30 พ.ค. 2021 เวลา 01:00 • การศึกษา
[[ เรียนเพื่อลืม ลืมเพื่อจำ เทคนิกเรียนจีนด้วย Spaced Repetition | สร้างระบบเรียนภาษาด้วยตัวเอง ตอนที่ 1 间隔重复 ]]
#เส้นทางเรียนภาษา #ทิปและเทคนิกเรียนภาษาจีน #SpacedRepetition #สร้างวิธีการเรียนภาษาจีนด้วยตัวเอง
ทุกวันนี้เพื่อนๆ มีวิธีการเรียนภาษาจีนกันอย่างไรบ้างครับ อ่านจากบทเรียน เรียนในห้องเรียน กลับมาทำการบ้าน ฝึกบทสนทนา ดูซีรีย์ ฟังเพลง ฯลฯ ถึงจะพยายามมากมายขนาดไหน หากไม่ได้ใช้ไม่ได้ทวน นานๆ ไปก็จะลืมได้ ยิ่งตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป ปริมาณความรู้ คำศัพท์ ประโยค ไวยกรณ์ และอีกหลายๆ อย่าง ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ บางทีก็มากจนหากจะทวนทีละอย่างทั้งหมดแบบเดิมๆ คงไม่ไหว เพราะในความเป็นจริงเรามีอีกหลายๆ อย่างที่ต้องทำ การใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
หลายๆ คนจึงมีความพยายามในการพัฒนาเทคนิกการเรียนรู้ และ การทบทวนที่ใช้เวลาน้อยลง แต่ได้ประสิทธิภาพเท่าเดิม หรือ มากขึ้น หนึ่งในระบบที่เป็นที่นิยมหลายปีมานี้คือระบบ Spaced Repetition หรือมีชื่อแปลเป็นภาษาจีนว่า 间隔重复 (jiāngé chóngfù) ระบบนี้ช่วยให้เราทวนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในตอนที่ 1 นี้ เราจะโฟกัสไปที่การทำความรู้จักตัวหลักการ และ ในตอนต่อๆไปจะลงรายละเอียดว่านำไปปรับใช้ต่ออย่างไรทั้งจากที่คนอื่นแชร์กันและประสบการส่วนตัวของผม ไปจนถึงการใช้โปรแกรมต่างๆ เข้ามาช่วย
[ Spaced Repetition 间隔重复 คืออะไร ]
เริ่มที่หลักการและที่มาเพื่อให้เข้าใจภาพรวมกันก่อนดีกว่า Spaced Repetition หรือ 间隔重复 นั้น ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรศ 1880 นักจิตวิทยา Hermann Ebbinghaus ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับการจำตัวอักษรที่เข้าสร้างขึ้นมาเองแบบสุ่ม โดยดูผลว่าเขาสามารถจดจำได้มากแค่ไหน ระยะเวลาระหว่างการเรียนรู้ในแต่ละรอบ และ เขาเรียนรู้ไปกี่รอบ จนสามารถสรุปออกมาเป็นกราฟ "ทางลาดแห่งการลืม" (Forgetting Curve) จากกราฟจะเห็นได้ว่าแค่ผ่านไปไม่ถึง 24 ชั่วโมงเราก็เริ่มที่จะลืมไปเยอะมากแล้ว และจะลืมมากขึ้นเรื่อยๆ จนจำไม่ได้เลยหากเราไม่ได้ทำอะไรกับความรู้ที่ได้เรียนมา
1
ใครจะเชื่อว่า "การเว้นระยะให้ลืม" คือ วิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด เราจะทบทวนได้ประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อทบทวนความรู้ในช่วงนั้นๆ วิธีการนี้เรียกว่า Active Recall หลักการคือ การทบทวนในช่วงเวลาที่กำลังจะลืม หลักการนี้จะทำให้สมองของเรา ทำงานเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำ สร้างเส้นทางการเชื่อมโยงข้อมูลในสมองได้ดีขึ้น เพราะสมองจะเริ่มมองว่าเป็นเนื้อหาที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ครั้งที่เราได้ทบทวน แถมยังยืดระยะเวลาที่ต้องทวนออกไปให้ไกลขึ้นอีก ซึ่งมีผลวิจัยรองรับว่าสามารถช่วยความจำในระยะยาวได้จริง [1]
[ รู้หลักการแล้ว เอาไปใช้ยังไง? ]
ภาคทฤษฎีไปแล้ว มาดูการนำไปใช้งานจริงกันดีกว่า Spaced Repetition ถูกนำมาประยุกต์ใช้งานอยู่หลายรูปแบบ แต่ที่เป็นที่นิยมที่สุดคือรูปแบบการใช้ Flash Cards ให้เราเขียนสิ่งที่เราเรียนรู้ลงไป โดยข้อมูล 2 หน้าแตกต่างกัน ด้านหนึ่งอาจจะเป็นหัวข้อ หรือ คำถาม อีกด้านหนึ่งเป็นรายละเอียดหรือเฉลย
นำการ์ดเหล่านี้มาทบทวนโดยแบ่งระดับการทบทวนออกเป็นหลายๆ ระดับ ตัวอย่างเช่น
- กล่องที่ 1 ทวนวันนี้
- กล่องที่ 2 ทวนพรุ่งนี้
- กล่องที่ 3 ทวนสัปดาห์หน้า
- กล่องที่ 4 ทวนในอีก 2 สัปดาห์
- กล่องที่ 5 เก็บไว้ ทวนอีกทีก่อนสอบ หรือตามที่กำหนด
โดยให้นำการ์ดที่เราใส่ลงมาอยู่กล่องที่ 1 ก่อน เมื่อตอบถูก หรือ เข้าใจถูกต้องให้เลื่อนไปกลุ่มต่อไป และทวนตามเวลาที่กำหนดของกล่องนั้นๆ แต่ถ้าหากตอบผิดไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มไหนก็ตามจะต้องนำการ์ดนั้นกลับมาไว้ที่กล่องที่ 1 ใหม่เสมอ
ระยะเวลาที่เขียนไว้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามจุดที่ตัวเองเห็นว่าเหมาะสม แต่ยังไงก็ต้องเก็บการ์ดที่อยู่ในกล่องสุดท้ายไว้ เผื่อนำกลับมาทบทวนเมื่อผ่านไปเป็นระยะเวลานานๆ เช่น 1 ปี เพื่อให้เรายังจำได้อยู่ หรืออัพเดทข้อมูลใหม่ๆ
เอาจริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่ พวกเราทำกันอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าเราจะดูซีรีย์ หรืออ่านหนังสือ หากเราได้ใช้ ได้เจอคำ ไวยกรณ์ไหนบ่อยๆ ไปเรื่อยๆ เราจะจำได้ไม่ลืม มันคือหลักการเดียวกันนั่นเเหละ แค่เราเอามาทำให้เป็นระบบมากขึ้น และ โฟกัสไปที่ข้อมูลที่เรายังไม่สามารถจำได้สักทีนั้นเอง ซึ่งถือเป็นข้อดีของวิธีนี้
[ ทำเองมันยากไป หาโปรแกรมมาช่วยได้ ]
หากมองว่าทำเองด้วยกระดาษแล้วยากไป ไหนจะต้องมานั่งจำว่าจะต้องทวนอีกทีเมื่อไหร่ ไหนจะต้องคอยเรียงกันไปมา หากไม่จัดการดีๆ ก็กลายเป็นการเพิ่มงานที่ไม่ได้มีความจำเป็น เราสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้โปรแกรมต่างๆ ก็สามารถช่วยในจุดนี้ได้ โปรแกรมหรือแอพที่แนะนำของแอดมินมีตามนี้
- Anki แอพที่ได้รับความนิยมที่สุดด้วยฟีเจอร์ที่ใช้งานง่าย และ รองรับหลายแพลทฟอร์ม ทั่ง Web, Android, Desktop จะมีการแค่ iOS ที่ต้องเสียเงินนอกนั้นฟรี การสร้างการ์ดเองก็ง่าย เขียนความหมายของตัวเองได้ สามารถใส่รูปในการ์ดก็ได้ ฟีเจอร์เด็ดคือการให้คะแนนความยากในการตอบ ถ้ายากจะทำการ์ดนั้นมาแสดงให้เราตอบบ่อยขึ้น เพื่อเป็นการทวน แถมยังมี Community ของผู้ใช้ที่ใหญ่มาก ขี้เกียจทำการ์ดเองก็โหลดได้เลย
รายละเอียดเพิ่มเติม https://apps.ankiweb.net
- Pleco แอพ Dictionary ที่หลายคนอาจจะใช้กันอยู่แล้ว มีฟีเจอร์ Flash cards ให้เราได้ทวนคำศัพท์โดยใช้หลักการของ Spaced Repetition ด้วย จ่ายแค่ครั้งเดียวใช้ได้ตลอด ข้อดีคือเวลาเราเปิดหาคำศัพท์เราสามารถกดเพิ่มคำศัพท์นั้นๆ เข้าเป็น Flash cards ได้เลย หรือจะโหลด 5,000 คำของ HSK ที่มีอยู่แล้วมาทวนก็ได้ ข้อเสียคือคำแปลจะเป็นภาษาอังกฤษ บางคำหากไม่เชี่ยวชาญอาจจะทำให้เข้าใจไม่ถ่องแท้
รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.pleco.com
จริงๆก็ยังมีแอพอื่นๆที่คนนิยมใช้กัน ยังไงลองไปดูกันได้
- Skitter เน้นการเขียนอักษรจีน - https://skritter.com
โดยส่วนตัว ผมใช้ Notion เพราะมองว่าแค่จำคำศัพท์และประโยคยังไม่เพียงพอในการเรียนรู้ ยังมีความต้องการอื่นๆ เลยนำ Notion มาดัดแปลง ซึ่งก็มี RemNote ที่สามารถทำได้ใกล้ๆกัน เดี๋ยวจะอธิบายว่าทำไมถึงเลือกที่จะทำเองในช่วงต่อไป
[ เรียนภาษาจีน มันมากกว่าแค่ Quiz จุดอ่อนของ Spaced Repetition ที่ต้องรู้ ]
ภาษาคือเครื่องมือในการสื่อสาร ไม่ใช่เพียงแค่ Quiz และนี่เป็นจุดอ่อนสำคัญของระบบ Spaced Repetition ซึ่งเน้นความเร็วและการจำ ในความเห็นของผม การใช้ Flash cards เป็นสื่อในการเรียนรู้สำหรับการจำอย่างเดียวไม่เพียงพอ ภาษายังต้องมีการฝึกทักษะที่ครบถ้วนทั้ง การฟัง พูด อ่าน และ เขียน แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าระบบ Spaced Repetition นั้นไม่เหมาะสมกับการเรียนภาษา เพียงแต่เราสามารถนำหลักการมาปรับใช้ ให้เข้ากับการเรียนภาษามากขึ้น
หากเรามองดีๆ หลักการของระบบนี้คือการทบทวนในช่วยที่กำลังจะลืม เราสามารถนำส่วนนี้มาประยุกต์เพิ่มเติมได้ ตัวอย่างเช่นที่ผมได้ปรับปรุงคือ ถอยออกมามองภาพรวมว่าเราสามารถเรียนรู้ได้อย่างไร และ เรียนรู้จากอะไรถึงจะได้ คำศัพท์ ประโยค และ ไวยกรณ์ โดยไม่น่าเบื่อ คำตอบสำหรับตัวผมเองคือการนำบทความ หรือ คลิปยูทูปมาเรียน และจดบันทึก ซึ่งแน่นอนว่าเราได้บริบทอื่นๆในการใช้งานมาด้วยมากกว่าแค่การท่องศัพท์
การทบทวนของเราก็จะเป็นการทบทวนทั้งรวม และ แยกเนื้อหาไปในเวลาเดียวกัน แน่นอนว่าต้องจัดเวลาฝึกการพูดและการเขียนด้วย เพื่อให้ใช้ภาษาได้อย่างครบถ้วน พอเรามีเหตุผลแบบนี้แล้ว ทำให้แอพที่มีอยู่ในตลาด แม้จะดีมากก็ตามไม่ตอบโจทย์ เราต้องการแอพที่ช่วยให้เราปรับเปลี่ยนตามความต้องการได้ แอดมินเลยเลือกใช้ Notion มาปรับปรุงข้อด้อยและเสริมระบบนี้
ส่วนตัวแนะนำว่าทุกคนปรับใช้หลักการนี้ให้เข้ากับเงื่อนไขต่างๆ ของตัวเอง เพื่อให้ได้ระบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมที่สุด ไว้ในตอนหน้า ผมจะมาเล่าเกี่ยวกับการใช้ Notion และการวางแผนเพื่อการเรียนรู้ภาษาจีนทั้งด้วยตัวเอง และ เสริมการเรียนที่เรียนอยู่แล้ว เผื่อจะนำไปใช้กันได้ครับ
หากใครมีเทคนิกอะไรดีๆ อย่าลืมเข้ามาแชร์กันหน่อยนะ เผื่อจะได้เเลกเปลี่ยนและพัฒนาวิธีการเรียนกันเปลี่ยนและพัฒนาวิธีการเรียนกัน
อ่านเกี่ยวกับเทคนิกการเรียนภาษาจีนอื่นๆ ได้ที่บทความนี้
[[ 10 เทคนิกพื้นฐานง่ายๆ ทำเป็นประจำ ภาษาจีนของคุณจะดีขึ้นได้อีกเยอะ ]]
ติดตามเรื่องราวภาษาจีนย่อยง่ายๆ ด้วยภาพ หรือมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับภาษาจีน มาคุยกันได้ที่
### เพิ่มเติม
- [1] อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยที่รองรับได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Spaced_repetition
### อ้างอิง
โฆษณา