20 มิ.ย. 2021 เวลา 07:41 • การศึกษา
[[ วิธีเรียนภาษาจีนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ร่างมันออกมา | สร้างระบบเรียนภาษาด้วยตัวเอง ตอนที่ 2 制造自学的系统 ]]
#เส้นทางเรียนภาษา #ทิปและเทคนิกเรียนภาษาจีน #คิดและวางแผนเอง #สร้างวิธีการเรียนภาษาจีนด้วยตัวเอง
ตอนต่อของ "สร้างระบบเรียนภาษาด้วยตัวเอง" มาแล้ว ในตอนที่ 2 นี้แอดมินจะมาแชร์วิธีการและประสบการณ์ส่วนตัวที่วางระบบการเรียนภาษาจีน และรายละเอียดที่ต้องการ ซึ่งแอดมินเป็นคนที่ชอบเก็บข้อมูลไว้ย้อนกลับมาดูมากๆ และเป็นคนที่ขี้เกียจเปิดสมุดหาไปมาเพื่ออ่านทวน (คือโรคจิตเวลาหาข้อมูลไม่เจอ 555) เลยเป็นที่มาของการวางระบบเก็บข้อมูลที่เรียน สร้างคลังเนื้อหาและศัพท์ของตัวเอง เพื่อให้แอพเข้ามามีส่วนช่วยในการเรียนของเรา
ในตอนนี้เราจะโฟกัสไปที่ภาพรวม และ กระบวนการเรียนรู้ส่วนตัวของแอดมิน เพื่อปูเข้าสู่การใช้ Notion ในตอนที่ 3 นะครับ
มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า
[ 学习语言的入口与出口 เรียนภาษาให้ดี ต้องเข้าๆออกๆ 🤪 ]
ฟัง พูด อ่าน เขียน เป็นทักษะที่ต้องทำให้ครบในการเรียนภาษาทุกภาษา โดยจะแบ่งเป็น "ทางเข้า" คือทักษะการฟัง และ การอ่าน และ "ทางออก" คือ ทักษะการพูด และ การเขียน ระบบที่ดีคือระบบที่เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ทั้ง 4 ทักษะอย่างเหมาะสม ซึ่งเหมาะสมของแต่ละคนไม่เท่ากัน ต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดว่าอยากได้อะไร
การเรียนรู้ภาษามันมากกว่าแค่คำนี้ ประโยคนี้ ในภาษานี้พูดว่าอย่างไร ซึ่งไม่ผิดนะถ้าใครจะพอใจแค่จุดนี้ มุมมองส่วนตัวของแอดมินสำหรับการเรียนภาษา นอกจากแค่เรียนรู้ฟังพูดอ่านเขียนอย่างไร ยังมีการซึมซับเรื่องราว บริบทแวดล้อม ประวัติศาสตร์ แนวคิด การใช้ชีวิต และ วัฒนธรรมของผู้ใช้ภาษานั้นๆ เพื่อให้เข้าใจเบื้องหลังของภาษาว่าทำไมเขาถึงใช้คำแบบนี้ ไวยกรณ์แบบนี้ มันมากกว่าแค่การท่องจำ
เป้าหมายแบบไหนไม่มีผิดหรือถูก ขอให้เข้าใจและชัดเจนกับตัวเอง ว่าเราต้องการแค่ไหน สำหรับแอดมินคือการเรียนรู้แบบองค์รวม คือเรียนรู้การใช้ภาษาและบริบทไปด้วยกัน จึงตั้งจุดประสงค์หลักในการเรียนรู้เป็น การเรียนรู้เชิงค้นคว้าและสร้างแหล่งเก็บข้อมูลที่ได้เรียนรู้เหมือนเป็นสมองที่สอง (หลักการ Second Brain ที่ YouTuber ฝั่งตะวันตกนิยมกันอยู่หลายปีมานี้ สนใจหลักการนี้ดูเพิ่มได้ท้ายบทความ)
[ 写下自己的步骤 ร่างขั้นตอนของตัวเอง สมองจำด้วยบริบท อย่าแยกเรียนรู้ ]
แต่ละคนมีกระบวนการในการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน ลองดูว่าตัวเองเรียนรู้แบบไหนได้ดีที่สุด แล้วลองเขียนออกมาเป็นขั้นตอนดู
สำหรับแอดมิน แอดมินจะเน้นเรื่องการรับข้อมูลเข้ามาศึกษามากๆ เพราะไม่อยากให้มันน่าเบื่อ แค่ท่องศัพท์กับคำแปลเฉยๆ จะพาลไม่มีกำลังใจเอา แอดมินมักจะเจอสื่อหรือคลิปต่างๆที่น่าสนใจซึ่งมีเยอะแยะมากมายก็จะเน้นเอามาเก็บไว้ก่อน ให้ลำดับความสำคัญของสื่อที่เก็บมา และ จัดเวลาเรียนรู้ แน่นอนว่าแค่ค้นคว้าให้เข้าใจอย่างเดียวไม่พอ เพราะเป็นเพียงแค่การรับเข้า ต้องมีการนำออกมาใช้ด้วย แอดมินจึงร่างกระบวนการหลักในการเรียนรู้ออกมาเป็น 2 ส่วนดังนี้
👉 ขั้นตอนการรับเข้า (ทางเข้า)
1. 保存有兴趣的媒体或题目,把它们按轻重缓急排队。 **เลือกสื่อหรือหัวข้อที่สนใจใช้เรียนรู้เก็บไว้ และ จัดลำดับความสำคัญ** รวมมาเก็บๆไว้ก่อน โดยอาจจะเป็นบทเรียนที่เรียนอยู่ (课文 kèwén), คลิปTikTok (抖音短视频 Dǒuyīn duǎn shìpǐn), Podcast (播客 bōkè), คำถามที่ต้องการค้นคว้า (研究题目 yánjiū tímù), หนังสือที่กำลังอ่านอยู่ (在读的书 zàidú de shū) หรือ อะไรง่ายๆเลยก็ได้ เช่น เมนูอาหาร (菜单 càidān) จุดสำคัญคือแบ่งลำดับความสำคัญให้ชัดเจน เรามีเวลาจำกัด หากเวลาไม่พอ เราจะเลือกศึกษาเฉพาะอันที่เราให้ความสำคัญสูง หากมีเวลาเพิ่มค่อยมาศึกษาหรือเสพย์สื่อที่เราให้ความสำคัญรองลงมา
2. 读/听后,总结内容。 **อ่าน/ฟังแล้วสรุปเนื้อหาที่ได้** ในขั้นตอนนี้จะเน้นไปที่สิ่งที่เราได้จากการเรียนรู้ เช่น เขียนประโยคที่ชอบออกมา, สรุปเนื้อหาเป็นข้อ จะภาษาไทยหรือภาษาจีนก็ได้ แนะนำให้เป็นภาษาจีนหรือที่กำลังเรียนอยู่, เน้นที่เนื้อหาและภาพรวม ให้สมองได้ทบทวนเนื้อหาที่รับ
3. 写下学的句子、词语、语法,分析真正的用法。**สรุปประโยค คำศัพท์ และไวยากรณ์ มาวิเคราะห์** เมื่อสรุปเนื้อหาแล้วก็มาถึงขั้นตอนของการวิเคราะห์และจดศัพท์ ไวยกรณ์ที่ควรได้ละ บันทึกประโยคที่ได้เรียนรู้ คำศัพท์ และไวยกรณ์ พร้อมทั้งดูว่าเขาใช้อย่างไร ถ้ายังไม่เข้าใจลองเสิร์ชหาข้อมูลเพิ่มเติมและจดไว้เพื่อไว้กลับมาดูใหม่
👈 การนำออกมาใช้ (ทางออก)
ในส่วนนี้จริงๆ หากทำตามขั้นตอนการรับเข้ามาแล้ว เราจะได้สรุปและวิเคราะห์ไปแล้ว ซึ่งจัดว่าเป็นการนำออกมาใช้ขั้นต้น ซึ่งแอดมินจะใช้ Space Repetition มาทบทวนคำศัพท์ ประโยค และ ไวยากรณ์ตามเวลาที่กำหนดโดยจะคล้าย Flashcard ซึ่งคำศัพท์และไวยากรณ์ก็จะทายความหมายและนำมาแต่งประโยคใหม่ ส่วนประโยคเน้นทางเหมือน Quiz ถ้าแปลถูกก็ไปขั้นต่อไป จะมีอ่านทวนเนื้อหาบ้าง เพื่อหาจุดที่เราตกหล่นไป จุดสำคัญคือต้องมีการเก็บบันทึกการฝึกฝนของเราไว้ เพื่อให้เห็นพัฒนาการอันนี้จะง่ายหน่อย ก็แค่อัดวิดีโอหรือเสียงตัวเองพูด หรือเขียนโดยกำหนดหัวข้อต่างๆ และเก็บไว้ เพื่อเป็นการฝึก โดยจะกลับมาดูซ้ำเพื่อดูว่าจะปรับแก้ตรงจุดไหนบ้าง สามารถเพิ่มแบบฝึกหัดใหม่ๆ มาไว้ให้ทำได้ ตอนนี้แอดมินจะมีเทคนิคการฝึกประมาณนี้ วนๆ กันไป
ส่วนที่เหลือจริงๆ จะเป็นการนำมาใช้ฝึกทักษะการพูดและการเขียนโดยทำเป็นการบ้านในแต่ละเวลาตามที่กำหนด เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับช่วงนั้นต้องการฝึกอะไร ส่วนนี้จะเป็นส่วนของระบบย่อยซึ่งจะพูดถึงในช่วงต่อไป
ในภาษาจีนเองจะมีความพิเศษอยู่อีกอย่างคือ อักษรเป็นอักษรภาพ การจำได้แต่เสียงอาจจะไม่ช่วยให้จำตัวอักษรได้ไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้นทักษะการเขียน ถ้าจัดเวลาได้มากพอจะเขียนมือบทกระดาษหรือไอแพด เพื่อทบทวนความจำ
อ่านเรื่อง Space Repetition 间隔重复 หลักการที่สามารถใช้มาช่วยจัดระบบการทวนได้ ใครยังไม่ได้อ่านไปอ่านกันได้ที่นี่เลย https://www.blockdit.com/posts/60b28962154c770c5ed67cbd
[ 主系统与补充系统 ปรับใช้ให้เข้ากับตัวเอง มีระบบหลักแล้ว ก็มีระบบเสริมได้ ]
ตามที่ได้เล่าไปส่วนใหญ่แล้วเรื่อง "การนำออกมาใช้" ส่วนนี้เป็นส่วนที่แอดมินจะแบ่งออกเป็นสองแบบตามสถานการณ์
📇 主系统 การฝึกระบบหลัก
อันนี้จะง่ายหน่อย จัดตารางเพื่อฝึกฝนเป็นประจำในหลายหลายทักษะ ได้แก่
- การพูดแบบไม่มีบทพูด
- การฝึกสำเนียง
- การพูดจริง
- แชท
- การเขียนแบบไม่ทางการ
- การเขียนแบบทางการ โดย
สามารถเพิ่มหรือลดแบบฝึกหัดได้ตามเหมาะสม แต่จะเน้นองค์รวมของทักษะทางภาษา ตอนนี้แอดมินจะมีเทคนิกการฝึกประมาณนี้ วนๆ กันไป
1. Shadowing ฝึกสำเนียงและเรียนรู้คำพูด เลือกวิดีโอที่ชอบ หรือ podcast อัดคลิปพูดตามเป๊ะๆ ดูทวน และแก้ไข จนกว่าจะพอใจ สำหรับภาษาจีน หลายๆคลิปจะมี caption ให้อ่านตามอยู่แล้ว หรือ podcast บางรายการจะมี transcript ให้เรามาอ่านตามและศึกษาได้เช่นกัน
2. Impromtu พูดสด เขียนสด สุ่มหัวข้อ คำศัพท์ หรือ ไวยกรณ์มาใช้ เอามาใช้เขียนหรืออัดวีดีโอพูด ทวนซ้ำ แก้ไขจนกว่าจะพอใจ
3. หาแบบฝึกหัดมาทำ ถ้าเบื่อๆ หรือคิดไม่ออก
4. สรุปความรู้แชร์ให้คนอื่น แบบที่ทำในเพจนี้แหละ 555
5. แชทหรือวีดีโอคอลกับคนจีนบ้าง
ที่สำคัญคือเราต้องมีคนที่คอยช่วยเราดูด้วยว่าที่เราเขียน เราพูดมาน่ะถูกผิด หรือ เป็นธรรมชาติไหม การหาเจ้าของภาษา หรือคนที่รู้ภาษาจีนมาช่วยเรา จะช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
📌 补充系统 การฝึกระบบเสริม
แบบนี้คือมีอีเวนท์ที่ต้องทำ เช่น การสอบ หรือกำหนดเป็น Challenge ขึ้นมาเองก็ได้อันนี้จะมาวางแผนและขั้นตอนให้เหมาะกับเป้าหมายระยะสั้น และ กำหนดเวลาให้ชัดว่าจะจบเมื่อไหร่ โดยอาจจะพักการฝึกระบบปกติไปก่อน หรือ ไม่พักก็ได้
วิธีการฝึกไม่มีตายตัว เราสามารถไปดูการฝึกของใครมาลองทำตามดูได้ ถ้าทำกับเราแล้วได้ผล ก็ใช้ต่อ ไม่ได้ผลก็แค่เลิกใช้ แต่ต้องมีการทดลองเป็นระยะเวลาหนึ่งและวัดผลเพื่อดูว่าได้ผลจริงๆไหมด้วยนะครับ
[ 不要每分每秒认真,给自己轻松也可以 ไม่ต้องจริงจังตลอด แบ่งส่วนเก็บไว้บันเทิงบ้าง ]
อ่านมาถึงตรงนี้คงมีคำถาม "มันต้องจริงจังขนาดนี้เลยเหรอ?" คำตอบคือใช่ครับ นี่เป็นวิธีการส่วนตัว แต่อย่าเพิ่งตกใจ แอดมินก็เป็นคนที่ขี้เกียจมากคนนึง ตั้งใจมากๆ ก็จะเจอภาวะหมดพลังเหมือนกัน เราก็จะมีสื่อเช่น อนิเมะภาษาจีน ซีรีย์จีน คลิปต่างๆ ไว้ดูแบบเอาบันเทิงด้วย คือเก็บไว้เปิดดูแบบดูไปเลยไม่ต้องพยายามหยุดเพื่อจดและค่อยเล่นต่อ ซึมซับบ้าง บันเทิงบ้าง ชื่นชมดาราบ้าง ถ้ามีอะไรที่จะเรียนรู้ได้ เดี๋ยวมันก็ผุดขึ้นมาเอง เดี๋ยวเราก็จดเองแหละ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับการจัดตารางศึกษาจริงๆ ด้วยนะ
การเรียนภาษาสำหรับแอดมิน ให้ความสำคัญที่ความสนใจและความสนุก แน่นอนว่ามันต้องมีความลำบากบ้างเพราะการจะทำอะไรให้ได้ดีต้องมีการฝึกฝนอย่างจริงจัง แต่ถ้าเรารู้สึกเหนื่อย ท้อ ทรมานต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยที่ไม่รู้สึกว่าพัฒนาขึ้นด้วย คงต้องกลับมาตั้งคำถามเหมือนกันว่าไอ้ที่ทำอยู่เนี่ย มันถูกทางจริงๆไหม เข้าใจตัวเองและปรับให้พอดี เมื่อเรารู้สึกสนุกจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดครับ
แชร์กันมายาวพอสมควรเลย แต่อยากให้เห็นภาพรวมของการวางระบบการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญก่อนจะตะลุยเรียนรู้แบบไม่มีจุดหมาย และไปโฟกัสความแฟนซีอย่างแอพหรือโปรแกรม ซึ่งถ้าเราวางระบบไม่ดี โปรแกรมดี หนังสือดีก็ช่วยอะไรไม่ได้นะ เผลอๆ อ่านๆท่องๆอาจจะดีกว่าอีก ที่สำคัญวิธีการเรียนรู้ไม่ได้มีแค่แบบเดียวต้องหาที่เหมาะกับตัวเองนะครับ
ในตอนที่ 3 จะเข้าสู่การใช้ Notion มาช่วยตามระบบที่ได้เล่ามาทั้งหมดนี้แล้ว ยังไงอย่าลืมติดตามกัน จะได้ไม่พลาดเวลามีคอนเทนท์ใหม่นะ ระหว่างนี้ลองอ่านบทความอื่นๆ ของ สร้างภาพเล่าเรื่อง 图图是道 ทุกช่องทางได้เลย
แฟนเพจ หรือ เหล่าซือท่านไหนมีวิธีและระบบการเรียนรู้ยังไงมาแชร์ แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ
ติดตามเรื่องราวภาษาจีนย่อยง่ายๆ ด้วยภาพ หรือมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับภาษาจีน มาคุยกันได้ที่
📎 เพิ่มเติม
- แนวคิด Second Brain แนวคิดนี้เชื่อว่าเราไม่ทางจำได้หมด และ สื่อในปัจจุบันมีมากและหลากหลายรูปแบบ การเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบจะช่วยให้เราสามารถค้นหาและปะติดปะต่อไอเดีย เรื่องราว และความรู้ได้ดีขึ้น เป็นการบริหารจัดการความรู้รูปแบบหนึ่ง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คลิปนี้ https://youtu.be/OP3dA2GcAh8
โฆษณา