28 พ.ค. 2021 เวลา 12:00 • การศึกษา
เรียนรู้เศรษฐศาสตร์จากหนังดัง Crazy Rich Asians
ในบทความก่อนหน้า เราได้เรียนรู้ทฤษฎีเกมในการลักพาตัวผ่านหนังระดับโลกอย่าง Captain Phillips (2013) ไปแล้ว ในวันนี้เราจะมาลองดูตัวอย่างเกมที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อย โดยยกตัวอย่างจากเรื่อง Crazy Rich Asians (2018) ว่านางเอกของเรื่องประยุกต์ใช้ทฤษฎีเกมเพื่อความรัก เพื่อให้ได้อยู่กับคนรักของเธออย่างไร แต่ก่อนอื่นเราต้องทบทวนเรื่องราวทั้งหมดคร่าวๆ ก่อน ดังนั้นหากใครยังไม่เคยดู ขอแนะนำให้ไปดูก่อนเลย เพราะเนื้อหาด้านล่างจะสปอยล์คุณแน่ๆ (เตือนแล้วนะ)
ถ้าพร้อมแล้ว เริ่มกันเลย
Crazy Rich Asians เป็นหนังเกี่ยวกับความรักและครอบครัว ซึ่งมีเรื่องราวอยู่ว่า นางเอกของเรื่องหรือ เรเชล ชู ซึ่งเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์เชื้อสายจีน ได้มาพบรักกับหนุ่มรูปหล่อเชื้อสายสิงคโปร์อย่าง นิค ยัง ที่สหรัฐอเมริกา
ราเชล ชู สาวอเมริกันเชื้อสายจีน อาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก แฟนสาวของนิค
เรเชลเองไม่เคยรู้มาก่อนว่านิคเป็นทายาทตระกูลเศรษฐี จนกระทั่งนิคพาเธอมาแนะนำให้รู้จักกับครอบครัวของเขาที่สิงคโปร์ แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อแม่ของนิค หรือ เอเลนอร์ ไม่ปลื้มคนธรรมดาอย่างเรเชล และพยายามกดดันให้เรเชลเลิกกับนิค
นิค ยัง หนุ่มทายาทมหาเศรษฐีจากสิงคโปร์ แฟนหนุ่มของราเชล
เรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอเลนอร์ตั้งใจจะให้นิคสืบทอดธุรกิจของวงษ์ตระกูล จึงไม่ต้องการให้ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเธอกลับไปอยู่ที่สหรัฐฯ กับเรเชล นางเอกของเราก็จำใจยอมทนคำสบประมาทของว่าที่แม่สามี และการกลั่นแกล้งจากแก๊งเพื่อนไฮโซ (ห่างๆ) ของนิค เพื่อพิสูจน์ให้ครอบครัวของนิคได้เห็นความจริงใจของเธอ (พูดง่ายๆ คือ สู้เพื่อรักนั่นเอง)
เอเลนอร์ ยัง แม่ของนิคซึ่งไม่ถูกชะตาแฟนสาวของลูกชายอย่างราเชล และทำทุกวิธีทางที่ขัดขวางความรักของทั้งสองคน
นิสัยใจคอการกระทำที่จริงใจ รวมทั้งการวางตัวตอบโต้อย่างเฉลียวฉลาดของเรเชล ทำให้เธอค่อยๆ ได้รับการยอมรับจากญาติบางคนของนิค ไม่ว่าจะเป็นคุณย่าใหญ่ หรือ ลูกพี่ลูกน้อง รวมถึงเพื่อนสนิทของนิคเอง
เรเชลดูจะค่อยๆ ก้าวเข้าใกล้เส้นชัยมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งว่าที่คุณแม่สามีจอมโหดงัดไม้ตายขึ้นมา โดยการนำประวัติด่างพร้อยในอดีตของแม่ของเรเชล ที่เธอแอบไปจ้างวานสืบมา มาเปิดโปง และเรื่องนี้ทำให้เรเชล ผู้ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเหมือนกัน ตกใจไปพร้อมกับเสียใจมากที่แม่ของเธอถูกดูหมิ่น แถมยังทำให้คุณย่าใหญ่ที่เคยเอ็นดูเรเชล ไม่สามารถยอมรับตระกูลของเธอได้อีก เรเชลจึงตัดสินใจยกธงยอมแพ้และบอกเลิกนิค เพราะเธอไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับครอบครัวที่น่ากลัวของนิคอีกต่อไป
ตอนท้ายของเรื่อง ก่อนที่เรเชลจะเดินทางกลับไปสหรัฐฯ คนเดียวโดยปราศจากนิค เธอตัดสินใจเผชิญหน้ากับเอเลนอร์เป็นครั้งสุดท้าย โดยการสนทนาครั้งนี้แหละ ที่ทำให้เกมทั้งหมดพลิก เนื่องจากเรเชลได้เปิดเผยสิ่งที่เอเลนอร์คาดไม่ถึง นั่นคือ หลังจากเลิกกัน นิคได้พยายามมาขอคืนดี พร้อมเสนอว่าเขาจะยอมทิ้งตระกูลของเขา เพื่อจะได้อยู่กับเธอ แต่เรเชลเป็นคนปฏิเสธไป และเธอยังทิ้งท้ายด้วยระเบิดลูกใหญ่ก่อนเธอจะจากไปว่า
“ฉันไม่ได้ยอมปล่อยนิคไปเพราะฉันกลัวคุณหรอกนะ แต่เพราะฉันรักเขามากเสียจนไม่อยากเห็นเขาต้องเสียแม่ไปอีก ดังนั้น ฉันจึงอยากให้คุณรู้ไว้ว่า ถ้าวันหนึ่ง นิคได้แต่งงานกับหญิงสาวผู้โชคดี ที่เพียบพร้อมในสายตาคุณ และคุณได้เล่นกับหลานๆ ของคุณในขณะที่ดอกถานฮวากำลังบานท่ามกลางเสียงนกร้อง ทั้งหมดนั่นก็เป็นเพราะ การตัดสินใจของคนจน ที่ถูกเลี้ยงมาโดยแม่คนเดียว คนชั้นต่ำ คนต่างด้าวที่ไม่มีตัวตน อย่างฉัน”
ท้ายที่สุด  เอเลนอร์ต้องยอมเปลี่ยนใจและมอบแหวนประจำตัวของเธอ ให้นิคมาขอเรเชลแต่งงานบนเครื่องบินไม่กี่ชั่วโมงก่อนเรเชลจะเดินทางกลับสหรัฐฯ แถมยังยอมจัดปาร์ตี้สละโสดให้ทั้งคู่ซะใหญ่โตบนดาดฟ้าโรงแรมหรูอย่าง Marina Bay Sands แล้วเรื่องราวก็จบไปแบบ Happy Ending
คำถามคือ ทำไมเรเชลถึงสามารถพลิกเกมนี้ได้? ทำไมแค่คำพูดไม่กี่คำของเรเชลทำให้คนอย่าง เอเลนอร์ตัดสินใจใหม่ได้?
เราจะมาวิเคราะห์เหตุการณ์นี้โดยใช้ทฤษฎีเกม ตามหลักเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ กัน
หากเรานำกลยุทธ์ของ เรเชล กับ เอเลนอร์ มาดูแล้ว เราจะเห็นได้ว่าตารางผลตอบแทน (payoff table) จากการตัดสินใจในมุมมองของทั้งคู่นั้นแตกต่างกัน
ในความคิดของเอเลนอร์ ผู้ที่อยากจะมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนไว้ข้างกาย เธอคิดว่ามีสองทางเลือกคือ (1) ยอมให้นิคแต่งงานกับเรเชล และ (2) ขัดขวางการแต่งงาน ซึ่งถ้าเธออยากให้นิคอยู่ที่สิงคโปร์ต่อ เธอก็ต้องเลือกขัดขวางการแต่งงานอยู่แล้ว
เอเลนอร์ก็คงคิดต่อไปอีกว่า เรเชลมีสองตัวเลือกเช่นกัน คือ (1) คบนิคต่อไป (2) ยอมเลิกกับนิค ซึ่งหากเรเชลอยากจับลูกชายเธอจริง ก็คงเลือกข้อแรกเป็นธรรมดา เพราะเธอจะยังมีนิคอยู่ ถึงแม้จะโดนกดดันและอาจต้องยอมจำใจย้ายมาอยู่ที่สิงคโปร์กับแม่สามีสุดแสบ
แต่ไม่ว่าเรเชลจะเลือกอยู่หรือไป เอเลนอร์ก็ได้เปรียบมากกว่าอยู่ดี ถ้าเธอยืนยันไม่ยอมให้ทั้งคู่แต่งงานกัน การขัดขวางความรักจึงเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดหรือ Dominant Strategy ของเอเลนอร์
ดูแบบนี้แล้ว เอเลนอร์คงเดาว่า Nash Equilibrium คือจุดที่ เอเลนอร์เลือกที่จะไม่ยอมให้ทั้งคู่แต่งงานหรือย้ายกลับไปสหรัฐ และก็เป็นจุดที่เรเชลต้องเลือกฝืนทนคบนิคต่อไป เพราะอย่างน้อยก็จะไม่เสียคนรักไป นั่นเอง
สำหรับเรเชล (1) การเลือกที่จะอยู่กับนิคต่อไป โดยที่แม่ของเขา ไม่ยอมรับเธอ ไม่ได้ให้ความสุขกับเธอในท้ายที่สุด เพราะเธอต้องอยู่ด้วยความกดดันแถมยังต้องเสียศักดิ์ศรี แต่ (2) การเลิกจากนิคไป ถึงแม้จะเสียใจ แต่จะทำให้เธอได้รับความเคารพมากขึ้น และนิคจะได้มีความสุขกับครอบครัว ไม่เสียแม่ไป payoff table ของเรเชล จึงมีหน้าตาตามตารางที่ 2 และในเมื่อเธอรู้ดีว่ายังไงเอเลนอร์ก็คงไม่ยอมให้ นิคกลับไปอยู่ที่สหรัฐกับเธอ กลยุทธ์ที่ดีที่สุดที่เธอจะทำได้คือเลือกจากไปเอง
เหมือนเกมนี้จะจบลงที่เอเลนอร์ได้เก็บลูกชายเธอไว้ที่สิงคโปร์ และเรเชลเสียคนรักไปอย่างเท่ ๆ แต่นางเอกของเราได้ทิ้งระเบิดลูกสุดท้ายที่พลิกเกมทั้งหมดไว้ โดยการเปิดเผยข้อมูลที่เอเลนอร์ไม่มี นั่นคือความจริงที่ว่า นิครักเธอมากจนพร้อมที่ทิ้งครอบครัวมาหาเธอ แต่เธอเลือกที่จะปฏิเสธเพราะเห็นแก่นิคและครอบครัวของเขา
นั่นทำให้เอเลนอร์ได้รู้ว่า จริง ๆ แล้ว เธอไม่ได้ เป็นคนคุมเกม เพราะแม้ว่าเรเชลจะยอมเลิกกับนิค เธออาจจะเสียลูกชายไปอยู่ดี ไม่ว่าโดยการที่นิคจะโกรธแม่ของตัวเองไปตลอด หรือเลือกที่จะหนีกลับไปหาเรเชล
ข้อมูลใหม่นี้จึงทำให้ ตารางผลตอบแทนของเอเลนอร์ เปลี่ยนไปเป็นแบบตารางที่ 3 เห็นแบบนี้แล้ว โอกาสที่ดีที่สุดสำหรับเอเลนอร์ ในการรักษาลูกชายของเธอไว้ คือการยอมให้เขาได้แต่งงานกับผู้หญิงที่เขารักพูดง่ายๆ คือ เรเชลได้เปลี่ยนกลยุทธ์ที่ดีที่สุด ของเอเลนอร์และทำให้เราได้เห็นตอนจบที่น่าประทับใจนั่นเอง
บทเรียนที่เราได้พูดถึงในบทความนี้ทำให้เห็นว่า หลายสถานการณ์ในชีวิตจริงนั้นสามารถวิเคราะห์ได้โดยทฤษฎีเกมตามหลักเศรษฐศาสตร์ และทฤษฎีเกมนี้ก็มีประโยชน์อย่างกว้างขวาง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเจรจา หรือคิดกลยุทธ์ สำหรับเรื่องต่าง ๆ ได้ เช่น เรื่องธุรกิจ การเมือง ไปจนถึงเรื่องสงครามนิวเคลียร์ การมีข้อมูลที่เหนือกว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในการพลิกเกม และกลยุทธ์ที่เลือกใช้ก็ควรมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมและสถานการณ์ได้
ส่วนคนไหนที่กำลังมีปัญหาหัวใจเหมือนราเชล Bnomics ก็ขอบอกว่าสามารถลองศึกษาแนวคิดของราเชลก็ได้นะคะ
ในบทความหน้า เราจะเอาบทเรียนจากหนังดังเรื่องอะไรมาวิเคราะห์ต้องลองติดตามดูกันค่ะ
Economic Edutainment for Everyone
ตอนที่ 1 'Shawshank Redemption' : https://bit.ly/2Q3gvj7
ตอนที่ 2 'Captain Phillips' : https://bit.ly/3oBrxbW
ตอนที่ 3 'Vincenzo' : https://bit.ly/3hHKV5N
ตอนที่ 4 'Parasite ชนชั้นปรสิต' : https://bit.ly/2Sd7VyL
ตอนที่ 5 'อ้ายคนหล่อลวง' : https://bit.ly/3wpjstw
ตอนที่ 6 'A Beautiful Mind' : https://bit.ly/3hWgeKh
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา