14 มิ.ย. 2021 เวลา 12:05 • ข่าว
โลกได้อะไรบ้างจากการประชุมจี7 ที่อังกฤษ
ถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ที่ผู้นำโลกได้หารือกันต่อหน้า หลังจากต้องประชุมผ่านทางออนไลน์มาตลอด เนื่องด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รายงานข่าวระบุว่า นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กระตุ้นบรรยากาศการประชุมเรียกร้องความเป็นเอกภาพ สลัดภาพรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีแนวทางโดดเดี่ยวตนเองในสมัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ขณะที่การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ท่ามกลางความคาดหวังเกี่ยวกับการกระจายวัคซีน การผลักดันให้เกิดการค้าเสรีและเป็นธรรม หลังช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกบอบช้ำจากสงครามการค้าและการกีดกันทางการค้า และการแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ซึ่งโลกกำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนด้านสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
❧ หนุนแผนยุทธศาสตร์ B3W ยัน BRI ของจีน
ในวันที่ 2 ของการประชุม ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เสนอแผน Build Back Better World หรือ B3W ที่แปลตรงตัวได้ว่า "สร้างโลกที่ดีกว่าให้กลับมา" เป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ต่อยอดจาก "Build Back Better" ของประธานาธิบดีไบเดน ที่เน้นส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ สร้างงานสร้างรายได้ในสหรัฐฯ แต่คราวนี้จะกลายเป็นสเกลระดับโลก จุดประสงค์คือส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ประชาชนมีรายได้น้อยถึงปานกลาง
ผู้นำสหรัฐฯระบุว่า อยากผลักดันให้ B3W เป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับประเทศยากจน นอกเหนือจาก "ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative-BRI) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ยุทธศาสตร์หลักของจีนในการขยายอิทธิพลบนเวทีโลกผ่านการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งกับนานาประเทศ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยจีนได้สนับสนุนเงินกู้ก้อนโตช่วยสร้างถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ ในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา
บรรดาผู้นำจี7 ต่างสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ของผู้นำสหรัฐฯ โดยแถลงการณ์ของบรรดาผู้นำจี7 ระบุว่า แผนยุทธศาสตร์ B3W จะขับเคลื่อนด้วยค่านิยม มีมาตรฐานสูงและเป็นพันธมิตรที่โปร่งใส ซึ่งที่ผ่านมาผู้นำสหรัฐฯมักจะออกมาตำหนิที่จีนขุดหลุมพรางเหล่ามหามิตรด้วย "การทูตกับดักหนี้" (debt-trap diplomacy) ปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศยากจนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในที่สุดประเทศยากจนเหล่านี้ก็ไม่สามารถใช้คืนเงินกู้ได้
นายไบเดนบอกว่า แผนนี้ไม่เพียงจะตั้งขึ้นมาเพื่อท้าทายจีน แต่จะทำให้โลกเห็นว่ายังมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าแต่ละชาติจะต้องสนับสนุนเงินทุนคนละเท่าไร และกรอบเวลาที่กำหนดไว้เป็นอย่างไร เพราะหากช้าไปก็จะไม่ทันแล้วกับการแผ่ขยายอำนาจของจีนผ่าน BRI ด้านนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี บอกว่า ทางกลุ่มจี7 ยังไม่ได้เปิดเผยเรื่องเงินทุนสำหรับ B3W ขณะที่ตอนนี้โลกยังมีปัญหาใหญ่เฉพาะหน้าที่ต้องรับมือ นั่นคือการแพร่ระบาดของโควิด-19
❧บริจาควัคซีนโควิด 1 พันล้านโดส เป็น "หยดน้ำในมหาสมุทร"
นายกรัฐมนตรีจอห์นสันของอังกฤษ บอกว่า เป็นโอกาสดีที่เราจะต้องเรียนรู้บทเรียนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พยายามหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก และเชื่อมั่นว่าตอนนี้โลกต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจที่ทรุดไปในช่วงโควิดฟื้นกลับคืนมาให้ได้
ผู้นำจี7 ยังประกาศว่า จะบริจาควัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 แก่ประเทศยากจน จำนวน 1,000 ล้านโดส ซึ่งในเบื้องต้นมีแล้ว 500 ล้านโดสจากสหรัฐฯ และอีก 100 ล้านโดสจากอังกฤษ นอกจากนี้คาดว่าผู้นำแคนาดาจะประกาศเพิ่มให้อีก 100 ล้านโดส ส่วนกรอบเวลาก็จะเป็นช่วงภายในปีนี้ หรือยืดไปจนถึงปีหน้า
กรณีนี้ถูกโจมตีจากกลุ่มรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางวัคซีน ว่า จำนวนนี้ยังไงก็ไม่เพียงพอสำหรับความต้องการ และช้าเกินไปมาก ทั้งที่มีประชากรทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 แล้วกว่า 175 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 3.7 ล้านคน
นางแอนนา แมริออตต์ ผู้จัดการด้านนโยบายสุขภาพของมูลนิธิออกซ์แฟมในอังกฤษ ที่มองว่า ถ้าสิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้นำจี7 ทำให้กับโลกได้ตอนนี้ คือการบริจาควัคซีนเพียง 1 พันล้านโดสก็นับว่าเป็นการประชุมที่ล้มเหลว เพราะในความเป็นจริงจะต้องบริจาค 11,000 ล้านโดส ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการ โดยบอกว่าการบริจาคเพื่อการกุศลไม่สามารถช่วยแก้วิกฤติขาดแคลนวัคซีนได้ สิ่งที่ผู้นำจี7 ควรทำคือ ไปจัดการกับพวกบริษัทยารายใหญ่ให้เลิกผูกขาดวัคซีน และองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวัคซีนโควิด ควรจะถูกแบ่งปันให้โรงงานที่มีมาตรฐานเร่งผลิตออกมาให้กับทั่วโลกอย่างเร่งด่วน
ที่ผ่านมาผู้นำสหรัฐฯและฝรั่งเศสเคยออกมาประกาศสนับสนุนการผ่อนปรนสิทธิบัตรวัคซีนโควิดอย่างชัดเจนแล้ว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แล้วทำไมเหล่าผู้นำจี7 ไม่เร่งสนับสนุนผลักดันให้แนวคิดริเริ่มไปได้ไกลกว่านี้ เพราะชีวิตของผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายล้านคนไม่อาจรอได้ว่าประเทศร่ำรวยจะใจบุญบริจาควัคซีนให้กี่ล้านโดส
อเล็กซ์ แฮร์ริส ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และสุขภาพในอังกฤษ มองว่า ตอนนี้สิ่งที่โลกต้องการคือ ต้องฉีดวัคซีนให้กับทุกคนอย่างเร่งด่วน ไม่อาจรอปลายปีนี้ หรือปีหน้าได้ เวทีประชุมสุดยอดผู้นำจะต้องแสดงให้โลกเห็นว่า ผู้นำทางการเมืองของพวกเขาตอบสนองต่อความต้องการฉุกเฉินในภาวะวิกฤตินี้อย่างไร
❧โลกร้อนปัญหาเร่งด่วนที่ยังไร้ข้อสรุป
หนึ่งในวาระสำคัญสำหรับผู้นำจี7 ที่นำมาหารือกันในวันสุดท้ายของการประชุมคือ การแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพื่อเป็นแนวทางสู่การประชุมสุดยอดแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม COP26 ของสหประชาชาติ ที่จะมีขึ้นปลายปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้เข้าถึงพลังงานสะอาด และช่วยประเทศยากจนรับมือกับผลระทบโลกร้อน
นับเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีข้อสรุปชัดเจนเป็นรูปธรรมมากกว่าการพูดปากเปล่า และให้คุ้มค่ากับการนั่งเครื่องบินส่วนตัวมาประชุมกัน
เจ้าภาพการประชุมจี7 ชี้ว่า โลกกำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนด้านสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งวาระสำคัญคือการกำหนดเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และเป้าหมายปกป้องธรรมชาติและมหาสมุทร 30% ภายในปี 2030
ขณะที่ผู้นำจี7 ไม่ได้มีข้อสรุปออกมาว่าจะช่วยเพิ่มเงินสนับสนุนกองทุนโลกร้อนจากที่เคยตกลงว่าจะบริจาคให้ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนลดการใช้พลังงานคาร์บอน เปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ใช้เทคโนโลยีที่ยั่งยืน และต่อสู้กับโลกร้อน
จอห์น ซอเวน ผู้อำนวยการกรีนพีซอังกฤษ ระบุว่า ประเทศร่ำรวยล้มเหลวในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนและความเร่งด่วนทางธรรมชาติ โดยการออกมาพูดว่าจะสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่มันจะเรียกได้ว่าดี จนกว่าจะเห็นตัวเลขเงินสนับสนุนและการจัดการอย่างเร่งด่วน.
ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์
ข้อมูล : Euronews, Aljazeera, Guardian
โฆษณา