8 มิ.ย. 2021 เวลา 03:44 • ประวัติศาสตร์
"ออกญากลาโหมศรีสุริยวงศ์" ขุนนางผู้กระทำรัฐประหารคนแรกที่ครองอำนาจนานที่สุดในกรุงศรีอยุธยา
หากจะกล่าวถึงขุนนางผู้ทำรัฐประหารที่ครองอำนาจนานที่สุดในกรุงศรีอยุธยาในตอนนั้นก็คงหนีไม่พ้นกับบุคคลท่านนี้นั่นก็คือ "ออกญากลาโหมศรีสุริยวงศ์" ซึ่งต่อมาภายหลังก็คือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยานั่นเอง
"พระราชประวัติ"
"สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง" เดิมรับราชการในราชสำนักสมเด็จพระเอกาทศรถ ในตำแหน่งมหาดเล็ก ต่อมาได้มีบรรดาศักดิ์เป็น
"จมื่นศรีสรรักษ์" (ด้วยวัยเพียง ๑๗ ปี) ได้ร่วมกับพระศรีศิลป์ สำเร็จโทษพระศรีเสาวภาคย์ แล้วเชิญพระอินทราชาขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จมื่นศรีสรรักษ์ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระมหาอำมาตย์ และออกญาศรีวรวงศ์ ตามลำดับ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่พวกญี่ปุ่น นำกำลังเข้ามาจะควบคุมพระองค์สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระยาศรีวรวงศ์ก็สามารถปราบปรามลงได้ จึงได้รับความดีความชอบ และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ให้ดูแลรักษาพระเชษฐาธิราช ผู้เป็นพระราชโอรสที่จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา
เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชสืบราชสมบัติต่อมาได้ 4 เดือน มารดาเจ้าพระยากลาโหมถึงแก่กรรม มีข้าราชการใหญ่น้อยไปช่วยงานมาก สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงเชื่อว่าเจ้าพระยากลาโหมเตรียมการจะก่อกบฏ จึงโปรดให้ตั้งกองทหารไว้ แล้วให้ขุนมหามนตรีไปเรียกเจ้าพระยากลาโหมมาดูมวย แต่เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีส่งข่าวไปแจ้งแผนการก่อน เจ้าพระยากลาโหมจึงบอกขุนนางว่า "เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้วเราจะทำตามรับสั่ง" แล้วยกกองกำลังเข้ายึดพระราชวังได้ ส่วนสมเด็จพระเชษฐาธิราชกับข้าหลวงเดิมลงเรือหนีไป เจ้าพระยากลาโหมให้พระยาเดโชและพระยาท้ายน้ำออกติดตามในคืนนั้นจนตามจับได้ที่ป่าโมกน้อย แล้วให้นำไปสำเร็จโทษ
จากนั้นจึงอัญเชิญพระอาทิตยวงศ์ขึ้นสืบราชสมบัติต่อ แต่ผ่านไปได้ประมาณ 6 เดือน เหล่ามุขมนตรีก็เห็นว่าสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ยังทรงพระเยาว์เกินไป ไม่รู้จักว่าราชการจนเสียการแผ่นดินจึงถวายราชสมบัติแก่เจ้าพระยากลาโหมให้ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าปราสาททอง ส่วนในกฎหมายพระธรรมนูญ กรมศักดิ์ ลักษณะอาญาหลวง ออกพระนามว่าสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร แล้วทรงปูนบำเหน็จมากมายแก่ขุนนางที่สวามิภักดิ์ และทรงตั้งพระอนุชาเป็นพระศรีสุธรรมราชา
"ปราบดาภิเศกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์"
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๒ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ แล้วทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่เป็นราชวงศ์ปราสาททอง พระองค์มีพระราชโอรส และพระราชธิดารวมเจ็ดพระองค์
"พระราชกรณียกิจ"
"ด้านการสงคราม"
พระองค์ได้เสด็จยกทัพไปตีเขมร ซึ่งเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา แต่ได้แข็งเมืองมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  ทำให้เขมรกลับมาเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาดังเดิม
ในตอนต้นรัชสมัยของพระองค์ หัวเมืองประเทศราชทางใต้ คิดกบฏยกทัพไปตีเมืองสงขลาและเมืองพัทลุง พระองค์ได้ส่งกองทัพไปปราบปรามได้ราบคาบ แต่ในขณะเดียวกันก็เสียเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองล้านนาแก่พม่า
"ด้านกฎหมาย"
ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการตรากฎหมายที่สำคัญ เช่น พระไอยการลักษณะอุทธรณ์ พระไอยการลักษณะมรดก พระไอยการลักษณะกู้หนี้ และพระธรรมนูญ
"จัดพิธีลบศักราช"
ในปีจุลศักราช ๑๐๐๐ ตรงกับปีขาล (พ.ศ.๒๑๘๑) ซึ่งมีความเชื่อกันว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงถึงขั้นกลียุค พระองค์จึงทรงให้จัดพิธีลบศักราช เปลี่ยนจากปีขาลเป็นปีกุน แล้วแจ้งให้หัวเมืองน้อยใหญ่รวมทั้งเมืองประเทศราช ให้ใช้ปีศักราชตามที่ทางกรุงศรีอยุธยากำหนดขึ้นมาใหม่
"ด้านศาสนา"
ในปี พ.ศ.๒๑๗๕ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พร้อมทั้งหมู่พระราชนิเวศ และวัดชุมพลนิกายาราม ขึ้นที่บางปะอิน อันเป็นสถานที่ประสูติของพระองค์ สำหรับไว้เป็นที่แปรพระราชฐาน
พระองค์มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสถาปนาวัดสำคัญ ๆ หลายวัด เช่น วัดไชยวัฒนาราม วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวัดชุมพลนิกายาราม ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดมหาธาตุ และโปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปทรงนมัสการรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี
"ด้านเศรษฐกิจ"
รัชสมัยของพระองค์เป็นยุคที่การค้าทางเรือระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังรุ่งเรือง โดยเฉพาะบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ที่เข้ามารับซื้อของป่า หนังกระเบน ดีบุกและข้าวสาร ต่อมายังได้รับพระราชทานสิทธิ์ขาดในการส่งออกหนังสัตว์ด้วย นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าสเปน โปรตุเกส อินเดีย เปอร์เซีย และอาร์มีเนีย เข้ามาค้าขาย ทำให้การเงินของประเทศมั่งคั่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดรัชกาล
"ด้านสถาปัตยกรรม"
สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างปราสาทนครหลวง พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระตำหนักธารเกษม และพระที่นั่งวิหารสมเด็จ นอกจากนี้ยังโปรดให้ตกแต่งพระตำหนักท่าเจ้าสนุกและสร้างศาลาตามรายทางที่ไปนมัสการพระพุทธบาทเพื่อให้ประชาชนได้พักผ่อนและอาศัย
"ด้านการปกครอง"
สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงปรับการบริหารให้รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยให้เจ้าเมืองต่าง ๆ มาปฏิบัติหน้าที่เข้าเฝ้าที่ศาลาลูกขุนในพระราชวังทุกวัน แล้วส่งผู้รั้งเมืองไปปกครองหัวเมืองแทน นอกจากนี้ยังโปรดให้ตรากฎหมายขึ้นหลายฉบับ เช่น พระไอยการทาส พระไอยการลักษณะมรดก พระไอยการลักษณะกู้หนี้ พระไอยการลักษณะอุทธรณ์ และกฎหมายพระธรรมนูญ อันเป็นรากฐานแห่งกฎหมายตราสามดวง
"พระบรมวงศานุวงศ์"
พระเจ้าปราสาททองมีโอรสธิดารวมกัน 8 พระองค์ เป็นพระโอรส 7 พระองค์ เป็นพระธิดา 1 พระองค์ คือ
พระมเหสีองค์แรก มีพระโอรส 1 พระองค์ คือสมเด็จเจ้าฟ้าไชย
พระราชเทวี องค์ที่ 1 มีพระโอรส 1 พระองค์ และพระธิดา 1 พระองค์ คือสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุวรรณ กรมหลวงโยธาทิพ (พระราชกัลยาณี)
พระราชเทวี องค์ที่ 2 มีพระโอรส 2 พระองค์ คือสมเด็จเจ้าฟ้าอภัยทศ และสมเด็จเจ้าฟ้าน้อย
พระสนม มีพระโอรส 3 พระองค์ คือพระไตรภูวนาถอาทิตยวงศ์ พระองค์ทอง และพระอินทราชา
สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๙ ครองราชย์ได้ ๒๗ ปี
ขอบคุณข้อมูล : Wikipedia / Thailaw
เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย :
"สาระหลากด้าน"
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านนะครับขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านนะครับ ขอบคุณครับ😊🙇"
โฆษณา