23 พ.ค. 2021 เวลา 07:27 • สุขภาพ
โจทย์ท้าทาย ไทยพร้อมไหม วัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา กับงานยากด้านโลจิสติกส์!
หากจะพูดถึงวัคซีน ที่คนไทยอยากจะฉีด และเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง แน่นอนต้องมีวัคซีน 2 ยี่ห้อนี้อยู่ด้วย คือ ไฟเซอร์ (Pfizer) และ โมเดิร์นนา (Moderna)
นอกจากปัญหาการ “รอคิว” ที่คาดว่าจะได้ในเดือนกรกฎาคมแล้ว ปัญหาของการเก็บรักษาของวัคซีน 2 แบรนด์นี้ก็ยังมีอยู่เพราะ วัคซีน “โมเดอร์นา” จะต้องเก็บที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส (เก็บได้นาน 6 เดือน) แต่ถ้าเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 1 เดือน
ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ หนักหน่วงกว่า คือ ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิ -80 ถึง -60 องศาเซลเซียส รักษาได้สูงสุด 6 เดือน
1
แต่หาก เก็บที่อุณหภูมิ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียส จะเก็บรักษาเอาไว้ได้เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น (โดย คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (Food and Drug Administration) หรือ FDA เพิ่งอนุญาตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์)
1
เรียกว่าวันเวลาเก็บรักษาหายไปอื้อเลยทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้ทางไฟเซอร์กำลังดำเนินการวิจัยแก้ไขปัญหานี้อยู่
1
**คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (Food and Drug Administration) หรือ FDA เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนการอนุญาตให้จัดเก็บและขนส่งวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์**
1
🙋คำถามคือ ระบบโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ โดยเฉพาะวัคซีน ของเรามีความพร้อมขนาดไหน...
ไทยรัฐออนไลน์ ได้คำตอบ จากผู้รู้ และจัดการโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ 2 คน ได้แก่ ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ และ นายวรพงษ์ สุรชัยกุลวัฒนา General Manager, Distribution Center Operations, DKSH (Thailand) Limited บริษัทที่ดูแลและจัดส่งวัคซีน 2 ยี่ห้อที่นำเข้ามาในไทยแล้ว คือ “ซิโนแวค” และ “แอสตร้าเซเนกา”
นายกฯ เครื่องมือแพทย์ ยัน ไทยพร้อมอยู่แล้ว ระบบโลจิสติกส์ยาเย็น (Cold Chain)
1
นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ ระบุว่า บ้านเรามีบริษัทที่มีความพร้อมในเรื่องระบบการขนส่งพัสดุเวชภัณฑ์ ที่จำเป็นต้องใช้ความเย็นมานานแล้ว ที่ผ่านมา ก็มีการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนในอุณหภูมิที่เหมาะสม 2-8 องศาฯ ตามข้อกำหนดของวัคซีน “ซิโนแวค” และ “แอสตราเซเนกา”
1
เมื่อถึงเวลาที่ทางภาครัฐ หรือ โรงพยาบาลใดต้องการ ก็จะมีการขนส่งให้ โดยมีกล่องรักษาความเย็น โดยมีตัวตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งโดยรวมเขาจะเรียกว่าเป็นระบบขนส่งแบบยาเย็น (Cold Chain) ซึ่งจะมีระบบควบคุมอุณหภูมิไม่ให้แปรปรวน ป้องกันวัคซีนเสื่อมคุณภาพ
📣 GPO ให้ DKSH จัดการเก็บและจัดส่ง วัคซีนซิโนแวค และแอสตราเซเนกา
นายวรพงษ์ จาก DKSH (Thailand) เผยว่า ทาง GPO ไว้ใจในการจัดส่งวัคซีนของรัฐบาล เราได้จัดส่งยี่ห้อซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ซึ่งก็จัดการเรียบร้อยแล้วโดยไม่มีปัญหาติดขัดแต่อย่างใด
ที่ผ่านมา DKSH ได้ทำการจัดส่งเวชภัณฑ์มานานแล้ว สำหรับวัคซีน มีประสบการณ์มานับ 10 ปี เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น
สำหรับ สินค้าประเภท Cold Chain จะแบ่งเป็นอุณหภูมิออกเป็นหลายช่วง แต่ที่คุ้นเคยและใช้สำหรับวัคซีนหลักของเรา ก็คืออยู่ที่ 2-8 องศาเซลเซียส
1
“ลักษณะสินค้า Cold Chain จะเริ่มต้นตั้งแต่รับสินค้ามาจากโรงงาน จากนั้นก็มาเก็บที่ศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายส่วน เช่น เป็นห้อง เชลล์ หรือ แล็บ ขึ้นอยู่กับขนาดสินค้า
สิ่งสำคัญคือ ต้องรักษาระดับความเย็นให้ได้ตามที่ต้องการตลอดเวลา โดยมีอุปกรณ์ตรวจวัด ซึ่งแต่ละห้องที่ทำการจัดเก็บ จะมีการตรวจสอบเชิงคุณภาพตลอดเวลา”
ยกตัวอย่าง ก่อนการจะใช้ห้องจัดเก็บ จะมีการทดสอบว่าจุดไหนของห้องเป็นจุดที่เย็นที่สุด (Cold spot) และจุดไหน ร้อนที่สุด (Hot spot) ซึ่งต้องไม่ร้อนหรือเย็นเกิน 2-8 องศาฯ หากได้มาตรฐานเราก็จะจัดเก็บในห้องนั้น โดย จะมีการตั้ง Alarm ไว้ ที่อุณหภูมิ 3 หรือ 7 องศา
นายวรพงษ์ สุรชัยกุลวัฒนา
ถ้าหากอุณหภูมิมาแตะที่ตัวเลขนี้ ก็จะมีการแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ทีม Cold Chain ที่เกี่ยวข้อง เช่น ทีมบำรุงรักษา และหน่วยตรวจสอบ เพื่อรีบมาดำเนินการแก้ ส่วนตัวเลขที่ตั้งไว้ในอุณหภูมิดังกล่าว ก็เพื่อเผื่อเวลาในการแก้ปัญหา และจะไม่ให้สินค้าเสียหาย
เหนือจรดใต้ขนส่งมาแล้ว เก็บความเย็นนานสุด 48 ชั่วโมง
สำหรับในระบบโลจิสติกส์ นายวรพงษ์ เผยว่า ที่ผ่านมา ได้มีการส่งสินค้าเวชภัณฑ์ไปเหนือสุด ใต้สุดของประเทศมาแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้ระหว่างจัดส่งเราเรียกว่า “B Box”
โดยแต่ละกล่องจะต้องผ่านการทดสอบ การเก็บความเย็นระหว่าง 2-8 องศาฯ ซึ่งของเรามีหลายขนาด มีการทดสอบทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ทุกฤดูกาล ร้อน หนาว ฝน
“ขนาด B Box จะเก็บได้นานที่ 48 ชั่วโมง ส่วนอีกแบบหนึ่ง ที่มีการจัดส่งจำนวนมาก จะมีระบบจัดเก็บได้นาน 5 วัน โดยในเบื้องต้น การจัดส่งวัคซีนจะส่งผ่านรถห้องเย็น ซึ่งภายในรถจะมีความเย็นประมาณ 25 องศา” นายวรพงษ์ กล่าว
📢 รัฐหรือเอกชนต้องลงทุน หากจำเป็นต้องส่งวัคซีนที่ต้องรักษาอุณหภูมิน้อยกว่า -70 องศาฯ
เกี่ยวกับวัคซีน ไฟเซอร์ และโมเดิร์นนา ที่อาจจะต้องใช้ระบบขนส่งยาเย็นมากกว่า - 20 องศาฯ และ - 70 องศาฯ ภก.ปรีชา กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อ จะเข้ามาเมื่อไหร่กันแน่ แต่ หากจะนำเข้ามาใช้จริงๆ รัฐบาลหรือบริษัทเอกชน ก็ต้องพิจารณาเรื่องการลงทุน
“สิ่งสำคัญเวลานี้ คือ เรื่องการจัดการบริหารการฉีดวัคซีน หากจำเป็นต้องใช้วัคซีนที่ต้องเก็บในอุณหภูมิติดลบเยอะๆ เราก็ต้องบริหารจัดการให้ประชาชนมารวมตัวเพื่อฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด
ซึ่งวัคซีนมันก็มีระยะเวลาของมัน ใช่ว่า..นำออกมาจากตู้แช่เย็นแล้วเสื่อมคุณภาพเลย มันอยู่ที่คุณสมบัติวัคซีนอยู่ในอุณหภูมิห้องได้นานแค่ไหน..กี่เดือนกี่สัปดาห์ว่ากันไป เรื่องสำคัญคือ การบริหารจัดการให้จำนวนคนที่มาฉีด กับ วัคซีนที่เตรียมมา ต้องเท่ากัน”
1
📢 ไม่มีปัญหา! จัดส่งวัคซีนในความเย็น -25 ถึง -15 แต่ น้อยกว่า - 70 องศาฯ คือความท้าทาย
ในประเด็นเดียวกัน ทีมข่าวได้ถามกับ นายวรพงษ์ ตัวแทน DKSH ยืนยันว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทก็มีการจัดเก็บและส่งเวชภัณฑ์ในความเย็นระดับ -25 ถึง - 15 อยู่แล้ว วิธีการจัดส่ง และอุปกรณ์ใช้จะคล้ายกับการจัดเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาฯ แต่จะแตกต่างกันที่ตัวแปรอุปกรณ์ภายในเรื่องการให้ความเย็น โดยมีหีบห่อด้านนอกคล้ายกัน
“แต่ถ้าความเย็นระดับ -70 นั้น น่าจะเป็นความท้าทายระดับหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากว่า ความเย็นระดับนี้จะมีสภาพแวดล้อมทำงานไม่ง่าย มันจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ตอนนี้ทางเราได้มีการศึกษาและเตรียมพร้อม หากมีผู้ที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนด้านข้อมูล ก็คาดว่าจะสามารถดำเนินการต่อไปได้”
นายวรพงษ์ ยอมรับว่า การศึกษาข้อมูลขั้นตอนการจัดส่งเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องมีการวางแผนกับทีมต้นทางที่ส่งมาให้อย่างดี
ขณะเดียวกัน นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ เผยว่า ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้กันอยู่ เท่าที่ทราบคือ ราคาประมาณล้านกว่าบาท/ตู้ แต่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องความจำเป็นที่ภาครัฐอาจจะต้องเข้ามาลงทุนในระยะยาว หรือว่าจะให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนก็ได้...เพราะภาคเอกชนมีความพร้อมมากกว่า
“สมมติว่า หากจะมีการจัดส่งจริง คงจะต้องวางแผนกระจายสินค้าทันที ไม่ควรที่จะนำมาจัดเก็บ ซึ่งถ้าหากเก็บไว้ อาจจะเสียเวลา และมีความเสี่ยงเรื่องอุณหภูมิ ซึ่งหากมีการบริหารจัดการที่ดี มีการกระจายวัคซีนทันที จะเป็นผลดีมากกว่า” นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์
ทั้งนี้ หากพิจารณาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญในสายงานนี้ทั้ง 2 คน จะเห็นว่า “การบริหารจัดการ” คือ สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องคำนึง ในงานด้านโลจิสติกส์นั้น ถึงแม้จะยังไม่มีอุปกรณ์สำหรับ การขนส่งวัคซีน “ไฟเซอร์” ที่ต้องใช้ความเย็นระดับนั้น แต่หากมีการนำเข้ามาใช้จริงๆ ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล เคยให้ข่าวว่าจะสั่งวัคซีนไฟเซอร์ 10-20 ล้านโดส ก็น่าจะมีการลงทุนต่อไป
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Sriwan Singha
โฆษณา