6 มิ.ย. 2021 เวลา 05:46 • ประวัติศาสตร์
ภาพนี้มีเรื่องเล่า ตอน เมื่อฟุตบอลกลายเป็นชนวนสงคราม
Source: Pinterest
ถ้าทุกคนลองสังเกตภาพด้านบนจะเห็นอะไรกันบ้างครับ ทุกคนน่าจะเห็นทหารกลุ่มหนึ่งกำลังเดินสวนสนามอยู่ พร้อมกับเครื่องบินโบราณ 4 ลำกำลังบินผ่านด้านบนของขบวนสวนสนาม และทุกคนดูท่าทางเหมือนกับกำลังเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองอะไรบางอย่าง
ภาพด้านบนไม่ใช่พิธีสวนสนามในงานเฉลิมฉลองอะไรนะครับ แต่เป็นการเตรียมทัพเพื่อเข้าร่วมรบในสงครามสงครามหนึ่ง ซึ่งเป็นสงครามระหว่างประเทศเอล ซัลวาดอร์ กับฮอนดูรัส ทั้งสองเป็นประเทศเล็ก ๆ ในอเมริกากลางที่มีพรมแดนติดต่อกัน และมีความสัมพันธ์กันมาอย่างช้านาน
และสิ่งหนึ่งที่คนในทวีปอเมริกากลางชื่นชอบมากก็คือกีฬาฟุตบอลนั่นเอง เรียกได้ว่าแต่ละประเทศต่างก็เชียร์ทีมของตนเองแบบสุดใจ เพราะฟุตบอลไม่ได้เป็นแค่กีฬา แต่มันคือ “Passion” ที่นำคนทั้งประเทศมาร่วมใจกันเชียร์ทีมของตนเอง โดยเฉพาะในการแข่งขัน World Cup ที่จะจัดทุก ๆ 4 ปี และไม่น่าเชื่อว่าในปี 1969 ความบ้าคลั่งในกีฬาชนิดนี้ จะเป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างประเทศขึ้นได้ วันนี้ Kang’s Journal จะพาทุกคนไปรู้จักกับเรื่องราวของสงครามครั้งนี้กันครับ The Footbal War : เมื่อฟุตบอลกลายเป็นชนวนสงคราม
1
สัญลักษณ์การจัดงาน 1970 World Cup ที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ การแข่งขันที่เป็นหนึ่งในชนวนสงครามในครั้งนี้ (https://wallybrolly.com)
เหตุการณ์ก่อนหน้า
จริง ๆ แล้วสงครามในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากเรื่องของฟุตบอลแต่เพียงอย่างเดียว เพราะประเทศเอล ซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส แม้จะเป็นเพื่อนบ้านกัน แต่ก็เหมือนเพื่อนบ้านทั่วไป ทั้งสองมีเรื่องกระทบกระทั่งกันมาเป็นเวลานานแล้ว
ปัญหาแรกคือทั้งสองประเทศมีกรณีพิพาทดินแดนบางส่วนที่ยังไม่มีการตกลงกันมาเป็นเวลานาน ทั้งบริเวณพรมแดน และบริเวณอ่าว Fonseca ที่มีเกาะ 3 แห่งที่ยังไม่มีความแน่ชัดว่าใครเป็นเจ้าของกันแน่ แต่นี่ก็เป็นเพียงปัญหาเล็ก ๆ เท่านั้น
เกาะในบริเวณอ่าว Fonseca ที่เกิดเป็นกรณีพิพาทดินแดนระหว่างเอล ซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส (Source: https://www.hondurasnews.com/fonseca)
ปัญหาใหญ่ที่แท้จริงเริ่มจากการที่มีผู้อพยพชาวเอล ซัลวาดอร์ เข้าไปตั้งรกรากในฮอนดูรัส เริ่มตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขาดแหล่งทำกินในประเทศตนเอง เพราะเอล ซัลวาดอร์มีพื้นที่เพียง 8,000 ตารางไมล์ แต่มีประชากรมากถึง 3 ล้านคน และที่ดินส่วนใหญ่ก็ถูกจับจองโดยธุรกิจขนาดใหญ่ และผู้มีอันจะกิน ในขณะที่ฮอนดูรัสมีพื้นที่มากถึง 42,300 ตารางไมล์ ประมาณ 5 เท่าของเอล ซัลวาดอร์ แต่กลับมีประชากรเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้น ทำให้ตลอดระยะเวลาเกือบ 70 ปี มีผู้อพยพชาวเอล ซัลวาดอร์ที่ต้องการมีที่ทำกินเป็นของตนเอง เข้าไปพำนักในประเทศฮอนดูรัสมากถึง 300,000 คน คิดเป็นเกือบ 15% ของประชากรทั้งหมดของฮอนดูรัส
1
ฮอนดูรัสมีขนาดใหญ่กว่าเอล ซัลวาดอร์ ถึง 5 เท่า แต่กลับมีประชากรน้อยกว่ามาก (Source: https://alearningfamily.com)
ในช่วงแรก การอพยพย้ายถิ่นของชาวเอล ซัลวาดอร์ อาจจะไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนัก แต่เมื่อเริ่มมีผู้อพยพมากขึ้น หลายคนเริ่มเข้าไปจับจองพื้นที่ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ แล้วเริ่มทำการเกษตรจนกระทั่งกลายเป็นแหล่งทำกินถาวร ในขณะที่หลายคนก็เริ่มเข้าไปทำงานในโรงงานต่าง ๆ และเปิดธุรกิจแข่งกับชาวฮอนดูรัส ทำให้เกิดกระแสต่อต้านผู้อพยพชาวเอล ซัลวาดอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ
ประจวบเหมาะพอดีกับที่รัฐบาลฮอนดูรัสกำลังประสบปัญหาในการบริหารประเทศ เศรษฐกิจฝืดเคือง พรรคการเมืองของประธานาธิบดี Oswaldo López Arellano กำลังโดนโจมตีอย่างหนักเรื่องการโกงการเลือกตั้งและคอรัปชั่น ดังนั้นเพื่อเป็นการดึงความสนใจจากเรื่องทั้งหมด รัฐบาลจึงต้องการหาแพะรับบาป และหลังจากมองไปมองมารอบตัว รัฐบาลจึงตัดสินใจว่าแพะตัวนั้นคือ ผู้อพยพชาวเอล ซัลวาดอร์ ที่กำลังโดนโจมตีว่าเข้ามาแย่งงานของคนฮอนดูรัสนั่นเอง
ประธานาธิบดีของฮอนดูรัส Oswaldo López Arellano ในช่วงสงครามฟุตบอล (Source: https://www.nytimes.com)
อีกประเด็นหนึ่งก็คือประเทศฮอนดูรัสเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อประเทศสหรัฐอเมริกามาก เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกกล้วย ผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของอเมริกา และผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่สุดในประเทศ คือบริษัท United Fruit เจ้าของแบรนด์ Chiquita ผู้จัดจำหน่ายผลไม้รายใหญ่ของอเมริกา โดยทางบริษัทเป็นเจ้าของที่ดินมากถึง 10% ของที่ดินทั้งหมดในฮอนดูรัส
และแน่นอนว่าการอพยพเข้ามาตั้งรกรากของชาวเอล ซัลวาดอร์ย่อมส่งผลกระทบต่อบริษัท United Fruit อย่างแน่นอน ที่ดินมากมายถูกจับจองโดยบรรดาผู้อพยพ ทำให้บริษัทไม่สามารถขยายไร่ของตนเอง เพื่อทำกำไรเพิ่มเติมได้
ตัวอย่างไร่กล้วยของบริษัท United Fruit ซึ่งร่ำรวยจนสามารถสร้างทางรถไฟตัดผ่านเข้ามาในไร่ได้ (Source: https://danialeja7.wordpress.com)
ในปี 1966 บริษัท United Fruit ร่วมมือกับบริษัทรายใหญ่อื่น ๆ จัดตั้งกลุ่ม FENAGH ขึ้น โดยมีจุดประสงค์หลักคือเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิ์ครอบครองที่ดิน และเนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีสองสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำข้อตกลงกับรัฐบาล คือเงินและอิทธิพล FENAGH จึงกลายเป็นองค์กรที่สามารถสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลฮอนดูรัสได้เป็นอย่างดี
1
เริ่มจากปี 1962 ทางรัฐบาลฮอนดูรัสได้มีการปฏิรูปกฎหมายครอบครองที่ดิน และหลังจากการพิจารณาแก้ไขเป็นเวลานาน ในปี 1969 จากแรงกดดันของ FENAGH กฎหมายฉบับนี้จึงถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งเนื้อหาหลักของกฎหมายนี้คือ รัฐบาลมีสิทธิ์ยึดที่ดินทำกินของผู้อพยพชาวเอล ซัลวาดอร์ ที่เข้ามาตั้งรกรากโดย ผิดกฎหมาย ที่ดินเหล่านี้จะถูกยึดกลายมาเป็นที่ดินของรัฐบาล แล้วรัฐบาลก็จะทำการแจกจ่ายที่ดินเหล่านี้ให้กับคนสัญชาติฮอนดูรัสโดยกำเนิดแทน
มองดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่ดีกับชาวฮอนดูรัส แต่ถ้าเรามองลึกลงไปเราจะพบว่าหลังจากยึดที่ดินเหล่านี้แล้ว รัฐบาลก็อาจจะขายที่ดินเหล่านี้ให้กับคนในรัฐบาลเอง ซึ่งก็จะทำกำไรโดยการขายที่ดินเหล่านี้ต่อให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ดังนั้นคนที่ได้รับผลประโยชน์จากกฎหมายนี้เต็ม ๆ ก็คือบริษัท United Fruit และสมาชิกของกลุ่ม FENAGH
บริษัทเจ้าของไร่กล้วย คือหนึ่งในผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการขับไล่ชาวเอล ซัลวาดอร์ (Source: Pinterest)
แน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ชาวเอล ซัลวาดอร์หลายคนที่อยู่ในประเทศฮอนดูรัสมาเป็นเวลานาน กลับกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ในชั่วข้ามคืน และต้องทิ้งธุรกิจ หรือไร่นาที่พวกเขาเคยสร้างมากับมือไว้เบื้องหลังเพื่อเดินทางกลับประเทศ นอกจากนี้คู่แต่งงานชาวเอล ซัลวาดอร์ แลชาวฮอนดูรัส ก็เกิดปัญหาเช่นกัน เพราะสามีภรรยาหลายคู่ต้องเสียที่ดินไป เพราะกฎหมายฉบับนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทำให้รัฐบาลเอล ซัลวาดอร์ ไม่พอใจรัฐบาลฮอนดูรัสเป็นอย่างมาก การกระทำเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการดูถูกและทำร้ายประชาชนชาวเอล ซัลวาดอร์ ความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศเริ่มที่จะปะทุขึ้น เป็นเหมือนกับระเบิดเวลา ที่รอเหตุการณ์บางอย่างมาดึงสลักนั้นออก
ชาวฮอนดูรัส เริ่มล้อเลียนและขับไล่ชาวเอลซัลวาดอร์ที่อพยพเข้ามาในประเทศของตนเอง หลังจากกฎหมายปฏิรูปที่ดินได้รับการประกาศใช้ (Source: bbc.co.uk)
และแล้วสลักก็ถูกดึง
กลางปี 1969 ประมาณ 2 ปีหลังกฎหมายปฏิรูปที่ดินถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ มีการจัดการแข่งขันคัดเลือกทีมที่จะมีโอกาสเข้าแข่งขันในมหกรรมฟุตบอลโลกในปี 1970 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศเม็กซิโก แน่นอนว่านี่คือการแข่งขันครั้งสำคัญที่จะแสดงถึงศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจของชาติ และประเทศที่บ้ากีฬาฟุตบอลอย่างเอล ซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส ย่อมที่จะหวังว่าทีมของตนเองจะได้มีส่วนร่วมในการแข่งขันครั้งนี้
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ตัวแทนจากเขตแคริบเบียนและอเมริกากลางนั้นจะมีได้เพียง 2 ทีม จาก 14 ประเทศเท่านั้น ซ้ำร้ายเม็กซิโกที่เป็นเจ้าภาพ ก็ได้สิทธิ์ผ่านการคัดเลือกโดยอัตโนมัติ ดังนั้นหมายความว่าเหลือเพียงทีมเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถผ่านเข้าไปแข่งในการแข่งขันจริงได้ และทั้งเอล ซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส ก็ไม่เคยมีโอกาสผ่านรอบคัดเลือกเข้าไปแข่งในการแข่งจริงเลยซักครั้ง
ทีมชาติฮอนดูรัส (Source: https://www.thoughtco.com)
และเหมือนโชคชะตากำหนดไว้ จากการจับฉลากเลือกสายเพื่อแข่งรอบคัดเลือกปรากฏว่าทีมของเอล ซัลวาดอร์ได้อยู่สายเดียวกับทีมของฮอนดูรัสในรอบ Semi-Final ซึ่งหมายความว่าทั้งสองทีมจะต้องพบกันอย่างน้อยสองครั้ง การแข่งฟุตบอลที่มีศักดิ์ศรีของประเทศเป็นเดิมพันกำลังจะเริ่มขึ้นต้นแล้ว
แมทช์แรกที่ทั้งสองต้องพบกันถูกจัดขึ้นที่กรุงเตกูชิกัลปา เมืองหลวงของประเทศฮอนดูรัส ในวันที่ 8 มิถุนายน 1969 คืนก่อนวันแข่งขัน แฟนบอลชาวฮอนดูรัสบุกไปหน้าโรงแรมของนักกีฬาเอล ซัลวาดอร์ แล้วส่งเสียงตะโกนโหวกเหวกโวยวาย บีบแตรรถยนต์ เพื่อรบกวนการพักผ่อน
วันรุ่งขึ้นการต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือด ทั้งสองทีมไม่สามารถยิงประตูได้เลย จนกระทั่งนาทีที่ 89 เพียง 1 นาทีก่อนหมดเวลา Roberto Cardona ตัวยิงประตูของทีมฮอนดูรัส สามารถทำประตูให้กับเจ้าบ้านได้ ทำให้ทีมฮอนดูรัสสามารถเฉือนเอาชนะทีมเอล ซัลวาดอร์ไปได้อย่างหวุดหวิดด้วยคะแนน 1-0
ทีมชาติฮอนดูรัส กับทีมชาติเอล ซัลวาดอร์พบกันในการแข่งขันครั้งแรก และจบลงด้วยการที่ฮอนดูรัสสามารถเอาชนะไปได้ด้วยคะแนน 1-0 (Source: https://www.historyhit.com)
แต่เรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดคือในเอล ซัลวาดอร์ สาวน้อยวัย 18 ปีนามว่า Amelia Bolaños ซึ่งกำลังชมการแข่งขันอยู่ เมื่อ Roberto ยิงประตูได้ เธอเสียใจมาก และเดินไปหยิบปืนของพ่อเธอในลิ้นชัก เล็งที่บริเวณหัวใจของเธอ และเหนี่ยวไกออก ทำให้เธอเสียชีวิตคาที่ทันที
3
ข่าวการฆ่าตัวตายของเธอกลายเป็นข่าวดังไปทั่วเอล ซัลวาดอร์ มีการจัดงานศพให้เธออย่างใหญ่โต ประธานาธิบดีของเอล ซัลวาดอร์ Sanchez Hernandez ก็มาเข้าร่วมในงานศพของเธอด้วย และประชาชนชาวเอล ซัลวาดอร์ก็ยกย่องให้เธอเป็นฮีโร่ของประเทศ
Amelia Bolaños สาวอายุ 18 ปีที่ปลิดชีวิตตนเอง เพราะทีมของตนเองพ่ายแพ้ให้กับทีมชาติฮอนดูรัส (Source: https://www.corriere.it)
ส่วนในฮอนดูรัสนั้นหลังจบการแข่งขัน เกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างแฟนบอลฮอนดูรัส และเอล ซัลวาดอร์ มีการขว้างปาสิ่งของและชกต่อยกันเกิดขึ้น แต่โชคดีที่ตำรวจสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ทันท่วงที
จากนั้นทั้งสองทีมต้องมาเจอกันอีกครั้ง โดยครั้งนี้เอล ซัลวาดอร์เป็นเจ้าบ้าน ฝูงชนชาวเอล ซัลวาเดอร์ต่างเชียร์ทีมของตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะนี่คือแมทช์ล้างตาที่พวกเขาจะต้องชนะให้ได้ ว่ากันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้อง “ซ่อน” ทีมชาติฮอนดูรัสเอาไว้ในสถานที่ลับเลยทีเดียว เพราะกลัวว่าพวกเขาจะได้รับบาดเจ็บ แต่สุดท้ายความลับก็ไม่มีในโลก ทีมชาติฮอนดูรัสถูกป่วนอย่างหนัก มีการขว้างหนูตาย หิน ใส่กระจกโรงแรมจนพวกเขาแทบไม่ได้นอน การมีชูภาพของ Amelia และตะโกนว่า "ฆาตกร ฆาตกร" ตลอดทั้งคืน
1
แต่ที่แย่ที่สุดคือเมื่อเริ่มการแข่งขัน เจ้าภาพเอล ซัลวาดอร์ ชักธงชาติเอล ซัลวาดอร์ขึ้น แต่ธงที่อยู่ด้านข้าง แทนที่จะเป็นธงชาติของฮอนดูรัส กลับเป็นธงสีขาว เปื้อนฝุ่นขาดวิ่น ซึ่งนี่ถือเป็นการดูถูกนักกีฬาทีมเยือนอย่างรุนแรง
1
การแข่งขันเต็มไปด้วยความตื่นเต้น และสุดท้ายทีมชาติเอล ซัลวาดอร์ ก็ไม่ทำให้แฟน ๆ ผิดหวัง เพราะพวกเขาสามารถเอาชนะทีมฮอนดูรัสที่ยังเหนื่อยล้าจากการถูกป่วนในคืนก่อนหน้าไปได้อย่างสวยงามด้วยคะแนน 3-0
1
ทีมชาติฮอนดูรัส กับทีมชาติเอล ซัลวาดอร์พบกันในการแข่งขันครั้งที่สอง และจบลงด้วยเอล ซัลวาดอร์ชนะไปด้วยคะแนน 3-0 (Source: https://false90s.wordpress.com)
ทีมชาติฮอนดูรัสต้องเดินทางพร้อมความพ่ายแพ้กลับประเทศ ด้วยรถบัสกันกระสุนในขณะที่รถของพวกเขาเดินทางผ่านไปตามชนบท รถของพวกเขาถูกขว้างหินใส่จนกระจกหน้าร้าว ซึ่งประธานาธิบดีของเอล ซัลวาดอร์ออกมากล่าวว่าเป็นฝีมือของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครเชื่อ
แน่นอนว่าครั้งนี้แฟนบอลชาวฮอนดูรัสก็ไม่พอใจกับผลการการแข่งขัน เพราะทีมของพวกเขาแพ้อย่างยับเยิน เกิดกระประท้วงผลการแข่งขันขึ้น แต่เรื่องราวกลับไม่จบอยู่แค่ในสนาม
แฟนบอลที่โกรธแค้น เริ่มทำร้ายชาวเอล ซัลวาดอร์ที่อาศัยอยู่ในฮอนดูรัส มีการเผาทำลายร้านค้าและกิจการของชาวเอล ซัลวาดอร์ มีการทุบตี ฆ่า และข่มขืนชาวเอล ซัลวาดอร์หลายราย หลายคนต้องขายที่ดินของตนเองในราคาต่ำกว่าตลาด (ซึ่งรัฐบาลฮอนดูรัสก็รับซื้อและขายต่อโดยได้กำไรมหาศาล) แล้วรีบเก็บของเดินทางกลับประเทศ บางวันมีผู้อพยพกลับเข้าเอล ซัลวาดอร์มากถึง 1400 คนต่อวัน และโดยรวมมีประชาชนที่ย้ายกลับเข้ามาประมาณ 12,000 คน หลังการแข่งขันครั้งที่ 2 นี้ ซึ่งก็สร้างปัญหาให้กับเอล ซัลวาดอร์เช่นกัน เพราะทางรัฐบาลก็ไม่รู้ว่าจะรับมือกับผู้อพยพที่เดินทางกลับมาจำนวนมากอย่างไรดี
ภาพผู้อพยพชาวเอล ซัลวาดอร์ที่หนีตายกลับบ้านเกิดตนเอง หลังเกิดการทำร้ายชาวเอล ซัลวาดอร์เป็นวงกว้าง (Source: bbc.co.uk)
เรื่องทั้งหมดกลายมาเป็นเหมือนกับของเล่นของนักข่าว นักข่าวจากทั้งสองประเทศต่างใส่สีตีไข่ เขียนข่าวกันอย่างเมามันส์ จนทำให้ทุกอย่างดูเกินจริงไปหมด เหมือนเป็นการสุมเชื้อไฟให้กับความโกรธแค้นระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ประเทศเข้าไปอีก
2
ชาวเอล ซัลวาดอร์ในฮอนดูรัส โดนจับมารวมตัวกันเพื่อเตรียมตัวกลับประเทศ (Source: bbc.co.uk)
และในเมื่อต่างฝ่ายต่างชนะ 1 ครั้ง และแพ้ 1 ครั้ง ทำให้ต้องจัดการแข่งขันรอบ Play-Off เพื่อตัดสินว่าใครจะได้เป็นตัวแทนอีกหนึ่งเดียว ที่จะได้ไปเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้
แมทช์แห่งศักดิ์ศรีในครั้งนี้ถูกจัดขึ้นที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ ในวันที่ 27 มิถุนายน 1969 และในวันนั้นก่อนหน้าการแข่งขันไม่นาน รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการฑูตกับประเทศฮอนดูรัส โดยอ้างว่าสิ่งที่ฮอนดูรัสกระทำกับผู้อพยพชาวเอล ซัลวาดอร์นั้น ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ทั้งสองทีมเดินเข้าสนาม พร้อมกับเสียงเชียร์กึกก้องจากกองเชียร์ของทั้งสองฝ่าย แต่ภายใต้เสียงเชียร์อันกระหึ่มนั้น แฝงไปด้วยความตึงเครียดและกดดัน การแข่งขันดำเนินไปอย่างดุเดือด และจบลงด้วยคะแนน 2-2 เมื่อเวลาหมด 90 นาที
ทีมชาติเอลซัลวาดอร์ก่อนเริ่มการแข่งขันที่เม็กซิโก ซิตี้ (Source: bbc.co.uk)
ทั้งสองต้องแข่งต่อในช่วงทดเวลา ประชาชนของทั้งสองประเทศต่างกลั้นหายใจ และลุ้นให้ประเทศตัวเองสามารถทำประตูได้ และแล้วในนาทีที่ 11 Mauricio Rodiguez จากทีมเอล ซัลวาดอร์ เลี้ยงบอลหลบหลีกคู่ต่อสู้เข้าไปในเขตโทษ แล้วทำประตูให้กับทีมเอล ซัลวาดอร์ได้อย่างสวยงาม ส่งผลให้เอลซัลวาดอร์ชนะการแข่งขันครั้งนี้ไปด้วยคะแนน 3-2 และเป็นตัวแทนภูมิภาคเข้าไปแข่งในกีฬาฟุตบอลโลกที่จะจัดขึ้นในปลายปีนั้น
แต่ใครจะไปรู้ว่าประตูแห่งความภาคภูมิใจของ Rogiguez นั้น จะทำให้เกิดสงครามในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา
Mauricio Rodiguez โหม่งลูกเข้าประตู ทำให้เอล ซัลวาดอร์ได้ประตูที่ 2 มาจากการแข่งขันในเม็กซิโก (Source: https://pocketmags.com)
เหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในฮอนดูรัส ทวีความรุนแรงขึ้นทันทีหลังการแข่งขันจบลง ประชาชนชาวเอล ซัลวาดอร์ถูกทำร้าย ขับไล่ และยึดพื้นที่ทำกิน จนกระทั่งรัฐบาลเอล ซัลวาดอร์ เห็นว่าคงจะต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว เพื่อปกป้องพลเมืองของตนเอง
ฟางเส้นสุดท้ายเกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 14 กรกฎาคม มีเครื่องบินของฮอนดูรัสสามลำล่วงล้ำเข้ามาในน่านฟ้าของประเทศเอล ซัลวาเดอร์ ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งที่สองของเดือนที่เกิดการรุกล้ำน่านฟ้าขึ้น เอล ซัลวาดอร์จึงตัดสินใจตอบโต้ทันที
ภาพคนเจ็บ ถูกหามส่งโรงพยาบาลเนื่องจากการชกต่อยกันของแฟนบอลหลังการแข่งขัน Play-Off Match ระหว่างทั้งสองประเทศจบลงที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ (Source: https://www.spiegel.de)
สงครามเริ่ม !
ในช่วงบ่ายของวันที่ 14 กรกฎาคม 1969 ทางเอล ซัลวาดอร์เปิดฉากโจมตีทันที เริ่มจากการตัดไฟฟ้าทั้งประเทศเพื่อไม่ให้กองทัพอากาศของฮอนดูรัสสามารถเห็นเป้าหมายตอนเย็นและกลางคืนได้ หลังจากนั้นทางกองทัพเอล ซัลวาดอร์ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด คือนำระเบิดไปผูกไว้กับเครื่องบินลำเลียง และแปลงเครื่องบินลำเลียง เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดชั่วคราว เพื่อไปถล่มฐานทัพอากาศของฮอนดูรัส
1
สงครามของทั้งสองประเทศกลายเป็นพาดหัวข่าวในอเมริกา (Source: Pinterest)
สถานที่แรกในฮอนดูรัสที่โดนโจมตีคือท่าอากาศยานนานาชาติ Toncontin กลางเมืองหลวง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ เครื่องบินรบของกองทัพอากาศฮอนดูรัสจอดอยู่กลางลานจอดโดยไม่มีอะไรป้องกัน และกลายเป็นเป้านิ่งที่กองทัพเอล ซัลวาดอร์น่าจะสามารถจัดการได้ง่าย ๆ ซึ่งสาเหตุที่เอล ซัลวาดอร์ตัดสินใจทำแบบนี้เป็นเพราะว่ากองทัพอากาศฮอนดูรัสมีเครื่องบินมากกว่ากองทัพอากาศเอล ซัลวาดอร์ถึง 2.5 : 1
เครื่องบินลำเลียงแบบ C-47 ที่โดนเปลี่ยนเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด (Source: https://www.dc3dakotahunter.com)
แต่เครื่องบินลำเลียงไม่ได้ถูกสร้างมาให้เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด เพราะวิธีการทิ้งระเบิดคือเครื่องบินจะต้องบินต่ำเหนือสนามบิน แล้วให้คนที่อยู่ในเครื่องบินดันระเบิดลงยังเป้าหมาย
ไม่ต้องบอกก็น่าจะเดาได้ว่าแผนการนี้ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง มีเครื่องบินได้รับความเสียหายเพียงไม่กี่ลำ แถมอาคาร และรันเวย์ก็ไม่ได้รับความเสียหายหนักแต่อย่างใด ดังนั้นแม้ทางกองทัพฮอนดูรัสจะโดนโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัว ความเสียหายก็ไม่ได้มากนัก และกองทัพอากาศฮอนดูรัสก็สามารถตอบโต้ได้อย่างรวดเร็ว
1
สภาพของสนามบิน Toncontin หลังโดนโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัว (Source: https://en.difesaonline.it)
แต่ที่มาพร้อม ๆ กับการโจมตีทางอากาศคือกองทัพบกของเอล ซัลวาดอร์ ก็เริ่มเคลื่อนทัพทันที โดยเน้นการวางกำลังพลที่บริเวณถนนหลัก 2 เส้นที่เชื่อมพรมแดนของทั้งสองประเทศ และแบ่งเขตปฏิบัติการเป็น 3 เขตใหญ่
กองทัพเอล ซัลวาดอร์ ที่บุกฮอนดูรัสพร้อม ๆ กับการโจมตีทางอากาศ (Source: https://aw.my.games/en/news/general/football-war)
เขตปฏิบัติการแรกมีชื่อว่า Chalatenango Theatre อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ในพื้นที่ภูเขาและแม่น้ำ และใช้เป็นที่ตั้งรับในกรณีกองทัพฮอนดูรัสสามารถตีโต้กลับมาได้ เขตปฏิบัติการที่ 2 คือ North Theatre ซึ่งจะประกอบไปด้วยกองกำลังทหารจำนวนมาก และอาวุธหนักเล็กน้อย ส่วนเขตปฏิบัติการหลักคือ เขตปฏิบัติการที่ 3 หรือ The East Theatre ซึ่งจะประกอบไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์หนักมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถหุ้มเกราะ เครื่องปล่อยจรวด และอื่น ๆ อีกมากมาย
ทหารของเอล ซัลวาดอร์ ที่บริเวณพรมแดนเอล ซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส (Source: https://www.abcnyheter.no)
การโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัว ทำให้กองทัพเอล ซัลวาดอร์สามารถคืบคลานเข้ามาในอาณาเขตของฮอนดูรัสได้อย่างง่ายดาย โดยทำการยึดเมืองต่าง ๆ จนเกือบที่จะถึงเมืองหลวงเตกูชิกัลปาร์ ดูเหมือนว่ากองทัพบกของฮอนดูรัสจะไม่สามารถทำการตอบโต้ใดใดได้ทันได้เลย
1
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2 วันหลังเริ่มการโจมตี กองทัพอากาศของฮอนดูรัสส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดไปถล่มฐานทัพอากาศ Ilopango ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองหลวงซาน ซัลวาดอร์ แต่ทางกองทัพของเอล ซัลวาดอร์ ตอบโต้อย่างรวดเร็วด้วยการยิงจรวจสกัดอากาศยาน ทำให้ฐานทัพได้รับความเสียหายไม่มากนัก
เครื่องบินแบบ Corsair ของกองทัพอากาศฮอนดูรัส ที่มีส่วนร่วมในการรบครั้งนี้ (Source: https://www.dc3dakotahunter.com)
แต่สถานที่ที่ไม่มีอาวุธคอยป้องกันอยู่เลยคือโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งของเอล ซัลวาดอร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายการโจมตีของฮอนดูรัส โรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศโดนทิ้งระเบิดแต่โชคดีที่ระเบิดตกใส่เพียงถังเก็บน้ำมันเท่านั้น แต่มีโรงกลั่นน้ำมันเล็ก ๆ และโรงงานอุตสาหกรรมอีกหลายแห่งโดนโจมตีและได้รับความเสียหาย ว่ากันว่าเมื่อปฏิบัติการจบลง ตลอดชายฝั่งของเอล ซัลวาดอร์ เต็มไปด้วยควันสีดำที่เกิดจากไฟที่กำลังลุกไหม้โรงงานต่าง ๆ อยู่
ภาพของโรงงานต่าง ๆ ในเอล ซัลวาดอร์ที่โดนระเบิดถล่ม (Source: https://en.difesaonline.it)
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรมีการพูดถึงคือเรื่องของเครื่องบิน ถ้าเราคิดถึงการต่อสู้กันทางอากาศ ทุกคนอาจจะนึกถึงเครื่องบินรบแบบเครื่องบินเจ็ท บินฉวัดเฉวียนต่อสู้กันไปมา แต่เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นประเทศที่ค่อนข้างยากจน จึงไม่มีประเทศไหนที่มีเครื่องบินรบสมัยใหม่เลย เครื่องบินทุกลำที่ถูกนำมาใช้นั้นเป็นเครื่องบินใบพัดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีอายุประมาณ 20-30 ปีทั้งสิ้น และสงครามครั้งนี้เป็นสงครามครั้งสุดท้ายของโลกที่มีการใช้เครื่องบินแบบนี้มาสู้รบกัน
สงครามฟุตบอลในครั้งนี้ คือสงครามสุดท้ายที่มีการนำเครื่องบินสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาใช้ในการต่อสู้ (Source: Pinterest)
ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ให้ลองคิดว่าในปี 1969 เป็นปีที่ Neil Armstrong กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ไปเหยียบดวงจันทร์ และเป็นปีแรกที่เครื่องบินพลเรือนโบอิ้ง 747 ขึ้นบินเป็นครั้งแรก
และไม่ใช่เพียงเครื่องบินเท่านั้น จริง ๆ แล้วอาวุธยุทโธปกรณ์ของทั้งสองประเทศนั้น เป็นอาวุธโบราณตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งสิ้น ไม่มีรถถังสมัยใหม่ ไม่มีอาวุธทันสมัย และทั้งสองฝ่ายก็มีจำนวนทหารพอพอกันที่ประมาณ 5000 นาย
2
กองทัพของฮอนดูรัส ที่บริเวณชายแดนเอล ซัลวาดอร์ (Source: bbc.co.uk)
หยุดยิง
แม้ว่าจะสามารถตอบโต้ทางอากาศได้ แต่ในภาคพื้นดินนั้น กองทัพของฮอนดูรัสกลับไม่สามารถต้านทานกองทัพของเอล ซัลวาดอร์ที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้กับเมืองหลวงขึ้นเรื่อย ๆ หนังสือพิมพ์ของเอล ซัลวาดอร์ต่างพาดหัวให้กำลังใจกองทัพของตนเอง โดยกล่าวว่าประเทศเอล ซัลวาดอร์ ประเทศเล็ก ๆ ในอเมริกากลาง เป็นเหมือนกับ “อิสราเอลแห่งอเมริกากลาง”
กองทัพฮอนดูรัสเดินเท้า เพื่อไปยังพรมแดนเอล ซัลวาดอร์ (Source: https://www.spiegel.de)
แต่เมื่อสงครามดำเนินไปได้ 3 วัน กระสุนของกองทัพทั้งสองฝั่งก็เริ่มร่อยหรอลง ส่วนการโจมตีคลังน้ำมันของฮอนดูรัสก็เริ่มส่งผลกับเอล ซัลวาดอร์ เพราะน้ำมันสำหรับใช้ในกองทัพเริ่มขาดแคลน กรุงซาน ซัลวาดอร์ต้องโดนตัดไฟทั้งหมดในเวลาค่ำคืนต่อไป และการเคลื่อนตัวของกองทัพเริ่มได้รับการต่อต้านเนื่องจากทางกัวเตมาลา เริ่มส่งอาวุธมาเพื่อช่วยเหลือฮอนดูรัส
ทั้งสองประเทศพยายามขอความช่วยเหลือขาใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ได้รับการปฏิเสธทั้งคู่ จนสุดท้ายฮอนดูรัสต้องขอความช่วยเหลือจากองค์กร OAS (Organization of American States) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อความร่วมมือของประเทศในทวีปอเมริกาให้เข้าแทรกแซง และเจรจาสงบศึก
1
OAS (Organization of American States) องค์กรที่เข้ามาจัดการเจรจาเพื่อยุติสงคราม (Source: https://www.weefmgrenada.com)
หลังจากการยื่นข้อเสนอของทาง OAS ทางรัฐบาลเอล ซัลวาดอร์ให้การปฏิเสธ โดยยื่นยันว่าจะยอมสงบศึกก็ต่อเมื่อทางรัฐบาลฮอนดูรัสจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้อพยพชาวเอล ซัลวาดอร์ที่ถูกขับไล่ และให้ฮอนดูรัสการันตีความปลอดภัยของประชาชนเอล ซัลวาดอร์ที่ยังคงอาศัยอยู่ในฮอนดูรัส
คืนวันที่ 18 กรกฎาคม ด้วยความช่วยเหลือของ OAS ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะหยุดยิง โดยมีข้อกำหนดว่าทางเอล ซัลวาดอร์จะต้องถอนกองทัพออกจากฮอนดูรัสภายในเวลา 72 ชั่วโมง (ในตอนนั้นไม่มีกองทัพของฮอนดูรัสในดินแดนของเอล ซัลวาดอร์เลย) ซึ่งหลังจากการเจรจา เส้นตายถูกเลื่อนออกไปเป็น 96 ชั่วโมง
ผู้เสียชีวิตชาวฮอนดูรัส (Source: https://thesefootballtimes.co)
ในช่วงเวลา 96 ชั่วโมงนั้น เกิดความแตกแยกในกลุ่มนักการเมืองของเอล ซัลวาดอร์ว่าจะถอนกำลังหรือไม่ จนสุดท้ายทางประธานาธิบดีของเอล ซัลวาดอร์ Sanchez Hernandez ได้ออกแถลงการณ์ว่า เอล ซัลวาเอร์จะถอนกองทัพก็ต่อเมื่อเขาจะมั่นใจว่า "ประชาชนของเราจะปลอดภัยจากการโจมตีต่าง ๆ ของฮอนดูรัส" และกล่าวต่อว่า “ทำไมคนคนหนึ่งสามารถเดินอยู่บนดวงจันทร์ได้อย่างปลอดภัย ในขณะที่คนอื่นไม่สามารถเดินอยู่ในทุ่งหญ้าของฮอนดูรัสได้อย่างปลอดภัย เพียงเพราะสัญชาติของเขา”
2
ประธานาธิบดีของเอล ซัลวาดอร์ Sanchez Hernandez กำลังตรวจสอบกองทัพที่บริเวณพรมแดนในช่วงสงครามฟุตบอล (Source: https://blog.nationalarchives.gov.uk)
ในตอนแรกเอล ซัลวาดอร์ ยังคงไม่ถอนกำลังออกจากฮอนดูรัสง่าย ๆ จนเส้นตายผ่านไป สุดท้ายองค์กร OAS ต้องเพิ่มแรงกดดันโดยการขู่ว่าสมาชิกของ OAS จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเอล ซัลวาดอร์ และสัญญาว่าจะส่งตัวแทนของ OAS เข้าไปช่วยดูแลความปลอดภัยของชาวเอล ซัลวาดอร์ในฮอนดูรัส ทำให้สุดท้ายในวันที่ 2 สิงหาคม กองกำลังเอล ซัลวาดอร์ จึงเริ่มที่จะทำการถอนตัวออก
แต่แม้ว่าสงครามจะยุติลงแล้ว แต่กว่าที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถทำข้อตกลงสงบศึกอย่างเป็นทางการก็กินเวลาอีกนานกว่า 10 ปีเลยทีเดียว
1
ป้ายบนถนนในเมืองซาน ซัลวาดอร์ ต้อนรับกองทัพเอล ซัลวาดอร์ที่เดินทางกลับประเทศ (Source: https://alchetron.com)
ผลลัพธ์
มาถึงตรงนี้ สังเกตกันหรือไม่ว่าสงครามครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม และจบลงในวันที่ 18 กรกฎาคม ซึ่งนั่นหมายความสงครามทั้งหมดนั้นเริ่มต้นและจบลงภายในระยะเวลาเพียง 4 วัน หรือประมาณ 100 ชั่วโมงเท่านั้น ใช่แล้วครับ สงครามฟุตบอลระหว่างเอล ซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส ถือเป็นหนึ่งในสงครามที่มีระยะเวลาสั้นที่สุดในโลก โดยกินเวลาประมาณ 100 ชั่วโมงเท่านั้น จนกระทั่งได้ฉายาอีกฉายาหนึ่งว่า “สงคราม 100 ชั่วโมง”
1
แต่ภายใน 100 ชั่วโมงนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิต ฝั่งของเอล ซัลวาดอร์มีผู้เสียชีวิตประมาณ 900 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนธรรมดาที่เสียชีวิตจากการโดนทิ้งระเบิด ส่วนผู้อพยพชาวเอล ซัลวาดอร์ในฮอนดูรัสประมาณ 300,000 คนต้องหนีตาย กลับมายังเอล ซัลวาดอร์ ซึ่งทางรัฐบาลก็ไม่ได้มีแผนการอะไรที่จะรองรับการกลับมาของพวกเขา ทำให้หลายคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ตกงาน และต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น ปัญหายาเสพติด การจี้ปล้น และอาชญากรรมพุ่งสูงขึ้น ความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินบานปลาย จนสุดท้ายประมาณ 1 ทศวรรษถัดมาปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองเอล ซัลวาดอร์ที่กินเวลากว่า 10 ปี และมีผู้เสียชีวิตกว่า 70,000 คน
ภาพของทหารฮอนดูรัส กำลังมองไปที่ร่างไร้วิญญาณของทหารเอล ซัลวาดอร์ ที่เสียชีวิตจากการสู้รบในสงคราม 100 ชั่วโมง (Source: https://www.spiegel.de)
ในขณะที่ทางฝั่งฮอนดูรัสก็ต้องเสียทหารไปประมาณ 250 นาย มีประชาชนเสียชีวิตกว่า 2000 คน และอีกหลายพันคนต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย ส่วนบริเวณที่เคยมีชาวเอล ซัลวาดอร์อาศัยอยู่ก็กลายเป็นที่รกร้าง ส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของฮอนดูรัสที่อยู่ ๆ ประชากรกว่า 10% ของประเทศก็หายไป
นอกจากจะตัดความสัมพันธ์ทางการฑูตแล้ว ความสัมพันธ์ทางการค้าก็โดนตัดด้วยเช่นกัน พรมแดนระหว่าง 2 ประเทศถูกปิด ไม่มีการค้าขายหรือขนส่งใดใดระหว่าง 2 ประเทศเป็นเวลาเกือยทศวรรษเลยทีเดียว
ชาวฮอนดูรัสหลายคนต้องกลายเป็นคนไร้บ้านจากสงครามในครั้งนี้ (Source: https://www.spiegel.de)
เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น
1
ในเดือนตุลาคม 1970 การแข่งขันฟุตบอลโลก World Cup ครั้งที่ 9 ถูกจัดขึ้นที่เม็กซิโกซิตี้ และเอล ซัลวาดอร์แข่งแมทช์แรกพบกับเบลเยี่ยม และพ่ายแพ้ไปด้วยคะแนน 3-0 จากนั้นก็พบกับเจ้าภาพเม็กซิโก และสหภาพโซเวียต ซึ่งก็แพ้เช่นกัน เรียกได้ว่าแพ้สามแมทช์รวด และตกรอบไปอย่างรวดเร็ว
การแข่งขันระหว่างทีมเอล ซัลวาดอร์ และเบลเยี่ยม (Source:  https://www.spiegel.de)
11 ปีหลังสงครามครั้งนั้น ในที่สุดผู้นำทั้งสองของประเทศก็ได้มาประชุมกันที่กรุงลิมา ประเทศเปรูในวันที่ 30 ตุลาคม 1980 เพื่อลงนามในข้อตกลง โดยทั้งสองประเทศจะให้ศาลโลกเป็นผู้ตัดสินในกรณีดินแดนที่ยังมีกรณีพิพาทกันอยู่ ซึ่งผลการตัดสินในปี 1992 ปรากฏว่าฮอนดูรัสได้พื้นที่ส่วนใหญ่ไป ในขณะที่เอล ซัลวาดอร์ก็ได้เกาะ 2 แห่งมาครอบครอง
บทสรุป
สงครามฟุตบอล หรือสงคราม 100 ชั่วโมง จริง ๆ แล้วเป็นสงครามที่ดูไม่น่าจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำนะครับ ถ้าหากว่าทั้งสองประเทศมีการพยายามที่จะร่วมมือกันเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาเรื่องของผู้อพยพ ปมความขัดแย้งที่สั่งสมมาเป็นเวลานานตั้งแต่ต้นศตวรรษ สุดท้ายก็มาระเบิดออกด้วยการแข่งขันกีฬาเพียง 2 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นเลยว่าอารมณ์ของมนุษย์นั้น ช่างน่ากลัวนัก
1
บทบาทของสื่อคืออีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ยิ่งบานปลายเข้าไปใหญ่ นักข่าวจากทั้งสองประเทศต่างประโคมข่าวเพื่อเอาใจผู้อ่าน ปลูกฝังความเกลียดชังในตัวผู้คน มีทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม จนสุดท้ายก็แทบจะไม่มีใครคัดค้านการก่อสงครามในครั้งนี้
1
คนที่ได้ประโยชน์จากสงครามครั้งนี้ก็เห็นจะเป็นบริษัท United Fruit และผู้ประกอบการรายใหญ่ต่าง ๆ ที่ตอนนี้พวกเขาสามารถครอบครองที่ดินในฮอนดูรัสได้เพิ่มเติมในราคาถูก ทำให้สามารถขยายไร่ และทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ จากการส่งออกกล้วยบนที่ดินเดิมของชาวเอล ซัลวาดอร์ที่โดนขับไล่ออกไป
1
บรฺิษัท United Fruit ผู้ได้รัยประโยชน์สูงสุดจากสงครามในครั้งนี้ (Source: wikipedia)
และสุดท้ายบทเรียนที่เราควรทราบคือ เมื่อมีสงครามก็ต้องมีผู้เสียชีวิต คนเอล ซัลวาเดอร์ต้องถูกขับไล่ กลายเป็นคนไร้ที่อยู่ จนปัญหาลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่มีผู้เสียชีวิตมากมาย ส่วนชาวฮอนดูรัสมากมายก็ต้องมาเสียชีวิต และความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านกัน ก็ต้องขาดสะบั้นลง และใช้เวลาเป็นทศวรรษกว่าจะกลับมาเยียวยารื้อฟื้นกันได้ใหม่
1
สงครามฟุตบอล สงครามเดียวในประวัติศาสตร์ที่มีฟุตบอลเป็นชนวนสงคราม (Source: https://www.warhistoryonline.com/)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา