10 มิ.ย. 2021 เวลา 14:58 • กีฬา
มันมีสตอรี่ : เรื่องน่าสนใจที่อาจทำให้คุณอยากเชียร์ 24 ชาติในยูโร 2020 ครั้งนี้มากขึ้น | MAIN STAND
1
ยูโร 2020 กำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว และสำหรับแฟนบอลชาวไทย การแข่งขันรายการนี้อาจจะดูไกลตัวไปนิด และนั่นอาจจะทำให้คุณยังลังเลว่าจะเชียร์ทีมไหนดีในศึกชิงเจ้ายุโรปครั้งนี้
Main Stand ขออาสาทำให้มันง่ายขึ้นอีกนิด เพราะเราได้รวบรวมเอาเรื่องราวปูมหลังที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเชิงประวัติศาสตร์, เชื้อชาติ และฟุตบอลของ 24 ประเทศที่เข้าแข่งขันครั้งนี้มาเสิร์ฟให้คุณถึงที่
รับรองว่าหากคุณอ่านจบจบ จะต้องมีสักทีมที่มีคาแร็คเตอร์ตรงกับจริตของคุณอย่างแน่นอน
กลุ่ม A
ตุรกี : เมื่อสุดยอดแฟนบอลจอมโหดรวมเป็นหนึ่ง
ตุรกี เคยทำผลงานได้ดีที่สุดในเวทีระดับโลกด้วยการคว้าอันดับ 3 ในฟุตบอลโลกปี 2002 หลังจากนั้นพวกเขาก็หายหน้าหายตาไปนานนม และว่ากันว่าทีมชุด 2020 นี้คือชุดที่ดีที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษของพวกเขาเลยทีเดียว
สาเหตุก็เพราะ กุนซือทีมชุดอันดับ 3 ปี 2002 อย่าง เซนอล กูเนส ได้กลับมาคุมทีมอีกครั้ง ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ของ กูเนส ถือเป็นการรื้อทั้งระบบ เพราะนับตั้งแต่เขาเข้ามาคุมทีมในปี 2019 เขาได้เรียกร้องให้สโมสรฟุตบอลในประเทศผลักดันนักเตะออกไปค้าแข้งในต่างแดน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพโดยรวมดีขึ้น ไม่ต้องใช้นักเตะเก่า ๆ จนผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา
"เรามีนักเตะทีมชาติตัวหลักเล่นในลีกใหญ่ยุโรปแค่ 15 คน แต่ บราซิล มีร่วม 6,000 คน แม้แต่ เซอร์เบีย ก็ยังมีนักเตะเล่นในลีกต่างแดนถึง 700 คน ... สิ่งที่เราต้องการคือผลิตผู้เล่นที่มีความสามารถและปล่อยพวกเขาออกไปเก่งกาจในโลกกว้าง"
1
ซึ่งหลังจากนโยบายดังกล่าว ตุรกี ก็มีนักเตะที่กลายเป็นตัวหลักในทีมใหญ่ ๆ ในยุโรปมากขึ้น เช่น ยูซูฟ ยาซิซี่ และ เซกี เซลิก ที่พัฒนาฝีเท้าอย่างรวดเร็วจนถึงขั้นคว้าแชมป์ลีก เอิง ร่วมกับสโมสร ลีลล์ ในประเทศฝรั่งเศสมาแล้ว เมื่อรวมกับสมาชิกตัวหลักอย่าง ฮาคาน ชาลาโนกลู, ชากลาร์ โซยุนชู และ บูรัค ยิลมาซ ทำให้ทีมชุดนี้เป็นที่คาดหวังของแฟน ๆ ตุรกีอย่างมาก
นอกจากเรื่องของนักเตะแล้ว การแข่งขันในนามทีมชาติยังถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญในแง่ของแฟนบอลตุรกีด้วย เพราะแฟนบอลของสโมสรในประเทศอย่าง เฟเนร์บาห์เช่, กาลาตาซาราย, เบซิคตัส และ แทร็บซอนสปอร์ นั้นไม่เคยญาติดีกันมานาน พวกเขาเชื่อว่าตัวเองคือแฟนบอลที่เจ๋งที่สุดในประเทศ จนมีเรื่องกันบ่อย ๆ และทำให้โลกมองกลุ่มแฟนบอลกลุ่มนี้ว่าเป็นพวกหัวรุนแรง
"คนประเทศอื่น ๆ ต้องถามตัวเองว่า พวกตุรกีมันบ้าอะไรกัน ... ง่ายนิดเดียว สำหรับพวกเราฟุตบอลนั้นคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราไปสนามฟุตบอลด้วยความรู้สึกแบบเดียวกับที่พวกเขาไปเข้าโบสถ์นั่นแหละ" ไอฮาน กุนเนอร์ ผู้นำแฟนบอลหัวรุนแรงแกนนำกลุ่ม Carsi ของสโมสร เบซิคตัส กล่าว
ทว่าเมื่อพวกเขาต้องลงเล่นในนามทีมชาตินั้น เหมือนกับว่าความแค้นในระดับสโมสรถูกถอดออก และทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือ "เชียร์ทีมชาติตุรกี" นั่นจึงเป็นเหตุผลที่แฟนบอลตุรกี คือหนึ่งในชาติที่ส่งเสียงเชียร์ในสนามได้ดังที่สุดในยุโรป
1
วลีเด็ดของแฟนบอลก่อนทัวร์นาเม้นต์จะเริ่มขึ้นคือ Biz bitti demeden bitmez! หรือเแปลว่า "เกมยังไม่จบ จนกระทั่งคุณจะยอมรับว่ามันจบลงแล้ว" คือสิ่งที่ยืนยันได้ว่าแม้จะตกต่ำมาหลายปี แต่แฟน ๆ ของตุรกีไม่เคยเสื่อมศรัทธา และหวังว่าทีมชุดนี้จะสร้างโอกาสในสถานการณ์ที่พวกเขาโดนมองข้ามเช่นนี้
- ผลงานระดับชาติที่โดดเด่น
อย่างที่กล่าวเอาไว้ข้างต้น ฟุตบอลโลกปี 2002 คือเทพนิยายที่ถึงแม้จะไปไม่ถึงแชมป์ แต่ก็ยังคงเป็นความสุข และอยู่ในความทรงจำของแฟนบอลตุรกี จนกระทั่งทุกวันนี้ ส่วนในศึกยูโร พวกเขาทำได้ดีที่สุดกับการเข้ารอบรองชนะเลิศปี 2008
- นักเตะเด่น : บูรัค ยิลมาซ
เสือเฒ่าทำท่าจะหมดไฟหลังจากย้ายไปค้าแข้งในลีกจีนกับ เป่ยจิง กั๋วอัน (Beijing Guoan) ทว่าหลังจากหมดสัญญา เขากลับมามีไฟอีกครั้งด้วยการลงเล่นให้ แทร็บซอนสปอร์, เบซิคตัส และกับ ลีลล์ เป็นทีมล่าสุด ซึ่งตัวของยิลมาซในวัย 35 ปี ถือเป็นกุญแจสำคัญสู่แชมป์ลีกของทัพตราสุนัขอย่างแท้จริง ด้วยความเก๋าในการเก็บบอล และชั้นเชิงในการจบสกอร์เขายิงไป 16 ประตูจาก 28 นัดในลีก
เขาแย้มมาว่ารายการนี้จะเป็นรายการระดับชาติครั้งสุดท้ายของเขาในนามนักเตะทีมชาติตุรกี และการทิ้งทวนนั้นอันตรายเสมอ ไม่แน่เราอาจจะได้เห็นยิลมาซร้อนแรงต่อเนื่องในยูโร 2020 ครั้งนี้ก็เป็นได้
1
สวิตเซอร์แลนด์ : การนำทัพของชายที่เข้าใจความหลากหลายของวัฒนธรรม
สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีประชากรเชื้อสายต่าง ๆ มากมาย มีพลเมืองถึง 25% หรือ 1 ใน 4 ที่ไม่ได้เป็นคนเชื้อสายสวิส และสิ่งนี้ก็สะท้อนมาถึงทีมชาติของพวกเขา เพราะมีนักเตะอย่าง เซอร์ดาน ชากีรี่ และ อัดเมียร์ เมเมห์ดี้ ที่เกิดในยูโกสลาเวีย นอกจากนี้ยังมีนักเตะที่เป็นมุสลิมอย่าง ฌิบริล โซว์ เป็นต้น
เรื่องของคนที่ต่างสัญชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อในทีมฟุตบอลทีมหนึ่งนั้น ล้วนต้องการคนที่สามารถดูแลและเข้าใจนักเตะทุกอย่างเป็นกลาง นั่นเป็นเหตุผลที่พวกเขาเลือก วลาดิเมียร์ เพตโควิช เป็นกุนซือของทีม
"การมีผู้เล่นที่เกิดในต่างประเทศมากมายในทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ไม่ใช่ปัญหาอะไร นี่คือการสะท้อนให้เห็นความหลากหลายของวัฒนธรรมของประเทศนี้ มันก็เหมือนกับโรงเรียน หรือสถานที่ทำงานที่มีผู้คนที่มาจากที่ที่แตกต่างกัน เราทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง และคงไม่คิดว่า จะเอาเรื่องนี้มาเป็นข้อถกเถียงให้มากความ" เพตโควิช กล่าว
ตัวของ เพตโควิช เองนั้นก็เป็นอีกคนที่เกิดในกรุงซาราเยโว ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เขาเข้ามาในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อตอนอายุ 24 ปี เพื่อเป็นนักศึกษาด้านกฎหมาย ในช่วงที่เขาเริ่มต้นเป็นโค้ชฟุตบอลในปี 1997 เขาได้ทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์เพื่อการกุศลเสมอ และเขาเชื่อว่าสัญชาติ, เชื้อชาติ และวัฒนธรรม คือความแตกต่างที่สามารถเป็นหนึ่งเดียวกันได้
"ผมทำงานกับทั้งคนว่างงาน คนติดยาเสพติด และแอลกอฮอล์ ผมช่วยให้พวกเขาจัดการกับชีวิตตัวเองได้ดีขึ้น เช่น การช่วยหางานให้พวกเขาทำ มันก็คล้าย ๆ กับฟุตบอลนั่นแหละ การทำงานกับผู้คนนั้น สิ่งสำคัญคือ การสร้างแรงจูงใจ"
"ผมเรียนรู้ว่ามนุษย์ทุกคนต่างมีบุคลิกและปัญหาของตัวเองทั้งนั้น สิ่งที่เราจะทำในฐานะทีมคือการยื่นมือช่วยเหลือกัน และทำงานเป็นทีมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้"
ศิลปะการปกครองคนถือเป็นสิ่งหนึ่งที่น่าดูไม่แพ้เกมฟุตบอลดี ๆ สนุก ๆ สักเกม ในยูโร 2020 หนนี้โลกอาจจะได้เห็นอดีตนักสังคมสงเคราะห์รายนี้รวมสวิตเซอร์แลนด์ให้เป็นหนึ่งเดียว ไม่มีคำว่า บอสเนียน, เซิร์บ, เตอร์กิช หรือโปรตุกีส และเมื่อรวมกันเป็นหนึ่งได้ พวกเขาก็พร้อมจะลุยไปข้างหน้าแล้ว
- ผลงานดีที่สุด
สวิตเซอร์แลนด์ เคยไปได้ไกลที่สุดในเวทีระดับชาติ นั่นคือการไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ในฟุตบอลโลก ปี 1934, 1938 และ 1954 ส่วนในระดับทวีปนั้นพวกเขาไปได้ไกลที่สุดแค่รอบ 16 ทีมสุดท้ายเมื่อ ยูโร 2016 เท่านั้น
- นักเตะที่โดดเด่น : เซอร์ดาน ชากีรี่
เซอร์ดาน ชากีรี่ ยังคงเป็นทีเด็ดมากที่สุดในทีมชุดนี้เหมือนเช่นเคย ในเวทียุโรปครั้งนี้ ชากีรี่ไม่ใช่ดาวรุ่งอีกต่อไปแล้ว เขากลายเป็นนักเตะซีเนียร์ที่มีประสบการณ์มากที่สุดในทีมชุดปัจจุบัน
แม้ว่าเขาจะไม่ได้ลงเล่นให้กับต้นสังกัดอย่าง ลิเวอร์พูล มากมายนัก แต่ทุกครั้งที่ได้โอกาส ชากีรี่สามารถสร้างความแตกต่างได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการยิง หรือการจ่ายบอล ... เราคงพูดไม่ผิดนักว่า หากจะหยุดเกมรุกของสวิตเซอร์แลนด์ ก็ต้องหยุดชากีรี่ให้ได้เป็นอันดับแรก
1
อิตาลี : ศิลปะของจอม IMPROVISE ที่เก่งที่สุดในโลก
แชมป์โลก 4 สมัย มาในทีมชุดถ่ายเลือดใหม่ที่อาจจะไม่ได้มีนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์เต็มทีมเหมือนกับอดีต ทว่าที่สุดแล้วมีคำกล่าวว่า "อิตาลี ก็คือ อิตาลี" ไม่ว่าพวกเขาจะส่งทีมชุดไหนมาแข่งขัน จงระวังอย่าให้พวกเขาได้เข้าถึงรอบน็อกเอาต์เด็ดขาด เพราะพวกเขาคือราชาแห่งการด้นสด ที่ชอบเล่นกับสถานการณ์ที่กดดันที่สุด และเราเห็นได้ตั้งแต่ที่พวกเขาร้องเพลงชาติก่อนลงสนามแล้ว
"เหล่าพี่น้องชาวอิตาลี ประเทศของเราจะอยู่ค้ำฟ้า ด้วยหมวกและชุดเกราะของแม่ทัพ ชิปิโอ ที่ท่านได้สวมไว้ ... ชัยชนะอยู่ที่ไหน ? จงมอบมันมาให้กับเรา เพราะมันคือทาสรับใช้เพื่อกรุงโรม พระเจ้าสร้างมันขึ้นมาและโปรดให้ข้าเข้าร่วมกับเหล่าวีรชน ... เราพร้อมจะตายเพื่อชาติแล้ว ใช่ !" นี่คือเนื้อเพลงชาติของอิตาลี ที่เหล่านักเตะตะเบ็งเสียงแบบคอแทบแตกเสมอ
คนอิตาลี มี DNA ธรรมชาติที่ขึ้นชื่อ นั่นคือพวกเขาไม่ค่อยจริงจังกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมายนัก และมักจะทำตัวสบายๆ หากไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่กดดันหรือจริงจัง แต่เมื่อสถานการณ์กดดันนั้นมาถึง อิตาลี จะเล่นด้วยวิธีที่แตกต่างออกไปนั่นคือ นิ่งที่สุด แน่นอนที่สุด และเฉียบคมที่สุด แม้ในเกมนั้นพวกเขาจะเป็นทีมรองก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น เกมที่พบกับ เยอรมนี ในฟุตบอลโลก 2006 ทั้งที่เยอรมนีในฟุตบอลโลกครั้งนั้น เป็นทั้งเจ้าภาพ เป็นทีมที่เล่นได้แข็งแกร่งที่สุด ผู้เล่นมีคุณภาพสูง แถมในเกมนั้น เยอรมนีก็เป็นฝ่ายบุกกดดันอิตาลีเกือบทั้งเกม แต่ อิตาลี ก็ใช้ประสิทธิภาพที่มีบวกเขากับการด้นสดที่แม่นยำและมีคุณภาพจนได้ 2 ประตู และเอาชนะไปได้ 2-0 นอกจากนี้ยังมีเกมที่ชนะเยอรมนี (อีกแล้ว) 2-1 ในฟุตบอลยูโร 2012 ซึ่ง อิตาลี อยู่ในสภาพที่เป็นรองยิ่งกว่าในปี 2006 ขณะที่เยอรมนี มีคุณภาพยิ่งกว่าปี 2006 โดย 2 ประตูที่ อิตาลี ได้มาจากการเล่นของผู้เล่นไม่กี่คน และจังหวะไม่กี่จังหวะ จนกระทั่งเกิดประตูของ มาริโอ บาโลเตลลี่ ที่เหมา 2 ลูกในเกมดังกล่าว
"ถ้าเราไปย้อนดูว่าอิตาลี ชนะเยอรมันได้อย่างไรในเกมนั้น จะเห็นว่าประตูที่ได้ท้ายเกมคือลูกยิงผีจับยัด แล้วมันสะท้อนอะไรจากประตูปลดล็อคที่อิตาลีได้ในวันนั้น ? ลูกยิงที่มาจากการยิงเปรี้ยงเดียวหาย ในนาทีที่ 119 จะหมดเวลาอยู่แล้ว มันสะท้อนถึงจินตนาการและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีมากของชาวอิตาลี" นี่คือสิ่งที่ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เคยให้สัมภาษณ์กับ Main Stand ในบทความ เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์มนุษย์ผ่านโลกฟุตบอล กับ ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน
ไม่มีใครสามารถปฏิเสธเสน่ห์ของทีมชาติอิตาลีเรื่องนี้ได้เลย ทุกครั้งที่รายการใหญ่มาถึง ไม่มีใครกล้ามองข้ามพวกเขา และในยูโร 2020 ครั้งนี้ "ราชาอิมโพรไวส์" มาในสภาพทีมที่ดีที่สุดในรอบหลายปี ในยุคที่ โรแบร์โต้ มันชินี เป็นกุนซือ พวกเขาไม่เคยแพ้ใครมา 27 เกมติดต่อกันแล้ว...
- ผลงานเด่นระดับนานาชาติ
ผลงานเด่นระดับชาติที่ยอดเยี่ยมคือการเป็นแชมป์โลกที่คว้ามาได้ถึง 4 ครั้ง มากที่สุดสำหรับชาติในยุโรป เทียบเท่ากับ เยอรมนี เป็นรองเพียง บราซิล ประเทศเดียวเท่านั้น ส่วนในการแข่งขันชิงแชมป์ยุโรป พวกเขาคว้าแชมป์มาได้ 1 ครั้งในปี 1968
- นักเตะเด่น : จอร์โจ้ คิเอลลินี่
ในวัย 36 ปี คิเอลลินี่ ถือเป็นนักเตะที่มีอายุมากที่สุดในทีม และเป็นสมาชิกรายเดียวที่หลงเหลือจากชุดแชมป์โลกปี 2006 ... ฟุตบอลอิตาลี มีเกมรับเป็นจุดตั้งต้นของความสำเร็จในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ เซ็นเตอร์ฮาล์ฟจาก ยูเวนตุส รายนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่เริ่มภารกิจแรกในการลงกลอนเกมรับ และปล่อยให้แข้งเกมรุกโชว์ลีลาอิมโพรไวส์อย่างเต็มที่
1
เวลส์ : UNDERDOG ที่ต้องการทำซ้ำเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
เวลส์ เป็นชาติที่ถูกมองว่าจะเป็นเต็งบ๊วยของกลุ่ม A เนื่องจากมีการเปลี่ยนโค้ชก่อนการแข่งขันเริ่มไม่กี่เดือน โดย โรเบิร์ต เพจ เข้ามารับหน้าที่กุนซือ แทนอดีตนักเตะอันดับ 1 ของประเทศอย่าง ไรอัน กิ๊กส์ ที่ถูกแขวนไว้จากคดีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว
เพจ นั้นไม่ได้มีชื่อเสียงมากมายนักตั้งแต่เป็นนักเตะ และในระหว่างที่เป็นกุนซือก็ไม่เคยคุมทีมระดับซีเนียร์เลย นั่นจึงทำให้เขาโดนมองว่าไม่น่าจะดีพอสำหรับการพาเวลส์สร้างเซอร์ไพรส์ในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม เพจ อธิบายตัวเองว่าเขายอมรับเรื่องความแข็งแกร่งของทีมอื่น ๆ ในกลุ่มนี้ ทว่าเขาเชื่อจากใจจริงว่าหากลูกทีมของเขารู้หน้าที่ของตัวเอง และทุ่มเทเต็ม 100% ไม่มีสิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้
"ผมมันเป็นคนแบบนี้ ไม่เคยมีที่ว่างให้กับคนที่มีวินัยไม่ดี ... เรามาที่นี่เพราะเราอยากจะประสบความสำเร็จ และการจะเป็นเช่นนั้นได้เราต้องระลึกถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบ และระดับของเราเอาไว้ให้ดี" เพจ กล่าวก่อนเริ่มทัวร์นาเม้นต์
เรื่องนี้คือสิ่งที่พวกเขาเข้าใจตรงกัน แม้แต่ แกเรธ เบล หนึ่งในนักเตะที่ควบคุมยากที่สุดในยุคปัจจุบันยังยอมรับว่า ณ ตอนนี้ แม้ตัวเขาจะมีข่าวคราวเรื่องการประกาศเลิกเล่น, การย้ายทีม และอนาคตที่ยังไม่รู้ว่าจะอยู่กับสโมสรไหนในซีซั่น 2021-22 แต่โฟกัสเดียวที่เขามีคือ ยูโร 2020 กับทีมชาติเวลส์ เท่านั้น ดั่งเช่นประโยคคลาสสิกที่เขาเคยพูดมาเสมอ "เวลส์, กอล์ฟ และ มาดริด ... ลำดับมันเป็นแบบนี้"
1
- ผลงานเด่นระดับนานาชาติ
รอบรองชนะเลิศ ในยูโร 2016 คือความทรงจำเดียวที่หอมหวานสำหรับแฟนบอลของเวลส์ ศึกชิงแชมป์ยุโรปครั้งนั้น สอนพวกเขาให้รู้ว่า Underdog สุนัขรองบ่อน อันตรายต่อคู่แข่งได้มากขนาดไหน
1
- นักเตะที่โดดเด่น : แกเรธ เบล
ผู้ชี้ขาดผลการแข่งขันที่ดีที่สุดเท่าที่เวลส์มี แม้ผลงานระยะหลังในระดับสโมสรจะตกไปบ้าง แต่ เบล กับทีมชาติเวลส์ นั้นคนละเรื่อง เขาเป็นทุกอย่างของทีม จนถึงขั้นมีวลีของแฟนบอลเวลส์ที่พูดถึงเบื้องหลังความสำเร็จของทีมชุดนี้คือ "Give A Ball To Gareth" ... ส่งบอลให้เบลซะ ทุกอย่างจะดีเอง
กลุ่ม B
เบลเยียม : เฮือกสุดท้ายของ "โกลเดน เจเนอเรชั่น"
1
เบลเยียม คือทีมที่อยู่ในอันดับท็อป 5 ของ FIFA World Ranking มาตลอด 5 ปี หลัง บางปีพวกเขาอยู่ในอันดับ 1 ด้วยซ้ำ เหตุผลเพราะว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาพวกเขามีกลุ่มนักเตะที่เรียกว่า "โกลเดน เจเนอเรชั่น" หรือ ยุคทอง นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นทีมหน้าเสื่อแข็ง แต่เมื่อเข้าทัวร์นาเมนต์จริง เบลเยียม มักจะทำได้ดี แต่ดีไม่สุด พวกเขาจะไปหยุดที่รอบลึก ๆ อีกไม่กี่ก้าวก็เป็นแชมป์ประจำ นั่นจึงทำให้ทีมยุคทองยังไม่สามารถคว้าความสำเร็จระดับเมเจอร์มาครอบครองได้เลย
บัดนี้อดีตเหล่านักเตะหนุ่มของทีมยุคทองที่นำโดย เควิน เดอ บรอยน์ (แมนฯ ซิตี้), เอเด็น อาซาร์ (เรอัล มาดริด) และ โรเมลู ลูกากู (อินเตอร์ มิลาน) รวมถึงเหล่าตัวท็อปในทีมระดับรองลงมาอย่าง ยูริ ติเลมองส์, ทิโมธี กาสตาญ (เลสเตอร์), โธมัส เมอนิเย่ร์ (ดอร์ทมุนด์) และ ดรีส์ เมอร์เท่นส์ (นาโปลี) กลายเป็นนักเตะที่กำลังอยู่ในช่วงอายุที่ดีที่สุดแล้ว หากภายใน 2 หรือ 4 ปีหลังจากนี้ เบลเยียม ยังไม่สามารถคว้าถ้วยระดับเมเจอร์ได้สักใบ ก็ไม่รู้ว่าพวกเขาจะต้องรอ "โกลเดน เจเนอเรชั่น" อีกครั้งเมื่อไหร่
ดังนั้น นี่เป็นเหมือนศึกพิสูจน์ตัวเองของเหล่านักเตะเบลเยียม ที่จะต้องลบคำปรามาส และทำให้ทุกคนรู้ว่าพวกเขาคือทีมระดับโลกตัวจริงเสียงจริง
- ผลงานโดดเด่นในอดีต
อันดับ 3 ในฟุตบอลโลก ปี 2018 คือผลงานของทีมยุคทองที่ดีที่สุด ส่วนในระดับทวีปนั้น เบลเยียม เคยคว้ารองแชมป์ได้ 1 ครั้ง แต่มันก็เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ปี 1980
- นักเตะเด่น : เควิน เดอ บรอยน์
จอมทัพจากสโมสร แมนฯ ซิตี้ และนักเตะที่ดีที่สุดในพรีเมียร์ลีก 2 ฤดูกาลติดต่อกัน คือความหวังสูงสุดของทีมชุดนี้อย่างไม่ต้องสงสัย เขาคือคำจำกัดความตำแหน่ง "เพลย์เมคเกอร์" ของทีม ๆ นี้อย่างแท้จริง จังหวะการออกบอลที่เฉียบคม สายตาที่อ่านขาด และน้ำหนักเท้าที่แม่นเหมือนตราชั่งทอง ... ไม่ต้องสืบเลยว่า เดอ บรอยน์ ในช่วงเวลาที่พีกที่สุด คือ นักเตะระดับเอซของทีม ๆ นี้อย่างแน่นอน
เดนมาร์ก : "เพราะ เยอรมัน และ ลิเวอร์พูล คือแรงบันดาลใจ"
เดนมาร์ก เป็นทีมที่ทำผลงานได้ดีมาตลอด 4 ปีหลังสุด ก่อนหน้านี้โค้ชของพวกเขามีชื่อว่า อาเก้ ฮาไรด์ (Åge Hareide) และพาทีมเตรียมจะได้ไป ยูโร 2020 อยู่แล้วทว่าหลังการระบาดของ โควิด-19 ทำให้สัญญาของเขามีปัญหา และเกิดการยกเลิกสัญญากันไป จากนั้นจึงมีการตั้งมวยแทนอย่าง แคสเปอร์ ยูลมันด์ (Kasper Hjulmand) เข้ามาทำหน้าที่แทน
แม้จะไม่ได้มีประสบการณ์มากมาย แต่ แคสเปอร์ ยูลมันด์ มั่นใจกับภารกิจของเขา เขาเป็นยอดนักอ่าน และเป็นคนบ้าฟุตบอลที่ศึกษาวิธีการเล่นและวิธีการทำทีมของมหาอำนาจของฟุตบอลแต่ละยุค ซึ่งเขาเชื่อว่าโมเดลของ เยอรมนี ในฟุตบอลโลกปี 2014 และ ลิเวอร์พูล ชุดแชมป์ยุโรปปี 2019 คือ สิ่งที่เขาจะนำมาปรับปรุงให้กับทีม เดนมาร์ก ของเขา ... ไม่ใช่วิธีการเล่น แต่เป็นความมุ่งมั่น การอุทิศตน และการเป็นทีมที่จะไม่ยอมล้มง่าย ๆ เพราะมีแฟนบอลคอยหนุนหลัง
"ถ้าเราจะหาความได้เปรียบในการแข่งขัน ก่อนอื่นคือเราในฐานะชาติเล็ก ๆ ต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเราเป็นใคร ... ไม่ใช่แค่นักเตะ แต่แฟน ๆ เองก็ต้องรู้สึกด้วยว่าพวกเขาคือส่วนหนึ่ง และส่วนสำคัญของทีมฟุตบอลทีมนี้" เขาว่าเช่นนั้น
สาเหตุที่เขากล้าฝัน เพราะปาฏิหาริย์เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับทีมชาติเดนมาร์ก ในยูโร ปี 1992 ที่เดนมาร์ก สามารถเป็นแชมป์ได้อย่างเหลือเชื่อ นั่นทำให้พวกเขารู้ว่า "โอกาส" มีอยู่เสมอ
แม้ เดนมาร์ก จะไม่ได้มีนักเตะที่เก่งกาจอยู่เต็มทีม และดูจะเป็นรองเบลเยียมทีมเพื่อนร่วมกลุ่ม ซึ่งใครต่อใครต่างก็รู้ว่ายากที่พวกเขาจะไปถึงแชมป์ แต่สิ่งเดียวที่ ยูลมันด์ บอกกับลูกทีมของเขาคือ "พวกเราเคยทำได้มาแล้ว" และนั่นคือคำปลุกใจที่ดีที่สุดเท่าที่เขาจะพูดได้
"ทีมชุดปี 1992 คือสิ่งที่รักษาความฝันให้ยังคงอยู่กับพวกเรา และเราคิดจริง ๆ ว่ามันเป็นไปได้ที่จะทำให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นอีกครั้ง" แคสเปอร์ ยูลมันด์ กล่าวทิ้งท้าย
- ผลงานโดดเด่นในอดีต
ไมมีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่า "เทพนิยายเดนส์" ในปี 1992 ที่พวกเขาเป็นแชมป์ยูโรอีกแล้ว จากทีมที่เข้าแข่งขันในฐานะตัว "ทีมแทน" หลังจาก ยูโกสลาเวีย ถูกตัดสิทธิ์จากปัญหาสงครามในประเทศ สุดท้าย เดนมาร์กเอาชนะเยอรมันในรอบชิงชนะเลิศได้อย่างยิ่งใหญ่
- นักเตะดาวเด่น : คริสเตียน เอริคเซ่น
กองกลางตำแหน่งจอมทัพจาก อินเตอร์ มิลาน คือนักเตะที่ติดทีมชาติมากที่สุดในทีมชุดนี้ และแน่นอนว่าเขายังคงเป็นตัวอันตรายที่สุดไม่ต่างจากการแข่งขันครั้งไหน ๆ เนื่องด้วยเดนมาร์กชุดนี้ มีสภาพทีมที่ไม่ได้แข็งแกร่งมากนัก จุดเด่นของเอริคเซ่น ในการออกบอลแบบคิลเลอร์พาส การยิงไกล และการเล่นลูกนิ่ง จึงเป็นอาวุธสำคัญที่จะสร้างความแตกต่างให้กับทีมอย่างแน่นอน
ฟินแลนด์ : "THE DREAM OF GENERATIONS"
แถบสแกนดิเนเวีย ในเรื่องราวของฟุตบอลนั้น มักจะมีแต่เรื่องของพี่ใหญ่อย่าง สวีเดน, เดนมาร์ก และ นอร์เวย์ เป็นหลัก ทว่าในยูโร 2020 นี้ ฟินแลนด์ กล้าพูดว่าประเทศของพวกเขากลับมาเป็นเมืองฟุตบอลอีกครั้ง
เดิมทีฟินแลนด์ไม่ได้นิยมฟุตบอลเป็นอันดับแรก พวกเขาให้ความสำคัญของฮอกกี้น้ำแข็ง หรือแม้กระทั่งมอเตอร์สปอร์ตอย่าง F1 และ WRC มากกว่า จนกระทั่งความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในฟุตบอลยูโร 2020 รอบคัดเลือกที่พวกเขาทำผลงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากการนำทีมของ ตีมู ปุ๊กกี้ กองหน้าตัวเก่งจาก นอริช ซิตี้ ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ และ โจเอล โพห์จานพาโล จาก ยูนิโอน เบอร์ลิน ในบุนเดสลีกา เยอรมัน
ชัยชนะแต่ละนัดกลายเป็นกระแสเรียกแฟนบอลกลับมาทีละนิด ทีละนิด จนเต็มสนาม และสุดท้าย ฟุตบอลก็กลายเป็นไวรัลระดับประเทศ เมื่อฟินแลนด์เปิดบ้านชนะลิกเตนสไตน์ และกลายเป็นทีมที่ตีตั๋วเข้าไปเล่นรอบสุดท้าย
วินาทีนั้นเหมือนการปิดประเทศ สนามฟุตบอลที่จุได้เพียง 10,000 คน (อ่านไม่ผิดหรอก เพราะ เตอเลอ ฟุตบอล สเดเดียม สนามที่ใช้แข่งวันนั้นจุดผู้ชมได้เท่านั้นจริง ๆ) ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แฟน ๆ รวมตัวกันตามแฟนโซน และร่วมกันร้องตะโกนด้วยความดีใจ ซึ่งเป็นการบอกว่าที่ฟุตบอลไม่ได้รับความนิยม อาจจะเป็นเพราะพวกเขาไม่เคยมีบรรยากาศแห่งความสุขแบบนี้ก็เป็นได้
"นี่คือวันที่เราสนุกมากที่สุดในชีวิต ร้านรวงปิดฉลองชัยชนะ ผู้คนเต็มไปหมดตามท้องถนน นี่คือ 'The Dream of Generations' (ความฝันชั่วอายุคน) เราเดินทางมาไกลมาก คุณสามารถเอาความสำเร็จนี้ไปเทียบกับวันที่อังกฤษได้แชมป์ฟุตบอลโลกปี 1966 ได้เลย ... ความรู้สึกของชาวฟินแลนด์เป็นแบบนั้นจริง"
"3 ปีที่แล้วไม่มีใครกล้าคิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้น ความดีใจที่สุดคือ ฟินแลนด์ กลายเป็นดินแดนแห่งฟุตบอลกับเขาเสียที" ทูโอโม นีมี่ แฟนบอลฟินแลนด์พันธุ์แท้ว่าไว้
เรื่องนี้เป็นความฝันของคนฟินแลนด์อย่างแท้จริง แม้แต่ประธานาธิบดีของประเทศอย่าง อันเต รินน์ ยังเก็บอารมณ์ไม่อยู่ โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวเป็นเพลงเชียร์ประจำประเทศที่มีความหมายว่า "โอ้ ฟินแลนด์ โอ้ ฟินแลนด์ โอ้ ฟินแลนด์ ในที่สุดก็ได้แชมป์"
- ผลงานโดดเด่นในอดีต
นี่คือการแข่งขันระดับเมเจอร์ครั้งแรกของทีมชาติฟินแลนด์ และนั่นมันขยายความที่เราเล่าไว้ข้างต้นว่าทำไมพวกเขาจึงดีใจระดับปิดประเทศฉลอง ... เพราะครั้งสุดท้ายที่ฟุตบอลให้ความสุขกับพวกเขาคือ การคว้าอันดับ 4 ในโอลิมปิกเกมส์ เมื่อปี 1912 ... และนั่นผ่านมาเกิน 100 ปีแล้ว
- นักเตะดาวเด่น : ตีมู ปุ๊กกี้
กองหน้าจาก นอริช มีส่วนสำคัญอย่างมากในการพาฟินแลนด์ ฝ่าฟันมาถึงความฝันชั่วอายุคน ดาวยิงที่มีความเฉียบขาดในกรอบเขตโทษ และขยันวิ่งไม่มีหยุด คือ ความหวังสูงสุดของชาวฟินแลนด์ในรอบสุดท้าย พวกเขาหวังเหลือเกินว่าจะได้จัดงานที่เรียกว่า "ปุ๊กกี้ ปาร์ตี้" อีกครั้ง เหมือนที่เคยปิดเมืองปาร์ตี้มาแล้วในวันที่ทีมผ่านเข้ารอบสุดท้าย
รัสเซีย : เมื่อถึงเวลาก็ต้องเลือกเดินบนความเสี่ยง ... เพื่ออนาคต
ทีมที่ทำผลงานได้ดีในฟุตบอลโลกปี 2018 อย่าง รัสเซีย เปลี่ยนแปลงทีมไปเยอะเลยทีเดียวสำหรับการแข่งขันยูโร 2020 ครั้งนี้ และการเปลี่ยนแปลงบางข้อก็ยังเป็นที่ข้องใจสำหรับแฟน ๆ ของพวกเขา
3 ผู้เล่นที่ดีที่สุดและเก๋าที่สุดในตำแหน่งของตัวเองอย่าง อิกอร์ อคินเฟเยฟ, เซอร์เกย์ อิกนาเชวิช และ อเล็กซานเดอร์ ซาเมดอฟ ประกาศเลิกเล่นทีมชาติเมื่อฟุตบอลโลก 2018 จบลง ทว่าปัญหาก็เกิดขึ้นหลังจากนั้น เพราะนักเตะหลายคนยังทดแทนไม่ได้จนแฟน ๆ เรียกร้องให้นักเตะบางคนกลับมา อาทิ อคินเฟเยฟ ที่ว่ากันว่าเป็นมือโกลที่ดีที่สุดในประเทศ
อย่างไรก็ตาม สตานิสลาฟ เชอร์เชซอฟ กุนซือของทีมได้ตัดสินใจแล้วว่าเขาจะเลือกใช้ทีมชุดที่ดีที่สุด และชุดที่ช่วยทำให้ทีมผ่านรอบคัดเลือกมา โดยไม่เรียกใช้อดีตฮีโร่ของชาติตามคำเรียกร้องของแฟน ๆ
"ผมไม่เคยสนใจเรื่องอายุ ผมไม่คิดจะดูพาสปอร์ตของลูกทีม ตราบใดที่พวกเขาทำให้ทีมชนะก็ไม่มีอะไรมาหยุดพวกเขาได้ ทุกอย่างมันมีธรรมชาติของมัน และผมจะบอกว่า อิกอร์ อคินเฟเยฟ ยังไม่พร้อมที่จะช่วยเรา ผมขอจบคำตอบเพียงเท่านั้น" เชอร์เชซอฟ กล่าว
การเป็นคนที่ชอบพูดขัดหูแฟน ๆ ทำให้ เชอร์เชซอฟ ไม่ได้เป็นที่นิยมของแฟนบอลรัสเซียนัก แต่เขาก็ไม่ได้สนใจอะไร ทุกอย่างถูกตอบชัดเจนที่สุดด้วยผลงานในสนาม นั่นคือสิ่งเดียวที่เขาเชื่อมั่นมาเสมอ
- ผลงานโดดเด่นในอดีต
ตามหน้าประวัติศาสตร์พวกเขาอาจจะเคยเป็นแชมป์ยุโรปมาแล้ว แต่นั่นมันสมัย สหภาพโซเวียต ในปี 1960 ... ทว่าในนามของ รัสเซีย นั้น ดีที่สุดคือรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลกปี 2018 และรอบ 4 ทีมสุดท้ายในศึกยูโรปี 2008 เท่านั้น
- นักเตะที่น่าจับตามอง : อาร์เต็ม ซูบา
กองหน้าที่เก่งและครบเครื่องที่สุดในประเทศรัสเซีย อย่าง อาร์เต็ม ซูบา คือคนที่ต้องรับหน้าจบสกอร์หนักกว่าใครเพื่อน เพราะนักเตะในทีมชุดนี้เป็นนักเตะที่ไม่เด็กเกินไปก็แก่ไปเลย
ซูบา เป็นกองหน้าสายพักบอลและรอเข้าฮอร์ส เป็นเบอร์ 9 สไตล์โบราณ และนั่นทำให้ภารกิจของเขาอาจจะต้องมากกว่าเดิมสักเล็กน้อย เพราะนอกจากจะพยายามหาทางยิงประตูเองแล้ว หน้าที่ของเขาคือการเปิดพื้นที่ให้กับนักเตะคนอื่น ๆ ในเเนวรุกอีกด้วย
กลุ่ม C
ออสเตรีย : ลำนำแห่งโมสาร์ทที่ขาดหายไป
ออสเตรีย นับเป็นชาติแรก ๆ ที่นำการเล่น "กองหน้าตัวหลอก" หรือ False Nine มาใช้กับเกมลูกหนัง โดยคนที่เล่นในตำแหน่งศูนย์หน้าตัวกลาง จะยืนต่ำลงมาเพื่อให้ตัวเองมีที่ว่างในการทำเกมทั้งยิงและจ่าย อีกทั้งเปิดทางให้ตัวรุกคนอื่นสอดขึ้นมาทำประตู ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง จากการที่มีคีย์แมนคนสำคัญชื่อ มัทเธียส ซินเดลาร์ ศูนย์หน้าตัวกลางเจ้าของฉายา "โมสาร์ทลูกหนัง" ทำให้ทีมประสบความสำเร็จ คว้าอันดับ 4 ฟุตบอลโลก ปี 1934
อย่างไรก็ตามอีก 4 ปีต่อมา ออสเตรีย มีอันต้องถอนตัวจาก ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย เนื่องจาก ออสเตรีย ถูกนาซีผนวกดินแดนเข้ากับเยอรมนี เป็น ไรช์เยอรมัน ทำให้นักเตะออสเตรีย ถูกรวมทีมกับ เยอรมนี อย่างไรก็ตาม ซินเดลาร์ ได้ปฏิเสธการเข้าร่วมกับทีมชาติเยอรมนี ก่อนจะเสียชีวิตอย่างปริศนาในปี 1939
ออสเตรีย ห่างเหินจาก ฟุตบอลโลก ไป 20 ปี ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในปี 1954 จากการคุมทีมของโค้ช วอลเตอร์ นอสช์ อดีตกัปตันชุด วันเดอร์ทีม ผู้เคยอพยพจากกรุงเวียนนาไปยังเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากปฏิเสธนาซีที่ต้องการให้เขาแยกกันอยู่กับภรรยาชาวยิว ซึ่งครั้งนั้นทัพ "วิหคเพลิง" คว้าอันดับ 3 มาครอง อันเป็นผลงานที่ดีที่สุดของออสเตรียมาจนถึงปัจจุบัน
- ผลงานระดับชาติที่โดดเด่นในอดีต
ในอดีต ออสเตรีย ถือเป็นทีมที่มีผลงานอันโดดเด่นในยุคทศวรรษที่ 1930 และ 1950 ขุนพลแห่งลุ่มแม่น้ำดานูบ เคยเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก ในปี 1934 และ 1954 ก่อนจะจบลงที่อันดับ 4 และอันดับ 3 ตามลำดับ จากรูปแบบการเล่นอันสวยงามจนได้รับการขนานนามว่าเป็น "วันเดอร์ทีม" และจนถึงตอนนี้ นักเตะรุ่นหลานก็ยังไม่สามารถทำผลงานเทียบเคียง​ได้ ส่วนในยูโร ผลงานดีที่สุด คือการเข้ารอบสุดท้ายในปี 2008 และ 2016 ก่อนจอดป้ายที่รอบแบ่งกลุ่มทั้ง 2 ครั้ง
- นักเตะเด่น : ดาวิด อลาบา
ดาวิด อลาบา แม้ว่าตอนค้าแข้งกับ บาเยิร์น มิวนิค จะประจำการในแนวรับเสียมากกว่า แต่ด้วยความเอนกประสงค์ของเจ้าตัว เขาถูกปรับบทบาทให้มีส่วนร่วมในแนวรุกมากขึ้นในทีมชาติ โดยประสานงานกับ มาร์เซล ซาบิตเซอร์ จาก ไลป์ซิก และ ซาซ่า คาลัดซิช จาก สตุ๊ตการ์ท รวมถึง มาร์โก อาร์เนาโตวิช จาก เซี่ยงไฮ้ พอร์ท ในการเจาะแนวรับฝั่งตรงข้าม
เนเธอร์แลนด์ : อาถรรพ์พระรอง (เกือบ) ตลอดกาล
เนเธอร์แลนด์ นับเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำด้านฟุตบอลมาช้านาน นับตั้งแต่ทีมชาติลงเล่นนัดแรกเมื่อปี 1905 พวกเขาก็เข้ารอบลึก ๆ ของรายการใหญ่อย่างสม่ำเสมอ
โดยช่วงเวลาที่สร้างชื่อ คือช่วงทศวรรษที่ 1970 จากระบบ "โททัล ฟุตบอล" อันโด่งดัง ที่นักเตะทุกคนสามารถหมุนเวียนตำแหน่งได้ตลอด โดยมี โยฮัน ครัฟฟ์ เป็นฟันเฟืองสำคัญในการคว้ารองแชมป์โลกเมื่อปี 1974 ก่อนจะถอนตัวจากทีมในอีก 4 ปีถัดมา เนื่องจากเขาและครอบครัวถูกโจรพยายามลักพาตัว ในปี 1977 ทำให้ต้องใช้เวลาในการดูแลครอบครัว และเหตุผลอีกส่วนหนึ่ง คือต้องการแสดงการต่อต้านการรัฐประหารของอาร์เจนตินา ทีมเจ้าภาพในปีนั้น
นักเตะจากแดนกังหันลมต้องรออีก 10 ปีต่อมา กว่าจะได้แชมป์แรกในประวัติศาสตร์ นักเตะชุดนั้นนำโดย 3 ทหารเสือ มาร์โก ฟาน บาสเท่น, รุด กุลลิท และ แฟรงค์ ไรจ์การ์ด พาเนเธอร์แลนด์เป็นชนะเลิศฟุตบอลยูโร 1988 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ได้แค่เกือบมาตลอด ทำให้ต้องลุ้นกันว่าพวกเขาจะซิวแชมป์สมัยที่ 2 มาครองได้หรือไม่
- ผลงานระดับชาติที่โดดเด่นในอดีต
เนเธอร์แลนด์ มีฉายาว่า "ราชันไร้มงกุฎ" จากการที่เข้ารอบลึก ๆ ในทัวร์นาเมนต์ใหญ่มาตลอด ตั้งแต่รองแชมป์ฟุตบอลโลก 3 สมัย (1974 , 1978 , 2010) อันดับ 3 ฟุตบอลโลก (2014) อันดับ 4 ฟุตบอลโลก (1998) แต่กลับได้แชมป์เพียงครั้งเดียวคือ ยูโร 1988
2
- นักเตะเด่น : เมมฟิส เดปาย
อดีตดาวรุ่งของ พีเอสวี ทีมในบ้านเกิด เมมฟิส เดปาย ย้ายไปล้มเหลวกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก่อนจะกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งกับ ลียง ทีมดังของฝรั่งเศส โดยในฤดูกาลล่าสุด เขาเป็นนักเตะที่ยิงมากที่สุดและจ่ายบอลให้เพื่อนทำประตูมากที่สุดในทีม จนได้รับเลือกจากสมาคมนักฟุตบอลอาชีพฝรั่งเศส ให้ติดทีมยอดเยี่ยมประจำฤดูกาล 2020-21 เหลืออย่างเดียวที่ยังทำไม่ได้คือ พาทีมคว้าแชมป์ ลีก เอิง เป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี
มาซิโดเนียเหนือ : ปฐมบทแห่งทัวร์นาเมนต์นานาชาติ
ก่อนหน้านี้ มาซิโดเนียเหนือ อยู่ภายใต้การปกครองของ ยูโกสลาเวีย ทำให้ทีมชาติมาซิโดเนียเหนือจะมีการรวมตัวกันเฉพาะแมตช์พิเศษที่พบกับทีมจากสาธารณรัฐอื่น ๆ ที่อยู่ในการปกครองของยูโกสลาเวียด้วยกันเท่านั้น
แม้จะได้รับเอกราชในปี 1991 แต่มาซิโดเนียเหนือต้องรออีก 2 ปี กว่าจะได้เล่นเกมอย่างเป็นทางการนัดแรกในเกมกระชับมิตรที่ชนะ สโลวีเนีย 4-1 และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ฟีฟ่า และ ยูฟ่า ในปีถัดมา
มาซิโดเนียเหนือเข้าร่วมทัวร์นาเมนต์นานาชาติครั้งแรกคือ ยูโร 1996 รอบคัดเลือก และประเดิมด้วยการเสมอแชมป์เก่า เดนมาร์ก 1-1 อย่างไรก็ตามพวกเขายังไม่เคยเข้ารอบสุดท้ายรายการใด ๆ จนกระทั่ง ยูโร 2020 ครั้งนี้
- ผลงานระดับชาติที่โดดเด่นในอดีต
ระยะเวลา 28 ปี จากเกมระดับทีมชาตินัดแรก ดูจะยังเร็วไปสำหรับมาซิโดเนียเหนือในการคว้าแชมป์ระดับเมเจอร์สักใบ หากจะหาความสำเร็จเล็ก ๆ นอกจากการได้เล่นยูโรเป็นครั้งแรก ก็คงจะเป็นผลงานใน ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก ที่เลื่อนชั้นจาก ลีก D ในฤดูกาล 2018-19 มาเป็น ลีก C ในฤดูกาล 2020-21
- นักเตะเด่น : โกรัน ปานเดฟ
เจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดและลงเล่นมากสุดตลอดกาลของมาซิโดเนียเหนือ อีกทั้งยังเป็นกัปตันทีมของทีมชุดนี้ ด้วยวัย 37 ปี โกรัน ปานเดฟ ประสบความสำเร็จอย่างสูง ผ่านการคว้าแชมป์กับ ลาซิโอ, อินเตอร์ มิลาน, นาโปลี มาทุกแชมป์ไม่ว่าจะเป็น กัลโช่ เซเรีย อา, โคปปา อิตาเลีย, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และสโมสรโลก ขาดเพียงอย่างเดียว คือความสำเร็จระดับทีมชาติ ซึ่งการเข้ารอบสุดท้ายยูโรหนนี้แหละ คือผลงานชิ้นโบแดงที่เขาทำให้ชาติแล้ว
ยูเครน : มรดกฟุตบอลจากรุ่นสู่รุ่น
ก่อนที่ ยูเครน จะเป็นเอกราชจาก สหภาพโซเวียต เมื่อปี 1991 ระหว่างนั้น พวกเขาก็มีทีมชาติเป็นของตัวเองอย่างไม่เป็นทางการ โดยจะลงเตะเฉพาะแมตช์พิเศษหรือระหว่างทีมชาติที่อยู่ภายใต้สหภาพโซเวียต ด้วยกัน
ในอดีต ความสำเร็จในเกมลูกหนังของสหภาพโซเวียต ส่วนหนึ่งมาจากยูเครน โดยเฉพาะ ยูโร 1988 ที่โซเวียต เป็นรองแชมป์ 7 จาก 11 คนเป็นชาวยูเครน และ วาเลรี่ โลบานอฟสกี้ กุนซือในขณะนั้นก็เป็นชาวยูเครน แต่หลังจาก โซเวียต ล่มสลายใหม่ ๆ ผู้เล่นฝีเท้าดีของยูเครน กลับเลือกที่จะไปเล่นให้กับรัสเซีย ทำให้ ยูเครน ต้องตั้งหลักอยู่นานกว่าจะได้เข้ารอบสุดท้ายทัวร์นาเมนต์เมเจอร์ครั้งแรกใน ฟุตบอลโลก ปี 2006 พร้อมกับทำผลงานทะลุเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายได้ทันที
ซึ่งหนึ่งในขุนพลชุดนั้นอย่าง อังเดร เชฟเชนโก้ ได้กลายมาเป็นเฮดโค้ชทีมชุดนี้ จึงเป็นที่จับตามองว่า เจ้าตัวจะสามารถสานต่อจากสมัยที่เป็นนักเตะได้หรือไม่
- ผลงานระดับชาติที่โดดเด่นในอดีต
ในชื่อของ สหภาพโซเวียต พวกเขาเคยคว้าแชมป์ ยูโร 1960 พร้อมกับรองแชมป์อีก 3 สมัย (1964 , 1972, 1988) ส่วนฟุตบอลโลก เคยเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศ ปี 1966 แต่ความสำเร็จในฐานะ ทีมชาติยูเครน ยังต้องรอต่อไป โดยผลงานที่ดีที่สุดคือการผ่านเข้าไปเล่นรอบก่อนรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก ปี 2006
1
- นักเตะเด่น : โรมัน ยาเรมชุค
แม้จะมี โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก้ กับ อังเดร ยาโมเลนโก้ 2 แข้ง พรีเมียร์ลีก ที่เล่นให้กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด อยู่ในทีมชุดนี้ แต่ถ้าพูดถึงภาระในการจบสกอร์คงต้องอยู่ที่ โรมัน ยาเรมชุค กองหน้าจาก เกนท์ ทีมใน จูปิแลร์ โปร ลีก ในเบลเยียม ด้วยผลงาน 17 ประตู รั้งอันดับ 4 ดาวซัลโวของลีกเป็นตัวพิสูจน์ได้อย่างดี
กลุ่ม D
โครเอเชีย : สานต่อความสำเร็จในฟุตบอลโลก
โครเอเชีย เป็นหนึ่ง 1 ใน 2 ประเทศที่แยกตัวมาจาก ยูโกสลาเวีย เช่นเดียวกับ มาซิโดเนียเหนือ ในยูโรหนนี้ แต่ที่แตกต่างจากมาซิโดเนียเหนือก็คือ สมาคมฟุตบอลโครเอเชีย เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ตั้งแต่ปี 1941 ในชื่อของ รัฐเอกราชโครเอเชีย ที่สถาปนาขึ้นในปี 1941 ก่อนจะกลับไปอยู่ภายใต้ ยูโกสลาเวีย อีกครั้ง ในปี 1945 ซึ่งตอนนั้นพวกเขาก็ยังไม่ได้เข้าร่วมทัวร์นาเมนต์อย่างเป็นทางการ และในฟุตบอลโลก รวมถึง ยูโร ยังมีนักเตะโครเอเชียหลายคนต้องเล่นในนามยูโกสลาเวีย โดยทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติที่พวกเขาลงเล่นเป็นครั้งแรกคือ ยูโร 1996 และเพียงทัวร์นาเมนต์แรกที่เข้าร่วม โครเอเชีย ก็เข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายทันที
- ผลงานระดับชาติที่โดดเด่นในอดีต
โครเอเชีย ใช้เวลาเพียง 7 ปี นับจากประกาศเอกราช คว้าอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 1998 ณ ประเทศฝรั่งเศส ชนิดหักปากกาเซียน และอีก 20 ปีต่อมา ขุนพลตราหมากรุก ก็ทำผลงานดีขึ้นอีกขั้น เมื่อก้าวไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ก่อนจะพ่ายต่อ ฝรั่งเศส ด้วยสกอร์ 2-4
ส่วนใน ยูโร พวกเขายังไม่เคยไปไกลกว่ารอบ 8 ทีมสุดท้าย ซึ่งต้องลุ้นกันว่าพวกเขาจะสามารถทำลายมาตรฐานเดิมในทัวร์นาเมนต์ระดับทวีปได้หรือไม่
- นักเตะเด่น : ลูก้า โมดริช
กัปตันทีมโครเอเชียเจ้าของสถิติลงเล่นมากที่สุดตลอดกาล 138 นัดรายนี้ ถือเป็นหนึ่งในขุนพลชุดรองแชมป์โลกเมื่อ 3 ปีก่อน และยังเป็นนักเตะที่อายุมากสุดในทีมชุดนี้ ด้วยประสบการณ์ระดับนานาชาติอันท่วมท้น พร้อมทั้งความสำเร็จกับ เรอัล มาดริด ชนิดกวาดมาทุกแชมป์ตั้งแต่ ลา ลีกา, โคปา เดล เรย์, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และสโมสรโลก มิดฟิลด์วัย 35 ปี พร้อมแล้วที่จะพาน้อง ๆ ไปถึงฝั่งฝัน
1
อังกฤษ : FOOTBALL'S COMING HOME (AGAIN ?)
อังกฤษ นับได้ว่าเป็นต้นกำเนิดฟุตบอลสมัยใหม่ แม้จะมีกีฬาที่คล้ายคลึงกันในหลายที่ทั่วโลกมาเป็นเวลานับพันปี แต่ฟุตบอลที่เราเห็นกันอยู่ ณ ปัจจุบัน ถูกวางรูปแบบมาจากประเทศอังกฤษ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากโรงเรียน ที่มีการจัดทีม และแข่งกันระหว่างสถาบันต่าง ๆ
1
และ ทีมชาติอังกฤษ ก็ถือเป็นทีมชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลกร่วมกับ สกอตแลนด์ โดยแมตช์ทีมชาติแมตช์แรกของโลก เกิดจากการที่ทั้ง 2 ทีมมาเจอกันในปี 1872 ซึ่งเราได้เห็นระบบแรกเริ่ม 1–1–8 หรือ 1–2–7 ที่อังกฤษใช้ โดยห้อยกองหลังไว้คนเดียว และเน้นสาดยาวให้เพื่อนร่วมทีมที่อยู่ข้างหน้า ใช้ความสามารถเฉพาะตัวเลี้ยงเข้าไปยิงประตู
เมื่อเวลาผ่านไป แทคติกก็เริ่มสอดรับกับเกมรับมากขึ้น มีการเริ่มใช้ระบบ 2–3–5 ในช่วงทศวรรษ 1890 , 3-2-2-3 ในช่วงทศวรรษ 1920 , 3–3–4 ในทศวรรษ 1950 จนกระทั่งใกล้เคียงปัจจุบันมากขึ้น ในระบบ 4–1–3–2 ที่พาทีมเป็นแชมป์โลก ในปี 1966
- ผลงานระดับชาติที่โดดเด่นในอดีต
เกียรติประวัติสูงสุดของ ทีมชาติอังกฤษ คือการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก ปี 1966 ที่ตนเองเป็นเจ้าภาพ และอันดับ 4 สองครั้งปี 1990 และ 2018 ส่วนยูโร พวกเขาไปไกลสุดเพียงรอบรองชนะเลิศ ปี 1968 และ 1996 พ่วงด้วยอันดับ 3 ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก ฤดูกาล 2018–19 ซึ่งจากการที่ เวมบลีย์ ถูกใช้เป็นสังเวียนนัดชิงชนะเลิศ จึงเป็นที่น่าสนใจว่า อังกฤษ จะคว้าแชมป์ ยูโร สมัยแรกได้หรือไม่
- นักเตะเด่น : แฮร์รี่ เคน
กองหน้ากัปตันทีม และเป็นความหวังสูงสุดของอังกฤษ แฮร์รี่ เคน คือดาวยิงที่ดีที่สุดของประเทศในปัจจุบัน การันตีด้วยการเป็นดาวซัลโวสูงสุด พรีเมียร์ลีก 3 สมัย 2015–16, 2016–17, 2020–21 และปีนี้เจ้าตัวยังได้รับรางวัลแอสซิสต์มากสุดในลีกด้วย การันตีถึงความครบเครื่องของสตาร์จาก ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ เป็นอย่างดี
1
สาธารณรัฐเช็ก : ปาฏิหาริย์แห่งปราก
สาธารณรัฐเช็ก เคยเป็นส่วนหนึ่งของ เชคโกสโลวาเกีย ก่อนจะมีการแบ่งเป็น 2 ประเทศเมื่อปี 1993 หลังจากระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ผู้นำทางการเมืองของสโลวักแยกตัวไปตั้งประเทศใหม่ในชื่อของ สโลวาเกีย ซึ่งทีมชาติเช็กก็ถูกฟอร์มทีมขึ้นมาในปี 1994 และผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายใน ยูโร 1996 โดยมีบรรดานักเตะดาวรุ่งอย่าง พาทริก แบร์เกอร์, พาเวล เนดเวด, คาเรล โพบอร์สกี้, วลาดิเมียร์ สมิเซอร์ ซึ่งทีมชุดนี้กลายเป็นก้าวขึ้นไปเป็นรองแชมป์ โดยพ่ายต่อ เยอรมนี 1-2 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ
- ผลงานระดับชาติที่โดดเด่นในอดีต
แน่นอนว่าการเป็นรองแชมป์ยุโรปปี 1996 ยังคงเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของเช็กมาจนถึงทุกวันนี้ ที่ใกล้เคียงสุดคือรอบรองชนะเลิศในยูโร 2004 ขณะที่ฟุตบอลโลก พวกเขาเคยเข้ารอบสุดท้ายเพียงครั้งเดียวเมื่อปี 2006 ถือว่ายังห่างไกลจากสมัย เชคโกสโลวาเกีย ที่เคยเป็นแชมป์ยูโร ปี 1976 และรองแชมป์โลกอีก 2 ครั้งในปี 1934 กับ 1962 ซึ่งคงต้องลุ้นให้ปาฏิหาริย์​เกิดขึ้นกับทีมชุดนี้ หากต้องการ​วัดรอยความสำเร็จ​
2
- นักเตะเด่น : พาทริก ชิค
ตัวรุกวัย 25 ปี มีประสบการณ์ในการเล่น 2 ลีกดังอย่าง กัลโช่ เซเรีย อา และ บุนเดสลีกา กับ ซามพ์โดเรีย, โรม่า, ไลป์ซิก และ เลเวอร์คูเซ่น โดยยิงไป 13 ประตูรวมทุกรายการในระดับสโมสรเมื่อฤดูกาล 2020-21 ที่ผ่านมา ถือเป็นความหวังใหม่ในการทำประตูคู่แข่ง นับตั้งแต่หมดยุคของ แยน โคลเลอร์ กับ มิลาน บารอส ที่เลิกเล่นทีมชาติไปในทศวรรษที่แล้วเลยทีเดียว
สกอตแลนด์ : การคัมแบ็คในรอบ 23 ปี
สกอตแลนด์ ถือเป็น 1 ใน 2 ชาติที่มีฟุตบอลทีมชาติเก่าแก่ที่สุดในโลก และในปี 1884 ก็ได้มีการจัดแข่งขันฟุตบอลรายการ บริติช โฮม แชมเปี้ยนชิพ ที่นำเอา 4 ทีมในสหราชอาณาจักร ได้แก่ อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และ ไอร์แลนด์ (ต่อมาเป็น ไอร์แลนด์เหนือ) มาแข่งขันกัน ซึ่งถือเป็นรายการฟุตบอลระดับชาติที่เก่าแก่ที่สุด ก่อนจะยกเลิกไปในปี 1984 และฟุตบอลรายการนี้เองที่ทำให้ สกอตแลนด์ พัฒนาความเป็นคู่ปรับกับ อังกฤษ จนกลายเป็นคู่รักคู่แค้นไปในที่สุด
ในยุคแรกเริ่มของฟุตบอลสมัยใหม่ สกอตแลนด์ ถือเป็นทีมที่เก่งกาจ จากระบบ 2–2–6 ที่ริเริ่มการผ่านบอลไปยังเพื่อนร่วมทีม แทนที่จะเลี้ยงบอลหรือเตะสาดไปข้างหน้าอย่างเดียว โดยแพ้เพียง 2 เกมจาก 43 นัดแรก ระหว่างปี 1876-1904 น่าเสียดายที่ช่วงเริ่มต้นของฟุตบอลโลกในช่วงทศวรรษที่ 30 ไม่มี สกอตแลนด์ ร่วมฟาดแข้ง เพราะน่าจะสะท้อนถึงฟอร์มของแข้งสกอตในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี
โดย สกอตแลนด์ และอีก 3 ทีมในสหราชอาณาจักร ได้แก่ อังกฤษ, เวลส์ และ ไอร์แลนด์เหนือ ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกฟีฟ่า เนื่องจากมีปัญหาเรื่องคุณสมบัตินักเตะสมัครเล่นที่ส่งแข่งขันใน โอลิมปิก ปี 1928 จนไม่ได้เข้าร่วม ฟุตบอลโลก ใน 3 ครั้งแรก ก่อนที่ชาติในสหราชอาณาจักรจะกลับมาเป็นสมาชิกอีกครั้งในปี 1946
- ผลงานระดับชาติที่โดดเด่นในอดีต
ในสหราชอาณาจักรด้วยกัน สกอตแลนด์ ไม่เป็นสองรองใคร พวกเขาคว้าแชมป์ บริติช โฮม แชมเปี้ยนชิพ ไปถึง 24 ครั้ง เป็นแชมป์ร่วมอีก 17 ครั้ง แต่เมื่อพูดถึง ฟุตบอลโลก ที่เข้ารอบสุดท้าย 8 ครั้ง หรือ ยูโร ที่เข้ารอบสุดท้าย 3 ครั้ง ไม่เคยมีสักครั้งที่ไปไกลกว่ารอบแรก โดยครั้งล่าสุดที่พวกเขาเข้ารอบสุดท้ายทัวร์นาเม้นต์เมเจอร์ ต้องย้อนไปถึงฟุตบอลโลก 1998 เลยทีเดียว
- นักเตะเด่น : สกอตต์ แม็คโทมิเนย์
มิดฟิลด์วัย 24 ปี ได้กลายเป็นขาประจำในทีมชุดใหญ่ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แม้ในฤดูกาลนี้จะไม่สามารถพาทีมเป็นแชมป์ ที่เจ้าตัวก็ได้รับเลือกให้ติดทีมยอดเยี่ยม ยูฟ่า ยูโรปา ลีก ด้วยความขยันของเขา เชื่อว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเกมชั้นดีให้กับ สกอตแลนด์
กลุ่ม E
โปแลนด์ : บุกเข้าไป ... อย่ารอปาฏิหาริย์
การเข้ามาของกุนซือชาวโปรตุกีสอย่าง เปาโล ซูซ่า ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทีมชาติโปแลนด์โดยแท้จริง เดิมทีพวกเขาเป็นฟุตบอลที่เน้นผล และเข้าทำแบบฉาบฉวย ทว่าในยุคของ ซูซ่า เขาเปลี่ยนใหม่เป็นบุกใส่สถานเดียว
ซูซ่า ปรับทีมมาเล่นในระบบที่ยืดหยุ่น และลอกเลียนแผนดังอย่าง คาเตนัคโช่ ของ อิตาลี เมื่อเล่นเกมรับ กล่าวคือพวกเขาจะเล่นระบบกองหลัง 5 ตัวในยามที่เป็นฝ่ายตั้งรับ และจะเหลือกองหลังแค่ 3 คนในเวลาที่พวกเขาเป็นฝ่ายเอาบอลขึ้นไปบุก เขาสั่งให้ลูกทีมซ้อมเพิ่มสมรรถภาพร่างกายสูงมากในแต่ละเซสซั่นการฝึก เพื่อให้ทีมสามารถมีแรงพอจะเล่นเกมรุกทั้งทีม และรับทั้งทีม โดยเป้าหมายเกมบุกนั้น ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะต้องเป็น โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ จาก บาเยิร์น มิวนิค เจ้าของสถิติยิงประตูมากที่สุดในฤดูกาลเดียวในบุนเดสลีกา นั่นเอง
"เราต้องทำทุกอย่างออกมาให้เพอร์เฟกต์ เราต้องป้อนบอลให้เลวานดอฟสกี้ และตัวรุกคนอื่น ๆ เรามีกองหน้าระดับมือปืนที่เก่งที่สุดในโลก และนักเตะเกมรุกที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการแข่งขันนี้" ซูซ่า กล่าว
บุกเพื่อทำประตูคือปรัชญาของซูซ่า ผู้ไม่เคยเชื่อเรื่องปาฏิหาริย์ มีแค่เพียงการทำงานหนัก และการสื่อสารภายในทีมที่ดีเท่านั้น ที่จะทำให้โปแลนด์ของเขาสร้างความตื่นตาในการแข่งขันครั้งนี้
- ผลงานโดดเด่นในอดีต
อันดับ 3 ในฟุตบอลโลก 2 หน เมื่อปี 1974 และปี 1982 ... ส่วนผลงานที่ดีที่สุดในศึกชิงแชมป์ยุโรปคือการเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในการแข่งขันเมื่อปี 2016
- นักเตะดาวเด่น : โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้
119 นัด 66 ประตูในนามทีมชาติคือตัวเลขของเลวานดอฟสกี้ ที่น่าชื่นชม แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือฟอร์ม 2 ปีหลังสุดของเขากับ บาเยิร์น มิวนิค ที่เรียกได้ว่า "กองหน้าที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก" และในวัย 32 ปี นี่คือช่วงเวลาที่พีกที่สุดเท่าที่เลวานดอฟสกี้จะทำได้ ถ้าเขายิงเยอะ หรือพาทีมไปได้ไกลในยูโรครั้งนี้ มันย่อมส่งผลให้เขามีโอกาสเป็นนักเตะเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ 2021 นี้อย่างแน่นอน หลังจากที่ โควิด-19 พรากโอกาสในการคว้าบัลลงดอร์เมื่อปี 2020 ไป เนื่องจากไม่มีการประกาศรางวัลนั่นเอง
สโลวาเกีย : "สโลวักสไตล์ ไม่ชนะ ... ไม่มีแฟนบอล"
หากจะถามว่าทีมไหนที่ได้รับการสนับสนุนจากแฟน ๆ น้อยที่สุดในยูโร 2020 ครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคงจะเป็น สโลวาเกีย อย่างแน่นอน
เหตุผลอย่างแรกคือ ชาวสโลวาเกียไม่ได้คลั่งไคล้ฟุตบอลเป็นอันดับแรก พวกเขาชอบฮอกกี้น้ำแข็งซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมอันดับหนึ่ง และเหตุผลข้อสองคือพวกเขาเชื่อว่า นักเตะของพวกเขาท่าดี ... แต่ทีเหลว
"ก็พวกเขาไม่ใส่ใจเลยสักนิด ไม่แปลกหรอกที่แฟน ๆ จะบอกว่าพวกนักเตะไม่ให้ใจกับทีมชาติ 100%"
"พวกเขาเหมือนกับดารามากกว่า เล่นโซเชียลกันคึกครื้น แต่งตัวหล่อและรอยสักสุดเท่ ... พวกเขาเห็นส่วนนี้สำคัญกว่าเรื่องของผลการแข่งขัน" นี่คือ 2 วลีที่ The Guardian รวบรวมว่า "แฟน ๆ พูดอะไรกับทีม ๆ นี้บ้าง"
ผลงานที่จับต้องไม่ได้ทำให้แฟน ๆ อดไม่ไหวที่จะคิดเช่นนั้น นักข่าวฟุตบอลประจำประเทศสโลวาเกียอย่าง เดนนิก วราบลิก เล่าว่าวัฒนธรรมการเชียร์บอลของชาวสโลวักนั้นออกแนวแปลกๆ อยู่บ้าง เช่น ถ้าทีมแข่งแล้วแพ้ เกมหลังจากนั้นจะไม่มีคนดู และถ้าพวกเขาเกิดชนะเกมใหญ่ขึ้นมา หรือเจอทีมใหญ่ แฟนบอลก็แห่ซื้อตั๋ว 3-4 หมื่นใบจนหมดเกลี้ยง
อย่างไรก็ตามการแข่งขันหนนี้ สโลวาเกีย ภายใต้การทำทีมของ สเตเฟาน ทาร์โควิช นั้นใช้นักเตะรุ่นใหม่ โดยดึงจากทีมชุดที่คว้ารองแชมป์ยูโร ยู 21 เมื่อปี 2017 ขึ้นมาหลายคนทั้ง โรเบิร์ต โบเซนิก จาก เฟเยนูร์ด, โทมัส ซูสลอฟ และ ลาสซโล เบเนส ที่สวมหมายเลข 9, 10 และ 11 ในทีมชุดนี้ อีกทั้งยังมี มาเร็ค ฮัมซิค นักเตะที่เคยดังกับ นาโปลี ในอิตาลี เป็นจอมทัพในแดนกลางอีกด้วย
พวกเขาไม่ได้เชื่อมั่น แต่พวกเขาแค่หวังว่าทีมชาติสโลวาเกียเลือดใหม่จะนำชัยชนะกลับมา แม้จะไม่ได้หวังไกลถึงการเป็นแชมป์ แต่ขอให้ศรัทธากลับมา และหยุดสงครามจิตวิทยาที่เกิดขึ้นระหว่างนักเตะ กับแฟน ๆ ในรอบหลายปีที่ผ่านมาเสียที
- ผลงานโดดเด่นในอดีต
สาเหตุที่แฟน ๆ หมดศรัทธา นั่นก็เพราะสโลวาเกียไม่เคยทำผลงานได้ดีในระดับเมเจอร์เลย ไกลที่สุดที่พวกเขาทำได้คือการเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก 2010 และ ยูโร 2016 เท่านั้น
- นักเตะดาวเด่น : มาเร็ค ฮัมซิค
นักเตะที่ดีที่สุดในประเทศในรอบ 2 ทศวรรษ คือนักเตะที่เป็นปราการด่านแรกที่แฟนบอลชาวสโลวักพุ่งเป้าเมื่อทีมผลงานไม่ดี นั่นหมายความว่าเขาคือคนที่แบกรับความกดดันมากที่สุดในทีมชุดนี้
แม้อายุอานามจะไม่ใช่น้อย แต่ฮัมซิค ถือว่าเป็นมิดฟิลด์ยอดนักยิงประตูที่อันตรายอยู่ดี ทักษะการเล่นในกรอบเขตโทษที่ชี้เป็นชี้ตายได้ รวมถึงประสบการณ์ที่มากขึ้น ทำให้หน้าที่การควบคุมจังหวะเกมและเป็นรุ่นพี่ประคองน้อง ๆ ถือเป็นภารกิจหลักของฮัมซิค ใน ยูโร 2020 ครั้งนี้
สเปน : ความวุ่นวายไม่รู้จบของแชมป์ยุโรป 2 สมัย
นับตั้งแต่ฟุตบอลโลกปี 2018 สเปน ก็มีปัญหามาโดยตลอดไม่ว่าจะภายในหรือภายนอก ไฟต์แรกเริ่มจากการชิงตำแหน่งกุนซือกันระหว่าง หลุยส์ เอ็นริเก้ ที่ขอพักงานชั่วคราวเพื่อกลับไปดูแลลูกสาวที่ป่วย และมอบให้ผู้ช่วยอย่าง โรเบิร์ต โมเรโน่ ทำหน้าที่แทน ซึ่งโมเรโน่ก็ทำได้ดีจนมีกระแสเชียร์ให้เป็นกุนซือใหญ่เต็มตัวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเอ็นริเก้กลับมาอยู่ในสภาพจิตใจที่พร้อมทำงาน เขาก็ทวงเข้าอี้คืนและไล่โมเรโน่ออกด้วยการให้เหตุผลว่า "ทำตัวเป็นหอกข้างแคร่ ที่ทั้งทรยศ และทะเยอทะยานเกินไป"
และถึงแม้สเปนจะผ่านรอบคัดเลือกยูโร 2020 มาได้ แต่พวกเขาก็มีข่าววุ่นวายอีก เมื่อเอ็นริเก้ไม่ยอมเรียกนักเตะจาก เรอัล มาดริด มาติดทีมชาติสเปนชุดนี้เลยแม้แต่คนเดียว จนเกิดกระแสที่ว่าเขาชิงชังนักเตะจากมาดริด และเลือกที่รักมักที่ชังในการจัดทีมไปยูโรครั้งนี้ มิหนำซ้ำ ยังโชว์ความอินดี้สุดขีด ด้วยการเรียกนักเตะติดทีมแค่ 24 คน ไม่เต็มโควต้า 26 คนที่ยูฟ่ากำหนด
เท่านั้นยังไม่จบ เพราะก่อนแข่งขันก็ยังมีข่าวการติดเชื้อโควิดภายในแคมป์เก็บตัวทีมชาติ ได้แก่ เซร์คิโอ บุสเก็ตส์ และ ดิเอโก ยอเรนเต้ 2 แข้งเชิงรับของทีม จึงทำให้ทีมที่ควรจะได้ลงทีมซ้อมใหญ่ และซ้อมเสมือนจริง ต้องปรับแผนมาเป็นการแยกซ้อมเพื่อรักษาระยะห่างป้องกันการติดเชื้อเพิ่มอีกด้วย
สเปนมีนักเตะที่ดีแค่ไหนใครก็รู้ดี แต่ปัญหาคือเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นไม่รู้จักจบจักสิ้น และดูเหมือนว่า ทัพกระทิงดุกลายเป็น 1 ในทีมที่วุ่นวายมากที่สุดก่อนการแข่งขันมาถึง ซึ่งเอ็นริเก้จะผ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้หรือไม่ ... แฟน ๆ ทีมชาติสเปนคงต้องส่งกำลังใจกันหนักหน่อย
- ผลงานโดดเด่นในอดีต
ยุคทองของ สเปน คือยุคปี 2008 ถึง 2012 ที่พวกเขาเบิ้ลแชมป์ยุโรป 2 สมัยติดต่อกัน บวกกับฟุตบอลโลก 2010 อีก 1 รายการ ... ทว่าหลังจากนี้พวกเขาจะทำซ้ำได้หรือไม่ ? นี่คือคำถามที่หลายคนสนใจมากกว่าเรื่องราวในอดีต
- นักเตะน่าจับตามอง : เคราร์ด โมเรโน่
กองหน้าสัญชาติสเปนที่ดีที่สุดในฤดูกาล 2020-21 อย่าง เคราร์ด โมเรโน่ ได้โอกาสพิสูจน์ตัวเองในเวทีระดับชาติอย่างรวดเร็ว หลังนำ บียาร์เรอัล คว้าแชมป์ระดับเมเจอร์แรกของสโมสรกับถ้วย ยูโรปา ลีก
ณ เวลานี้ที่สเปนไม่ได้มีนักเตะระดับเกรด A เต็มทีมเหมือนแต่ก่อน จึงถึงเป็นไฮไลต์สำคัญ ที่โมเรโน่จะฉายแสงเพื่อเป็นความหวังของทีมชาติ และทำให้ใครๆ ได้รู้ว่าเขานั้นมีดีขนาดไหน
สวีเดน : "เมื่อพระเจ้าไม่ได้มาด้วย"
หลังจากที่ สวีเดน สามารถตีตั๋วเข้ารอบสุดท้ายในยูโร 2020 มีกระแสจากแฟนบอลเรียกร้องให้กุนซือ ยานน์ แอนเดอร์สัน เรียกตัวนักเตะที่เก่งที่สุดในประเทศอย่าง ซลาตัน อิบราฮิโมวิช กลับมาติดทีมชาติอีกครั้ง และหลังจากเกิดกระแสได้ไม่นาน ซลาตันก็โพสต์ทวิตเตอร์ว่า "พระเจ้ากลับมาแล้ว"
นั่นคือช่วงวินาทีที่ทุกคนยินดี ไม่มีใครคิดว่าเขาจะมาชุบมือเปิบ แม้จะประกาศเลิกเล่นทีมชาติไปแล้ว 5 ปี เพราะนักเตะอย่างซลาตัน นอกจากจะมีประสิทธิภาพแล้ว ความเป็นผู้นำของเขาก็สูงลิบชนิดหาตัวจับไม่ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นไม่นาน ซลาตันก็เกิดอาการเข่าพังต้องพักยาวไปอย่างน่าเสียดาย และสร้างความขวัญเสียให้กับแฟนบอล สวีเดน ไม่น้อย ... ทว่า "โชว์ต้องดำเนินต่อไป" แม้ไม่มีซลาตัน ก็ใช่ว่าพวกเขาจะสิ้นไร้ไม้ตอกเสียเมื่อไร สวีเดนเล่นแบบไม่มีซลาตันมา 5 ปี และพวกเขาเชื่อว่าต่อให้ครั้งนี้ไม่มีก็ไม่เป็นไร คำว่าทีมยังคงสำคัญที่สุด
"ถึงตรงนี้มีแต่ความเป็นทีมเท่านั้นที่จะพาเราทะยานไปข้างหน้า นี่คือกลุ่มที่ยาก แต่แน่นอนว่าเรายังมีโอกาสรออยู่เสมอ" แอนเดอร์สสัน กล่าว
จุดเด่นเดียวที่สวีเดนมีในตอนนี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของความเก๋าและประสบการณ์ ทีมชุดนี้มีนักเตะอายุเกิน 31 ปีถึง 10 คน และมีนักเตะอายุเกิน 34 ปีอีก 3 คน (อันเดรียส กรานควิสต์, มิคาเอล ลุสติก, กุสตาฟ สเวนสัน) .... ในเกมที่ต้องลุ้นกันนัดต่อนัดแบบนี้ บางทีประสบการณ์ของพวกเขาอาจจะมีประโยชน์มากกว่าที่คิด
- ผลงานโดดเด่นในอดีต
ดีที่สุดของทีมชาติสวีเดนคือ การคว้ารองแชมป์โลกในปี 1958 ส่วนระดับทวีปนั้นเกิดขึ้นในปี 1992 โดยในยูโรครั้งนั้นพวกเขาไปถึงรอบรองชนะเลิศมาแล้ว
- นักเตะดาวเด่น : อเล็กซานเดอร์ อิซัค
ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่านี่คือทีมคนแก่ ทว่านักเตะที่น่าจะสำคัญที่สุดในทีมชุดนี้ยังคงเป็นคนหนุ่มอย่าง อเล็กซานเดอร์ อิซัค กองหน้าวัย 21 ปี จาก เรอัล โซเซียดัด ที่เคยได้ฉายาว่า "นิว ซลาตัน" ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ เน้นความช้าแต่ชัวร์ของพวกตัวเก๋า ดูเหมือนว่าอิซัค และคู่หูแนวรุกอย่าง เอมิล ฟอร์สเบิร์ก จะต้องพยายามให้มากในการสร้างความแตกต่างในเกมรุก โดยเฉพาะรูปแบบการสวนกลับที่คาดว่าน่าจะเป็นทีเด็ดของทีมชุดนี้
กลุ่ม F
ฮังการี : ภารกิจทวงคืนความยิ่งใหญ่ของเดอะ แม็กยาร์
ย้อนกลับเมื่อหลายสิบปีก่อน ฮังการี ถือเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของฟุตบอลยุโรป ที่เคยสร้างผลงานน่าประทับใจในเวทีระดับนานาชาติมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น รองแชมป์ฟุตบอลโลก ปี 1938 และปี 1954 รวมถึงการคว้าอันดับ 3 ในยูโร ปี 1964
หากคุณสงสัยว่าทำไมฮังการีถึงเคยเก่งขนาดนั้น ? นั่นเป็นเพราะพวกเขาคือผู้คิดค้นแทคติก 2–3–3–2 แผนการเล่นที่อนุญาตให้ผู้เล่นเกมรับ และเกมรุก สลับตำแหน่งกันตามใจชอบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครหลายคนจะมองว่า นี่คือรากฐานของ "โททัล ฟุตบอล"
ช่วงยุค 1950s คือยุคทองของขุนพลแม็กยาร์ ทีมชาติฮังการีในเวลานั้นถูกขนานนามว่า "เดอะ โกลเดน ทีม" หลังพวกเขาเล่นฟุตบอลสวยงาม คว้าเหรียญทองโอลิมปิกในปี 1952 โดยมี เฟเรนซ์ ปุสกัส นักเตะเก่งที่สุดในโลกขณะนั้นเป็นผู้นำทีม
แต่หลังจากยุคทองของฟุตบอลฮังการีสิ้นสุดลง พวกเขาแทบไม่ปรากฏตัวในทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติอีกเลย โดยเฉพาะฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ที่เว้นว่างจากการแข่งขันในรอบสุดท้าย นับตั้งแต่ปี 1972 ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในยูโร 2016 ที่ผ่านมา
สำหรับยูโร 2020 ฮังการีเกือบเข้ามาไม่ถึงรอบสุดท้าย หลังจบอันดับ 4 ของกลุ่ม E ในรอบคัดเลือก แต่เนื่องจากผลงานอันน่าประทับใจในศึกเนชั่นส์ ลีก พวกเขาจึงเข้าสู่รอบเพลย์ออฟ และเอาชนะไอซ์แลนด์ 2-1 ตีตั๋วสู่การแข่งขันได้สำเร็จ
แม้จะถูกวิจารณ์ว่ามีจุดอ่อนเรื่องความสม่ำเสมอ เนื่องจากผลงานชนะ 4 แพ้ 4 ในรอบคัดเลือก แถมยังอยู่ในกลุ่มสุดหินของการแข่งขัน แต่การรับมือกับความกดดันในรอบเพลย์ออฟ จนก้าวเข้าสู่รอบสุดท้าย ขุนพลแม็กยาร์ในยูโร 2020 จึงไม่ใช่ทีมที่คู่แข่งสามารถประมาทได้เลย
- ผลงานเด่นระดับนานาชาติ
ฮังการีเคยคว้าตำแหน่งรองแชมป์ฟุตบอลโลก 2 ครั้ง ในปี 1938 และ 1954 ส่วนฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป พวกเขาไปได้ไกลสุดที่อันดับ 3 ในปี 1964 และยังเคยคว้าอันดับ 4 ในปี 1972
- นักเตะที่โดดเด่น : อดัม ซาไล
อาการบาดเจ็บของ โดมินิค โซบอสซ์ไล ส่งผลให้ฮังการีขาดเพลย์เมคเกอร์คนสำคัญ ความหวังในการผลิตประตูทั้งหมดของทีม จึงตกอยู่กับ อดัม ซาไล ศูนย์หน้าของ ไมนซ์ 05 เพียงผู้เดียว
ซาไลคือผู้เล่นที่ติดทีมชาติมากที่สุดในทีมชุดนี้ ด้วยจำนวน 71 นัด และเป็นนักเตะที่ยิงประตูได้มากที่สุด ด้วยจำนวน 23 ประตู จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะรับตำแหน่งกัปตันทีม และนักเตะตัวความหวังในทัวร์นาเมนต์นี้
เยอรมนี : ทัวร์นาเมนต์สุดท้ายของ โยอาคิม เลิฟ และขุนพลชุดแชมป์โลก
1
อดีตแชมป์ยุโรป 3 สมัย กำลังก้าวเท้าเข้าสู่ทัวร์นาเมนต์สำคัญ ด้วยบรรยากาศที่แตกต่างออกไปจากเคย ทัพอินทรีเหล็กไม่ได้อยู่ในช่วงท็อปฟอร์มเหมือนหลายปีก่อนหน้า แต่กำลังเข้าสู่ช่วงผลัดใบ เมื่อนักเตะ และเฮดโค้ชที่สร้างความยิ่งใหญ่ อยู่ในช่วงโรยรา
หลังจากคุมทีมชาติเยอรมันนานกว่า 15 ปี และคว้าตำแหน่งแชมป์โลก เมื่อปี 2014 โยอาคิม เลิฟ กำลังจะก้าวลงจากบทบาทบุนเดสเทรนเนอร์ หลังจากจบทัวร์นาเมนต์นี้ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์มากมายที่เกิดขึ้น จากผลงานระยะหลังของเขา
ตกรอบแรกฟุตบอลโลก 2018, แพ้ทีมชาติสเปนเละเทะ 0-6, จบอันดับสุดท้ายในกลุ่มของ ฟุตบอล เนชั่นส์ ลีก ฤดูกาล 2018-19 โดยไม่ชนะใคร และยังหาแทคติกหลักไม่ได้ นี่คือเรื่องราวสุดวายป่วงที่เกิดขึ้นกับทีมชาติเยอรมนี ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนมองว่า เป็นความรับผิดชอบของเลิฟแต่เพียงผู้เดียว
เมื่อหลังพิงฝา เลิฟจึงต้องกลับไปหาลูกน้องเก่า ที่เคยตัดออกจากทีมตั้งแต่จบฟุตบอลโลก 2018 นั่นคือ โธมัส มุลเลอร์ และ มัตส์ ฮุมเมิลส์ สองนักเตะประสบการณ์สูงในเกมรุกและรับ ซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายในการคืนชีวิตชีวาแก่ทัพอินทรีเหล็กอีกครั้ง
ยูโร 2020 จึงเป็นทัวร์นาเมนต์สั่งลาของ โยอาคิม เลิฟ รวมถึงนักเตะชุดแชมป์โลกที่ก้าวสู่บั้นปลายอาชีพ … มีเพียงเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า การแข่งขันซึ่งเป็นจุดจบของนักเตะรุ่นเก๋า จะเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จของทีมชาติเยอรมนียุคใหม่ได้หรือไม่ ?
1
- ผลงานเด่นระดับนานาชาติ
เยอรมนีถือเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จที่สุดในยุโรป จากตำแหน่งแชมป์โลก 4 สมัย ในปี 1954, 1974, 1990 และ 2014 นอกจากนี้ พวกเขายังครองเจ้ายุโรป อีก 3 ครั้ง ในปี 1972, 1980 และ 1996 ถือเป็นประเทศที่ครองแชมป์ยูโรมากที่สุด เท่ากับ สเปน
- นักเตะที่โดดเด่น : โธมัส มุลเลอร์
หลักจากประกาศว่าจะไม่ใช้งาน โธมัส มุลเลอร์ สุดท้าย โยอาคิม เลิฟ ก็ทนไม่ไหว เรียกนักเตะตัวรุกที่มีประสบการณ์ในเกมระดับนานาชาติมากที่สุดในทีมชุดนี้กลับมาติดทีมอีกครั้ง
ดาวเตะจาก บาเยิร์น มิวนิค คือผู้อยู่เบื้องหลังการถล่มประตูของ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ตลอด 2 ซีซั่นหลังที่ผ่านมา เขาเป็นนักเตะเกมรุกที่อยู่ถูกที่ถูกเวลา และเฉียบขาดที่สุดเมื่อโอกาสมาถึง แม้จะไม่ได้เร็วหรือเทคนิคดี แต่ที่สุดแล้ว หากเยอรมันต้องการใครสักคนในสถานการณ์ที่กดดันและตึงเครียด มุลเลอร์จะเป็นคน ๆ นั้นของพวกเขาอย่างแน่นอน
ฝรั่งเศส : เดินตามความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ จากแชมป์โลก สู่แชมป์ยูโร
หากย้อนกลับไปดูผลงานที่ผ่านมาของฝรั่งเศส ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป จะพบว่า ทัพตราไก่ล้มลุกคลุกคลานในรายการนี้อยู่ไม่น้อย ก่อนจะเป็นแชมป์ยุโรป 2 สมัย อย่างทุกวันนี้
หลังจากจบฟุตบอลยูโร 1960 ด้วยการคว้าอันดับ 4 (อันดับสุดท้ายของการแข่งขัน) ทีมชาติฝรั่งเศสไม่สามารถกลับสู่การแข่งขันรอบสุดท้ายนาน 24 ปี ก่อนหวนคืนเวทีนี้ในศึกยูโร 1984 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ และคว้าตำแหน่งราชายุโรปมาครอง
สำหรับยูโรที่แฟนบอลฝรั่งเศสตราตรึงใจมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ยูโร 2000 ที่พวกเขาสามารถเอาชนะการแข่งขัน หลังคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 1998 ซึ่งขุนพล เลส์ เบลอส์ หวังจะสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง ในยูโร 2020
ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ กุนซือทีมชาติฝรั่งเศสคนปัจจุบัน คือ กัปตันทีมที่พาทัพตราไก่คว้าชัยชนะ เมื่อ 21 ปีก่อน และดูเหมือนเขาจะถูกโฉลกกับรายการนี้มาก เพราะการแข่งขันครั้งล่าสุด เขาพาทีมชาติฝรั่งเศสเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ก่อนแพ้ให้แก่โปรตุเกสอย่างน่าเจ็บใจ ในช่วงต่อเวลาพิเศษ
กลับมาวันนี้ ทีมชาติฝรั่งเศสพ่วงดีกรีแชมป์โลกติดตัวมาด้วย เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ของเดส์ชองส์ ที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่ปี 2012 และนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ อย่าง คีลิยัน เอ็มบัปเป้, อองตวน กรีซมันน์, เอ็นโกโล่ ก็องเต้, ราฟาเอล วาราน และ ปอล ป็อกบา
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครจะมองว่า ทีมชาติฝรั่งเศสยังคงเป็นเต็งหนึ่งของการแข่งขัน แม้จะอยู่ร่วมกลุ่มกับเยอรมนี และโปรตุเกส นั่นเพราะพวกเขาเคยแสดงให้เห็นแล้วว่า ทัพตราไก่สามารถประสบความสำเร็จมากแค่ไหน หากก้าวสู่ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ในฐานะแชมป์โลก
- ผลงานโดดเด่นในอดีต
ฝรั่งเศสเคยคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก และแชมป์แห่งชาติยุโรป รายการละ 2 ครั้ง โดยฟุตบอลโลก พวกเขาประสบความสำเร็จในปี 1998 และ 2018 ส่วนฟุตบอลยูโร พวกเขาครองแชมป์ในปี 1984 และ 2000
- นักเตะดาวเด่น : คีลิยัน เอ็มบัปเป้
ฝรั่งเศสมีกองหน้าระดับเกรด A หลายราย ทั้ง คาริม เบนเซม่า ที่เพิ่งระเบิด 23 ประตูให้ เรอัล มาดริด ในเวทีลาลีกาฤดูกาลล่าสุด หรือจะเป็น อองตวน กรีซมันน์ ที่ยังคงทำผลงานได้ดีทุกครั้งในสีเสื้อทีมชาติ แต่ท้ายที่สุด ไม่มีนักเตะรายไหนที่ผู้คนจับตาไปมากกว่า คีลิยัน เอ็มบัปเป้
ดาวเตะวัย 22 ปี ยิง 42 ประตู จาก 47 นัด ในการลงเล่นให้กับ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ฤดูกาลล่าสุด เขาจึงถูกยกให้เป็นกองหน้าที่ดีที่สุดของการแข่งขัน และเป็นตัวเต็งดาวซัลโวของรายการนี้อีกด้วย
โปรตุเกส : ครั้งแรกในฐานะแชมป์เก่า กับเป้าหมายคว้าแชมป์ 2 สมัยซ้อน
โปรตุเกส ใช้เวลานานเกินจินตนาการ กว่าพวกเขาจะคว้าแชมป์ในรายการฟุตบอลระดับนานาชาติ จากทัวร์นาเมนต์ ยูโร 2016 นี่จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ทีมชาติโปรตุเกส จะเดินทางสู่การแข่งขันในฐานะ "แชมป์เก่า"
หากพิจารณาจากขุมกำลังที่อยู่ในมือ ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่โปรตุเกสจะป้องกันแชมป์ และประกาศตัวเป็นเจ้ายุโรป 2 สมัยซ้อน พวกเขามีผู้เล่นตัวรุกที่แค่ได้ยินชื่อก็ชวนขนลุก ไม่ว่าจะเป็น คริสเตียโน่ โรนัลโด้, ชูเอา เฟลิกซ์, ดิโอโก้ โชต้า, แบร์นาโด ซิลวา และ บรูโน่ แฟร์นันด์ส
สำหรับผู้เล่นในแนวรับ พวกเขายังมี รูเบน ดิอาส และ ชูเอา กานเซโล่ สองกำลังหลักของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คอยเฝ้าหลังบ้าน อาวุธที่ครบมือทั้งเกมรุก และเกมรับ ส่งผลให้ทีมชาติโปรตุเกส กลายเป็นผู้ชนะรายการ ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก เมื่อฤดูกาล 2018-19 เป็นความสำเร็จบนเวทียุโรปติดต่อกัน 2 รายการซ้อน
ทีมชาติโปรตุเกสคงประกาศตัวเป็นเต็งหนึ่งของการแข่งขัน โดยไม่มีใครสงสัย หากไม่ถูกจับอยู่ในกลุ่มแห่งความตาย ร่วมกับฝรั่งเศส, เยอรมนี และฮังการี แต่ถึงอย่างนั้น ความสำเร็จบนเวทียุโรปในช่วงหลัง คงเป็นเรื่องยากที่ใครจะมองเห็นภาพพวกเขาตกรอบแรก
1
ยูโร 2020 จึงเป็นทัวร์นาเมนต์สำคัญที่จะทดสอบ เฟอร์นานโด ซานโตส และลูกทีม ว่าพวกเขาจะสามารถประกาศตัวเป็นมหาอำนาจแห่งโลกลูกหนังได้หรือไม่ ? เมื่อพวกเขามีโอกาสเขียนประวัติศาสตร์ ในฐานะราชาแห่งฟุตบอลยุโรป 2 สมัยซ้อน
- ผลงานโดดเด่นในอดีต
โปรตุเกสถือเป็นทีมที่ทำผลงานได้ดีในฟุตบอลยูโรเสมอ พวกเขาคว้าแชมป์จากการแข่งขันปี 2016 และตำแหน่งรองแชมป์จากปี 2004 แถมยังเคยเข้าถึงรอบรองชนะเลิศอีก 3 ครั้ง ส่วนฟุตบอลโลก ผลงานดีที่สุดคือการคว้าอันดับ 3 ในปี 1966
- นักเตะดาวเด่น : คริสเตียโน่ โรนัลโด้
ถึงจะมีนักเตะหน้าใหม่ก้าวขึ้นมามากแค่ไหน เบอร์หนึ่งของทีมชาติโปรตุเกสยังคงเป็น คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ซูเปอร์สตาร์จากสโมสร ยูเวนตุส ที่กำลังลงแข่งขันเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ ทำลายสถิติดาวยิงสูงสุดของฟุตบอลยูโร ซึ่งตอนนี้เขาครองอันดับ 1 ร่วมกับ มิเชล พลาตินี่ อดีตจอมทัพทีมชาติฝรั่งเศสที่ 9 ประตู รวมถึงการขึ้นเป็นดาวซัลโวเกมทีมชาติสูงสุดตลอดกาล ที่ก่อนทัวร์นาเมนต์นี้ เจ้าตัวยิงไป 104 ประตู ตามหลัง อาลี ดาอี ตำนานดาวยิงอิหร่านเพียง 5 ประตูเท่านั้น
อีกปัจจัยที่ทำให้หลายคนเชื่อว่า โรนัลโด้จะระเบิดฟอร์มอีกครั้งใน ยูโร 2020 คืออาการบาดเจ็บที่ทำให้เขาถูกเปลี่ยนตัวออกในการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ ยูโร 2016 แม้ท้ายที่สุด ทีมชาติโปรตุเกสจะคว้าแชมป์มาได้ แต่ความกระหายที่จะลงเล่นในฟุตบอลนัดสำคัญ จะผลักดันให้โรนัลโด้ทุ่มเทเต็มที่ เพื่อพาโปรตุเกสกลับสู่รอบชิงชนะเลิศ และคว้าตำแหน่งแชมป์มาครองอีกครั้ง
โฆษณา