29 พ.ค. 2021 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จุดอ่อน จุดแข็งจีน ภายใต้ Tech War
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
7
การต่อสู้ระหว่างจีนและสหรัฐฯ กำลังยกระดับจากยุคสงครามการค้า (Trade War) เข้าสู่ยุคสงครามเทคโนโลยี (Tech War) โดยทั้งสองมหาอำนาจต่างแข่งขันและขัดขากันเพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำเทคโนโลยียุคใหม่อย่างเต็มตัว
6
โจทย์หินที่นักยุทธศาสตร์จีนต้องตอบให้ได้ ก็คือ จีนจะพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปได้อย่างไร เมื่อสหรัฐฯ เริ่มตัดแข้งตัดขาจีน เริ่มห้ามไม่ให้จีนใช้หรือต่อยอดเทคโนโลยีสหรัฐฯ รวมทั้งพยายามย้ายฐานเทคโนโลยีสำคัญกลับไปสหรัฐฯ หรือไปยังประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ แทน
3
นักยุทธศาสตร์จีนมักชี้ทางรอดของจีนว่า จีนต้องใช้ประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่ อำนาจต่อรองของจีนอยู่ที่ขนาดตลาด
บริษัทฝรั่งมากมายยังคงอยากคบอยากขายให้กับตลาดจีน เพราะเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเพิ่งมีจำนวนชนชั้นกลางแซงหน้าสหรัฐฯ
2
บริษัทเทคโนโลยีต้องอาศัยเงินทุนมหาศาลในการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อจะครองความเป็นผู้นำเทคโนโลยีต่อไป หากบริษัทไม่มีส่วนแบ่งในตลาดขนาดใหญ่ แล้วจะเอารายได้และกำไรที่ไหนมาทุ่มให้กับการวิจัยและพัฒนารอบต่อไป
1
อย่างไรก็ดี ก็อาจจะมีบริษัทเทคโนโลยีฝรั่งที่เปลี่ยนยุทธศาสตร์ไม่ขายไม่คบจีน และเน้นสร้างห่วงโซ่หรือขยายตลาดในประเทศอื่นๆ หรือถึงแม้ว่าตนอยากจะคบค้ากับจีน แต่ก็อาจถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามไว้ ดังเช่นที่รัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ ขายชิปให้หัวเว่ย
4
แนวทางแก้เกมของจีนในเรื่องนี้ ก็คือ ต้องผลักดันบริษัทเทคโนโลยีของจีน โดยให้บริษัทเทคโนโลยีจีนใช้ประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่ภายในประเทศ ซื้อและส่งเสริมกัน เมื่อบริษัทเทคโนโลยีจีนครองตลาดขนาดใหญ่และได้รายได้และกำไรมหาศาล ก็นำเอาเม็ดเงินนั้นกลับมาทุ่มให้กับการคิดค้นและพัฒนา (R&D) จนทำให้เกิดวงจรการสร้างสรรค์เทคโนโลยีของจีนเองได้
6
นี่เป็นความหมายแฝงของคำว่า “การหมุนเวียนภายใน” ซึ่งเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์สองหมุนเวียน (Dual Circulation) ในแผน 5 ปี ฉบับใหม่ของจีน
4
นอกจากนั้น ถึงแม้บริษัทสหรัฐฯ จะไม่คบจีน แต่ในโลกปัจจุบันในเกือบทุกเทคโนโลยี ไม่ได้มีแต่บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำหรือผูกขาดเทคโนโลยีอยู่คนเดียว บริษัทเทคโนโลยียุโรปหรือญี่ปุ่นยังคงอยากร่วมมือกับบริษัทจีน อยากคบอยากค้าอยากขายให้ตลาดขนาดมหึมาของจีน
4
ดังนั้น จีนก็ยังสามารถแสวงหาพันธมิตรจากบริษัทอื่นๆ เหล่านี้ต่อไปได้ เรียกว่าถึงบริษัทเบอร์ 1 ไม่ยอมคบจีน แต่บริษัทเบอร์ 2 และเบอร์ 3 คงอยากจะรีบเข้าคว้าตลาดจีนไว้แทน
เกมการรุกในสมรภูมิเทคโนโลยีของจีน จึงอาศัยการใช้ตลาดขนาดใหญ่ของตนเป็นอำนาจต่อรอง ดึงดูดให้บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ทิ้งจีนไม่ได้ แต่ถ้าบริษัทสหรัฐฯ บางแห่งยังยืนยันจะทิ้ง จีนก็ต้องเริ่มสร้างเทคโนโลยีรากหญ้าของตนมาทดแทน หรือแสวงพันธมิตรจากบริษัทเทคโนโลยีประเทศอื่นมาเสริมทัพ
4
ศ.จินช่านหรง นักยุทธศาสตร์การต่างประเทศชื่อดังของจีน เคยกล่าวว่า จีนสามารถเลียนแบบจุดแข็งของสหรัฐฯ ได้ แต่สหรัฐฯ ไม่สามารถเลียนแบบจุดแข็งของจีนได้
6
จุดแข็งของสหรัฐฯ ก็คือ เงินทุน และทรัพยากรมนุษย์ที่เก่งที่สุดในโลก ตอนนี้ในจีนไม่ขาดแคลนเงินทุนอีกต่อไป ส่วนทรัพยากรมนุษย์นั้น จีนพยายามดึงสมองไหลกลับ คนจีนจำนวนมากเรียนหนังสือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่สหรัฐฯ และทำงานอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์
3
ส่วนที่ว่าสหรัฐฯ เลียนแบบจีนได้ยาก คือ ความสามารถในการผลิต และต้นทุนการผลิตที่ต่ำ บริษัทเทคโนโลยีทุกแห่งถึงแม้จะมีไอเดีย แต่ต้องผลักไอเดียนั้นออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้ได้ ซึ่งโรงงานการผลิตที่มีประสิทธิภาพที่สุดและตลาดที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่จีน ไม่ใช่สหรัฐฯ
5
แต่จีนเองก็มีจุดอ่อนที่ร้ายแรงที่สุดข้อหนึ่ง จริงๆ แล้ว จุดแข็งของจีนนั่นแหละที่กลายเป็นจุดอ่อน กล่าวคือ จีนเก่งการวิจัยประยุกต์ (Applied Research) แต่จีนไม่เก่งการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) ที่จะนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี (Breakthrough Technology)
4
หลายคนชี้ว่าประเทศเอเชียตะวันออก ล้วนติดหล่มความสำเร็จนี้ ไม่สามารถยกระดับไปมากกว่านี้ได้ ญี่ปุ่นเคยเป็นผู้นำด้านการประดิษฐ์คิดค้น เป็นสุดยอดนักประยุกต์และพัฒนาในยุคอุตสาหกรรม 3.0 แต่ญี่ปุ่นไม่สามารถผลักโลกไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ 5.0 ได้ ขณะที่เมื่อสหรัฐฯ สามารถผลักโลกไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ 5.0 ได้สำเร็จ ญี่ปุ่นก็ตกขบวนทันที
4
เช่นเดียวกัน หากวันหนึ่งสหรัฐฯ ที่เก่งด้านการสร้างสรรค์และแข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สามารถผลักโลกไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 6.0 หรือนำเสนอยุคควอนตัมมาแทนยุคดิจิทัล จีนที่เก่งแต่การประยุกต์ดัดแปลง โดยไม่เก่งพื้นฐานและวัฒนธรรมเสรี ซึ่งเป็นต้นธารความคิดสร้างสรรค์ ก็อาจตกขบวนเทคโนโลยีใหม่เช่นเดียวกับญี่ปุ่น
12
ลองดูตัวอย่างของจริงง่ายๆ เช่นเรื่องเทคโนโลยีวัคซีน วัคซีนจีนเป็นวัคซีนเทคโนโลยีดั้งเดิม (เชื้อตาย) ซึ่งอาศัยการประยุกต์ต่อยอดพื้นฐานเทคโนโลยีเดิม และอาศัยความสามารถในการผลิตของจีน เพราะต้องใช้ต้นทุนในการผลิต กระบวนการที่รัดกุมของโรงงานและเครื่องจักร รวมทั้งบุคลากรเทคนิคจำนวนมหาศาล ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่จีนได้เปรียบ
5
ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ กลับสามารถเข็นเทคโนโลยีวัคซีนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าเทคโนโลยี mRNA ซึ่งเป็นการปฏิวัตินวัตกรรมครั้งใหม่ ประสิทธิภาพสูง ต้นทุนการผลิตต่ำ และจะมีผลมหาศาลในการต่อยอดไปสู่การคิดค้นวัคซีนและการรักษาโรคอื่นๆ อีกมากมายในอนาคต หลายคนเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนยุคของวงการแพทย์เลยทีเดียว
10
แต่กลับมาว่า ความได้เปรียบของจีน ซึ่งต่างจากญี่ปุ่น ก็ยังเป็นเรื่องขนาดตลาดเช่นเดิม เพราะในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีเยอรมันอย่าง BioNTech ซึ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยี mRNA จะร่วมมือกับ Phizer ในสหรัฐฯ ผลิตวัคซีน mRNA ที่ดีที่สุดออกมาได้ แต่ก็ไม่สามารถทิ้งตลาดจีนได้ โดย BioNTech ได้ร่วมมือกับ Fosun Pharma ในการผลิตวัคซีน mRNA ในจีน รวมทั้งจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วยเช่นกัน
8
ที่น่าคิดคือ ในเทคโนโลยีอื่นๆ จุดแข็งของจีนอย่างขนาดตลาดมหึมาจะสามารถช่วยให้จีนไม่ตกขบวนเทคโนโลยีใหม่ ดังเช่นที่ญี่ปุ่นประสบในอดีตหรือไม่
2
โฆษณา