีพี่น้องที่มีหน้าตาเหมือนกันอีกเจ็ดตัว
นอกจากชุดหมากรุกที่มีรูปร่างลักษณะเป็นงานศิลปะแล้ว ยังมีชุดหมากรุกแบบพิเศษอื่นๆ อีก เช่น ชุดหมากรุกสำหรับคนตาบอด ชุดหมากรุกแนวแฟนตาซี ลองจินตนาการถึงภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์ส เมื่อถูกนำมาดัดแปลงเป็นชุดหมากรุก เราก็จะเห็นหมากคิงของฝ่ายดำเป็นองค์จักรพรรดิ และมีควีนเป็นลอร์ดดาร์ธเวเดอร์ ในขณะที่บิชอปของหมากขาวเป็นหุ่นยนต์ซีทรีพีโอและมีรุกเป็นชิวเบคก้ากับเพื่อนของมัน ส่วนควีนของหมากขาวน่ะหรือ คงจะทายได้ไม่ยากนัก เป็นปรมาจารย์ของเจได อาจารย์โยดาตัวเขียวตาโตหูแหลมนั่นเอง
ในตอนหน้าจะนำเสนอรายละเอียดข้อเปรียบเทียบของตัวหมากจากหมากกระดานทั้งสองชนิดอย่างละเอียดและครอบคลุมอีกครั้ง โปรดติดตามในตอนต่อไปนะครับ
#PlayNowThailand #khelnow #Chess #หมากรุกสากล #หมากรุก #สตาร์วอร์ส

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา