รู้จัก ‘พี่จี๊ป’ Jeep Kline คนไทยใน Silicon Valley ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์การทำงานในองค์กรระดับโลกอย่าง World Bank และ Intel ไปจนถึงการร่วมเป็นทีมก่อตั้ง Venture Capital เป็นของตัวเอง
.
เธอเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรระดับโลกได้อย่างไร?
ข้ามสายงานอย่างไรให้เวิร์ก?
การจะประสบความสำเร็จในฐานะชาวต่างชาติได้ต้องมีคุณสมบัติอะไร?
ติดตามได้ที่นี่
.
.
#รู้จักพี่จี๊ป
.
พี่จี๊ปเกิดและโตในเมืองไทย เธอเรียนจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เส้นทางการเป็นคนไทยในอเมริกาเริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัย Michigan โดยมีเป้าหมายในใจว่าอยากทำงานที่ World Bank เนื่องจากเรียนด้านเศรษฐศาสตร์มาโดยตรงและอยากทำสิ่งที่สามารถสร้างอิมแพคในสเกลระดับโลกและได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา
.
แน่นอนว่าไม่ใช่เป้าหมายที่ทำสำเร็จกันง่ายๆ ถึงแม้มหาวิทยาลัยที่เธอจบมาจะถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้า แต่เพราะ World Bank เป็นองค์กรระดับโลก การแข่งขันจึงยิ่งสูงขึ้นไปอีก โดยคนส่วนใหญ่ที่ได้เข้าไปทำงานมักจะเรียนจบระดับปริญญาเอกจากเครือ Ivy League แต่ถึงเธอจะไม่มีข้อได้เปรียบตรงนี้ เธอก็มั่นใจว่าเธอสามารถทำหน้าที่นักเศรษฐศาสตร์ได้ เธอจึงไล่ติดต่อนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานใน World Bank รวมๆ กว่า 50 คนผ่านทางอีเมลและโทรศัพท์เพื่อพิชต์ตัวเองให้นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ฟังจนในที่สุดก็มีหนึ่งคนที่ตอบรับเธอเข้าทำงานใน World Bank
.
.
#ประสบการณ์ที่ธนาคารโลก
.
เมื่อเธอได้เข้ามาทำงาน เธอก็พิสูจน์ว่าเธอสามารถทำงานนี้ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องดังที่เธอพูดไว้ได้จริงๆ พี่จี๊ปมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังหลายแห่งรวมถึงแอฟริกา ยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา และเอเชีย นอกจากได้ทำงานที่มีอิมแพคสมใจเธอยังได้เรียนรู้จากนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกหลายท่านที่มาบรรยายที่ World Bank ทุกอย่างตอบโจทย์ที่พี่จี๊ปต้องการจนเคยมีความคิดว่า “เข้ามาแล้วไม่มีวันออกแน่”
.
.
#เส้นทางสายเทคฯ
.
ทว่า พี่จี๊ปเป็นคนช่างสงสัยโดยธรรมชาติ ช่วงที่ไปเยือนแอฟริกาและได้เห็นเทคโนโลยีชำระเงินผ่านโทรศัพท์ธรรมดาๆ ในยุคที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟนอย่างในปัจจุบันทำให้เธอตั้งข้อสังเกตว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะต้องกลายเป็นสิ่งสำคัญแน่นอน เธอจึงตัดสินใจลาออกจาก World Bank และไปต่อกับการหางานใหม่ใน Silicon Valley โดยระหว่างทางเธอได้เรียน MBA ที่ UC Berkeley เป็นปริญญาโทใบอีกหนึ่งใบ และได้ร่วมงานกับ Intel ผ่านโครงการ Rotational Accelerated Leadership Program ซึ่งเป็นโครงการที่ Intel จะมาเกณฑ์นักเรียนจากมหาวิทยาลัยท็อปสิบจำนวน 15 คน
.
การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้พี่จี๊ปได้ทำงานใกล้ชิดกับ C-level executives ของ Intel ซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลใน Silicon Valley พอสมควร หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าชื่อของ Silicon Valley และ Intel มีส่วนเกี่ยวเนื่องกัน โดยซิลิคอน (Silicon) นั้นเป็นส่วนประกอบของ Microprocessor และเจ้าแรกๆ ที่ผลิต Microprocessor ก็คือ Intel นั่นเอง เรียกได้ว่าพี่จี๊ปมีโอกาสได้เรียนรู้จาก ‘ที่สุด’ ของฝั่งเทคฯ เลยก็ว่าได้
.
ช่วงทำงานให้ Intel พี่จี๊ปมีส่วนช่วยสร้างโปรดักต์ที่เธอมองว่ามาได้ถูกเวลาๆ มากๆ อย่าง ‘แท็บเล็ต’ ตั้งแต่ต้นจนจบ เธอช่วยเขียนแพลนการทำงาน ช่วยพิทช์เพื่อระดมทุน สร้างโปรดักต์ตัวต้นแบบกับวิศวกร ไปจนถึงการปล่อยโปรดักต์สู่ตลาดทั่วโลกจนสามารถทำเงินเข้าบริษัทได้ไม่น้อย
.
.
#ปรับตัวจากสายเศรษฐศาสตร์ไปสายเทคอย่างไร
.
การได้มาทำงานร่วมกับคนที่มีพื้นเพหลากหลายใน Intel ทำให้เธอเห็นว่าทุกคนก็มีจุดแข็งและจุดอ่อนเป็นของตัวเอง พี่จี๊ปจึงมองว่าสิ่งสำคัญของการปรับตัวไปทำงานข้ามสายคือการรู้จักใช้จุดแข็งที่ตัวเองมีให้เป็นประโยชน์ อย่างกรณีของพี่จี๊ปเองที่ไม่มองว่าการมีพื้นเพการทำงานไม่ตรงสายเป็นข้อด้อย แต่มองว่าเป็นการนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ที่คนในทีมอาจนึกไม่ถึง เช่น โปรเจกต์แท็บเล็ตที่ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเธอมีประสบการณ์การทำงานในตลาดเกิดใหม่ช่วงที่ทำงานที่ World Bank มาก่อน พี่จี๊ปจึงสามารถโน้มน้าวผู้บริหารได้ว่าแท็บเล็ตไม่ควรมีราคาแพงเพื่อเจาะตลาดกลุ่มนี้ ถึงแม้คู่แข่งอย่าง Ipad ของ Apple จะมีราคาสูงก็ตาม
.
.
#จาก
.
เมื่อความสามารถเป็นที่ประจักษ์ ก็คงไม่น่าแปลกใจเท่าไรถ้าจะมีคนอยากดึงตัวไปร่วมงาน หลังจากสร้างความสำเร็จให้กับ Intel ก็มี บริษัทสตาร์ทอัปแห่งหนึ่งติดต่อให้พี่จี๊ปมาทำตำแหน่ง COO (Chief Operating Officer) ด้วยกัน ด้วยตำแหน่งงานที่จัดว่าเป็นตำแหน่งที่ใหญ่ประกอบกับความสนใจในสตาร์ทอัปของพี่จี๊ปเองทำให้เธอตอบตกลง ระหว่างทำงานที่นี่ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่า VC แต่ละแห่งตัดสินใจเลือกลงทุนบริษัทหนึ่งเพราะอะไร และปฏิเสธการลงทุนเพราะอะไร
.
เมื่อสั่งสมประสบการณ์ได้ราว 1 ปี คณบดีของมหาวิทยาลัย Berkeley ก็ติดต่อพี่จี๊ปให้มารับหน้าที่เป็น Advisor ให้กับ Berkeley SkyDeck หรือโครงการปั้นสตาร์ทอัปของมหาวิทยาลัย คราวนี้ชื่อเสียงของเธอก็ยิ่งกระจายเป็นวงกว้างจึงมีโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัปอื่นๆ มากมายมาติดต่อให้เธอเป็น Advisor ด้วยเช่นกัน ปรากฏการณ์นี้ทำให้เธอเห็นว่าเธอสามารถสร้างอิมแพคในระดับ Ecosystem ของสตาร์ทอัปได้ ไม่ใช่แค่กับสตาร์ทอัปตัวใดตัวหนึ่ง เธอจึงตัดสินใจร่วมก่อตั้ง Venture Capital ของตัวเองโดยเน้นลงทุนในภูมิภาคละตินอเมริการ่วมกับเพื่อนสมัยเรียนที่ Berkeley ของเธอ
.
.
#ความเกี่ยวเนื่องระหว่างมหาวิยาลัยและโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัป
.
ข้อแตกต่างระหว่าง Incubator หรือโครงการบ่มเพาะทั่วไปและของมหาวิทยาลัย Berkeley คือเมื่อบริษัทเข้าโครงการมาแล้วก็จะมี Mentor ที่คอยให้คำแนะนำด้านต่างๆ เช่น แผนธุรกิจ การพิทชิง ไปจนถึงตัวโปรดักต์ ทั้งยังช่วยสร้าง Network ให้กับเหล่าผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น อาจจะช่วยหาลูกค้ารายแรกมาให้ ว่ากันตามตรงถ้าไม่มี Network โอกาสที่สตาร์ทอัปจะประสบความสำเร็จก็ค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ สำหรับสตาร์ทอัปสายเทคฯ ที่ต้องการวิศวกรเก่งๆ มาร่วมทีมก็สามารถติดต่อหานักเรียนในมหาวิทยาลัยที่อาจสนใจทำงานกับสตาร์ทอัปได้ง่ายขึ้น
.
.
#ต้องเป็นผู้ประกอบการแบบไหนถึงจะเข้าร่วมโครงการได้
.
สำหรับผู้ประกอบการชาวไทยพี่จี๊ปบอกว่าคำแนะนำนั้นขึ้นอยู่กับรายละเอียดปลีกย่อยของสตาร์ทอัปแต่ละตัวด้วยว่าอยู่ในอุตสาหกรรมไหน แต่ถ้าให้แนะนำคร่าวๆ เธอมองว่าอย่างแรกคือต้องมี Global Mindset หรือการตั้งเป้าหมายว่าสตาร์ทอัปของตัวเองจะสามารถสเกลเกินระดับประเทศได้ อย่างที่สองคือต้องระวังเรื่องการประเมินมูลค่าบริษัท (Valuation) ที่สูงเกินไปทั้งๆ ที่ยังไม่มีกำไร นักลงทุนที่ไปลงทุนกับสตาร์ทอัปในประเทศกำลังพัฒนานั้นส่วนใหญ่เป็นเพราะมีข้อได้เปรียบด้านค่าใช้จ่ายในส่วนของ Operation ที่ต่ำกว่าสตาร์ทอัปใน Silicon Valley แต่ถ้าประเมินออกมาแล้วสตาร์ทอัปในประเทศเหล่านี้มีมูลค่าสูงกว่าใน Silicon Valley ก็ไม่มีนักลงทุนคนไหนกล้าเสี่ยงเข้าไปลงทุน
.
.
#มีแผนจะกลับเมืองไทยไหม
.
พี่จี๊ปยังไม่มีแผนจะกลับเมืองไทยเพราะมองว่าการได้ทำงานเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์จากที่อเมริกาแล้วนำไปเผยแพร่ต่อจะเป็นประโยชน์กับเมืองไทยในภาพรวมมากกว่า โดยเธอเพิ่งเปิดตัว @Seasky Lab ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่จะส่งต่อความรู้ด้านการลงทุนและการเป็นผู้ประกอบการจาก Silicon Valley ให้กับประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อสร้าง Ecosystem สำหรับสตาร์ทอัปที่ดี
.
สิ่งที่เธอตั้งใจถ่ายทอดนั้นจะเริ่มตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างประวัติความเป็นมา ไปจนถึงเจาะลึกการตัดสินใจและความคาดหวังของ VC ในยุคที่ผลตอบแทนเป็นตัวเงินไม่ใช่ความคาดหวังเดียวอีกต่อไปแต่ยังรวมถึงผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศท้องถิ่น
.
.
#อะไรคือสิ่งที่ทำให้พี่จี๊ปประสบความสำเร็จขนาดนี้
.
เนื่องจากการเป็นชาวต่างชาติที่ประสบความสำเร็จในต่างแดนถึงขั้นก่อตั้งบริษัทร่วมทุนเป็นของตัวเองได้ไม่ได้มีให้เห็นกันบ่อยๆ เราจึงสงสัยว่ามีคุณสมบัติหรือปัจจัยอะไรที่ทำให้พี่จี๊ปประสบความสำเร็จขนาดนี้ เธอได้ให้คำตอบกับเราว่า เท่าที่เธอสังเกต ชาวต่างชาติที่อพยพมาที่อเมริกาแล้วประสบความสำเร็จมักจะได้รับการศึกษาที่ดีที่นี่ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็แบ่งเป็น 2 ประเภทอีกคือ 1. Specialist หรือสายเฉพาะทางที่ทำงานสายตรงกับที่ตัวเองเรียนแล้วอยู่กับบริษัทไปนานๆ 2. Generalist จะยากกว่าประเภทแรกเพราะต้องอาศัยทักษะ Soft Skills หลายอย่างทั้งทักษะการโน้มน้าว การสร้างทีม รวมไปถึงความเป็นผู้นำ และสิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถขึ้นไปสู่ตำแหน่งใหญ่ๆ ระดับ Manager ขึ้นไปได้คือ Entrepreneurship Skills เพราะเป็นทักษะที่จะทำให้เรามองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจจากช่องว่างในตลาด หรือถ้าอยากเปิดบริษัทของตัวเองก็ต้องกล้าเสี่ยง และยอมที่จะล้ม แต่ล้มแล้วต้องลุกขึ้นมาใหม่ได้ เพราะใน Silicon Valley ไม่มีใครที่ไม่เคยล้มมาก่อน
.
“สิ่งสำคัญคือ Skill, Knowledge และ Network เราต้องพัฒนาทักษะตัวเองไปเรื่อยๆ เรียนรู้จากคนอื่นๆ ที่แตกต่างจากตัวเอง และอย่าลืมสร้าง Network ระหว่างทาง” พี่จี๊ปกล่าวทิ้งท้าย
.
.
#careerfact #cariber
………………
Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว