25 ก.ค. 2021 เวลา 00:33 • ประวัติศาสตร์
๑๐ พระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการรบมากที่สุด
พระมหากษัตริย์ผู้ที่มีความสามารถในด้านการรบและขึ้นชื่อในเรื่องการรบทัพจับศึกมากที่สุดจะมีพระมหากษัตริย์องค์ใดกันบ้าง วันนี้เรามาดูกัน
๑. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทย พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือ จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทใหญ่บางรัฐ
๒. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เดิมพระองค์เป็นนายทหารในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ต่อมา พ.ศ. 2310 เกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ได้เป็นผู้นำขับไล่ทหารพม่าที่ยึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ในเวลานั้น และได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาอีกเจ็ดเดือนถัดมา
โดยพระองค์ย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงธนบุรี และรวบรวมแผ่นดินซึ่งมีขุนศึกก๊กต่าง ๆ ปกครองให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เช่นเดียวกับการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังทรงฟื้นฟูราชอาณาจักรในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทั้งส่งเสริมกิจการด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา ภายหลังรัฐบาลไทยประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช
๓. สมเด็จพระเอกาทศรถ
สมเด็จพระเอกาทศรถ หรือที่ชาวตะวันตกเรียกขานพระองค์ว่า พระองค์ขาว ตามสีพระวรกาย เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ. 2103  เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชกับพระวิสุทธิกษัตรีย์ เป็นพระอนุชาของพระสุพรรณกัลยาและสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระเอกาทศรถได้ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชออกรบอยู่เสมอจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา จึงทรงสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2
๔. สมเด็จพระไชยราชาธิราช
ในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดสงครามไทยกับพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2081
เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งกรุงหงสาวดีได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน อันเป็นหัวเมืองชายแดนทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงยกทัพไปตีกลับคืนมา ในการทัพครั้งนี้ พระองค์นำทหารอาสาชาวโปรตุเกสไปด้วย อาสาชาวโปรตุเกสมีความชำนาญในการใช้ปืนไฟ และได้เริ่มใช้ปืนไฟ ในการรบเป็นครั้งแรก กองทัพไทยสามารถยึดเมืองเชียงกราน กลับคืนมาได้
๕. สมเด็จพระมหาธรรมราชา
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า มีพระราชบิดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ส่วนพระราชมารดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์สมเด็จพระไชยราชาธิราช สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า พระราชสมภพในปี พ.ศ. 2057 ต่อมาได้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพิเรนทรเทพ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจขวา
เมื่อขุนวรวงศาธิราชและนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์สมคบกันสำเร็จโทษสมเด็จพระยอดฟ้าพระราชโอรสของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เองแล้ว ขุนพิเรนทรเทพได้ร่วมกับขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา (ในราชการ) และหลวงศรียศ ปรึกษากันว่าแผ่นดินเป็นทุรยศ ควรจับขุนวรวงศาธิราชไปประหารชีวิตเสีย
ครั้นต่อมาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงตั้งขุนพิเรนทรเทพเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ครองเมืองพิษณุโลก ตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระสวัสดิราชธิดาเป็นพระวิสุทธิกษัตรีย์ ให้เป็นพระอัครมเหสี และพระราชทานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค มีอำนาจตั้งตำแหน่งบรรดาศักดิ์ฝ่ายทหารพลเรือนในเมืองพิษณุโลก และเรือชัยพื้นดำพื้นแดงคู่หนึ่ง เมื่อประทับ ณ เมืองพิษณุโลกนั้น พระวิสุทธิกษัตรีย์ได้มีประสูติกาลพระราชโอรสธิดาตามลำดับคือ พระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ
ถึงปี พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเห็นว่าครั้งนี้ทัพหงสาวดีมากจนเหลือกำลังจะต้านทานได้ ในวันอาทิตย์ แรม 5 ค่ำ เดือน 2 จึงทรงยอมแพ้ พระเจ้าบุเรงนองจึงรับสั่งให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาจัดทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาร่วมกับพระองค์ สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็จัดพล 30,000 ไปกับทัพพระเจ้าบุเรงนอง จนกระทั่งเสียกรุงในปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนองจึงถอดสมเด็จพระมหินทราธิราชจากราชสมบัติ แล้วราชาภิเษกสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าให้ครองกรุงศรีอยุธยาแทน มีราชทินนามว่า สมเด็จพระเจ้าสรรเพชญวงศ์กุรสุริโคดม บรมราชาธิราชราเมศ ปริเวทธรรมิกราช เดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรเทพสมมติราชบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว
ในรัชสมัยของพระองค์ สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระยาละแวก) ได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาถึง 2 ครั้ง แต่ทรงป้องกันพระนครไว้ได้ และได้โปรดให้ขุดขยายคูเมืองด้านตะวันออกของเกาะเมืองให้กว้างขึ้น สร้างป้อมมหาชัย และสร้างพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช (สมเด็จพระนเรศวร)
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชประชวรและเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2133 สิริพระชนมพรรษา 76 พรรษา ครองราชย์ได้ 22 ปี
๖. สมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพระยา)
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 7 แห่งอาณาจักรอยุธยา ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1967 - พ.ศ. 1991​
พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถในการปกครอง และการรบ ดังจะเห็นได้จากกรณีการตีอาณาจักรล้านนาและประเทศกัมพูชา นับเป็นการขยายพระราชอาณาเขตของ อาณาจักรอยุธยาตอนต้นอย่างเป็นรูปธรรม
(ด้านราชการสงคราม)
"การศึกกับเขมร"
ปี พ.ศ. 1974 สมเด็จพระบรมราชาธิราชได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองนครหลวง (นครธม) ในรัชสมัยพระธรรมาโศกราชได้ แล้วโปรดให้พระนครอินท์เจ้า พระราชโอรสไปครองเมืองนครหลวงแทนในฐานะเมืองประเทศราช แล้วให้นำพระยาแก้วพระยาไท พร้อมทั้งพระประยูรญาติ เหล่าขุนนาง กับทั้งรูปหล่อพระโคสิงห์สัตว์ต่าง ๆ กลับมากรุงศรีอยุธยาด้วย ทำให้อิทธิพลของเขมรในด้านการปกครอง ประเพณี ตลอดจนงานศิลปะมาปรากฏชัดในอยุธยา ต่อมาพระองค์ได้แต่งตั้งพระอินทราชา (พระนครอินทร์) อยู่ครองกรุงนครธม แต่พระอินทราชาอยู่ปกครองกรุงกัมพูชาได้ไม่นานเท่าใดก็ประชวร สิ้นพระชนม์ พระองค์จึงทรงแต่งตั้งเจ้าพญาแพรกครองแทน
"การศึกกับล้านนา"
ในปี พ.ศ. 1985 พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้รบกับท้าวช้อยผู้เป็นพระอนุชา ท้าวช้อยแพ้หนีไปอยู่เมืองเทิง(อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย) เจ้าเมืองเทิงได้มาขอสวามิภักดิ์กับกรุงศรีอยุธยาและขอให้ส่งกองทัพไปช่วยรบ สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ของอาณาจักรล้านนาแต่ก็ตีไม่สำเร็จประกอบกับทรงพระประชวรจึงทรงยกกองทัพกลับกรุงศรีอยุธยา
ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 1987 ทรงตั้งทัพหลวงที่ตำบลปะทายเขษม ครั้งนี้ได้หัวเมืองชายแดนของเชียงใหม่กับเชลยอีก 120,000 คน จึงยกทัพหลวงกลับพระนคร แต่ศึกครั้งนี้ไม่ปรากฏในหลักฐานฝ่ายล้านนา ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ กล่าวเพียงแค่เสด็จไปปราบพรรค ตั้งทัพหลวงที่ตำบลปะทายเขษม ได้เชลย 120,000 คน เท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับปลีกหมายเลข 223,2/ก.125 กล่าวว่า เจ้าอยาด บุตรพระรามเจ้า (พระรามาธิบดี (คำขัด)) ที่ถูกส่งไปอยู่จัตุรมุข (พนมเปญ) นั้น ได้ก่อกบฏต่อพระอินทราชา ชักชวนชาวเขมรให้แข็งเมืองขึ้นจนใหญ่โตเป็นมหาพรรค พระอินทราชายกทัพไปตีเจ้าอยาดแตกพ่าย จับเจ้าอยาดส่งไปกรุงศรีอยุธยา แต่ขุนนครไชยกลับแอบปล่อยตัวให้เจ้าอยาดหนีไป เจ้าอยาดเลยระดมกองทัพมหาพรรคชาวเขมรขึ้นใหม่ ในขณะนั้นพระอินทราชาเกิดประชวรสวรรคต เจ้าสามพระยาจึงส่งเจ้าพระยาแพรก ราชบุตรอีกองค์ไปครองพระนครธม และยกทัพใหญ่เข้ามายังกัมพูชาเพื่อปราบพรรคในปี พ.ศ. 1987 จึงน่าจะเป็นเหตุการณ์นี้มากกว่าสงครามกับล้านนา และเมื่อพิจารณาจากชื่อสถานที่ตั้งทัพคือปะทายเขษม คำว่าปะทายน่าจะเพี้ยนมาจากภาษาเขมรคือ บันทาย (បន្ទាយ) ซึ่งมักพบเป็นชื่อสถานที่หรือชื่อเมืองในกัมพูชา
๗. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชท่านทรงมีฝีมือในด้านการรบเป็นอย่างมาก พระองค์ได้ทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางไพศาล คือ
ทิศตะวันออก ทรงปราบได้เมืองสรหลวงสองแคว (พิษณุโลก), ลุมบาจาย, สะค้า (สองเมืองหลังนี้อาจอยู่แถวลุ่มแม่น้ำน่านหรือแควป่าสักก็ได้), ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงเวียงจันทน์และเวียงคำในประเทศลาว
ทิศใต้ ทรงปราบได้คนที (บ้านโคน จังหวัดกำแพงเพชร), พระบาง (นครสวรรค์), แพรก (ชัยนาท), สุพรรณภูมิ, ราชบุรี, เพชรบุรี, และนครศรีธรรมราช โดยมีฝั่งทะเลสมุทร (มหาสมุทร) เป็นเขตแดนไทย
ทิศตะวันตก ทรงปราบได้เมืองฉอด,มีสมุทรเป็นเขตแดนไทย
ทิศเหนือ ทรงปราบได้เมืองแพร่, เมืองน่าน, เมืองพลัว (อำเภอปัว น่าน), ข้ามฝั่งโขงไปถึงเมืองชวา (หลวงพระบาง) เป็นเขตแดนไทย
๘. พ่อขุนเม็งรายมหาราช
พระองค์เป็นปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรล้านนา
(พระปรีชาสามารถด้านการสงคราม)
"การตีหริภุญไชย"
พญามังรายมีพระราชประสงค์จะได้เมืองหริภุญไชย (ในจังหวัดลำพูนปัจจุบัน) เพราะเป็นเมืองมั่งคั่ง เป็นศูนย์การค้าระหว่างประเทศ ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีทางน้ำติดต่อถึงเมืองละโว้และเมืองอโยธยาด้วยทรงวางแผนให้ข้าหลวงคนหนึ่งชื่อ อ้ายฟ้า เข้าไปเป็นไส้ศึกในเมืองหริภุญไชย ขณะนั้น พญาญี่บาครองเมืองหริภุญไชย ทำให้ชาวหริภุญไชยไม่พอใจพญาญี่บา โดยเกณฑ์ไปขุดเหมืองในฤดูร้อนเพื่อถ่ายแม่น้ำปิงมาสู่แม่น้ำกวงเป็นระยะทาง 36 กิโลเมตร ปัจจุบัน เหมืองดังกล่าวยังมีอยู่และยังใช้การได้ นอกจากนี้ อ้ายฟ้ายังให้ตัดไม้ซุงลากผ่านที่นาของชาวบ้านในฤดูทำนา ทำให้ข้าวเสียหาย โดยอ้ายฟ้าแจ้งว่า พญาญี่บาจะทรงสร้างพระราชวังใหม่ อ้ายฟ้าบ่อนทำลายเมืองหริภุญไชยอยู่นานเกือบ 7 ปี เป็นเหตุให้ชาวหริภุญไชยเอาใจออกหากพญาญี่บา เมื่อพญามังรายทรงนำกองทัพมาล้อม จึงทรงได้เมืองไปโดยง่ายใน พ.ศ. 1824แต่ชินกาลมาลีปกรณ์ว่าเป็น พ.ศ. 1835
"การสร้างเชียงใหม่"
เมื่อพญามังรายทรงได้เมืองหริภุญไชยแล้ว ขุนคราม พระราชบุตรพระองค์ที่ 2 ของพญามังราย ก็ตีนครเขลางค์ (ในจังหวัดลำปางปัจจุบัน) ได้ใน พ.ศ. 1839 ในปีนั้นเอง พญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น พระราชทานนามว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"
อาณาเขตของพญามังรายนั้น ปรากฏว่า ทางเหนือถึงเชียงรุ่งและเชียงตุง ทางตะวันออกถึงแม่น้ำโขง แต่ไม่รวมเมืองพะเยา, เมืองน่าน, และเมืองแพร่ ทางใต้ถึงนครเขลางค์ และทางตะวันตกถึงอาณาจักรพุกาม (พม่าและมอญ)
"การตีพุกาม"
พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ว่า ใน พ.ศ. 1833 อาณาจักรพุกามขอเป็นเมืองขึ้นของพระองค์ พญามังรายจึงเสด็จไปเยือนพุกาม และเมื่อนิวัติ ก็ทรงนำช่างฆ้อง ช่างหล่อ ช่างเหล็ก และช่างฝีมืออื่น ๆ กลับมาด้วย แล้วก็โปรดให้ช่างทองไปประจำที่เมืองเชียงตุง แต่เรื่องดังกล่าวไม่ปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์ และประเสริฐ ณ นคร เห็นว่า ถ้าเกิดขึ้นจริง ควรเป็น พ.ศ. 1843 มากกว่า พ.ศ. 1833 เพราะมอญอยู่ในอาณัติของพ่อขุนรามคำแหงกรุงสุโขทัยซึ่งสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 1841 มอญจะแยกตัวไปขึ้นเมืองใหม่ได้ก็ควรหลัง พ.ศ. 1841
นอกจากนี้ บันทึกของจีนและไทลื้อระบุว่า พญามังรายทรงเคยยกรี้พลไปตีเมืองเชียงรุ่งและอาณาจักรพุกามบางส่วนใน พ.ศ. 1840 และสิบสองพันนาใน พ.ศ. 1844 ทั้งกล่าวว่า จีนเคยยกลงมาตีอาณาจักรล้านนาแต่พ่ายแพ้กลับไปด้วย
๙. สมเด็จพระเจ้าติโลกราช
พระเจ้าติโลกราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังรายพระองค์ที่ 9 ครองราชย์ พ.ศ. 1985–2030 พระนามเดิมคือ "เจ้าลก" เนื่องจากเป็นพระโอรสองค์ที่ 6 ในพญาสามฝั่งแกน
พระเจ้าติโลกราชทรงสร้างความมั่นคงภายในอาณาจักรล้านนาในช่วง 45 ปี (พ.ศ. 1985–2030) อาณาจักรล้านนาจึงมีความเข้มแข็ง สามารถยึดได้เมืองน่าน เมืองแพร่ จากนั้นจึงขยายอำนาจลงสู่ทางใต้ ทรงทำสงครามกับอยุธยาในสมัยพระเจ้าสามพระยาและสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถติดต่อกัน ในช่วงเวลา 24 ปี เริ่ม พ.ศ. 1994 พระยายุทธิษเฐียรเจ้าเมืองพิษณุโลกเข้าสวามิภักดิ์ ต่อพระเจ้าติโลกราชและร่วมกันตีได้เมืองปากยม (พิจิตรตอนใต้) จากนั้นใน พ.ศ. 2003 พระยาเชลียงก็เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช ในปีต่อมาพระยาเชลียงนำพระเจ้าติโลกราชมาตีเมืองพิษณุโลกและเมืองกำแพงเพชร แต่ไม่สำเร็จ
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแก้ไขการขยายอำนาจของพระเจ้าติโลกราช โดยเสด็จขึ้นมาครองเมืองพิษณุโลกใน พ.ศ. 2006 ในการทำสงครามกับล้านนา นอกจากใช้กำลังทหารโดยตรงแล้วทางอยุธยายังใช้พิธีสงฆ์และไสยศาสตร์ด้วย กล่าวคือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อทรงออกผนวชใน พ.ศ. 2008 ก็ได้ทรงขอเครื่องสมณบริขารจากพระเจ้าติโลกราช และระหว่างที่ผนวชก็ทรงขอบิณฑบาตเมืองเชลียงคืน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนการใช้ไสยศาสตร์ก็ได้ส่งพระเถระชาวพม่ามาทำลายต้นนิโครธ (ต้นไทร) ซึ่งเป็นไม้ศรีเมืองณ แจ่งศรีภูมิ ด้วยความเชื่อทางไสยศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2017 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยึดเมืองเชลียงกลับคืนได้ และ พ.ศ. 2018 อยุธยาและล้านนาก็ทำไมตรีต่อกัน
อำนาจของพระเจ้าติโลกราชด้นตะวันออกตีได้เมืองน่านเป็นเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกจรดกับเมืองหลวงพระบาง ซึ่งพระเจ้าติโลกราชได้ร่วมมือกับกองทัพจากเมืองหลวงพระบางเพื่อต่อต้านและขับไล่กองทัพไดเวียด ซึ่งทำสงครามขยายอิทธิพลรุกรานหลวงพระบางในปี พ.ศ. 2023 ซึ่งก่อนหน้านั้นหลวงพระบางถูกกองทัพไดเวียดโจมตีและรุกราน กองทัพล้านนาไปร่วมรบตอบโต้จนแม่ทัพล้านช้างสามารถขับไล่แม่ทัพฝ่ายไดเวียดพ่ายกลับไปซึ่งแม่ทัพไดเวียดหนีไปได้แต่ต่อมาไม่นานกลับถูกฟ้าผ่าจนถึงแก่อนิจกรรมในแดนแกว ทำให้ยุคนี้ล้านนากับล้านช้างเริ่มสานสัมพันธ์เป็นพันธมิตรที่หนี่ยวแน่นเป็นครั้งแรก ซึ่งส่งผลให้ยุคหลังเมื่อล้านนาถูกไทใหญ่และพม่ารุกรานยึดเมืองหลวงอย่างเชียงใหม่ พระเจ้ากรุงล้านช้างก็จะไปช่วยล้านนาต่อต้านขับไล่ออกไปจนสำเร็จ ส่วนอำนาจอาณาเขตด้านตะวันตกขยายออกไปถึงรัฐฉาน ได้เมืองไลคา เมืองนาย เมืองสีป้อ เมืองยองห้วย เป็นต้น พระเจ้าติโลกราชได้กวาดต้อนครัวเงี้ยวเข้ามาใว้ในล้านนาถึงหมื่นคนเศษ ด้านเหนือตีได้เมืองเชียงรุ่ง เมืองยอง และได้กวาดชาวลื้อ บ้านปุ๋ง เมืองยองมาไว้ที่ลำพูน
๑๐. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 1 ในราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน 4 แรม 5 ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก เวลา 3 ยาม ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 (นับแบบปัจจุบัน พ.ศ. 2280) ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะมีพระชนมายุได้ 45 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ ทรงเป็นผู้นำทัพในการทำสงครามกับพม่าทั้งหมด 7 ครั้งในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่
- สงครามครั้งที่ 1 พ.ศ. 2327 สงครามเก้าทัพ
สงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างไทยกับพม่าส่งคือ สงครามเก้าทัพ โดยในครั้งนั้นพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์อลองพญาของพม่า มีพระประสงค์จะเพิ่มพูนพระเกียรติยศและชื่อเสียงให้ขจรขจายด้วยการกำราบอาณาจักรสยาม จึงรวบรวมไพร่พลถึง 144,000 คน กรีธาทัพจะเข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งเป็น 9 ทัพใหญ่ เข้าตีจากกรอบทิศทาง ส่วนทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีกำลังเพียงครึ่งหนึ่งของทหารพม่าคือมีเพียง 70,000 คนเศษเท่านั้น
ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงคราม ได้ทรงให้ทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทไปสกัดทัพพม่าที่บริเวณทุ่งลาดหญ้า ทำให้พม่าต้องชะงักติดอยู่บริเวณช่องเขา แล้วทรงสั่งให้จัดทัพแบบกองโจรออกปล้นสะดม จนทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหาร เมื่อทัพพม่าบริเวณทุ่งลาดหญ้าแตกพ่ายไปแล้วสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพไปช่วยทางอื่น และได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้
- สงครามครั้งที่ 2 พ.ศ. 2329 สงครามท่าดินแดงและสามสบ
ในสงครามครั้งนี้ ทัพพม่าเตรียมเสบียงอาหารและเส้นทางเดินทัพอย่างดีที่สุด โดยแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ จากศึกครั้งก่อน โดยพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ มาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงและสามสบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงยกทัพหลวงเข้าตีพม่าที่ค่ายดินแดงพร้อมกับให้ทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ หลังจากรบกันได้ 3 วันค่ายพม่าก็แตกพ่ายไปทุกค่าย และพระองค์ยังได้ทำสงครามขับไล่อิทธิพลของพม่าได้โดยเด็ดขาด และตีหัวเมืองต่าง ๆ ขยายราชอาณาเขต ทำให้ราชอาณาจักรสยามมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ดินแดนล้านนา ไทใหญ่ สิบสองปันนา หลวงพระบาง เวียงจันทน์ เขมร และด้านทิศใต้ไปจนถึงเมืองกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และเปรัก
สงครามครั้งที่ 3 พ.ศ. 2330 สงครามตีเมืองลำปางและเมืองป่าซาง
หลังจากที่พม่าพ่ายแพ้แก่สยาม ก็ส่งผลทำให้เมืองขึ้นทั้งหลายของพม่า เช่น เมืองเชียงรุ้งและเชียงตุง เกิดกระด้างกระเดื่อง ตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้าปดุงจึงสั่งให้ยกทัพมาปราบปราม รวมถึงเข้าตีลำปางและป่าซาง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทราบเรื่องจึงสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล 6,000 นาย มาช่วยเหลือและขับไล่พม่าไปเป็นผลสำเร็จ
- สงครามครั้งที่ 4 พ.ศ. 2330 สงครามตีเมืองทวาย
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เกณฑ์ไพร่พล 20,000 นาย ยกทัพไปตีเมืองทวาย แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีการรบพุ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร รี้พลก็บาดเจ็บจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพ
สงครามครั้งที่ 5 พ.ศ. 2336 สงครามตีเมืองพม่า
ในครั้งนั้นเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้เข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ยกทัพไปช่วยป้องกันเมือง แต่เมื่อพระเจ้าปดุงยกทัพมาปราบปรามเมืองทั้งสามก็หันกลับเข้ากับทางพม่าอีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพฯ
สงครามครั้งที่ 6 พ.ศ. 2340 สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่
เนื่องจากสงครามในครั้งก่อน ๆ พระเจ้าปดุงไม่สามารถตีหัวเมืองล้านนาได้ จึงทรงรับสั่งไพร่พล 55,000 นาย ยกทัพมาอีกครั้งโดยแบ่งเป็น 7 ทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล 20,000 นาย ขึ้นไปรวมไพร่พลกับทางเหนือเป็น 40,000 นาย ระดมตีค่ายพม่าเพียงวันเดียวเท่านั้นทัพพม่าก็แตกพ่ายยับเยิน
- สงครามครั้งที่ 7 พ.ศ. 2346 สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2
ในครั้งนั้นพระเจ้ากาวิละได้ยกทัพไปตีเมืองสาด หัวเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าปดุงจึงยกทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่เพื่อแก้แค้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือ และสงครามครั้งนี้ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายไทย
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านนะครับขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านนะครับ ขอบคุณครับ😊🙇
ขอบคุณข้อมูล : Wikipedia
"เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย : "สาระหลากด้าน"
โฆษณา