27 พ.ค. 2021 เวลา 12:13 • ประวัติศาสตร์
“สุนัขสงคราม (War Dogs)” การใช้งานสุนัขในยามสงคราม
“สุนัข” นอกจากจะเป็นสัตว์เลี้ยงแสนดีของมนุษย์แล้ว มนุษย์ยังใช้ประโยชน์จากสุนัขในการสงครามอีกด้วย
ในช่วงสงครามโลก แต่ละชาติมีความพยายามที่จะฝึกสุนัข ใช้ประโยชน์จากสุนัขในการรบ
ทุกที่ล้วนแต่ล้มเหลว
เริ่มจากที่แรกคือรัสเซีย โดยรัสเซียเริ่มมีการนำสุนัขมาใช้ในการสงครามเมื่อปีค.ศ.1924 (พ.ศ.2467) โดยต้องการให้สุนัขเป็นผู้นำพาความช่วยเหลือมายังทหาร นำส่งอุปกรณ์พยาบาลและเสบียง การติดต่อสื่อสารระหว่างกองทัพ รวมทั้งยังหากับระเบิด
ที่มอสโคว มีการเปิดโรงเรียนฝึกสุนัขถึง 12 แห่ง โดยมีการฝึกสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด เพื่อใช้ต่อกรกับเยอรมนี
โรงเรียนบางแห่งเริ่มจะฝึกให้สุนัขขนกับระเบิดและระเบิดพก โดยให้สุนัขทิ้งระเบิดในจุดที่ใกล้กับเป้าหมาย และกลับไปหาผู้ฝึก
ปรากฎว่าความพยายามนี้ล้มเหลว ในการฝึก มีการใช้รถถังเป็นเป้า โดยผู้ฝึกจะปล่อยให้สุนัขหิว และวางอาหารไว้ใต้รถถังเพื่อล่อ อีกทั้งยังให้รถถังยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อให้สมจริงและให้สุนัขคุ้นเคย
แต่การฝึกอย่างนี้ก็พบว่าสิ้นเปลืองค่าลูกกระสุน อีกทั้งหลายครั้งที่สุนัขวิ่งกลับมาหาผู้ฝึกทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทิ้งระเบิด ทำให้รัสเซียยกเลิกการใช้สุนัขสงครามในปีค.ศ.1942 (พ.ศ.2485)
ทางด้านญี่ปุ่นเอง ในยุค 40 (พ.ศ.2483-2492) ก็ได้มีความพยายามจะฝึกสุนัขเพื่อใช้ในการสงครามถึง 25,000 ตัว โดยสุนัขที่นำมาฝึกนั้น ก็เป็นสุนัขที่ได้จากพันธมิตรของญี่ปุ่น นั่นก็คือเยอรมนี
แต่ที่แตกต่างระหว่างสุนัขญี่ปุ่นกับสุนัขรัสเซียก็คือ ญี่ปุ่นฝึกสุนัขเพื่อใช้ในการลากเกวียนที่บรรทุกระเบิด ซึ่งก็ไม่ค่อยได้ผลนัก
สุดท้าย แผนการใช้สุนัขในการสงครามของญี่ปุ่นก็ล้มเลิกไปในเวลาไม่นาน
ทางด้านสหรัฐอเมริกา ในปีค.ศ.1943 (พ.ศ.2486) กองทัพอเมริกันก็ได้ทำการฝึกหน่วยสุนัขสงคราม โดยต้องการให้สุนัขสามารถคาบระเบิด และบุกไประเบิดยังฐานของศัตรู
ปฏิบัติการนี้คือต้องสละชีวิตสุนัข สุนัขจะคาบระเบิดไปยังฐานของศัตรู และระเบิดไปพร้อมกับศัตรู
แต่แผนการนี้ก็ไม่ได้ผลนัก และภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปีก็ต้องยกเลิกไป เนื่องจากสุนัขมักจะวิ่งกลับมายังผู้ฝึกโดยที่ยังไปไม่ถึงฐานของศัตรูด้วยซ้ำ
ต่อมา เมื่อสังคมมีการพัฒนา เริ่มมีการตระหนักถึงการทารุณสัตว์ ทำให้การใช้สุนัขในยามสงครามค่อยๆ ลดบทบาทลง
โฆษณา