22 พ.ค. 2021 เวลา 09:00 • สุขภาพ
ไขข้อข้องใจ ทำไมหลายประเทศฉีดวัคซีนโควิด-19 ช้ากว่าเพื่อน
2
• ในเดือนเมษายน ไทยมีจำนวนการฉีดวัคซีนประมาณ 1,150,000 โดส ประมาณ 972,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1.39 ต่อจำนวนประชากร อยู่อันดับที่ 56 ของโลก แต่หากเทียบกับสัดส่วนประชากร ไทยอยู่อันดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการกระจายวัคซีนที่ยังไม่ได้ตามเป้า
• ในอาเซียน ไทยอยู่อันดับ 8 จาก 10 อันดับ ของประเทศที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมตามสัดส่วนประชากร เรียงลำดับจาก สิงคโปร์ กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา บรูไน ส่วนสองประเทศที่ตามหลังไทยคือ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
• ไทยยังคงเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งการนำเข้าวัคซีนไม่เพียงพอต่อความต้องการ การสื่อสารที่คลาดเคลื่อนและไม่แน่นอนของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยนแทบทุกวันในโลกโซเชียลฯ เรื่องผลข้างเคียงหลังรับวัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีว่าเป็นวัคซีนที่ดีจริงหรือเปล่า
เกือบทุกประเทศบนโลกล้วนเผชิญกับปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ในตอนนี้ประเทศและพื้นที่อย่างน้อย 196 แห่ง ต่างเร่งแก้ปัญหาการระบาดด้วยกลยุทธ์หลากหลาย และสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุดในเวลานี้ไม่ใช่การล็อกดาวน์ การเตรียมโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกต่อไป แต่เป็นการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยการฉีดวัคซีน
ผลลัพธ์ที่โลกได้เห็นจากการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ แม้จะยังควบคุมการระบาดได้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นว่าในพื้นที่ที่ฉีดวัคซีนได้ตามเป้า เริ่มผู้คนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เริ่มผ่อนคลายนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม ยกเลิกการล็อกดาวน์ ผ่อนคลายการบังคับให้สวมหน้ากากในที่สาธารณะ
ในเวลาเดียวกัน ยังคงมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ยังไม่สามารถคลี่คลายและจำกัดวงการระบาดได้
• ไทยอยู่ตรงไหนของการฉีดวัคซีนระดับโลก
ช่วงเดือนมีนาคม 2021 นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2021 ขณะนี้ 114 ประเทศทั่วโลก ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วกว่า 300 ล้านโดส
อิสราเอลกลายเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนต่อสัดส่วนประชากรทั้งหมดได้มากที่สุด ตามมาด้วยสาธารณรัฐเซเชลส์ ประเทศในทวีปแอฟริกา ส่วนอันดับ 3 คือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ส่วนประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคม ฉีดวัคซีนได้ 0.005 เปอร์เซ็นต์ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด
เมื่อมองลงในระดับที่แคบลงเหลือแค่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากที่สุด แต่ถ้ามองในด้านการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม สิงคโปร์ฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรได้มากที่สุด ส่วนประเทศไทยยังฉีดได้ไม่ถึง 0.1 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ
ข้อมูลเมื่อวันที่ 26 เมษายน ระบุว่า ไทยมีจำนวนการฉีดวัคซีนประมาณ 1,150,000 โดส มีประชากรรับวัคซีนแล้วราว 972,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1.39 ต่อจำนวนประชากร อยู่ในอันดับที่ 56 ของโลก แต่หากเทียบกับสัดส่วนประชากร ไทยอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการกระจายวัคซีนที่ยังไม่ถึงเป้า
1
วันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา อว. เผยสถิติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขณะนี้ทั่วโลกฉีดไปแล้ว 1,459 ล้านโดส โดย 10 อันดับประเทศที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คน และฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากที่สุดอย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่
1. มัลดีฟส์ 59.9 เปอร์เซ็นต์ ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และซิโนฟาร์ม (Sinopharm)
2. อิสราเอล 58.2 เปอร์เซ็นต์ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer-BioNTech) และโมเดอร์นา (Moderna)
3. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 53.3 เปอร์เซ็นต์ ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์, ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) และ วัคซีนของสถาบันกามาเลยา (Gamaleya) ได้แก่ สปุตนิก วี (Sputink V)
4. บาห์เรน 49.1 เปอร์เซ็นต์ ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์, ซิโนฟาร์ม และ สปุตนิก วี
5. ชิลี 43.4 เปอร์เซ็นต์ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ และซิโนแวค
6. สหรัฐอเมริกา 42.6 เปอร์เซ็นต์ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์, โมเดอร์นา และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson)
7. สหราชอาณาจักร 42.4 เปอร์เซ็นต์ ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา, โมเดอร์นา และไฟเซอร์
8. ฮังการี 37.4 เปอร์เซ็นต์ ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์, ซิโนฟาร์ม และสปุตนิก วี
9. กาตาร์ 36.4 เปอร์เซ็นต์ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์
10. ภูฏาน 32.6 เปอร์เซ็นต์ ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา
ขณะที่ประเทศไทย ณ วันเดียวกัน ฉีดแล้ว 2,264,308 โดส หากเทียบด้วยเรื่องการฉีดแบบครอบคลุมต่อประชากรในภูมิภาคอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับ 8 จาก 10 อันดับ เรียงลำดับจาก สิงคโปร์ กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา บรูไน ส่วนสองประเทศที่ตามหลังไทยคือ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ตามลำดับ
• หลากหลายปัญหาที่ทำให้การฉีดวัคซีนล่าช้า
หลายประเทศวางแผนฉีดวัคซีนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 และล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้
อุปสรรคที่ทำให้การฉีดวัคซีนติดขัดมีหลายประการด้วยกัน อาทิ จำนวนวัคซีนยี่ห้อต่างๆ ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของทุกประเทศ ประเทศที่ร่ำรวยหรือประเทศที่มีอำนาจต่อรองมากสามารถสั่งวัคซีนล่วงหน้าได้เป็นจำนวนมาก บางประเทศสำรองวัคซีนไว้จนเหลือใช้ และเกินความจำเป็น
ส่วนประเทศที่มีอิทธิพลสูงอย่างจีนและรัสเซีย พยายามใช้วัคซีนที่ผลิตเองเป็นเครื่องมือทางการทูตเพื่อสร้างสัมพันธ์และอิทธิพลในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก
เรื่องของต้นทุนการดำเนินนโยบายฉีดวัคซีนให้ประชาชนของประเทศรายได้น้อย ถือเป็นปราการสำคัญที่ทำให้การกระจายวัคซีนล่าช้า แม้โลกนี้จะเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ แต่โควิด-19 ยิ่งทำให้เห็นช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศที่ยากจนได้ชัดขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกัน โรคระบาดได้ทำให้เห็นการรับมือกับวิกฤติของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ว่าสำเร็จลุล่วง หรือล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนโยบายของแต่ละประเทศก็เผชิญปัญหาแตกต่างกันไป แต่ปัญหาที่คล้ายคลึงกันในหลายพื้นที่ คือ ปัญหาเรื่องการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า ปัญหาความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและยี่ห้อของวัคซีน
• ตัวอย่างพื้นที่ที่การฉีดวัคซีนยังไปไม่ถึงไหน
มีหลายพื้นที่ที่ยังไม่สามารถกระจายวัคซีนให้ถึงเป้าที่กำหนดไว้ ทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา ต่างเจอกับปัญหาการฉีดวัคซีนให้ประชาชน
• ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2021 โดยเริ่มฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่หน้าด่าน รวมถึงผู้ป่วยติดเชื้อ ต่อด้วยกลุ่มผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไปตามลำดับ
วันที่ 11 เมษายน 2021 รายงานจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น ระบุว่า มีประชากรญี่ปุ่นได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ประมาณ 1.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 0.87 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจำนวนดังกล่าวทำให้สำนักข่าว Kyodo News เขียนข่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นฉีดวัคซีนได้น้อยมากหากเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
นักวิชาการและสำนักข่าวญี่ปุ่นต่างพูดถึงความล่าช้าในการกระจายวัคซีนของประเทศตัวเองไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นค่อนข้างมีระบบการอนุมัติการนำเข้าวัคซีนที่เข้มงวด ต้องผ่านหลายขั้นตอน ส่งผลให้การจัดซื้อวัคซีนล่าช้ากว่าประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริการาว 2 เดือน
ตอนนี้มีวัคซีนเพียงยี่ห้อเดียวเท่านั้นที่ตอนนี้ผ่านการอนุมัติ คือ ไฟเซอร์ และวัคซีนที่จะได้รับการอนุมัติเป็นลำดับถัดมาคือ โมเดอร์นา ที่จะผ่านการอนุมัติในเดือนพฤษภาคมนี้
• ฮ่องกง
ฮ่องกงเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณวัคซีนเพียงพอต่อจำนวนประชากร โดยเริ่มฉีดวัคซีนครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2021 มีวัคซีน 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค และ ไฟเซอร์
รัฐบาลฮ่องกงกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ เมื่อประชาชนจำนวนมากไม่ประสงค์ฉีดวัคซีนที่รัฐจัดหามาให้ จากกรณีการฉีดซิโนแวคในระลอกแรก 150,000 โดส และมีข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตหลังรับวัคซีนทั้งหมด 6 ราย รวมถึงมีผู้ได้รับผลข้างเคียงจำนวนมาก ส่งผลให้ประชาชนที่ลงทะเบียนรับวัคซีนซิโนแวคล่วงหน้า ตัดสินใจไม่มาตามนัดถึง 30 เปอร์เซ็นต์
แม้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะยืนยันว่าการเสียชีวิตดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่ชาวฮ่องกงจำนวนมากเลือกหันไปลงทะเบียนรับวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์แทน
นอกจากเรื่องความไว้วางใจในประสิทธิภาพของวัคซีน รัฐบาลฮ่องกงต้องเผชิญกับวิกฤติศรัทธาของผู้คนมานานกว่า 2 ปี เนื่องจากการดำเนินนโยบายทางการเมืองที่เข้มงวด ส่งผลให้ความไว้วางใจของประชาชนลดถอยลงอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ฮ่องกงมียอดจองฉีดวัคซีนอยู่ 32,700 ราย ก่อนจะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ 9 พฤษภาคม มียอดจองเพียง 8,900 ราย รัฐบาลต้องพยายามหาทางให้คนยอมฉีดวัคซีนมากขึ้น
โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงมองว่า ชาวฮ่องกงเปิดกว้างต่อข้อเสนอที่เป็นมิตรหรือแรงจูงใจที่ดึงดูดให้ฉีดวัคซีน มากกว่าการกำหนดบทลงโทษที่เข้มงวดหากไม่ฉีด และรัฐบาลจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเรื่องวัคซีนใหม่ เพื่อบรรเทาความหวาดกลัวและไม่ไว้วางใจของประชาชน
• รัสเซีย
ช่วงต้นปี 2020 รัสเซียเคยประกาศว่าเป็นประเทศแรกที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้สำเร็จ คาดว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชากรของตัวเองเกิน 30 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 144 ล้านคน ภายในกลางเดือนมิถุนายน 2021 ทว่าจำนวนผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนจริงๆ กลับมีจำนวนน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้
เมษายนที่ผ่านมา มีชาวรัสเซียเข้ารับการฉีดวัคซีนเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีประชากรเข้ารับวัคซีน 43 เปอร์เซ็นต์ แม้จะมีวัคซีนเป็นของตัวเอง แต่รัสเซียกลับมีสถิติการฉีดวัคซีนน้อยกว่าประเทศที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตวัคซีน
ส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งแก้เกม ด้วยการแจกคูปองดิจิทัลมูลค่า 1,000 รูเบิล (ประมาณ 400 บาท) แก่ผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป แต่ยอดการฉีดวัคซีนกลับยังไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร เนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยติดปัญหาเรื่องการใช้อุปกรณ์ด้านเทคโนโลยี
นอกจากการแจกคูปองแทนเงินสด รัฐบาลยังโปรโมตเชิญชวนด้วยการใช้คนในวงการบันเทิงมาบอกเล่าถึงประสบการณ์การฉีดวัคซีน ที่มีรายงานว่าเล่าแค่ปากเปล่า ไม่ได้มีภาพมายืนยันว่านักแสดงหรือคนดังได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจริงหรือไม่
เหตุผลที่ทำให้ชาวรัสเซียจำนวนไม่มากยอมฉีดวัคซีน เนื่องจากความกังวลต่อความปลอดภัยของวัคซีนยี่ห้อ สปุตนิก วี แม้จะมีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันต่อประสิทธิภาพของวัคซีนยี่ห้อดังกล่าวก็ตาม
• ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์ถือเป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนตามหลังไทยมาติดๆ โดยวัคซีนที่รัฐบาลมีให้กับประชาชนคือซิโนแวค และรับวัคซีนซิโนฟาร์มที่รัฐบาลจีนบริจาคให้เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ก่อนเริ่มผ่านการอนุมัติให้ใช้วัคซีนยี่ห้ออื่นๆ ทั้ง แอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์ และ สปุตนิก วี
วันที่ 6 พฤษภาคม 2021 ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตร์เต ขอโทษประชาชนที่ตนเป็นผู้อนุมัติให้ฉีดวัคซีนยี่ห้อซิโนฟาร์ม ทั้งที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาของฟิลิปปินส์ ก่อนให้สถานทูตจีนประจำกรุงมะนิลา มารับวัคซีนดังกล่าวจำนวน 1,000 โดสที่เคยบริจาคให้กลับคืนไป และจะใช้วัคซีนจากจีนเพียงแค่ซิโนแวคเท่านั้น
แม้จะขอโทษเรื่องซิโนฟาร์ม ควบคู่กับการเร่งฉีดซิโนแวคต่อ แต่ยอดยังคงไม่กระเตื้องเท่าที่ควร จนกระทั่งวันที่ 18 พฤษภาคม ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลา มีประชาชนมารอฉีดวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ที่เพิ่งเข้ามาร่วม 3,000 คน
ในขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ที่ศูนย์ดังกล่าวมีเพียง 900 โดสเท่านั้น จากการเคลื่อนไหวของประชาชนที่แย่งกันฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาชี้แจงว่าวัคซีนทุกยี่ห้อมีความปลอดภัยไม่ต่างกัน
ในวันเดียวกัน ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่มีการสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีคำสั่งซื้อกว่า 40 ล้านโดส เพื่อเร่งกระจายวัคซีนให้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์เดินหน้าต่อให้ได้ หลังมีภาวะถดถอยหนักในไตรมาสก่อน
ต้องจับตาดูต่อไป ว่าหลังจากรัฐบาลฟิลิปปินส์เริ่มแจกจ่ายวัคซีนหลากหลายยี่ห้อสู่ชุมชน จำนวนประชากรที่เข้ารับการฉีดวัคซีนจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน และจะสามารถแซงไทยที่อยู่ในอันดับใกล้กันได้หรือไม่
1
• ความล่าช้าด้านการฉีดวัคซีนในประเทศไทย
กระทรวงสาธารณสุขไทยมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนไว้ที่ 63 ล้านโดส แบ่งเป็นสองระยะ คือ การกระจายวัคซีนระยะแรก ตั้งแต่วันแรกจนถึงเดือนเมษายน เร่งฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยรุนแรง และกลุ่มความเสี่ยงสูง ตามมาด้วยการกระจายวัคซีนระยะที่สอง ตั้งไว้วันละ 500,000 โดส จนกว่าจะครบ 63 ล้านโดสภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ไทยเผชิญกับปัญหาการนำเข้าวัคซีนที่ล่าช้า กับการนำเข้าเพียงสองยี่ห้อคือ ซิโนแวค กับ แอสตราเซเนกา ก่อนพบว่าไม่เพียงพอ จึงได้เดินเรื่องเจรจากับบริษัทวัคซีนยี่ห้ออื่นตามหลัง และยืนยันว่าจะเพิ่มจำนวนการฉีดจาก 63 ล้านโดส เป็น 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้
หากต้องการทำให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ ไทยจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 500,000 - 1,000,000 โดส ซึ่ง นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติมองว่ายอดดังกล่าวเป็นจำนวนที่ท้าทาย แต่เชื่อว่าสามารถทำได้
วันที่ 20 เมษายน สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในไทย ไว้ 4 ข้อ ดังนี้
1. จำนวนวัคซีนไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรในประเทศ
2. สถานที่และบุคลากรที่จะอำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนมีไม่เพียงพอ
3. ปัญหาด้านการกระจายวัคซีน
4. การสร้างความเชื่อมั่นหลังการฉีดวัคซีน
การสื่อสารที่คลาดเคลื่อนและไม่แน่นอนของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในการฉีดวัคซีน ที่ผ่านมารัฐบาลมีกำหนดให้ประชาชนลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ก่อนจะประกาศภายหลังว่าสามารถ walk-in เข้ามาฉีดวัคซีนตรงจุดบริการได้เลย
และยังมีความสับสนว่าจริงๆ แล้วยังไม่สามารถเดินเข้ามาฉีดวัคซีนได้ทันที ต่อมาเปลี่ยนคำเป็นลงทะเบียน on-site รวมถึงเวลานี้หลายคนยังไม่สามารถลงทะเบียนจองผ่านแอปฯ ได้
คลังข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนจำนวนมากในโลกออนไลน์ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน มีคนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกไม่ไว้วางใจวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้า ทั้งข่าวที่ว่าซิโนแวคยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)
แม้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอให้คนไทยมั่นใจ เพราะ อย. มีมาตรการพิจารณาเอง หรือการพูดคุยเรื่องผลข้างเคียงที่รุนแรงหลังฉีดวัคซีน ที่ถึงจะยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน ทว่ากลับสร้างความวิตกกังวลให้คนไทยได้อย่างไม่ยากเย็น
นอกจากนี้ ยังมีกรณีข่าวการเกิดลิ่มเลือดอุดตันต่อผู้ฉีดแอสตราเซเนกา โดยเฉพาะเพศหญิงที่อายุน้อย การกล่าวถึงงานวิจัยต่างประเทศที่ระบุว่า แอสตราเซเนกาไม่เหมาะกับผู้เป็นภูมิแพ้ การพูดคุยหรือเห็นประเด็นเหล่านี้ผ่านตาในโลกโซเชียลฯ แทบทุกวัน ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองยี่ห้อที่รัฐบาลไทยมีอยู่ในมือ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหา และต้องแก้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม
ไม่กี่วันที่ผ่านมา เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อคนในวงการบันเทิง ที่เริ่มทยอยโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียของตัวเอง ว่าเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคเรียบร้อยแล้ว หรือเห็นการยืนยันว่า ‘วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่เร็วที่สุด’ แตกต่างจากความคิดเห็นของคนจำนวนมากในโซเชียลฯ ที่มองว่าวัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ผู้ฉีดสามารถเลือกเองได้
ในแง่การมีสิทธิ์เลือกวัคซีนตามความสมัครใจ หรือเลือกตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายและช่วงวัย อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยกล่าวถึงกรณีนี้ไว้ว่า
“เราไม่ได้สั่งวัคซีนทุกชนิดเท่ากันหมด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ตอนไม่มีก็ถามว่าทำไมไม่มีวัคซีน พอมีแล้วทำไมถึงไม่มียี่ห้อนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความต้องการหลากหลาย รัฐก็ต้องเป็นผู้กำหนด”
ขณะนี้รัฐบาลไทยพยายามจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ โดยวัคซีนซิโนแวคทั้งสั่งซื้อและบริจาครวม 3.5 ล้านโดส จะส่งมอบภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม ตามด้วยแอสตราเซเนกาอีก 61 ล้านโดส
มีกำหนดส่งมอบภายในเดือนมิถุนายน สั่งไฟเซอร์ 5-20 ล้านโดส ส่วนสปุตนิก วี, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และซิโนแวค จะมีมาเสริมเพิ่มจากเดิมอีกยี่ห้อละ 5-10 ล้านโดส คาดว่าถึงไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
หากรัฐบาลไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ในเร็วๆ นี้ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศอาจไม่สามารถดำเนินได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวมีแววต้องชะงักงันไปอีกนาน.
บทความโดย
ตรีนุช อิงคุทานนท์
กองบรรณาธิการสายสังคมการเมือง ไทยรัฐพลัส
ตรีนุช อิงคุทานนท์
นักเขียนผู้ทุ่มความสนใจส่วนใหญ่ไปกับการเมือง เฟมินิสต์ และการเรียกร้องสิทธิของ LGBTQ+
1
👇อ่านบทความเพิ่มเติม👇
โฆษณา