4 มิ.ย. 2021 เวลา 08:00 • ธุรกิจ
ย้อนรอยคดี 'พรีอุส' เดิมพัน 'ภาษีหมื่นล้าน'
กรณีบริษัทโตโยต้า คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนเม.ย.2563 ว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมาย
ย้อนรอยคดี 'พรีอุส' เดิมพัน 'ภาษีหมื่นล้าน'
กรณีบริษัทโตโยต้า คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนเม.ย.2563 ว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบนของสหรัฐฯ และมีการพาดพิงถึงบุคลากร อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและผู้พิพากษาฎีกา ในกระบวนการยุติธรรมของไทย
1
ข้อพิพาทในคดีนี้ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 สืบเนื่องจากสำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ได้แจ้งประเมินภาษีไบขนจำนวน 244 ฉบับ ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2553-2555 รวมวงเงิน 11,639,786,094.84 บาท แก่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายหลังตรวจสอบพบว่าบริษัทฯใช้สิทธิการสำแดงชนิดสินค้าและประเภทพิกัดไม่ถูกต้อง เนื่องจากสินค้าที่นำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ แยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆในลักษณะ CKD หรือ COMPLETE KNOCK DOWN และมีปริมาณสอดคล้องกัน เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว สามารถประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้ กรณีดังกล่าวจึงไม่สามารถแยกชำระอากรตามรายชนิดสินค้าได้
เมื่อตรวจสอบข้อมูลในส่วนของเครื่องยนต์ ยังพบว่า รหัสของเครื่องยนต์ขึ้นต้นด้วย 2ZR นั้น เป็นรหัสเครื่องยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบ 1,797 CC ของรถยนต์โตโยต้า รุ่น Prius กรมศุลกากรจึงเห็นควรให้สินค้าตามใบขนสินค้าทั้ง 244 ฉบับ จัดเข้าประเภทพิกัด 8703.23.51 อัตราภาษี 80% ในฐานะรถยนต์ที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ที่ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 CC ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 2(ก) ประเภทที่ระบุถึงของใดให้หมายรวมถึงของนั้นที่ยังไม่ครบสมบูรณ์หรือยังไม่สำเร็จ หากว่าในขณะนำเข้ามีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว ให้หมายรวมถึงของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว ที่เข้ามาโดยถอดแยกออกจากกัน หรือยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกัน เป็นเหตุให้ต้องมีการจัดเก็บภาษีอากรที่ขาดไป เป็นจำนวนเงิน 11,639,786,094.84 บาทดังกล่าว
ขณะที่ฝ่ายโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) แย้งว่าบริษัทฯได้นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นภายใต้ข้อตกลงทางการค้าไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งชิ้นส่วนยานยนต์เหล่านั้นได้รับอนุมัติให้ใช้สิทธิ์ตามข้อตกลงดังกล่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้เสียภาษีถูกต้องครบถ้วน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายศุลกากร กฎหมายสรรพสามิต ประมวลรัษฎากร และความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแล้ว จึงได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
1
ต่อมา 7 พ.ค.2558 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์ และคัดค้านการประเมินภาษีของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์(ประเทศไทย) จำกัด โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางในปี 2559 เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. 93/2559 ระหว่างบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด โจทก์ กรมศุลกากร จำเลย ข้อหาหรือฐานความผิด ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469
1
29 ก.ย.2560 ต่อมาศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เป็นผลให้บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ชนะคดีไม่ต้องรับผิดทางภาษีอากร ต่อมาราวเดือนมิ.ย.2561 กรมศุลกากร และ กรมสรรพากร อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และวันที่ 20 มี.ค.2562 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ(ที่ประชุมใหญ่ 70 ท่าน) มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เป็นผลให้ โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) ต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
2
ทั้งนี้ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ถึงที่สุดตามกฎหมาย ต้องห้ามฎีกา เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกา บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงยื่นฎีกาและคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา ซึ่ง 29 มี.ค.2564 ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณา
2
ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างศาลภาษีอากรกลางดำเนินการให้ฝ่ายจำเลยคือ กรมศุลการ ยื่นคำแก้ฎีกา ที่มีเวลาถึงวันที่ 13 ก.ค.2564 หลังจากนั้นศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมสำนวนส่งคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป
โฆษณา