23 พ.ค. 2021 เวลา 09:00 • หนังสือ
Ep. 4/7 Eat that Frog!
เราสามารถมีเวลาคุณภาพเพิ่มขึ้นได้ปีละ 500 ชั่วโมง?
1
ข้อมูลจาก TomTom Traffic Index ปี 2019 ระบุว่ากรุงเทพฯ มีการจราจรติดขัดหนาแน่นสูงเป็นอันดับที่ 7 ของเอเชีย อันดับที่ 11 ของโลก ความหนาแน่นบนท้องถนนกรุงเทพฯ อยู่ที่ 53% [1]
ส่วน UBER ได้เผยผลสำรวจพบแนวโน้มปัญหาการจราจรติดขัดในหลายๆ เมืองของภูมิภาคอาเซียนเลวร้ายลงทุกปี โดยกรุงเทพฯ มีปัญหาการจราจรติดขัดมากที่สุดในภูมิภาคสำหรับผู้คนที่ขับรถบนถนนในกรุงเทพฯ เสียเวลาไปกับรถติดโดยเฉลี่ย 72 นาทีในแต่ละวัน และอีก 24 นาทีเพื่อวนหาที่จอดรถ ทุกวันนี้กรุงเทพฯ มีรถมากกว่า 5.8 ล้านคัน และต้องใช้พื้นที่เท่ากับสนามบินสุวรรณภูมิ 8 แห่งในการจอดรถทั้งหมด [2]
หากรวมเวลารถติดและเวลาเดินทางปกติไปกลับวันละ 2 ชั่วโมง คิดทำงาน 250 วันต่อปี เราจะใช้เวลาเดินทางอย่างน้อยปีละ 500 ชั่วโมง จะเป็นการดีไหมถ้าเราใช้เวลา 500 ชั่วโมงนี้เป็นเวลาที่มีคุณภาพ
1
เราสามารถทำเศษเสี้ยวเวลาในช่วงชีวิตที่เร่งรีบหรือช่วงรถติด เดินทาง ให้ได้เกิดคุณค่า และมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยใช้ ‘พอดแคสต์ (Podcast)’ ที่สามารถเปิดฟังได้ทุกที่แม้ตอนขับรถ ในเวลาเดินทางเราลองเปลี่ยนจากการฟังเพลงมาเป็นการฟัง Podcast ดูแล้วเราจะได้อะไรหลายๆ จากการฟังในเวลาช่วงเศษนาทีนี้
โดยมีช่องความรู้ให้เราหาฟังกันมากมาย เช่น Mission To The Moon ที่เราชอบมากที่สุด และยังมี The Secret Sauce, I HATE MY JOB, English AfterNoonz, Readery, และอื่นๆ อีกมากมาย
1
ถ้า podcast แต่ละเรื่องที่สามารถพัฒนาชีวิตเราได้ มีความยาวตอนละ 10 นาที จะทำให้ทั้งปีเราสามารถพัฒนาตัวเองได้ 3,000 เรื่อง ชีวิตเราดีขึ้นได้ในตอนรถติด
unsplash.com
ตอนนี้ในหนังสือ "กินกบตัวนั้นซะ" มี 3 กฎที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการแบ่งงาน การพัฒนาทักษะและการทำลายข้อจำกัด
🔟 กฎข้อที่ 10 จับตามองถังน้ำมันทีละถัง
ทะเลทรายซาฮาราเป็นทะเลทรายขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เนื้อที่มากกว่า 9,000,000 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศไทย 18 เท่า ในหลายปีก่อนการเดินทางข้ามทะเลทรายซาฮาราจึงอันตรายมาก จากการหลงทางและไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก อาหาร และน้ำระหว่างการเดินทาง
นักเดินทางชาวฝรั่งเศสจึงวางถังน้ำมันเปล่าไว้ทุก 5 กิโลเมตรเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ทำให้คนที่เดินทางต่อมาไม่หลง เพราะจะเห็นถังน้ำมัน 2 ถังในระยะ 5 กิโลเมตรเสมอ คือถังที่อยู่ด้านหลังที่เดินทางผ่านมาและถังที่อยู่ข้างหน้าที่เป็นเป้าหมายถัดไป
การทำภารกิจอื่นที่สำคัญที่สุดในชีวิตก็เช่นกัน เหมือนกับการเดินทางข้ามทะเลทรายซาฮารา เราต้องแบ่งเป้าหมายทีละขั้นตอน เช่นต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน ก็เริ่มจากการออมเล็กน้อยเดือนละครั้ง อยากมีสุขภาพแข็งแรงก็ออกกำลังกายเพิ่มขึ้นทีละน้อย
1️⃣1️⃣ กฎข้อที่ 11 พัฒนาทักษะสำคัญๆ ทีละขั้น
สาเหตุหลักของการผัดวันประกันพรุ่งคือความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถในการทำงานนั้นๆ ไม่มั่นใจในตนเอง สิ่งที่จะมาแก้ไขเรื่องนี้คือการพัฒนาทักษะให้ทำสิ่งนั้น โดยมีเทคนิค 3 ขั้นตอนคือ
1. อ่านหนังสือ เนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ การทำงาน อย่างน้อย 1 ชั่วโมง และต้องเป็นการอ่านที่มีคุณภาพ เช่นมีการจดโน๊ตสรุปเพื่อนำไปใช้
2. เข้าอบรมสัมมนา ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ การทำงาน เพราะจะทำให้เราเปิดโลก พบผู้คนในวงการเดียวกัน และรู้ว่าตนเองอยู่ที่ระดับใด และควรพัฒนาต่อในด้านใด
3. ฟัง Podcast ความรู้ระหว่างขับรถ [หรือระหว่างการเดินทาง] หากเราใช้เวลาขับรถหรือเดินทางไปกลับวันละ 2 ชั่วโมง ทำงาน 250 วันต่อปี เราจะได้ใช้เวลาที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นปีละ 500 ชั่วโมง
1
1️⃣2️⃣ กฎข้อที่ 12 มองหาข้อจำกัดของคุณ
เรามักจะต้องก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดบางอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเสมอ แต่อะไรเป็นข้อจำกัดนั้นเราต้องระบุออกมาให้ได้ตั้งแต่เริ่มต้นเดินทาง
การประยุกต์ใช้กฎ 80/20 กับข้อจำกัด โดย 80% ของข้อจำกัดเกิดขึ้นจากปัจจัยภายในตนเอง เช่น ความสามารถของเรา ความมีวินัย ศักยภาพ การมีแรงบันดาลใจ ส่วนที่เหลือ 20% คือปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ก็ปล่อยมันไป เพราะมันเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราทำได้
ขอให้ถามตนเองอยู่เสมอๆ ว่าอะไรเป็นข้อจำกัดของเรา และซื่อสัตย์ในการตอบคำถามตัวเอง
ในตอนหน้าเรามาคุยกันต่อในซีรีย์ Eat that Frog! เป็นตอนเกี่ยวกับการกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำ และการใช้โซเชียล
ขอบคุณสำหรับการติดตาม ขอให้เพื่อนๆ ที่ตามอ่านบทความของพวกเรา ประสบความสำเร็จในทุกด้านของชีวิตตามเป้าหมายครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา