1 มิ.ย. 2021 เวลา 09:00 • สุขภาพ
จุฬาฯ เตรียมทดลองวัคซีน ‘ChulaCov19’ ในมนุษย์เฟสแรกมิถุนายนนี้ หากสำเร็จ เทียบชั้น Pfizer และ Moderna
21
วานนี้ (31 พฤษภาคม) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กถึงวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังของโลก ‘Nature’ ยกย่องนักวิทยาศาสตร์ไทยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีและคุณภาพระดับโลก เทียบชั้น Pfizer-Moderna เพื่อนำมาให้คนไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้ใช้ในราคาที่ถูกกว่ามาก
8
สำหรับวัคซีน ChulaCov19 ที่พัฒนาขึ้นโดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งของโลกที่พัฒนาเองขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกับ Pfizer และ Moderna และเป็นวัคซีนที่ต่อยอดขึ้นมาเพื่อรับมือกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา (B.1.351) และสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) รวมถึงยังอาจพัฒนาให้รับมือกับสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617) ได้อีกด้วย
8
วัคซีน ChulaCov19 นี้ จะเริ่มทดสอบเฟสแรกในมนุษย์ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยใช้อาสาสมัครจำนวน 100 คน เพื่อหาจำนวนโดสที่เหมาะสมในการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยจะใช้บริษัทในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตวัคซีนทดสองล็อตแรกนี้ และหลังจากนั้นในเดือนกันยายนก็จะเริ่มผลิตในประเทศไทยเอง โดยบริษัท BioNet-Asia
9
การทดสอบความสามารถของวัคซีน ChulaCov19 นี้ จะใช้ผลการทดสอบเทียบกับตัวอย่างเลือดจากผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer ในต่างประเทศ และ AstraZeneca จากประเทศไทย หากผลการทดสอบพบว่าภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีน ChulaCov19 เทียบเท่าหรือดีกว่าภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer และ AstraZeneca ก็น่าที่จะขออนุมัติเป็นการพิเศษเพื่อให้วัคซีนถูกนำมาใช้ในประเทศโดยเร่งด่วนได้
4
ห้องปฏิบัติการวัคซีนของ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ถูกก่อตั้งมากว่า 10 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคฉี่หนู ซึ่งก็ได้มีการพัฒนาศักยภาพให้มีคุณภาพที่ก้าวล้ำนำสมัยอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA นี้ได้เริ่มต้นมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียที่เป็นผู้ริเริ่มวัคซีนชนิดนี้ พัฒนาวัคซีนโรคภูมิแพ้ขึ้น เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ก็ได้หันมาพัฒนาวัคซีนเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19
7
วัคซีน ChulaCov19 มีผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ดีเยี่ยมมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ด้วยศักยภาพและความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ที่มีอยู่ แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาการสนับสนุนของรัฐบาลในเรื่องทุนวิจัยและการขออนุมัติให้สามารถทดลองในมนุษย์ได้ ซึ่งก็เพิ่งได้รับการอนุมัติให้ทดสอบในมนุษย์ในเดือนมิถุนายนนี้
14
หากผลการทดสอบเป็นไปได้ด้วยดี ประเทศไทยก็จะสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นแหล่งผลิตวัคซีนชนิด mRNA ที่สำคัญประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย และเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่สามารถพัฒนาวัคซีนชนิดนี้ขึ้นมาเองได้
5
เรื่อง: THE STANDARD TEAM
1
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
โฆษณา