31 พ.ค. 2021 เวลา 13:20 • ประวัติศาสตร์
ภาพนี้มีเรื่องเล่า ตอน จี้เครื่องบินหมู่สะท้านโลก
1
Source: wikipedia
ถ้าทุกคนลองสังเกตภาพด้านบนจะเห็นอะไรกันบ้างครับ หลายคนน่าจะเห็นภาพเครื่องบินสามลำ จอดอยู่กลางทะเลทราย โดยมีเครื่องบินลำหนึ่งด้านซ้ายระเบิดอย่างรุนแรง ซึ่งอีกไม่กี่นาทีต่อมา เครื่องบินอีกสองลำด้านข้างก็ระเบิดตามกัน
3
นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1970 ในทะเลทรายของประเทศจอร์แดน เบื้องหลังของเหตุการณ์นี้คือปมความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่มีกันมาช้านาน ความขัดแย้งที่ในปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข และเรื่องราวของการจี้เครื่องบินหมู่ครั้งที่ 2 ของโลก ตลอดจนเรื่องของสถาบันกษัตริย์ที่เกือบจะต้องล่มสลายเพราะเหตุการณ์ในครั้งนี้
3
วันนี้ Kang’s Journal ขอพาทุกคนไปรู้จักกับเรื่องนี้กันครับ Dawson’s Field Hijacking : จี้เครื่องบินหมู่สะท้านโลก
2
เกิดอะไรขึ้น?
ก่อนที่เราจะไปดูรายละเอียดของเหตุการณ์ในทะเลทราย ขอกล่าวถึงเที่ยวบินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจี้เครื่องบินหมู่ครั้งนี้ก่อน
1
TWA เที่ยวบิน 741
วันที่ 6 กันยายน 1970 เครื่องบินแบบโบอิ้ง 707 ของสายการบิน Trans World Airlines ออกเดินทางจากแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมัน เพื่อเดินทางไปยังกรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา
เครื่องบินแบบโบอิ้ง 707 ของสายการบิน Trans World Airlines (Source: Wikipedia)
ประมาณ 1 ชั่วโมงหลังเครื่องขึ้น เหนือน่านฟ้าประเทศเบลเยี่ยม อยู่ ๆ ก็มีผู้โดยสารชายหญิงคู่หนึ่งวิ่งมาที่ด้านหน้าของเครื่องบิน ตอนแรกหัวหน้าลูกเรือคิดว่าเป็นคู่สามี ภรรยาที่ทะเลาะกัน แต่ปรากฏว่าทั้งคู่วิ่งไปที่ประตูห้องนักบิน และสั่งให้ลูกเรือเปิดประตู พร้อมทั้งชักปืนสั้น .38 ออกมาและชูระเบิดมือให้ทุกคนได้เห็น
สลัดอากาศทั้งคู่สามารถเข้าควบคุมห้องนักบินได้ และจ่อปืนสั้นไปที่ขมับของนักบินผู้ช่วยพร้อมบอกว่า “หันหัวเครื่องกลับซะ” และนักบินก็ถูกบังคับให้พาเครื่องบินมาลงจอดที่สนามบิน Dawson’s Field ในประเทศจอร์แดน เวลา 18.45 น. พอดี
2
เครื่องของสายการบิน TWA ที่สนามบิน Dawson's Field (https://www.bbc.co.uk)
Swiss Air เที่ยวบิน 100
ในวันเดียวกันเครื่องบินแบบ DC-8 ของสายการบิน Swiss Air เดินทางออกจากสนามบินซูริค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อเดินทางไปยังกรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา
เครื่องบินแบบ DC-8 ของสายการบินสวิสแอร์ (Source: https://simpleflying.com)
ประมาณ 30 นาทีหลังขึ้นบิน เครื่องบินลำนี้โดนสลัดอากาศจี้เหนือน่านฟ้าฝรั่งเศสในเวลาไล่เลี่ยกันกับสายการบิน TWA โดยสลัดอากาศชายหญิง 1 คู่ โดยมีอาวุธเป็นปืนสั้นเช่นกัน และเครื่องบินก็ถูกบังคับให้หันหัวเดินทางไปยังท่าอากาศยาน Dawson’s Field
1
ภาพของตัวประกันที่โดนสั่งให้ปีนบันไดลงมาจากเครื่องของ Swiss Air (Source: getty)
El Al เที่ยวบิน 219
แน่นอนว่า El Al สายการบินแห่งชาติของอิสราเอล ก็มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นี้เช่นกัน โดยในวันเดียวกัน El Al เที่ยวบิน 219 เดินทางจากท่าอากาศยานเทล อาวีฟ ประเทศอิสราเอล เพื่อเดินทางไปยังกรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นกัน โดยเครื่องได้แวะลงจอดเติมน้ำมันที่สนามบินสคิบโพล ของอัมสเตอร์ดัมก่อน
เครื่องบินโบอิ้ง 707 ของสายการบิน El Al (Source: wikipedia)
ต้องขอกล่าวก่อนว่าจริง ๆ แล้ว แผนการดั้งเดิมคือ จะมีสลัดอากาศทั้งหมด 4 คนขึ้นไปจี้เครื่องบินลำนี้ แต่ปรากฏว่ามีสองคนที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่อนุญาตให้ขึ้นเครื่องที่อัมสเตอร์ดัม ดังนั้นแผนการจึงเกิดความผิดพลาดขึ้นเล็กน้อย
1
หลังจากเครื่องขึ้นจากสนามบินในอัมสเตอร์ดัมได้ไม่นาน เหนือชายฝั่งอังกฤษ สลัดอากาศชายหญิง 1 คู่ก็ทำการจี้เครื่องบินทันที โดยหนึ่งในนั้นเป็นสลัดอากาศหญิงนามว่า Leila Khaled ซึ่งเป็นชาวปาเลสสไตน์ โดยทั้งสองปลอมตัวว่าเป็นคู่สามีภรรยากัน และใช้หนังสือเดินทางปลอมในการเดินทาง
1
Leila Khaled หนึ่งในสลัดอากาศที่จีเครื่องบินของสายการบิน El Al (Source: https://nationalpost.com)
Khaled และสลัดอากาศอีกคนลุกขึ้นจากที่นั่ง เธอถือระเบิดมือไว้สองลูก พร้อมทั้งใช้ฟันของเธอดึงสลักของระเบิดออก จากนั้นทั้งสองวิ่งไปยังหน้าเครื่องบิน เพื่อไปยังประตูห้องนักบิน และสั่งให้นักบินเปิดประตู แต่เรื่องแปลกคือมีเสียงปืน ดังไล่หลังพวกเขามาด้วย
3
แต่ไม่เหมือนกับเหตุการณ์ในสายการบิน TWA และ Swiss Air นักบินตัดสินใจไม่เปิดประตู แม้ Khaled จะขู่ว่าจะระเบิดเครื่องบินก็ตาม เพราะโชคดีที่ก่อนหน้าที่เครื่องจะวิ่งขึ้น มีการวิทยุมาจากภาคพื้นว่ามีผู้ต้องสงสัยสองคนพยายามจะขึ้นเครื่องและได้รับการปฏิเสธไป ดังนั้นทางนักบินจึงเรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนหนึ่งให้เข้ามานั่งในห้องนักบินพอดี
3
ดังนั้นนักบินและเจ้าหน้าที่จึงปรึกษากัน และตัดสินใจว่านักบินจะกดหัวเครื่องบินลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดแรง G อย่างรุนแรง (ลักษณะคล้ายกับเวลาลิฟท์ตก) ใครที่ยืนอยู่จะต้องล้มลงอย่างแน่นอน
2
วางแผนเสร็จแล้ว ตอนนี้ก็เหลือเพียงการดำเนินตามแผน บรรยากาศในห้องนักบินตึงเครียดถึงขีดสุด และเมื่อถึงเวลา นักบินกดหัวเครื่องลงอย่างรุนแรง เครื่องบินลดระดับความสูงลง 10,000 ฟุตในเวลาเพียง 1 นาที ส่งผลให้สลัดอากาศทั้งสองล้มลงทันที สลัดอากาศชายโยนระเบิดมือออกไป แต่โชคดีที่ระเบิดด้าน จากนั้นเขาชักปืนออกมาและยิงลูกเรือคนหนึ่ง ก่อนที่จะโดนผู้โดยสารเอาขวดเหล้าฟาดศีรษะอย่างรุนแรง และโดนยิงโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนเครื่องอีกคนที่เดินทางมาในห้องโดยสาร (เจ้าของเสียงปืนที่ยิ่งไล่หลังพวกเขามาในตอนแรกนั่นเอง)
3
ลูกเรือบนเครื่องของ El Al เที่ยวบิน 219 ในวันนั้น (Source: https://www.timesofisrael.com/how-to-defeat-airplane-terrorists-from-the-only-pilot-who-ever-foiled-a-skyjacking)
จากนั้น Khaled ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ และเครื่องบินร่อนลงจอดฉุกเฉินอย่างปลอดภัยที่สนามบินฮีทโธรว์ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สลัดอากาศชายเสียชีวิตในระหว่างเดินทางไปยังโรงพยาบาล ส่วน Khaled หลังจากเข้ารับการรักษาตัว ก็ถุกจับกุมโดยตำรวจอังกฤษ
เหตุการณ์ดูเหมือนจะจบลงด้วยดี แต่แผนการของสลัดอากาศที่ล้มเหลวในครั้งนี้ กลับทำให้เกิดการจี้เครื่องบินเพิ่มเติมอีกถึง 2 ลำ
ลูกเรือบนเครื่องของ El Al เที่ยวบิน 219 ในวันนั้น (Source: https://www.timesofisrael.com/how-to-defeat-airplane-terrorists-from-the-only-pilot-who-ever-foiled-a-skyjacking)
Pan Am เที่ยวบิน 93
ในเย็นวันเดียวกัน เครื่องบินแบบโบอิ้ง 747-100 ลำใหม่เอียมของสายการบิน Pan Am ออกเดินทางจากกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ก่อนจะแวะจอดที่อัมสเตอร์ดัม เพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นี่นี่เองที่สลัดอากาศ 2 คนที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องของสายการบิน El Al ซื้อตั๋วเฟิร์สคลาสขึ้นมาในนาทีสุดท้าย
1
ในขณะที่เครื่องบินกำลังจะวิ่งขึ้น อยู่ ๆ เครื่องบินก็หยุดกลางรันเวย์ จากนั้นกัปตันของเที่ยวบินเรียกหัวหน้าลูกเรือ และผู้โดยสารสองคนที่เพิ่งขึ้นมา เพื่อตรวจสอบตั๋วและรายชื่อผู้โดยสาร เพราะทางภาคพื้นได้มีการวิทยุขึ้นมาบอกว่าทั้งสองเป็นผู้โดยสารที่ต้องสงสัย
เครื่องแบบโบอ้ง 747-100 ของสายการบิน Pan Am (Source: Flickr)
กัปตันและหัวหน้าลูกเรือพยายามตรวจสอบโดยการค้นหาอาวุธในตัวของทั้งคู่ แต่ก็ไม่พบ และสุดท้ายเครื่องบินก็ออกเดินทางต่อ โดยไม่มีการ Offload ผู้โดยสารที่น่าสงสัยนั้นแต่อย่างใด หารู้ไม่ว่าพวกเขาได้พลาดโอกาสสุดท้ายในการป้องกันการจี้เครื่องบินครั้งนี้ไปซะแล้ว เพราะอาวุธนั้นอยู่ในกระเป๋าของพวกเขา ไม่ได้อยู่กับตัวของพวกเขา
2
หลังจากออกเดินทางได้ 20 นาที มีการประกาศผ่านทางลำโพงว่าขอให้ทุกคนนั่งประจำที่ และตอนนี้เครื่องบินจะเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ในตอนนั้นสลัดอากาศ 2 คนได้เอาปืนจี้ หัวหน้าลูกเรือเข้าไปในห้องนักบินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แล้วเครื่องบินก็ถูกบังคับให้บินต่อไปยังกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เพื่อรับสลัดอากาศคนที่ 3 เพิ่ม ซึ่งสิ่งที่เขานำติดตัวขึ้นมาด้วยนั้นคือระเบิดไดนาไมต์จำนวนมาก ซึ่งมากพอที่จะระเบิดเครื่องบิน 747 ได้ทั้งลำ
1
เครื่องทะเบียน N750PA คือเครื่องที่โดนจี้ในเที่ยวบินนี้ (Source: Wikimedia)
ต่อจากนั้นเครื่องบินควรจะต้องเดินทางต่อไปยัง Dawson’s Field เหมือนกับเครื่องบินลำอื่น แต่เนื่องจากสนามบิน Dawson’s Field มีทางวิ่งที่สั้นเกินไป เครื่องบินเลยต้องเปลี่ยนจุดหมาย และเดินทางไปยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์แทน
แต่เรื่องตื่นเต้นยังไม่จบแค่นั้น ก่อนเครื่องร่อนลงจอดที่สนามบินไคโร ทางผู้ช่วยนักบิน John Ferruggio ได้รับการบอกจากสลัดอากาศว่า หลังเครื่องบินลงจอด 8 นาที เครื่องบินจะระเบิดทันที โดยไม่สนใจว่าจะมีใครอยู่บนเครื่องบินหรือไม่ จากนั้นทั้งสามก็เริ่มที่จะนำระเบิดไดนาไมต์ไปผูกไว้กับเก้าอี้ผู้โดยสาร
1
John Ferruggio ในวันแถลงข่าวหลังจากกลับมานิวยอร์ค (Source:  http://archive.boston.com)
เวลา 8 นาทีในการอพยพ หรือ evacuate ผู้โดยสารในเครื่องบิน 747 ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ครั้งนี้เป็นสิ่งที่ต้องให้ได้ Ferruggio เรียกลูกเรือทุกคนมาบรีฟถึงสถานการณ์ พร้อมบอกว่าเมื่อเครื่องจอดสนิท “ไม่ต้องสนใจผม ไม่ต้องสนใจกัปตัน ไม่ต้องสนใจแม้กระทั่งพระเจ้า รีบอพยพคนทันที”
ในระหว่างที่เครื่องบินกำลังลดระดับ ไดนาไมท์ถูกจุดขึ้น Ferruggio บอกว่าเขาได้ยินเสียงจุดระเบิด และกลิ่นไดนาไมท์ฉุนไปทั่วลำ สิ่งที่สลัดอากาศขู่ไม่ใช่เป็นเรื่องล้อเล่น แต่เป็นเรื่องจริง
เมื่อเครื่องบินจอดสนิท ประตูเครื่องถูกเปิดออกทุกประตู พร้อมกับสไลด์ที่กางออกอย่างรวดเร็ว ทุกคนต่างรีบหนีออกจากเครื่องบิน และวิ่งออกจากเครื่องบินอย่างไม่คิดชีวิต ก่อนที่ทุกคนจะได้เห็นภาพสุดสยองคือ เครื่องบิน 747 ของสายการบิน Pan Am ระเบิดออกเป็นเสี่ยง ๆ แบบแทบไม่เหลือซาก
3
อย่างไรก็ตามสลัดอากาศ 3 คนนั้นถูกคุมตัวโดยตำรวจอียิปต์ และผู้โดยสารและลูกเรือทุกคนก็ปลอดภัย ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด
5
ซากของเครื่องบินสายการบิน Pan Am ที่สนามบินกรุงไคโร (Source: https://jpbtransconsulting.com)
BOAC เที่ยวบิน 775
ในวันที่ 9 กันยายน 3 วันหลังจากเหตุการณ์จี้เครื่องบิน 4 ลำ เครื่องบินแบบ Vickers VC10 ของสายการบิน ฺBOAC เที่ยวบิน 775 โดนจี้เหนือน่านฟ้าประเทศบาห์เรน หลังจากขึ้นจากสนามบินบาห์เรนได้ไม่นาน โดยมีจุดหมายปลายทางคือกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
1
เครื่องบินแบบ Vickers VC10 ของสายการบิน BOAC (Source: Pinterest)
แต่ผู้ที่จี้เครื่องบินในครั้งนี้ไม่ใช่ผู้ที่มีส่วนร่วมในการจี้เครื่องบินแต่แรก แต่พวกเขาเป็นเพียงผู้ที่สนับสนุนกลุ่มสลัดอากาศกลุ่มนี้เท่านั้น และเป้าหมายสูงสุดของพวกเขาก็คือ ต้องการให้ทางการอังกฤษปล่อยตัว Leila Khaled ซะ
2
สุดท้ายเครื่องบินลำนี้ก็ร่อนลงจอดที่สนามบิน Dawson’s Field และถูกนำไปจอดใกล้ ๆ กับเครื่องของสายการบิน TWA และ Swiss Air ที่เดินทางมาถึงก่อนหน้า
เครื่องบินสามลำ ถูกนำมาจอดเรียงกันกลางทะเลทราย (Source: Twitter)
เหตุการณ์ก่อนหน้า
เหตุการณ์จี้เครื่องบินหมู่ในครั้งนี้เป็นผลงานของกลุ่ม PFLP (Popular Front for the Liberation of Palestines) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการเรียกร้องดินแดนปาเลสไตน์กลับมาจากอิสราเอล ซึ่งถ้าใครรู้ถึงเรื่องราวความขัดแย้งนี้ จะทราบดีว่าต้นเหตุนั้นเกิดมาจากการที่อังกฤษได้ยกดินแดนบางส่วนในตะวันออกกลางที่เป็นที่อยู่ของชาวปาเลสไตน์ ให้กับชาวยิวจนกระทั่งตั้งเป็นประเทศอิสราเอลขึ้นมานั่นเอง และการขัดแย้งนี้ก็ยังคงมีมาถึงปัจจุบัน
สมาชิกของกลุ่ม PFLP สัญลักษณ์สีแดงขาวบนที่คาดหัวคือสัญลักษณ์ของกลุ่ม (Source: https://www.jpost.com/tags/plfp)
ส่วนสนามบิน Dawson’s Field ตั้งอยู่ในเมือง Zarqa ประมาณ 32 กิโลเมตรทางตอนเหนือของกรุงอัมมาน เมืองหลวงของประเทศจอร์แดน แต่เรื่องที่น่าสนใจคือทำไมในตอนนั้นกองทัพของปาเลสไตน์ถึงได้เข้ามาปฏิบัติการในดินแดนของประเทศจอร์แดนได้อย่างอิสระ โดยที่กองทัพของจอร์แดนไม่สามารถที่จะทำอะไรได้
2
ถ้าจะเล่าโดยสังเขปคือ ในสมัยก่อนดินแดน West Bank ซึ่งเป็นฉนวนกันชนระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์นั้น ถูกผนวกให้เข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศจอร์แดนในปี 1950 ซึ่งมีกษัตริย์ฮุสเซน แห่งราชวงศ์ Hashemite เป็นผู้ปกครองประเทศ ชาวปาเลสไตน์จึงกลายประชากรของประเทศจอร์แดน และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจอร์แดน
1
กษัตริย์ฮุสเซนแห่งจอร์แดน (Source: Wikiwand)
อย่างไรก็ตามในปี 1967 จอร์แดนต้องเสียดินแดน West Bank ให้กับอิสราเอลไปในสงครามหกวัน หรือ 6-day war ทำให้ชาวปาเลสไตน์และกลุ่ม PLO (Palistine Libertation Organization) ที่นำโดยยัสเซอร์ อาราฟัส ต้องย้ายศูนย์กลางบัญชาการเข้ามาในดินแดนของจอร์แดนมากขึ้น
จากนั้นไม่นานเกิดการต่อสู้ขึ้นอีกครั้งระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่ม PLO ซึ่งในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายต่างก็ประกาศว่าตัวเองเป็นผู้ชนะ อย่างไรก็ตามกลุ่ม PLO เริ่มได้รับเงินสนับสนุนจากชาติอาหรับอื่น ทำให้สามารถซื้ออาวุธ และดึงคนเข้ามาเป็นสมาชิกได้มากขึ้น จนสุดท้ายกลุ่มก็เริ่มปฏิบัติตนเหมือนกับเป็นดินแดนอิสระภายในประเทศจอร์แดน เริ่มมีการตั้งจุดตรวจ และเรียกเก็บภาษีจากประชาชนในอาณาเขตที่กลุ่ม PLO ไปตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ สมาชิกของกลุ่มเริ่มทำอะไรตามใจชอบ โดยที่ไม่สนกฎหมายของประเทศจอร์แดน รวมถึงยิงจรวดไปถล่มอิสราเอล จากดินแดนของจอร์แดนเป็นระยะ ๆ
4
สมาชิกของกลุ่ม PLO เริ่มเข้ายึดเมืองต่าง ๆ ในจอร์แดน และเริ่มปฏิบัติตนเหนือกฎหมาย (https://www.thedailystar.net)
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจอร์แดนย่อมที่จะยอมรับไม่ได้ ส่งผลให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างกลุ่ม PLO กับกองทัพและตำรวจของจอร์แดนอยู่หลายครั้ง และกลุ่มที่มีชื่อว่า PFLP ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงภายในกลุ่ม PLO คือผู้ที่ต้องการที่จะกำจัดราชวงศ์ Hashemite และเข้าควบคุมประเทศจอร์แดนไว้เอง ซึ่งกลุ่ม PFLP นี้เองที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารกษัตริย์ฮุสเซนถึงสองครั้งสองคราเลยทีเดียว
2
กษัติรย์ฮุสเซน ต้องเผชิญกับสองทางเลือก ถ้าเขาจัดการกลุ่ม PLO แบบขั้นเด็ดขาด จอร์แดนอาจจะต้องถูกตัดความสัมพันธ์กับชาติอาหรับอื่น ๆ อย่างแน่นอน แต่ถ้าเขาปล่อยกลุ่ม PLO ให้เป็นอิสระต่อไป ประเทศก็จะเข้าสู่ภาวะล้มเหลว เขาจะได้ชื่อว่าเป็นคนที่ประชาชนชาวจอร์แดนไม่สามารถพึ่งพาได้ รวมถึงกองทัพเองก็อาจจะก่อรัฐประหารล้มระบอบกษัตริย์ เพื่อเข้าควบคุมประเทศเอง
2
กองทัพจอร์แดนเริ่มที่จะเข้าจัดการกลุ่ม PLO (Source: ynetnews.com)
นี่คือเหตุการณ์ทั้งหมดก่อนที่จะเกิดการจี้เครื่องบินหมู่ในครั้งนี้ ถ้าลองคิดดูจะเห็นว่าการที่กลุ่ม PFLP สามารถจี้เครื่องบินมาลงในดินแดนจอร์แดนได้อย่างอิสระ แสดงให้เห็นว่าจอร์แดนแทบจะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ได้แล้ว
1
เครื่องบินทั้งสามลำกลางทะเลทราย ที่สนามบิน Dawson's Field ในประเทศจอร์แดน (Source: Reddit)
เกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น?
ผู้โดยสารและลูกเรือของเครื่องบินทั้ง 3 ลำ ถูกปล่อยให้นั่งนอนอยู่บนเครื่องกลางทะเลทราย ท่ามกลางบรรยากาศอันร้อนระอุในเวลากลางวัน และหนาวยะเยือกในเวลากลางคืน เป็นเวลานานถึง 6 วัน เพื่อรอเวลาที่ผู้ก่อการร้ายจะทำการเจรจา
2
วันที่ 7 กันยายน 1970 กลุ่ม PFLP จัดงานแถลงข่าวขึ้นต่อหน้านักข่าวกว่า 60 สำนักที่ได้รับเชิญมา ตัวประกันประมาณ 125 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรี และไม่ได้มีสัญชาติอิสราเอล อเมริกัน ยิว หรือยุโรป ถูกพาตัวไปยังกรุงอัมมาน ส่วนผู้โดยที่เหลือถูกพาลงมาจากเครื่องบิน และนำมารวมกันตัวกันที่ด้านหน้า จากนั้นกลุ่ม PFLP ได้ประกาศว่าการจี้เครื่องบินครั้งนี้ กระทำไปเพื่อ “ให้ทั่วโลกหันมาใส่ใจกับปาเลสไตน์” และต้องการให้อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดแลกกับตัวประกัน
4
ตัวประกันโดนจับมารวมตัวกัน (Source: https://www.sun-sentinel.com)
เหตุการณ์ช็อคโลกครั้งนี้ ส่งผลกระทบไปในวงกว้าง ในขณะที่สหรัฐส่งกองทัพเรือ และกองทัพอากาศมายังฐานทัพตุรกี เพื่อเตรียมพร้อมที่จะบุกเข้าทำลายศูนย์บัญชาการของกลุ่ม PFLP ทางนายกรัฐมนตรีของอังกฤษกลับตัดสินใจที่จะเจรจากับผู้ก่อการร้าย และตกลงที่จะปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง รวมถึง Leila Khaled สลัดอากาศที่จี้เครื่องบินสายการบิน El Al ด้วย การตัดสินใจที่แตกต่างกันในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดเป็นอย่างมากระหว่างสองขั้วมหาอำนาจ
วันที่ 9 กันยายน 1970 เครื่องบินของสายการบิน BOAC เดินทางมาถึงท่าอากาศยาน Dawson’s Field พร้อมกับที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด
2
เครื่องบินของ ฺBOAC เดินทางมาถึงท่าอากาศยาน Dawson's Field ในวันที่ 9 กันยายน 1970 (Source: gettyimage)
วันที่ 10 กันยายน 1970 เกิดการต่อสู้กันระหว่างกลุ่ม PFLP และกองทัพจอร์แดนที่โรงแรม Inter Continental ในกรุงอัมมาน ที่ซึ่งตัวประกัน 125 คนได้รับการควบคุมตัวอยู่ การต่อสู้ครั้งนี้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นที่อาจจะยกระดับไปเป็นสงครามกลางเมือง และผู้เคราะห์ร้ายก็เห็นจะเป็นประชาชนชาวจอร์แดนผู้ที่ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวใดใดเลยนั่นเอง ถึงเวลาแล้วที่กษัตริย์ฮุสเซนจะต้องตัดสินใจว่าจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร
วันที่ 12 กันยายน 1970 เครื่องบินเปล่าทั้งสามลำ ถูกระเบิดแตกเป็นเสี่ยง ๆ ต่อหน้านักข่าวทั่วโลก เป็นการกระทำอีกอย่างที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจอร์แดนไม่สามารถควบคุมกลุ่ม PFLP ได้เลย และทางกลุ่มยังหยามหน้ากษัตริย์ฮุสเซน ด้วยการประกาศว่าเมือง Irbid เมืองสำคัญอีกเมืองของจอร์แดนเป็น “Liberated Territory” ภายใต้การปกครองของปาเลสไตน์
4
เครื่องบินของ BOAC เป็นเครื่องลำแรกที่ถูกระเบิดต่หน้านักข่าวในวันที่ 12 กันยายน 1970 (Source: https://shortwavearchive.com)
หลังการระเบิด กองทัพจอร์แดนเข้าล้อมสนามบินไว้ทันที แต่กลุ่ม PFLP ก็คุมตัวประกันี่เหลืออยู่ประมาณ 30 คน เอาไว้ได้ และนำตัวประกันทุกคนไปยังบ้านพักในกรุงอัมมาน มีตัวประกันคนหนึ่งเล่าว่าในตอนนั้นเธอยังเป็นเด็กอยู่ เธอต้องทนฟังเสียงกระสุน เสียงรถถัง เสียงปืนตลอดเวลาจนแทบเป็นบ้าวันแล้ววันเล่า แต่สิ่งที่เธอทำเพื่อจะฆ่าเวลาคือ ผู้ก่อการร้ายได้ทิ้งผังของเครื่องบินเอาไว้ เธอเลยใช้เวลาคุยกับบรรดากัปตันและลูกเรือ ถึงส่วนต่าง ๆ ของเครื่องบินแทน
สุดท้ายผ่านไปหลายวัน เธอกล่าวว่าอยู่ ๆ ยามที่เฝ้าพวกเธออยู่ก็หายไป และมีเจ้าหน้าที่จากสถานกงศุลอียิปต์พาพวกเธอออกมา พวกเธอคือตัวประกันกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับการช่วยเหลือ และโชคดีที่การจี้เครื่องบินหมู่ในครั้งน้นั้น ไม่มีผู้โดยสารและลูกเรือคนไหนเสียชีวิตเลย
3
ซากของเครื่องบินทั้งสามลำที่ถูกระเบิด (Source: nypost.com)
ในตอนนั้นเหตุการณ์ต่าง ๆ ถือว่าซับซ้อนมาก ซีเรียและอิรักประกาศอย่างเป็นทางการว่าถ้ากษัตริย์ฮุสเซนใช้กำลังเข้าปราบปรามกองกำลังปาเลสไตน์ ทั้งสองประเทศจะส่งกองกำลังเข้ามาสนับสนุนกลุ่มปาเลสไตน์ทันที ทำให้กษัตริย์ฮุสเซนต้องรีบขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ อเมริกา และอิสราเอลโดยเร่งด่วน
วันที่ 13 กันยายน 1970 รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจที่จะปล่อยตัว Leila Khaled เพื่อแลกกับตัวประกันทั้งหมด แต่เหตุการณ์ก็ดูเหมือนจะยังไม่จบลงง่าย ๆ เพราะตอนนี้ทั่วโลกต่างจับตามองมาที่จอร์แดนว่าจะทำยังไงกับกลุ่ม PFLP ซึ่งได้กลายมาเป็นกลุ่มก่อการร้ายแบบเต็มรูปแบบแล้วดี
ภาพถ่ายทางอากาศของซากเครื่องบินทั้งสามลำ (Source: vc10.net)
เหตุการณ์ Black September
เหตุระเบิดเครื่องบินหมู่ในครั้งนี้เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้กษัตริย์ฮุสเซนตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เพื่อความอยู่รอดของประเทศและราชวงศ์ และพระองค์ตัดสินใจเลือกที่ใช้กองกำลังทั้งหมดที่มีสู้กับกลุ่ม PFLP อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อช่วงชิงประเทศของพระองค์กลับคืนมาจนเกิดเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า "Black September"
การต่อสู้ระหว่างกองทัพจอร์แดน และกองทัพปาเลสไตน์ในช่วง Black September (Source: https://adst.org)
เริ่มจากวันที่ 16 กันยายน 1970 กษัตริย์ฮุสเซนประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ และสั่งให้กองทัพจัดการกับกลุ่มปาเลสไตน์ทันที โดยมีเป้าหมายหลักคือยึดกรุงอัมมาน เมืองหลวงกลับมา แต่หลังจากการต่อสู้กว่า 10 วัน ก็ดูเหมือนจะยังไม่สามารถหาผู้ชนะได้
วันที่ 18 กันยายน กองทัพซีเรียจำนวนมาก เริ่มบุกเข้ามาในดินแดนจอร์แดนพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์แบบเต็มรูปแบบ และรถถังกว่า 300 คัน เพื่อสนับสนุนกองกำลังปาเสลไตน์ การต่อสู้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกองกำลังของจอร์แดนเริ่มที่จะต้านกองกำลังผสมไม่ไหว
รถถังของกองกำลังซีเรีย (Source: https://adst.org)
กษัตริย์ฮุสเซนจีงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ ซึ่งปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือ ดังนั้นพระองค์จึงไปขอความช่วยเหลือจากอเมริกาแทน ซึ่งอเมริกาก็พร้อมอยู่แล้ว กองทัพอเมริกาและกองทัพจอร์แดน ร่วมมือกันใช้กองกำลังทางบกและอากาศ เข้าจู่โจมกองทัพซีเรีย จนกองทัพซีเรียต้องล่าถอยกลับไป และในขณะที่กำลังล่าถอยกลับไปนั้น กองทัพอิสราเอลได้ส่งเครื่องบินรบไปบินโฉบเหนือกองทัพซีเรีย เพื่อเป็นการแสดงการสนับสนุนกษัตริย์ฮุสเซนอีกด้วย
1
สมาชิกของกลุ่ม PLO (Source: https://birdinflight.com)
แต่ใช่ว่าทุกคนในกองทัพจอร์แดน จะเห็นด้วยกับการกระทำของกษัตริย์ฮุสเซน หลายคนแปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายปาเลสไตน์ รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรีของจอร์แดนที่ตัดสินใจเดินทางไปยังประเทศลิเบีย เพื่อแสดงการคัดค้านการกระทำในครั้งนี้
วิกฤตในดินแดนอาหรับครั้งนี้ ทำให้เกิดการประชุมฉุกเฉินขึ้น (Arab League Summit) ระหว่างชาติอาหรับที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และกษัตริย์ฮุสเซนได้เดินทางมาร่วมประชุมในวันที่ 26 กันยายน และต้องพบกับการดูหมิ่นจากผู้นำชาติอาหรับอื่น ๆ และชาติอาหรับหลายรายก็ boycott การประชุมในครั้งนี้
2
การประชุมฉุกเฉินของชาติอาหรับในปี 1970 เนื่องจากเหตุการณ์ Black September ด้านขวาของภาพคือยัสเซอร์ อาราฟัด หัวหน้ากลุ่ม PLO นั่นเอง (Source:Wikipedia)
สุดท้ายแล้วยัสเซอร์ อาราฟัด หัวหน้าของกลุ่ม PLO และกษัตริย์ฮุสเซนก็เซ็นสัญญาสงบศึกกัน และกองทัพจอร์แดนก็เริ่มยึดเมืองต่าง ๆ กลับมาเป็นของตัวเองได้สำเร็จ จากนั้นในปลายเดือนตุลาคม 1970 มีการเซ็นสนธิสัญญาอัมมาน ที่ห้ามไม่ให้สมาชิกของกลุ่ม PLO หรือกลุ่มของปาเลสไตน์ใดใดก็ตามสวมใส่เครื่องแบบ และพกอาวุธโดยเด็ดขาด
การต่อสู้ระหว่างกลุ่ม PLO และกองทัพจอร์แดน ในต้นเดือนตุลาคม 1970 (Source: Wikipedia)
แต่เรื่องราวไม่จบเพียงแค่นั้น หลังการเซ็นสนธิสัญญา กษัตริย์ฮุสเซนได้แต่งตั้ง Wasfi Tal ให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลคนใหม่ ซึ่ง Tal เป็นคนที่ไม่ไว้วางใจอาราฟัด และกลุ่ม PLO เลย เขาและอีกหลายคนเชื่อว่ากลุ่ม PLO มีเป้าหมายใหม่ที่ต้องการจะยึดประเทศจอร์แดนมาเป็นดินแดนใหม่ของปาเลสไตน์ ไม่ใช่ยึดดินแดนปาเลสไตน์คืนจากอิสราเอลอีกต่อไป
2
ดังนั้น Tal จึงเริ่มทำการขับไล่กลุ่ม PLO ออกจากหัวเมืองใหญ่ ๆ อย่างกรุงอัมมาน ไปสู่พื้นที่ในชนบท จนถึงกลางปี 1971 กองกำลัง PLO กลุ่มสุดท้ายที่มีสมาชิกประมาณ 2000 คน ก็ถูกล้อมได้สำเร็จ และหลังจากการเจรจา บางคนถูกปล่อยตัวให้เดินทางไปยังซีเรีย และบางคนตัดสินใจที่จะยอมแพ้ให้กับกองทัพอิสราเอลแทน และในวันที่ 17 กรกฎาคม 1971 กษัตริย์ฮุสเซนก็ประกาศอย่างเต็มภาคภูมิว่าประเทศจอร์แดนเป็นประเทศเอกราชเต็มตัวอีกครั้ง และปัญหาต่าง ๆ ได้ถูกกำจัดไปหมดแล้ว
หลังเหตุการณ์ Black September กษัตริย์ฮุสเซน ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกถึงความสามารถของพระองค์ที่สามารถรับมือกับกลุ่ม PLO ได้ (Source: Pinterest)
เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น?
เหตุการณ์จี้เครื่องบินสะท้านโลกครั้งนี้ ทำให้เกิดนโยบายต่าง ๆ ด้านการบินตามมามากมาย เริ่มจากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการนำ Sky Marshall หรือตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 100 นาย สุ่มไปประจำกับเครื่องบินสัญชาติอเมริกา ซึ่งเป็นระบบที่ยังมีใช้มาถึงทุกวันนี้
Sky Marshall ที่ปฏิบัติการบนเครื่องบินสัญชาติอเมริกาในปัจจุบัน (Source: https://gawker.com)
และในเดือนธันวาคมปี 1970 เพียง 3 เดือนหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ หน่วยงาน International Civil Aviation Organization หรือ ICAO ได้จัดการประชุมขึ้นที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อที่จะกำหนดแนวทางในการป้องกันการจี้เครื่องบินไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต จนออกมาเป็น Hague Convention ซึ่งกำหนดให้การจี้เครื่องบินเป็นคดีอาญาที่ต้องโทษรุนแรง
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มีการนำเครื่อง X-Ray จากกองทัพ มาใช้ในการคัดกรองเที่ยวบินของพลเรือนเป็นครั้งแรก (ในช่วงปี 1970 ผู้โดยสารจะเดินผ่านเพียงเครื่องตรวจจับโลหะเท่านั้น) ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายสามารถนำอาวุธขึ้นเครื่องบินได้อย่างง่ายดายเช่นนี้อีก เงินจำนวนมากถูกนำไปใช้ในการพัฒนาระบบคัดกรองผู้โดยสาร และระบบรักษาความปลอดภัย ให้มีความละเอียดเข้มงวดมากขึ้น
2
เหตุการณ์ครั้งนี้ คือสาเหตุที่ในปัจจุบันมีการนำเครื่อง X-Ray มาติดตั้งในสนามบินทั่วโลก (Source: shutterstock)
ในส่วนของกลุ่ม PLO นั้น ได้มีการก่อตั้งกลุ่มก่อการร้ายย่อยชื่อว่า Black September Organization (BSO) โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อแก้แค้นกษัตริย์ฮุสเซนของจอร์แดน และแน่นอนเพื่อกดดันอิสราเอลเรื่องดินแดนต่อไป
แม้ว่ากลุ่ม BSO จะไม่สามารถสังหารกษัตริย์ฮุสเซนได้ แต่นายกรัฐมนตรี Wasfi Tal ก็ถูกลักพาตัวไปทรมานและสังหารอย่างทารุณ และกลุ่มก่อการร้ายนี้นี่เองที่เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อเหตุสังหารหมู่นักกีฬาอิสราเอลที่กีฬาโอลิมปิคในปี 1972 ที่ถูกจัดขึ้นที่เมืองมิวนิค
2
ซากของเครื่องบินทั้งสามลำ หลังไฟดับลง (Source: vc10.net)
บทสรุป
การจี้เครื่องบินเป็นเรื่องที่เราแทบไม่เคยได้ยินแล้วนะครับในปัจจุบัน เพราะว่าระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการนำเครื่อง X-Ray เข้ามาใช้ ไปจนถึงการจำกัดไม่ให้นำของเหลวขึ้นเครื่องบิน ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ 9-11 นั่นเอง
แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าในสมัยก่อนช่วงปี 1960-1970 เกิดเหตุการณ์จี้เครื่องบินขึ้นบ่อยมาก บางช่วงแทบจะเกิดขึ้นทุกอาทิตย์เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นในคราวหน้าถ้าหากว่าเราจะต้องเสียเวลาที่สนามบิน ตรวจโน่นตรวจนี่ เปิดกระเป๋า สแกนแล้วสแกนอีก ก็ขอให้อดทนซักนิดนึงละกันครับ เพราะทั้งหมดนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของทุกคนนั่นเอง
1
ซากของเครื่องบินทั้งสามลำ หลังไฟดับลง (Source: vc10.net)
นอกจากนี้ เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถของกษัตริย์ฮุสเซน ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเมือง และการตัดสินใจ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ใช้ตัดสินชะตากรรมของราชวงศ์ Hashemite และประเทศจอร์แดน และพระองค์ก็เลือกได้อย่างถูกต้องและชาญฉลาด จนทำให้ทั่วโลกยกย่องสรรเสริญ โดยเฉพาะหลังจากที่ประเทศจอร์แดนพ้นจากสถานะตัวประกัน และกลับมามีเอกราชอย่างเต็มภาคภูมิอีกครั้ง
2
ส่วนอิสราเอล และปาเลสไตน์ก็ยังคงต่อสู้แย่งชิงดินแดนกันมาจนถึงทุกวันนี้ เหมือนกับเป็นวงจรอุบาทว์ ซึ่งเหตุการณ์การต่อสู้ล่าสุดที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 250 คน และคนกว่า 70,000 คนต้องไร้ที่อยู่ ก็คงจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความขัดแย้งนี้คงจะไม่จบลงง่าย ๆ ในเร็ววันแน่นอน
2
ความตึงเครียดระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล ยังคงมีมาจนถึงทุกวันนี้ (Source: https://www.cfr.org)
ที่มา:
Youtube:
- วีดีโอตอนที่เครื่องของสายการบิน BOAC จอดแวะรับผู้โดยสารคนที่ 3 ที่กรุงเบรุต
- คลิบตอนเครื่องบินทั้งสามระเบิด
Podcast:
Witness History "The Dawson's Field hijacking"
2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา