10 มิ.ย. 2021 เวลา 13:30 • หนังสือ
10 หลักบริหารคนให้รักงานตามแบบฉบับ Google
2
WEEKLY BOOK REVIEW ทุกวัน พฤหัส 20.30น. มาแล้วคับผม สัปดาห์ขอนำเสนอ
Work Rules!
By Laszlo Bock
#What_I_Get
 
ชีวิตเราทุกคนล้วนต้องมีการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่มากก็น้อย การทำงานที่ดีย่อมช่วยให้เรามีความสุขในชีวิตมากขึ้นอย่างแน่นอน แต่การทำงานมักเต็มไปด้วยอุปสรรคและปัญหามากมาย จนทำให้การทำงานของคนส่วนมากกลายเป็นความทุกข์ และทำเพียงเพราะว่ามันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น
7
หนึ่งในปัญหาโลกแตกที่เราต้องเจอในการทำงานที่ทำให้เราต้องเหนื่อยใจมากที่สุดมักจะไม่ใช้ตัวเนื้อหาของงาน แต่กลับเป็นเรื่องของ “คน” หรือ “วัฒนธรรม” การทำงานมากกว่า ถึงแม้การบริหารทั้งสองเรื่องนี้จะเป็นเรื่องยากแต่ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้
3
บริษัท กูเกิล ถือเป็นหนึ่งบริษัทที่มีการบริหารด้านทรัพยากรบุคคลและวัฒนธรรมองค์กรที่ยอดเยี่ยม จนได้รางวัลบริษัทที่คนอยากเข้าทำงานด้วยมากที่สุดมาแล้วหลายครั้ง
ภายในหนังสือเล่มนี้จะค่อย ๆ บรรยายถึงเรื่องราวการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของกูเกิลที่ทำให้บริษัทที่มีคนทำงานเพียง 10 คน ไปสู่การมีพนักงานมากกว่า 100,000 คน โดยยังคงวัฒนธรรมที่ดีไว้ได้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลาอย่างไร
โดยพื้นฐานของกูเกิลมาจาก วัฒนธรรมที่เชื่อว่าทุกคนล้วนเป็นคนดี เชื่อในการให้อิสระแก่พนักงาน การอำนวยความสะดวกให้พนักงานแสดงประสิทธิภาพได้สูงสุด และการให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งจะก่อให้เกิด “บริษัทที่มีอิสระสูง” ซึ่งมีแนวทางตามหลักการเบื้องต้น 10 ข้อต่อไปนี้
2
1.ทำให้งานมีความหมาย
การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพนักงานกับคนที่ได้รับผลประโยชน์จากงานที่พนักงานทำจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่พนักงาน และยังทำให้พนักงานรู้สึกมีความสุขมากขึ้นจากการได้ช่วยเหลือใครสักคนอยู่
โดยบริษัทสามารถกำหนดคุณค่าที่ยึดถือพร้อมเล่าเรื่องราวถึงผลกระทบจากการทำงานของบริษัทให้พนักงานเข้าใจจนเกิดเป็นความหมายของการทำงานที่ดี
1
2.ไว้ใจพนักงาน
ถ้าคุณเชื่อว่าพนักงานทุกคนเป็นคนดี จงโปร่งใส ตรงไปตรงมากับพนักงาน รวมถึงการให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินงานต่าง ๆ ด้วย ผู้บริหารอาจต้องสละอำนาจของตัวเองบางส่วนเพื่อทำให้เกิดพื้นที่ให้พนักงานได้ปรับปรุงและพัฒนางานของตัวเอง
2
3.รับเฉพาะคนที่ดีกว่าคุณ
จงรับพนักงานใหม่เฉพาะคนที่มีมีความสามารถเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น ถึงแม้วิธีการนี้จะทำให้เราได้ตัวพนักงานช้าลงและทำให้คนที่ทำงานอยู่มีงานมากขึ้นชั่วคราว แต่จะเป็นการคุ้มค่ากว่ามากถ้าคุณได้พนักงานที่ทำงานได้จริง และยังลดความเสี่ยงจากการรับพนักงานที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมจนทำให้ทีมงานปั่นป่วนอีกด้วย
4
4.อย่าสับสนระหว่างการพัฒนา และการบริหารผลการทำงาน
จงทำให้การพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาการทำงานมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพด้วยการทำมันอย่างสม่ำเสมอ สร้างจังหวะเวลาที่พนักงานสามารถพูดคุยเรื่องการพัฒนาตนเองได้อย่างสบายใจ และทำมันแยกจากการประเมินผลการทำงานออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน และการประเมินผลการทำงานควรพูดถึงเฉพาะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและรางวัลหรือโทษที่เป็นไปตามผลลัพธ์นั้น
3
5.ให้ความสำคัญกับทั้งสองขั้ว
จงพิจารณาคนที่เก่งที่สุดของคุณอย่างละเอียด ว่าพวกเค้าทำผลงานออกมาอย่างยอดเยี่ยมได้อย่างไร มองหาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในตัวพนักงานเหล่านี้ และให้เค้าสอนความสามารถต่าง ๆ ให้กับคนอื่นในบริษัท เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้การพัฒนาตัวเองขึ้น
3
นอกจากนี้คุณควรเห็นอกเห็นใจคนที่ทำงานได้แย่ที่สุดด้วย ถ้าคุณมีระบบรับคนเข้าทำงานที่ดี พวกเขาไม่ใช่คนที่ไร้ความสามารถ เพียงแต่พวกเขาอาจประสบปัญหาอยู่ คุณควรเข้าไปสอบถามและหาทางช่วยเหลือ แต่ถ้าไม่ได้ผลก็ควรให้เขาออกไป เพื่อไปเจอสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าเพื่อตัวเขาเอง
1
6.จงประหยัดและใจกว้าง
การประหยัดในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าให้คุณลดสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานเพื่อประหยัดเงินของบริษัท แต่เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสวัสดิการที่ใช้เงินไม่มากแต่สร้างความสุขให้กับพนักงานได้มาก อาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่พนักงานที่ได้รับจะรู้สึกดีเมื่อได้รับสิ่งที่ไม่เคยคาดหวังว่าจะได้
1
จงใจกว้างในการใช้เงินในเวลาที่พนักงานต้องการมันจริง ๆ ซึ่งก็คือช่วงเวลาที่กิดเรื่องน่าเศร้าที่สุดหรือน่าดีใจที่สุด ถ้าบริษัทมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือหรือร่วมยินดีกับโอกาสเหล่านี้พนักงานจะรู้สึกผูกพันธ์กับบริษัทมากขึ้น
1
7.จงให้ผลตอบแทนแบบไม่เป็นธรรม
การให้ผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม เช่น คนที่ตำแหน่งเดียวกันจะได้ผลตอบแทนเท่ากันฟังดูดี แต่นั่นเป็นเหตผลที่ทำให้คนทำงานเก่งที่สุดต้องลาออกจากบริษัท ซึ่งนั่นไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย
9
บริษัทควรจ่ายผลตอบแทนที่มากกว่ากับความสามารถที่มากกว่าของพนักงานเหล่านี้ เพราะพนักงานที่เก่งที่สุด 10% จะสร้างผลงานให้คุณมากถึง 90% (นอกจากนี้ควรอธิบายเหตผลของผลตอบแทนที่มากกว่าและแนวทางการพัฒนาตนเองแก่พนักงานคนอื่น ๆ)
3
8.สะกิด
จงสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่บริษัทต้องการ เช่น ถ้าคุณอยากให้พนักงานร่วมมือกันพูดคุยกันระหว่างการทำงานก็ให้เอาคอกทำงานออกไป ถ้าคุณอยากให้พนักงานสุขภาพดีขึ้นคุณอาจจัดวางอาหารที่มีประโยชน์ไว้ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าอาหารชนิดอื่น เป็นต้น
9.จัดการกับความคาดหวังที่เพิ่มขึ้น
คุณอาจจะสะดุดบ้างระหว่างการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาระบบต่าง ๆ คุณต้องจะต้องถอยบ้าง เพื่อทดลองความเป็นไปได้ต่าง ๆ การเล่าเรื่องราวของการทดลองของคุณจะช่วยสร้างกลุ่มที่สนับสนุนคุณและทำให้คุณก้าวต่อไปได้
10.สนุกกับมัน! แล้วย้อนกลับไปทำข้อ 1 ใหม่
การสร้างวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่ยอดเยี่ยมในการทำงานไม่ใช่การทำแบบครั้งเดียวจบ คุณต้องเรียนรู้และทำการทบทวนอย่างต่อเนื่อง โดยทดลองปรับเปลี่ยนไปทีละอย่างเพื่อหาจุดสมดุลและค่อย ๆ พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง
#How_I_Feel
หนังสือเล่มนี้ช่วยตอบความสงสัยว่ากูเกิลสามารถสร้างวัฒนธรรมที่ทำให้คนจากทั่วทั้งโลกอยากทำงานด้วยได้อย่างไร
1
นอกจากนั้นยังเป็นหนังสือที่เจาะลึกถึงทางเลือกต่าง ๆ ของการบริหารด้านทรัพยากรบุคคลในองค์กร ที่ผ่านการทดลองทำจริงและกลั่นกรองออกมาเป็นแนวทางที่กูเกิลใช้อยู่ในปัจจุบัน
ด้วยความที่ส่วนตัวไม่ได้อ่านหนังสือด้านบริหารบุคคลมากนัก หนังสือเล่มนี้ถือเป็นการเปิดมุมมองเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานและแนวทางความเชื่อพื้นฐานที่เราควรมีต่อพนักงานของบริษัท
ถึงแม้กูเกิลจะเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จด้วยการมีแนวทางที่เป็นบริษัทที่มีอิสระสูง แต่ไม่ได้หมายความว่าบริษัทที่มีระเบียบที่แตกต่างกันจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของบริษัทและค่านิยมที่บริษัทนั้นยึดถือด้วย
การมีอิสระสูงก็อาจต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และการใช้สิทธิเสรีภาพเกินพอดี แต่เราสามารถจะใช้บทลงโทษที่ชัดเจนเพื่อหยุดการกระทำนั้น ๆ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้จากความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานนั้นคุ้มค่ากว่ามาก
#Who_Should_Read
- ผู้บริหารและพนักงานด้านทรัพยากรบุคคล
- เจ้าของกิจการที่อยากสร้างวัฒนธรรมที่มีความอิสระสูง และก่อให้เกิดนวัตกรรมได้ง่าย
- ผู้ที่อยากสร้างบริษัทที่คนไปทำงานแล้วจะมีความสุข
Review by Another Book
WEEKLY BOOK REVIEW ทุกวัน พฤหัส 20.30 ครับผม
กดไลค์เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
สำหรับวันนี้ Another Book สวัสดีครับ
โฆษณา