27 พ.ค. 2021 เวลา 09:35 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
คนดูหนังไทยหลายคนอาจมีความคาดหวังในภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญเรื่องล่าสุดอย่าง Ghost Lab: ฉีกกฎทดลองผี ไม่ใช่แค่เป็นผลงานจากค่าย GDH x Netflix เท่านั้น หากแต่เป็นผลงานการกำกับของ กอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา ที่เคยประสบความสำเร็จจากการกำกับภาพยนตร์แนวเดียวกันอย่าง บอดี้ ศพ19, สี่แพร่ง, และ ห้าแพร่ง มาแล้ว ทั้งนี้เพราะ เมื่อหลายปีก่อน บอดี้ ศพ19, สี่แพร่ง, และ ห้าแพร่ง ถือเป็นหนังผีไทยที่สนุกและล้ำกว่าหนังไทยเรื่องอื่น ๆ ณ ตอนนั้
เราสามารถพูดได้ว่า แนวสยองขวัญคือแนวถนัดและแนวแจ้งเกิดของ GTH (ชื่อค่าย ณ ตอนนั้น) แต่สำหรับวันนี้… สำหรับ Ghost Lab เรื่องนี้… เราคิดว่า ค่อนข้างถอยหลัง ชนิดที่ว่า นอนดูบน Netflix ที่บ้าน ยังรู้สึกเสียดายเวลา (2 ช.ม. ที่เราเสียสละไปดูเรื่องนี้ คือดึงมาจากเวลาที่ปกติเราควรใช้ดู ซีรีส์เกาหลีที่ชอบที่ชอบ ได้ 2 ep.)
== GHOST LAB เหมือนเอาเด็กสายศิลป์มาทำแล็บวิทย์ ==
เรื่องย่อ Ghost Lab ตามที่ Netflix บรรยายไว้ก็คือ เป็นเรื่องหมอหนุ่มสองคน วี (ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร) และ กล้า (ไอซ์-พาริส อินทรโกมาลย์สุต) ที่หมกมุ่นกับการทำวิจัยและหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ว่าผีมีจริง (ย้ำ… ตัวเอกเป็นหมอ และพยายามหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ว่าผีมีจริง)
ซึ่งพล็อตมันทำให้เรานึกถึงหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง Flatliners (2017) ที่เล่าเรื่องกลุ่มนักศึกษาแพทย์ที่ทำให้หัวใจตัวเองหยุดเต้นชั่วขณะเพื่อทำการทดลองและหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย แต่เราไม่ได้ดูเรื่องนั้น เลยยังพูดถึงไม่ได้มาก แปะไว้ก่อน
เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องตัวเอกเป็นหมอหรือเป็นเด็กสายวิทย์แล้วมาหมกมุ่นเรื่องผี แต่เราคิดว่า สิ่งที่ตัวเอกใน Ghost Lab ทำเพื่อการวิจัยในหนังมันยังไม่ค่อยวิทย์มากพอ
ไม่แน่ใจว่าคนเขียนบทมีสายวิทย์บ้างมั้ยหรือได้ปรึกษาคนสายวิทย์มามากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่ดูจากหนัง หนังมันเหมือนเอาคนสายศิลป์มาทำแล็บ เหมือนเอาเด็กศิลป์มาเขียนบทหนังให้มีความวิทย์ ๆ แล้วมันแตะได้แค่วิทย์ระดับประถม-ม.ต้น เช่น การตั้งสมมติฐาน การหาตัวแปร หรือกระทั่งพยายามจัดไฟลัมให้กับผี ฯลฯ แล้วไอเดียส่วนใหญ่ก็ตั้งบนพื้นฐานของอารมณ์ความรู้สึกเหมือนหนังผีทั่วไป เช่น ผีโผล่มาให้เห็นเพราะผีห่วง/ผีแค้น นอกเหนือจากนั้น การทดลองก็ทำแบบทั่วไปเหมือนรายการล่าท้าผีทั่วไป เช่น พยายามตั้งกล้องจับภาพผี ตรวจวัดอุณภูมิโดยรอบ ฯลฯ สั้น ๆ ก็คือ ถ้าจะทำแค่นี้ ไม่ต้องวางตัวเอกให้เป็นหมอระดับท็อปรุ่นก็ได้
== จุดเริ่มต้นมาจากอนาคต แต่จุดจบวกกลับไปสมัยแรกเริ่มพุทธกาล ==
เป็นที่น่าเสียดายที่ถึงแม้หนังไทยหลายเรื่องจะมีไอเดียแปลกใหม่แค่ไหน แต่สุดท้ายมันก็ไม่ไปไหนหรือแป้กในตอนจบ เพราะมันมักจะวนกลับมาที่ความนิทานก่อนนอนแทรกคติสอนใจหรือรายการสไตล์คนเมืองพุทธ
Ghost Lab เปิดเรื่องมาด้วยความฝัน ความมุ่งมั่น และความทะเยอทะยานของตัวเอกที่อยากจะพิสูจน์ให้โลกรู้ว่าผีมีจริงและตนเองได้ขึ้นปกนิตยสารวิทยาศาสตร์ระดับโลก เช่นเดียวกับซีรีส์ Start-Up ของเกาหลีที่ตัวเอกมีความฝันอันยิ่งใหญ่ที่ดูเหมือนจะลม ๆ แล้ง ๆ ในช่วงเริ่มต้น
ในขณะที่หนังหรือซีรีส์ของต่างประเทศพยายามผลักดันให้คนดูหรือผู้คนในประเทศทำตามความฝันหรือเดินหน้าเพื่อความสำเร็จนั้น หนังไทยของเรา ณ ที่นี้ก็คือ Ghost Lab กลับเบรคจินตนาการของคนดูว่า เป็นไปไม่ได้หรอก พอเถอะ เลิกหมกมุ่นกับความฝันตัวเองเถอะ กลับไปดูแลครอบครัวคุณเถอะ…
โดยครึ่งหลังนี่เห็นได้ชัดเลยว่า พระพุทธศาสนาเริ่มเข้ามาครอบงำละ ไหนจะแม่ของหนึ่งตัวเอกคร่ำครวญเรื่องบาปแห่งการฆ่าตัวตายบ้างล่ะ หรือความตั้งใจใส่พระองค์โตทองอร่ามเข้ามาในซีนที่ตัวเอกเดินผ่านบ้างล่ะ ฯลฯ
เข้าใจว่า Ghost Lab มีเจตนาที่ดีที่จะสอนใจคนดูว่า การหมกมุ่นกับงานหรือเรื่องใดใดของตัวเองมากเกินไป อาจทำให้เสียการเสียงาน เช่น ผ่าตัดคนไข้ผิดพลาด หรืออาจละเลยคนรอบข้าง เช่น แม่หรือคนรัก ที่ตัวเอกเพิ่งมาคิดถึงเมื่องานวิจัยของพวกเขามันถลำลึกจนสายเกินแก้ แต่สตอรี่แบบนี้มัน cliché ไปแล้วหรือเปล่า และทำให้ตัวละครหญิงทุกคนในเรื่อง (ซึ่งแต่ละคนก็บทน้อยนิดกันอยู่แล้ว แม้แต่ ณิชา-ณัฏฐณิชา ที่เล่นเป็น ใหม่ แฟนสาวของกล้า) เป็นได้แค่ตัวถ่วงความสำเร็จหรือเป็นบ่วงให้พวกเขาห่วงสำหรับซีนดราม่าของหนังแค่นั้นหรือเปล่า
อีกอย่าง เราคิดว่าถ้าจะจบแบบฟ้ามีตาแบบนี้ สู้ไปจบให้ตัวเอกหมกมุ่นหรือคลั่งวิจัยจนเป็นบ้า ประสาทหลอน หรือมโนไปเองว่าเจอผี แล้วขายการแสดงของสองพระเอกที่ค่ายดันนักดันหนาไปให้สุดไปเลยเสีย ยังจะน่าผิดหวังน้อยกว่า
แต่ตั้งแต่ประมาณ 10 นาทีแรกที่หนังให้สองตัวเอกเห็นผีไฟครอกเหมือนกัน ก็ดูออกแล้วล่ะว่า หนังไม่ยอมลงที่ตัวละครคิดไปเองหรอก หนังปักธงที่ผลลัพธ์ไปแล้วว่า “ผีมีจริง”
ดังนั้น ในเมื่อหนังก็เลือกที่จะยืนพื้นมาแล้วว่า ผีมีจริงและเป็นพลังงานลี้ลับเหนือธรรมชาติ และชื่อเรื่องก็เล่นใช้คำว่า “lab” ชัดเจน ทำไมหนังไม่ลอง sci-fi ไปให้ไกลกว่านี้ไปเลยล่ะ ประมาณว่าการทดลองของพวกเขาประสบความสำเร็จจริง พวกเขาพิสูจน์ได้จริง ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือเครื่องมือเทคโนโลยีใดใดก็ว่าไปตามแต่จินตนาการ เหมือน Back to the Future ที่รถกระป๋องคันหนึ่งพาเดินทางข้ามเวลาได้จริง หรือ Inception ที่เข้าไปในความฝันของคนได้จริง เพื่อที่ Ghost Lab: ฉีกกฎทดลองผี จะได้ฉีกกฎหนังไทยแบบเดิม ๆ และพาหนังไทยล้ำออกไปได้จริง ๆ
สุดท้าย เมื่อมันเป็นมาซะแบบนี้ Ghost Lab ของ GDH ที่ตั้งใจสร้างผลงานมาขายเด็กรุ่นใหม่ และมี trailer ที่น่าดูชม ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากผู้ใหญ่รุ่นเก่าที่เริ่มต้นสอนเด็กให้ฝันใหญ่ ให้ความหวัง แต่สุดท้ายก็จำกัด เบรค หรือตีกรอบเด็ก ๆ ไว้ หรือทำลายความฝัน 10 ปี 20 ปีของเด็ก ด้วยคำว่า ความกตัญญู, ไร้สาระ, เป็นไปไม่ได้, เพ้อเจ้อ ฯลฯ ซึ่งทำให้ประเทศเราไม่ไปไหนอีกเช่นกัน ทั้งวงการภาพยนตร์เอง และตัวประชากรเอง โดยส่วนตัว เราจึงรู้สึกผิดหวังและเสียเวลากับหนังเรื่องนี้
แต่ถ้าใครอยากจะพิสูจน์ ร่วมทดลอง หรือดูผลงานการแสดงของดาราที่คุณชื่นชอบ ก็สามารถเปิดดู Ghost Lab ได้แล้ว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทาง Netflix เท่านั้น
อ่านรีวิวเต็ม
=====
ช่องทางการติดต่อ Kwanmanie >>>
LINE: @kwanmanie
=====
โฆษณา