5 มิ.ย. 2021 เวลา 03:00 • อสังหาริมทรัพย์
ก่อนจะซื้อ ขาย โอน จำนองที่ดิน เรามาทำความรู้จักกับโฉนดที่ดินแต่ละประเภทว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร? สามารถซื้อขายได้หรือไม่? และจะถูกเพิกถอนสิทธิ์เพราะอะไร? ลองมาอ่านกันดูค่ะ
ประเภทโฉนดที่ดินต้องรู้ ก่อนซื้อ ขาย โอน
รู้ไหมคะ? ว่าโฉนดที่ดินนั้นมีหลายประเภท สามารถสังเกตได้จากตราครุฑด้านบนหัวโฉนด ซึ่งสามารถจำแนกได้ง่ายๆตามสีของตราครุฑค่ะ ซึ่งที่ดินแต่ละประเภทนั้นเป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่แตกต่างกันไป บางชนิดสามารถซื้อ ขาย โอน จดจำนองได้ตามปกติ แต่บางชนิดไม่สามารถซื้อ ขาย โอน ได้เลยยกเว้นเป็นมรดกให้ลูกหลานเท่านั้น
วันนี้ เรามาดูกันค่ะว่าที่ดินนั้นมีประเภทอะไรบ้าง สามารถทำอะไรกับพื้นที่ตรงนั้นได้บ้าง เพื่อที่จะได้ไม่เข้าใจผิด และหลงซื้อที่ดินที่เราไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง! จนเกิดเป็นข้อพิพาท หรือกรณีฟ้องร้องกันที่หลังได้
ประเภทโฉนดที่ดินตามสีตราครุฑ
โฉนดที่ดินทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ โฉนดที่ดิน หนังสือสิทธิรับรองการทำประโยชน์ และหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งหนังสือแต่ละประเภทจะมีชื่อย่อที่แตกต่างกัน อย่างเช่น นส.4 นส.3 นส.3ก เป็นต้น ซึ่งเราไปดูความแตกต่างของที่ดินแต่ละชนิดกันเลยค่ะ
นส.4 หรือ โฉนดที่ดิน (ตราครุฑสีแดง)
นส.4 เป็นหนังสือที่เราเรียกกันว่า "โฉนด" เป็นใบที่ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินกับเจ้าของอย่างแท้จริง มีระวางรูปถ่ายทางอากาศชัดเจน มีหมุดแสดงพื้นที่ชัดเจน ให้กรรมสิทธิ์เจ้าของสามารถทำอะไรบนที่ดินผืนนั้นของตัวเองได้ตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์ค่ะ  สามารถซื้อ ขาย โอน นำไปจำนอง หรือค้ำประกันได้ทั้งหมด ทำให้ราคาของโฉนด นส.4 เป็นเอกสารที่ราคาสูงที่สุด เมื่อเทียบกับเอกสารชนิดอื่นในพื้นที่เดียวกัน
1
นส.4 เป็นเอกสารที่ราชการหรือกรมที่ดินออกให้ตามประมวลกฎหมาย ผู้ที่ซื้อ ขายจะต้องไปจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินในพื้นที่ ต่อหน้าเจ้าพนักงานถึงจะเป็นการซื้อ ขาย โอน อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะถือว่าโมฆะ ไม่มีการซื้อ ขาย โอนเกิดขึ้นค่ะ
นส. 3 ก หรือ หนังสือสิทธิรับรองการทำประโยชน์ (ตราครุฑสีเขียว)
นส. 3 ก เป็นเอกสารที่แสดงสิทธิการครอบครองเพื่อทำประโยชน์ในพื้นที่ดินนั้นๆได้ ซึ่งจะมีระวางรูปถ่ายทางอากาศชัดเจนเหมือนกับโฉนด แต่จะแตกต่างกันที่เงื่อนไขผู้ครอบครองจะต้องทำให้ที่ดินนั้นเกิดประโยชน์ขึ้น ต่างจากโฉนด(นส.4) ตรงที่โฉนดสามารถปล่อยทิ้งว่างได้ แต่อย่างไรก็ตาม นส.3 ก สามารถซื้อ ขาย โอน ให้กันได้
นส.3 ก เป็นหนังสือที่ออกโดยราชการและนายอำเภอส่วนท้องถิ่น ซึ่งผู้ที่ถือหนังสือ นส.3 ก สามารถนำใบนส.3 ก นี้ไปขอออกเป็นโฉนด (นส.4) ได้เลย โดยไม่ต้องรองรังวัดและติดประกาศ 30 วันค่ะ
นส. 3  หรือ หนังสือสิทธิรับรองการทำประโยชน์ (ตราครุฑสีดำ)
นส. 3 / นส. 3 ข เป็นหนังสือที่แสดงสิทธิการครอบครองเพื่อทำประโยชน์ในพื้นที่ดินนั้นๆได้ เหมือนกับ นส. 3 ก เพียงแต่จะไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ ไม่ได้วัดพื้นที่โดยละเอียด แต่สามารถซื้อ ขาย โอนได้แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ซื้อมักรอให้มั่นใจว่าสามารถออกโฉนดได้ก่อนจึงทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งนส. 3 และ นส.3 ข มีความแตกต่างกัน ดังนี้
นส. 3 : เป็นเอกสารที่นายอำเภอท้องที่เป็นผู้ออกให้
นส. 3 ข : เป็นหนังสือที่เจ้าหน้าที่ที่ดินเป็นออกออกให้แต่ยังไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการ
เนื่องจากหนังสือทั้งสองชนิดข้างต้นไม่มีภาพถ่ายทางอากาศที่แน่ชัด การจะขอออกโฉนด เหมือนกับ นส. 3 ก จึงต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินเข้ามาทำการรังวัดและติดประกาศเป็นระยะเวลา 30 วัน ถ้าไม่มีใครยื่นเรื่องขอคัดค้าน จึงจะสามารถทำเรื่องขอออกโฉนดได้ค่ะ
ส.ป.ก.4-01 หรือ หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ตราครุฑสีแดง หรือสีน้ำเงิน)
ส.ป.ก.4-01 เป็นเอกสารที่ออกให้เจ้าของมีสิทธิในการทำ "เกษตรกรรม" บนพื้นที่ดินเท่านั้น ไม่สามารถซื้อ ขาย โอน หรือออกเป็นโฉนดในภายหลังได้ แต่สามารถแบ่งตกทอดเป็นมรดกสู่ทายาทต่อไปได้* และทายาทก็จะต้องทำเกษตรกรรมบนที่ดินนั้นเท่านั้นค่ะ สามารถให้ผู้อื่นเช่าเพื่อการเกษตรได้* ซึ่งหนังสือชนิดนี้เป็นหนังสือที่ออกให้กับผู้ที่มีฐานะยากจน ครอบครัวละไม่เกิน 50 ไร่ สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อการเกษตรได้ ไม่สามารถนำไปจำนองได้ (ยกเว้นโครงการที่ระบุว่าสามารถใช้ ส.ป.ก.4-01 เป็นประกันได้ )
เมื่อไม่ต้องการแล้วสามารถคืนให้กับรัฐได้ แต่ถ้าทำผิดเงื่อนไข หรือไม่ได้นำพื้นที่ไปทำการเกษตรจริงอาจถูกยึดคืนได้
*ตามเงื่อนไขของราชการ
ข้อควรสังเกต : ส.ป.ก.4-01 จะมีตราครุฑสีน้ำเงินและสีแดงคล้ายกับโฉนดที่ดิน (นส.4) ให้สังเกตคำที่ระบุบนหัวเอกสารให้ชัดเจนว่าเป็นโฉนด หรือหนังสืออนุญาตค่ะ
หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้นมีอีกหลายประเภทสามารถรสรุปได้ดังภาพ Infographic ด้านบนเลยค่ะ
นส. 2 หรือ ใบจอง
นส. 2 เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินชั่วคราว ซึ่งผู้ที่มีใบจองจะต้องทำประโยชน์ในพื้นที่ดินเกินกว่า 75 % ของที่ดิน ภายใน 6 เดือนหลังได้รับใบจองและจะต้องทำประโยชน์แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเอกสารชนิดนี้ไม่สามารถซื้อ ขาย หรือโอนให้กันได้ แต่สามารถตกทอดเป็นมรดกให้กับทายาทได้
สทก. หรือ สิทธิที่ดินทำกิน
สทก. เป็นหนังสือที่กรมป่าไม้ออกให้ ประชาชนมีสิทธิ์ในการทำกินบนพื้นที่ป่าไม้ ไม่สามารถซื้อ ขาย หรือโอนให้กันได้ แต่สามารถตกทอดเป็นมรดกให้กับทายาทได้ ซึ่งถ้าเจ้าของสิทธิไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยที่ดินรกร้างติดต่อกันเกิน 2 ปี อาจถูกยึดคืนได้
ภ.บ.ท.5 หรือ ใบชำระภาษีบำรุงท้องที่
ภ.บ.ท.5 เป็นใบชำระภาษีบำรุงท้องที่ของผู้ที่อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาแต่เดิม โดยการชำระภาษีเพื่อแลกกับการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แต่จะไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดิน ซึ่งเจ้าของที่ดินนั้นคือรัฐนั่นเองค่ะ ซึ่งจะไม่สามารถซื้อ ขาย หรือโอนให้กันได้ แต่สามารถตกทอดเป็นมรดกให้กับทายาทได้
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับแต่ละประเภทของที่ดิน เพื่อนที่มี นส.3 นส.3 ก หรือ นส.3 ข สามารถนำไปขอออกเป็นโฉนด (นส.4) กันได้นะคะเพื่อจะได้มีกรรมสิทธิ์ในการใช้ที่ดินได้อย่างเต็มที่ คราวหน้าเราจะมีบทความอะไรมาแบ่งปันกันอย่างลืมติดตามกันนะคะ
ติดตามพวกเราได้ที่
Facebook : ThinkofLiving
LINE Official Account : https://lin.ee/svACOxc
โฆษณา