9 มิ.ย. 2021 เวลา 11:35 • สุขภาพ
🎯เฝ้าระวังอาการ 3 ช่วงเวลา หลังฉีดวัคซีน AstraZeneca🎯
2
1. ช่วงหลังฉีดทันทีถึง 30 นาทีแรก รุนแรงแต่พบน้อย
2. ช่วง 1-3 วันหลังฉีด ไม่รุนแรง แต่พบบ่อย
3. ช่วง 4-30 วันหลังฉีด รุนแรง แต่พบน้อยมาก
1
ภาพจาก https://www.freepik.com/free-vector/hand-drawn-coronavirus-vaccine-landing-page
ฉีดวัคซีน มีผลดี แต่ก็พ่วงผลข้างเคียงมาบ้าง
เป็นธรรมดา
1
เข็มจิ้มเนื้อ เอาตัวกระตุ้นการสร้างภูมิใส่เข้าไป ….ร่างกายก็ต้องโวยวายบ้างล่ะค่ะ
ถ้าร่างกายไม่มีปฏิกริยาอะไรเลย นั่นสิคะ แปลก เรามาดูว่าควรจะเฝ้าระวังอาการอะไรบ้างใน 3 ช่วงเวลาหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนกา
1. 🌟ช่วงหลังฉีดวัคซีน 30 นาทีแรก
เฝ้าระวังปฏิกริยาแพ้รุนแรง พบได้น้อย 🌟
เมื่อเข็มฉีดวัคซีนเข้าร่างกาย วัคซีนจะสะกิดหน่วยลาดตะเวนก่อนเลย….รู้ไหมว่ามีใครเข้ามา ….ตื่นๆๆๆๆๆ พลเม็ดเลือดขาวทั้งหลาย
1
ตื่นมาติดอาวุธซ้อมไว้…ปลุกกองหนุนขึ้นมาก่อน ข้าศึกจริงบุกมาจะได้พร้อมสู้
1
พบน้อยมากๆที่บางคนภูมิตื่นตูมมาก ออกอาการฉับพลันทันใดหลังฉีดไม่นานภายในเวลาเป็นนาที เกิด ปฏิกิริยาภูมิแพ้อย่างแรง ที่เรียกว่า Anaphylaxis
 
แต่ไม่ต้องตกใจนะคะ เขาให้นั่งรอ 30 นาที เพื่อสังเกตอาการนี้ล่ะค่ะ เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดกับใคร
ไม่มีใคร”ห้าม” การแพ้ ได้แต่เรา “เฝ้าระวัง “ และ”รักษา” ได้ค่ะ
และทุกหน่วยฉีดวัคซีน มียาไว้พร้อมฉีดเพื่อแก้ไขได้ทันที ยังไม่เคยมีใครเป็นอันตราย แก้ได้ทัน!
จากข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาลอังกฤษ Medicines & Healthcare products Regulatory Agency (MHRA) พบว่า
จากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ของ Oxford -AstraZeneca ชื่อ Vaxzevria 19.5 ล้านโด๊ส พบคนที่มีอาการไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับปฏิกริยาแพ้อย่างรุนแรง 455 ราย คิดเป็น 0.002%(อ้างอิง 1)
ซึ่งถือว่า พบได้น้อยค่ะ
2.🌟ช่วงหลังฉีด 1-3 วัน🌟
เฝ้าระวังอาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว พบได้บ่อยแต่ ไม่รุนแรง
2
พบอาการข้างเคียง
86% ในกลุ่มอายุ 18-55 ปี
77% ในกลุ่มอายุ 56-69 ปี
65% ในกลุ่มอายุเท่ากับและมากกว่า 70ปี
1
แสดงว่าผู้สูงวัยทนวัคซีนนี้ได้ดีกว่า อาการข้างเคียงพบได้น้อยกว่ากลุ่มผู้ที่อายุน้อยกว่า
จากใบข้อมูลยาของวัคซีน โควิด AstraZeneca ที่รวบรวมจากการศึกษาในผู้ที่ได้รับวัคซีน 23,745 ราย (อ้างอิง 1) พบว่า อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด มักเป็นอาการที่รุนแรงน้อยถึงปานกลาง ดังต่อไปนี้
ปวดศีรษะ 52.6%)
อ่อนเพลีย (53.1%)
ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดข้อ (44% or 26.4%)
ไข้ (33.6%)
หนาวสั่น (31.9%)
คลื่นไส้ (21.9%)
3.🌟ช่วง 4-30 วันหลังฉีดวัคซีน🌟
เฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง แต่พบได้น้อยมากๆ
ที่กลัวกันว่าจะเกิดลิ่มเลือดอุดตันก็ต้องเฝ้าระวังอาการในช่วง 1 เดือนหลังฉีดนี่แหละค่ะ
2
การเกิดลิ่มเลือดชนิดพิเศษ ที่มีเกร็ดเลือด ต่ำด้วย (VITT Vaccine-induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia) แปลตรงตัวว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกร็ดเลือดต่ำ จากระบบภูมิคุ้มกัน ที่กระตุ้นโดยวัคซีน
ในต่างประเทศรายงานว่าพบน้อยมาก มีรายงานความเสี่ยงต่อการเกิด VITT ตั้งแต่ 1:26,000 ในประเทศนอร์เวย์ จนถึง 1:127,300 ในประเทศออสเตรเลีย (อ้างอิง 2)
3
ในชาวตะวันตกจะพบมี HLA บางตัวที่สัมพันธ์กับการมีโอกาสเสี่ยงเป็นลิ่มเลือดชนิดพิเศษ แต่โชคดีคนไทยพบHLA เหล่านั้นน้อยกว่าเขา 10 เท่า จึงมีความเสี่ยงน้อยลงตามไปด้วย
1
มีข่าวดีสำหรับผู้ที่จะไปรับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่2 คือ โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดหลังการฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 1:600,000 หรือเท่ากับ 1ใน 10 ของความเสี่ยงหลังการฉีดเข็มแรกค่ะ(อ้างอิง 4)
อย่างไรก็ตาม 🦠เราก็เรียนรู้อาการเหล่านี้ไว้ ให้ “ตระหนัก” ว่ามีเกิดขึ้นได้จริง แต่ไม่ต้อง “ตระหนก” เพราะโอกาสเกิดน้อยมาก🦠
อาการของ VITT มีการรายงานไว้ชัดเจน ในกรณีที่มีอาการเหล่านี้หลังจากวันที่ 4 หลังฉีดวัคซีน ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ คือ
1. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง และต่อเนื่องไม่หาย
2.ตามัวมองเห็นไม่ชัดอย่างรุนแรง และต่อเนื่องไม่หาย
3.ขาบวม (ที่เพิ่งเป็นช่วงหลังฉีดวัคซีน)
4.หายใจลำบาก หายใจติดขัด
5.ปวดท้อง ( ที่เพิ่งมีอาการ หลังฉีดวัคซีน)
2
6.จ้ำเลือด จุดเลือดออกที่อยู่นอกเหนือไปจากบริเวณที่ฉีดยา
หากมีอาการเหล่านี้ ใน 4-30 วันหลังจากฉีดวัคซีนให้กลับไปพบแพทย์ และบอกประวัติการฉีดวัคซีนAstraZeneca ให้แพทย์ทราบด้วย
ทั้งนี้เพราะอาการข้างต้นอาจจะเป็นอาการเริ่มต้นของ VITT ที่มีลิ่มเลือดไปอุดที่เส้นเลือดตามตำแหน่งต่างๆ ทำให้มีอาการที่อวัยวะนั้นๆ
1
การที่เราเพิ่งเริ่มให้วัคซีน หลังจากประเทศอื่นฉีดไปมากแล้ว ก็อาจจะเป็นข้อดี คือ เราได้เห็นว่ามีผลข้างเคียงอะไรบ้างที่ควรระวัง และได้เรียนรู้การรักษาเพื่อให้การวินิจฉัย และรักษาอย่างทันท่วงที
การให้วัคซีน ยังเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย ที่สุดอยู่ค่ะ
ใครพาคุณพ่อคุณแม่ หรือ ผู้สูงอายุในบ้านไปฉีดวัคซีนมาแล้วบ้างคะ? ใครไปฉีดวัคซีนมาแล้ว? อาการเป็นอย่างไรกันบ้าง
คงจะมีทั้งที่พาไปฉีดมาแล้ว หรือมีกำหนดนัดหมายที่จะพาไป
ขอให้เตรียมตัวเตรียมใจ ก่อนไปฉีด
หลังฉีดกลับมาแล้วก็ ให้นอนพักผ่อน อย่าเพิ่งหักโหมออกกำลัง หรือยกของหนักนะคะ พักการใช้แขนข้างที่ฉีดไว้อย่างน้อย 4 ชั่วโมง
🌸ขอให้ท่านที่กำลังจะไปรับ หรือได้รับวัคซีนแล้วได้ดูแลสุขภาพให้ดี และผ่านช่วงเวลานี้อย่างปลอดภัยทุกท่านค่ะ🌸
2
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียด รายงานในวารสารการแพทย์ (อ้างอิง5) สำหรับแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ค่ะ
VITT เกิดจากมี Antibody ต่อ PF 4 ( Platelet Factor 4)ไปกระตุ้นเกร็ดเลือดให้เกิดการเกาะกลุ่มกันไปอุดตันเส้นเลือดดำ จึงมีทั้งลิ่มเลือด และเกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดตามหลังการฉีดวัคซีนชนิด viral vector คือ วัคซีนของOxford -AstraZeneca และ Johnson and Johnson
มีรายงานใน NEJM เมื่อ June 3, 2021
ในสหภาพยุโรปถึงวันที่ 7 เมษายน 2021 มีการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 82 ล้านโด๊ส ในจำนวนนี้ 1 ใน 4 เป็นวัคซีนของ บ. แอสตร้าเซเกน้า
ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เริ่มมีรายงานลิ่มเลือดอุดตันที่ลักษณะแปลกๆในผู้ที่ได้รับวัคซีนดังกล่าว จึงรวบรวมรายละเอียดมาเขียนรายงาน
รายงานคนไข้ 11ราย 9รายเป็นผู้หญิง อายุเฉลี่ย36 ปี มีอาการเริ่มต้น 5-16 วันหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของ Oxford-AstraZeneca มีอาการของการอุดตันเส้นเลือด คนไข้1 รายอาจจะมีอาการ เลือดออกมากกว่า 1 อย่าง เสียชีวิต 6 ราย (มี 1 รายเสียชีวิตจากเลือดออกในสมอง )
9 รายมี cerebral venous thrombosis (ลิ่มเลือดในเส้นเลือดดำใหญ่ในสมอง)
3 รายมีลิ่มเลือดอุดตันที่เส้นเลือดดำในช่องท้อง
3 รายมีลิ่มเลือดในปอด
4 รายมีลิ่มเลือดที่อื่นๆ
5 รายมี DIC (Disseminated intravascular coagulation)
คนไข้ทุกรายไม่เคยได้รับยา heparin ก่อนจะมีอาการ
1
สรุปว่า การเกิด venous thrombosis ในรายงานนี้มีความเกี่ยวโยงกับวัคซีน วินิจฉัยโดยการดู PF 4 heparin antibody ให้ผลบวก (โดยที่ทุกรายไม่เคยได้รับ heparin)
มีอาการทั้ง venous thrombosis และ thrombocytopenia
สังเกตว่าการเกิด venous thrombosis อาจจะเกิดในตำแหน่งที่ไม่ค่อยพบ เช่น cerebral venous thrombosis ในสมอง
อาการเกิดขึ้นวันที่ 5-20 หลังฉีดวัคซีน
ให้การรักษาโดย ใช้ IVIG และ anti coagulant
การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของ AstraZeneca อาจเกิดภาวะที่พบได้น้อยมาก ที่มีลิ่มเลือดร่วมกับเกร็ดเลือดต่ำ ผ่านทางกลไกระบบภูมิคุ้มกัน อาการทางคลีนิคคล้ายกับเกร็ดเลือดต่ำที่ ระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นโดยheparin
ถอดความ และเขียนบทความโดย
พญ ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารแพทย์
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา