4 มิ.ย. 2021 เวลา 00:55 • สุขภาพ
มารู้จักเหล่าโรคทางเดินอาหาร
2
มารู้จักเหล่าโรคทางเดินอาหาร
ท้องอืด ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องผูก คลื่นไส้ เป็นอาการที่พบบ่อยได้ในคนทั่วไป จนคิดว่าอาจจะไม่เป็นอะไร แต่โรคความผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินอาหารทั้งหลายนั้นกลายเป็นโรคเรื้อรัง หรือรุนแรงเมื่อมาตรวจพบโรคในระยะหลัง ๆ และโรคที่พบบ่อยในระบบทางเดินอาหารมีดังนี้
- โรคกระเพาะอาหาร
มีอาการแสดงออกมาในลักษณะของ การปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือ ปวดใต้ชายโครงซ้าย บางรายปวดแน่นถึงหน้าอก อาการมักเป็นๆ หายๆ และสัมพันธ์กับมื้ออาหาร อาจปวดก่อนทานอาหารในเวลาหิว หรือปวดหลังอาหารเวลาอิ่ม อาการเหล่านี้จะดีขึ้นได้เมื่อรับประทานอาหาร หากโรคนี้รุนแรงขึ้นอาจมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือเบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- กรดไหลย้อน
เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ซึ่งกรดเหล่านี้มีความเข้มข้นสูงมาก ทำให้เกิดอันตรายต่อหลอดอาหาร และเยื่อบุในหลอดอาหารที่มีความบอบบาง กระทั่งทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ ที่เรียกว่า Heart Burn บางครั้งอาจจะร้าวไปที่คอ รู้สึกว่ามีก้อนอยู่ในคอ กลืนลำบาก หรือกลืนแล้วเจ็บ มีอาการเจ็บคอ หรือแสบลิ้นเรื้อรัง และเนื่องจากโรคกรดไหลย้อนจะมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย คล้าย ๆ กับอาการของโรคกระเพาะอาหาร พฤติกรรมที่เสี่ยงเป็นกรดไหลย้อน
- ท้องเสีย อุจจาระร่วง
การถ่ายอุจาระเหลว หรือเป็นน้ำ มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเหลวมีเลือดปนเพียง 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง โดยทั่วไปอาการท้องร่วงมักหายได้เองใน 2-3 วันโดยที่ไม่ต้องรักษา หากเป็นนานกว่านั้นควรมาพบแพทย์ ผู้ป่วยโรคท้องร่วงจะมีอาการ แน่นท้อง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายบ่อย โรคท้องร่วงถ้าเป็นนานกว่า 3 สัปดาห์เรียกว่าเรื้อรัง ถ้าหายภายใน 3 สัปดาห์เรียกท้องร่วงเฉียบพลัน โดยมากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสสาเหตุของอาการท้องเสีย อุจจาระร่วง
- ภาวะลำไส้แปรปรวน (IBS Irritable Bowel Syndrome)
โรคลําไส้แปรปรวนหรือไอบีเอส (IBS-Irritable Bowel Syndrome) สาเหตุมาจากลําไส้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้เร็วกว่าปกติ จึง ทําให้เกิดอาการปวดเกร็งบริเวณท้องน้อยหรือใต้สะดือ อาการสำคัญของลำไส้แปรปรวน คือปวดท้องหรือแน่นท้อง ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของการขับถ่าย อาการปวดท้องมักจะเริ่มเมื่อมีการขับถ่ายบ่อยมากขึ้น ขับถ่ายน้อยลง หรือเมื่อมีท้องผูกหรือถ่ายเหลว และอาการปวดจะดีขึ้นเมื่อหยุดถ่าย อาการปวดท้องจะเกิดขึ้นตอนเช้าหรือหลังจากกินอาหาร และจะถูกกระตุ้นได้ง่ายจากความเครียด อาหารประเภทไขมันสูง เนื้อสัตว์ และอาหารที่ทําให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมาก เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและความเครียด
- ไวรัสตับอักเสบบี
โรคนี้ค่อนข้างน่ากลัวมาก ติดต่อได้จากมารดาสู่ทารกขณะคลอดรวมถึงการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การฝังเข็ม การฉีด หรือเจาะตามร่างกายที่ไม่ถูกวิธีและไม่ได้ทำโดยวิธีปลอดเชื้อ การให้เลือด ฟอกไต การปลูกถ่ายอวัยวะ และติดต่อจากบุคคลในบ้าน เมื่อได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเข้าไปฟักตัวในตับ ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบบีเฉียบพลันประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการชัดเจน อาการที่พบ เช่น มีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ตามมาด้วยตัวเหลือง ตาเหลือง เมื่อเกิดอาการที่แสดงชัด หรือตรวจแล้วเจอก้อน ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร
1. ขาดการสาธารณสุขที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องของน้ำดื่ม น้ำใช้
2. การกินอาหารไม่สะอาด ปรุงดิบ หรือสุกๆดิบๆ หรือ อาหารค้างคืน อาหารแช่แข็งที่ไม่ปรุงให้สุก
3. ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร คือ การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด การรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณที่มากเกินควร รับประทานอาหารรสจัด รับประทานอาหารที่ไม่มีใยอาหาร
4. การดื่มสุรา สูบบุหรี่
5. ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้รับประทานอาหารไม่ตรงต่อเวลา ก็มีส่วนทำให้เกิดโรคทางระบบทางเดินอาหารได้
1
การรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร
1. การรักษาตามสาเหตุ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาฆ่าเชื้อราเมื่อโรคเกิดจากติดเชื้อรา การรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบด้วยการผ่าตัดและยาปฏิชีวนะ หรือการรักษาโรคมะเร็งด้วยการผ่าตัด อาจร่วมกับรังสีรักษา ยาเคมีบำบัด หรือยารักษาตรงเป้า
2. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อกินไม่ได้หรือในภาวะขาดน้ำจากอาเจียนหรือท้องเสียมาก หรือการให้เลือดเมื่อมีอาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นเลือด จนเกิดภาวะซีด
3. การตรวจคัดกรองด้วยวิธีการส่องกล้อง ปลอดภัย ไม่เจ็บ ไม่ต้องนอนพัก ไม่มีแผลผ่าตัด
- การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Gastroscopy) สามารถตรวจหาความผิดปกติของ หลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น งดน้ำ งดอาหาร 4 ชั่วโมง สามารถทำได้
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) สามารถตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย สมาคมทางเดินอาหารประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ต้องเตรียมลำไส้ก่อนการส่องกล้อง สามารถมาตอนเช้า ทำตอนบ่าย
1
#สาระจี๊ดจี๊ด
“ระบบทางเดินอาหาร” หรือเรียกย่อว่า ระบบจีไอ (GI system, Gastrointestinal system, หรือ Gastroenterology) ประกอบด้วยอวัยวะต่าง ๆ มากมายได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี และตับอ่อน บางครั้งเรียกหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนบน (Duodenum) รวมกันว่า “ทางเดินอาหารตอนบน หรือระบบทางเดินอาหารตอนต้น (Upper GI tract)” และเรียกลำไส้เล็กตอนล่าง (Ileum) ลำไส้ใหญ่ ไปจนถึงทวารหนักว่า “ทางเดินอาหารตอนล่าง (Lower GI tract)”
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา